Skip to main content

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)

 

 

ทางลูกรังแคบๆ แยกจากถนนใหญ่ มุ่งสู่บ้านปากมิด หมู่ที่ 7 ตำบลท่ากระดาน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี สองข้างทางเรียงรายด้วยสวนยางพาราลำต้นขนาดเล็กอายุไม่น่าจะเกิน 4 ปี แต่หลายๆ สวนก็ถูกเปิดกรีดก่อนวัยอันควร บางสวนเต็มไปด้วยพืชพรรณนานาชนิด ในลักษณาการสวนผสม ทั้งสะตอ ทุเรียน ลองกอง ลางสาด มังคุด เงาะ กล้วย มะพร้าวฯลฯ มีบ้านเรือนหลายหลังปลูกอยู่ริมแม่น้ำพุมดวง

นางจรรยา สดวิลัย หรือจีน ปล่อยวัวให้กินหญ้าอยู่ริมแม่น้ำพุมดวง ตัวเองหันไปหมกมุ่นอยู่กับแปลงผักนานาชนิด แม่น้ำทั้งสองฟากเต็มไปด้วยกระชังปลา

สาเหตุที่ชาวบ้านที่นี่กรีดยางวัยอ่อน นางจรรยา สดวิลัย บอกว่าสาเหตุมาจากกลัวจะโดนเวนคืนที่ดิน นำไปทำโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง

เดิมทีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดบ้านปากมิดให้เป็นพื้นที่หัวงาน สถานีสูบน้ำโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง เนื้อที่ 93 ไร่ ต่อมากรมชลประทานชี้แจงว่า จะปรับลดลงเหลือ 40 ไร่ แยกเป็นขุดสระ 35 ไร่ แบ่งไปสร้างอาคารทำการอีก 5 ไร่

 

ตาปี-พุมดวง

 

นำสำรวจ – นายประภาส สมลักษณ์ (ขวา) กับนางจรรยา สดวิลัย 2 ชาวบ้านเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง นำผู้สื่อข่าวสำรวจพื้นที่หัวงานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง ที่บ้านมิด หมู่ที่ 6 ตำบลท่ากระดาน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี นอกจาก 2 ข้างคลองพุมดวงจะอุดมสมบูรณ์แล้ว ในลำคลองยังมีชาวบ้านเลี้ยงปลากระชังจำนวนมาก

 

 

 

ข้อมูลจากนายประภาส สมลักษณ์ แกนนำเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง ระบุว่า โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง เป็นสถานีสูบและส่งน้ำขนาดใหญ่ มีเครื่องสูบน้ำขนาดท่อเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.8–2 เมตร 16 เครื่อง สูบน้ำได้ 34 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีสระพักน้ำ 2 แห่ง ปล่อยน้ำตามแรงโน้มถ่วงลงเสู่คลองส่งน้ำสายหลักสองสาย ความจุกว่า 582,000 ลูกบาศก์เมตร

ระบบส่งน้ำเป็นคลองดาดคอนกรีต 30 สาย ความยาวรวมกัน 38.74 กิโลเมตร มีคลองย่อยแยกจากคลองสายหลักอีก 28 สาย ความยาวรวม 100 กิโลเมตร มีคลองระบายน้ำธรรมชาติ 18 สาย ความยาวรวม 83 กิโลเมตร ขนาดที่ตั้งโครงการเกือบ 3 พันไร่ ความกว้างของคลองรวมคันดินและถนนคลองสายหลัก 55 เมตร สาขาย่อย 45 เมตร และคลองระบายน้ำ 25 เมตร

เอกสารของกรมชลประทานระบุว่า สายที่ 1 (MC1) มีความยาวประมาณ 21.34 กิโลเมตร ประกอบด้วย คลองส่งน้ำสายซอย 8 สาย รวมความยาว 17.4 กิโลเมตร อาคารตามแนวคลองส่งน้ำ 279 แห่ง ผ่าน 9 ตำบล ในอำเภอพุนพิน และอำเภอท่าฉาง ตั้งแต่ตำบลบางงอน ตำบลน้ำรอบ ตำบลท่าข้าม ตำบลพุนพิน ตำบลศรีวิชัย ตำบลท่าฉาง ตำบลท่าเคย ตำบลหนองไทร และตำบลลีเล็ต

สายที่ 2 (MC2) มีความยาวประมาณ 17.40 กิโลเมตร ประกอบด้วย คลองย่อย 20 สายรวมความยาว 74.85 กิโลเมตร อาคารตามแนวคลอง 466 แห่ง ผ่านพื้นที่หมู่ที่ 7 ตำบลบางงอน อำเภอคีรีรัฐนิคม

คลองทั้งสองสายใช้พื้นที่ประมาณ 2,718 ไร่ กระทบต่อที่ดินทำกินของชาวบ้าน 73,980 ไร่

พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวงทั้งหมด 3 อำเภอ 11 ตำบล แยกเป็น อำเภอคีรีรัฐนิคม มีตำบลท่ากระดาน 1 หมู่บ้าน อำเภอพุนพิน มีตำบลบางงอน 8 หมู่บ้าน ตำบลน้ำรอบ 7 หมู่บ้าน ตำบลหนองไทร 5 หมู่บ้าน ตำบลหัวเตย 7 หมู่บ้าน ตำบลมะลวน 7 หมู่บ้าน ตำบลพุนพิน 3 หมู่บ้าน ตำบลศรีวิชัย 3 หมู่บ้าน ตำบลลีเล็ต 2 หมู่บ้าน และอำเภอท่าฉาง มีตำบลหนองไทร 2 หมู่บ้าน ตำบลท่าเคย 2 หมู่บ้าน รวมทั้งสิ้น 47 หมู่บ้าน 5,000 ครัวเรือน

โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง มีวัตถุประสงค์เพื่อการชลประทาน ให้คนทำนา และเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้าน แต่ความจริงแล้วพื้นที่อำเภอพุนพิน อำเภอคีรีรัฐนิคม และอำเภอท่าฉาง ขณะนี้เปลี่ยนจากการทำนามาปลูกปาล์มน้ำมันและยางพาราเป็นส่วนใหญ่ เหลือเพียงชาวบ้านไม่กี่รายทำนาปลูกข้าว และพืชผักอื่นๆ ไม่ควรสร้างคลองชลประทานขนาดใหญ่เพื่อทำนา

“เมื่อสภาพการใช้พื้นที่เปลี่ยนไปแล้ว ก็ไม่ควรสร้างคลองชลประทานขนาดใหญ่ขึ้นมาอีก เพราะปกติฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำพุมดวงแห้งแล้งอยู่แล้ว ถ้าสูบออกไปคลอกก็จะแห้งขอดลงไปอีก ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังสองพันราย ในแม่น้ำพุมดวงได้รับผลกระทบ เมื่อน้ำถูกสูบออกไปจะทำให้น้ำเค็มจากทะเลอ่าวบ้านดอนทะลักเข้ามา ในแม่น้ำตาปีและแม่น้ำพุมดวง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ และพันธุ์สัตว์น้ำ”

เป็นคำกล่าวของนายเฉลียว ภิญญานิล แกนนำเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง

ขณะที่นายวิโรจน์ ทองเกษม อีกหนึ่งแกนนำเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี–พุมดวงระบุว่า มีเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นโครงการในพระราชดำริ ทำให้ชาวบ้านหวาดผวา โครงการฯ นี้ไม่ใช่โครงการในพระราชดำริ แต่เป็นโครงการเก่านำมาปัดฝุ่นใหม่ อ้างว่านำน้ำไปทำนา ทั้งที่ชาวบ้านหันไปปลูกยาง ปลูกปาล์มน้ำมันกันหมดแล้ว

“จากรายงานการประชุมของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2553 ระบุชัดเจนว่า นายสี่พร มณีโชติ รองอธิบดีกรมชลประทานได้ชี้แจงว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้เปิดโครงการเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 เป็นโครงการตามที่จังหวัดขอสนับสนุนไว้เพื่อรองรับโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือ Southern Sea Board

เป็นข้อมูลเอกสารของทางราชการที่นายวิโรจน์ ทองเกษม นำออกมายืนยันว่า เป้าหมายการใช้น้ำจากโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวงคือ อุตสาหกรรมหาใช่เพื่อการทำนาตามที่กรมชลประทานกล่าวอ้าง

116,360 ไร่ เป็นตัวเลขที่นายวิโรจน์ ทองเกษม ระบุว่าเป็นขนาดของพื้นที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง ขณะที่เจ้าของโครงการฯ คือ กรมชลประทานบอกว่าโครงการฯ นี้ใช้พื้นที่เพียง 73,980 ไร่ นายวิโรจน์ ทองเกษม เชื่อว่าเป็นตัวเลขที่ถูกนำขึ้นมาใช้ เพื่อเลี่ยงการทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เพราะใช้พื้นที่ไม่เกิน 80,000 ไร่

ถึงแม้ วันที่ 27 เมษายน 2554  มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลท่าเคย ตำบลหนองไทร อำเภอท่าฉาง ตำบลลีเล็ด ตำบลศรีวิชัย ตำบลมะลวน ตำบลหัวเตย ตำบลท่าข้าม ตำบลพุนพิน ตำบลน้ำรอบ ตำบลหนองไทร ตำบลบางงอน อำเภอพุนพิน และตำบลท่ากระดาน  อำเภอคีรีรัฐนิคม  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  พ.ศ. 2554 เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยไม่มีชาวบ้านคนใดรับทราบเรื่องการออกพระราชกฤษฎีเวนคืนที่ดินฉบับนี้มาก่อน

ทว่า กรมชลประทานส่งเจ้าหน้าที่ปักหลักหมุดเสาปูนเป็นแนวคลองส่งน้ำขนาดกว้าง 55 เมตร ในพื้นที่โดยผ่ากลางบ้าน ผ่ากลางวัดโดยพลการ บางจุดที่เป็นบ้านพื้นปูนก็ตอกตะปูและลงสีแดงขนาดเท่าหัวเสาปูนเป็นเครื่องหมายมาก่อนหน้านั้นแล้ว

ถึงแม้วันนี้จะประกาศพระราชกฤษฎีกาฯ เวนคืนแล้ว แต่ด้วยท่าทีคัดค้านอย่างแข็งขันของชาวบ้าน ทางกรมชลประทานจึงต้องขอกำลังตำรวจคุ้มกันเจ้าหน้าที่ ที่ลงไปสำรวจรังวัดที่ดินที่จะเวนคืนมาใช้ในโครงการฯ นี้

นายวิโรจน์ ทองเกษม ย้อนรอยถอยหลังความเป็นมาของการรวมตัวคัดค้านโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวงว่า วันที่ 7 พฤศจิกายน 2552 เป็นวันที่ชาวบ้านรวมตัวกันตั้งเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง ที่ศาลาหมู่ที่ 1 ตำบลน้ำรอบ อำเภอพุนพิน เพื่อเตรียมข้อมูลและกำหนดแนวทางการต่อสู้

วันที่ 8 ธันวามคม 2552 ชาวบ้านประมาณ 200 คน ลงรายชื่อคัดค้านโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง ยืนต่อองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

จากนั้น แกนนำและชาวบ้านในเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง ก็ออกเดินสายยื่นหนังสือคัดค้านโครงการฯ ยังสำนักงานก่อสร้างที่ 10 กรมชลประทาน, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, อธิบดีกรมชลประทาน, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี, นายดำริห์ บุญจริง ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี, ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ประธานกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา, ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา และนายกเทศมนตรีเมืองท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ต่อมา วันที่ 29 มิถุนายน 2553 กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เชิญตัวแทนกรมชลประทาน, นายอำเภอพุนพิน และแกนนำเข้าชี้แจงที่สำนักงานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

วันที่ 30 มิถุนายน 2553 ยื่นหนังสือคัดค้านถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านสภาองค์กรชุมชนระดับชาติ

กระทั่ง วันที่ 20–21 กรกฎาคม 2553 คณะกรรมธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ลงพื้นที่พบหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง สำรวจพื้นที่ และรับฟังปัญหาจากผู้ได้รับผลกระทบ

จนวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 บันทึกเทปรายการเวทีสาธารณะ โดยทีวีไทย

วันที่ 1 กันยายน 2553–10 ตุลาคม 2553 ประชุมปรึกษาหารือการฟ้องร้องกับคณะสภาทนายความ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และทนายความองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี

จนวันที่ 20 ตุลาคม 2553 จึงยื่นหนังสือร้องทุกข์ ส่งเอกสาร และให้ข้อมูลต่อสภาทนายความ ที่กรุงเทพมหานคร

วันที่ 27 มกราคม 2554 ทำเอกสารประกอบการฟ้องร้อง ส่งมอบสภาทนายความ

ถึงกระนั้น วันที่ 27 เมษายน 2554 พระราชกฤษฎีการเวนคืนที่ดินฯ เพื่อใช้ในโครงการฯ นี้ ก็ออกมาจนได้

ถึงวันนี้ แกนนำเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง ออกมาประกาศพร้อมร่วมมือกับเครือข่ายพี่น้องผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐในภาคใต้ เดินหน้าคัดค้านแผนพัฒนาภาคใต้ และโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง

ด้วยเพราะพวกเขาเชื่อว่า โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง เกิดขึ้นมารองรับโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือ Southern Sea Board

 

....................................................................................................

โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง จังหวัดสุราษฎ์ธานี

แผนที่ตาปี-พุมดวง

 

 แผนที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง

1.ความเป็นมา

1.1  ปี พ.ศ. 2510 กรมชลประทานเริ่มดำเนินการวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำ ในลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง ประกอบด้วย เขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) และเขื่อนแก่งกรุง (เขื่อนคลองยัน) กรมชลประทานได้โอนงานก่อสร้างเขื่อนรัชชประภาและเขื่อนแก่งกรุง ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการ การก่อสร้างเขื่อนรัชชประภาแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. 2530

1.2 ปี พ.ศ. 2533 คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2533 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) รับไปดำเนินการศึกษา เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบชลประทานที่เป็นปัจจุบัน โดยเฉพาะพื้นที่ชลประทานที่จะได้จากการก่อสร้างเขื่อนแก่งกรุง และกรมชลประทานได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสม แล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม 2537 ปรากฏว่าโครงการมีความเหมาะสมต่ำ เนื่องจากจำเป็นต้องอพยพราษฎร และต้องลงทุนค่าชดเชยทรัพย์สินสูง ทำให้ได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ประกอบกับเขื่อนแก่งกรุงถูกต่อต้าน จนถูกระงับการดำเนินงานเอาไว้ก่อน

1.3  กรมชลประทานได้พิจารณาการใช้ประโยชน์จากน้ำ ที่ปล่อยจากท้ายเขื่อนรัชชประภานำมาใช้ประโยชน์ จึงศึกษาทบทวนความเหมาะสม โดยพิจารณาการพัฒนาชลประทานสูบน้ำจากแม่น้ำพุมดวง เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานฤดูฝน 73,980 ไร่ว่า มีความเหมาะสม ทั้งด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการบริหารจัดการน้ำนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร หลังจากใช้กระแสน้ำผลิตกระแสไฟฟ้าของเขื่อนรัชชประภาไปแล้ว

 

2. ความจำเป็นที่ต้องดำเนินการโครงการ

เขื่อนรัชชประภาปล่อยน้ำจากท้ายเขื่อน เนื่องจากใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี มีปริมาณน้ำจากคลองสาขาไหลมารวมในแม่น้ำพุมดวงอีกประมาณ 2,400 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำพุมดวง ประมาณ 5,400 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ไหลลงสู่ทะเลโดยไม่มีการนำน้ำมาใช้ประโยชน์ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง  จังหวัดสุราษฎร์ธานี จะเป็นการบริหารจัดการน้ำ โดยการนำน้ำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

 

3. วัตถุประสงค์โครงการ

1. เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูฝน 73,980 ไร่ และในฤดูแล้ง 57,819 ไร่

2. เพื่อการอุปโภค–บริโภค

3. เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร

4. รายละเอียดของโครงการ

4.1  ที่ตั้งโครงการ   ตำบลบางงอน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฏร์ธานี

4.2  ลักษณะทางวิศวกรรมของโครงการ

(1)  สถานีสูบน้ำ 1 แห่ง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 16 เครื่อง อัตราการสูบน้ำรวม 33.16 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประกอบด้วย

                   - เครื่องสูบน้ำขนาด 1.93 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที 4 เครื่อง

                   - เครื่องสูบน้ำขนาด 2.12 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที 12 เครื่อง

(2)  ระบบส่งน้ำ ความยาวประมาณ 139 กิโลเมตร

(3)  ระบบระบายน้ำ ความยาวประมาณ 83 กิโลเมตร

 

5. ระยะเวลาดำเนินการ

8 ปี (พ.ศ. 2552–2559)

 

6. งบประมาณ

วงเงินโครงการทั้งสิ้น 3,330.00 ล้านบาท

 

  - งบบุคลากร                    

77.00

ล้านบาท

  - งบดำเนินงาน           

41.00

ล้านบาท

  - งบลงทุน                   

3,107.24

ล้านบาท

  - เผื่อเหลือเผื่อขาด          

104.76

ล้านบาท

โดยมีแผนการใช้จ่ายงบประมาณในแต่ละปี ดังนี้ 

 

ปีงบประมาณ พ.ศ.

จำนวนเงิน (ล้านบาท)

2552

262.81

2553

296.69

2554

525.99

2555

637.77

2556

732.57

2557

346.32

2558

251.99

2559

175.86

รวม

3,330.00

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

7. การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์

ความเหมาะสมทางด้านเศรษฐศาสตร์ในปี 2552

 

   ที่อัตราคิดลดร้อยละ

8

10

12

 

อัตราส่วนผลตอบแทนต่อการลงทุน (B/C)

1.70

1.50

1.19

 

มูลค่าผลประโยชน์ปัจจุบันสุทธิ (NPV)

1,842

1,262

440

ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนทางด้านเศรษฐศาสตร์(EIRR)

13.60

13.60

13.60

%

 
8. ผลประโยชน์ของโครงการ

  1. เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 73,980 ไร่ โดยสามารถส่งน้ำในฤดูฝน 73,980 ไร่ และในฤดูแล้ง 57,819 ไร่

2. มีน้ำสำหรับการอุปโภค–บริโภค

3. เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร

 

9. ผลกระทบจากการอนุมัติโครงการ

เมื่อได้รับอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง จังหวัดสุราษฏร์ธานีแล้ว จะทำให้เกิดผลกระทบต่อที่ดินและทรัพย์สินของประชาชนประมาณ 3,000 ไร่ ซึ่งกรมชลประทานได้เตรียมมาตรการในการจ่ายทดแทนทรัพย์สินไว้ในแผนงานโครงการแล้ว

 

10.  สถานภาพโครงการ

- ด้านแบบก่อสร้าง แบบ และรายละเอียดด้านวิศวกรรมแล้วเสร็จ 100% ในปี 2544

- ด้านการจัดหาที่ดิน การสำรวจปักหลักเขตแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างขอคำขอรังวัดจากเจ้าของที่ดิน (ประมาณ 2,000 ราย)

- รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการไม่เข้าข่ายที่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ปี พ.ศ. 2535

- การมีส่วนรวมของประชาชน กรมชลประทานได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้ที่มีส่วนได้เสีย ทั้งในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ รวมทั้งระดับหมู่บ้าน รวมแล้วประมาณ 40 ครั้ง