Skip to main content

 

 

เรือนจำ1

สภาพศพ นช.ภานุวัฒน์ คงอินทร์ ที่เสียชีวิตภายในเรือนจำกลางปัตตานี(ภาพจาก http://www.wewatch.in.th/)

 

 

 

 

 

กระดาษที่เขียนข้อเรียกร้อง 7 ข้อของนักโทษที่ก่อเกตวุ่นวายในเรือนจำกลางปัตตานี (ภาพจาก http://www.wewatch.in.th/)

 

 

 

 

เมื่อเวลา 08.00 น.วันที่ 5 กันยายน 2554 ขณะที่นักโทษในเรือนจำกลางปัตตานี กำลังยืนเข้าแถวเคารพธงชาติ มีนักโทษกว่า 40 คน รุมทำร้ายนักโทษชั้นดีที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่เรือนจำ 5 คน จนต้องวิ่งหนีขึ้นไปยังหลังคาเรือนนอน จนพลัดตกจากหลังคาอาการสาหัส และถูกรุมทำร้ายจนเสียชีวิตทั้ง 1 นาย

ต่อมา เจ้าหน้าที่เรือนจำกลางจังหวัดปัตตานีได้ลำเลียงนักโทษที่ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย ส่งโรงพยาบาลปัตตานี แต่นช.วายุ เอ่งฉ้วน ทนพิษบาดแผลไม่ไหวเสียชีวิตในเวลาต่อมา ส่วนนช.สัก ไก่ สัญชาติพม่าได้รับบาดเจ็บ ส่วนนช.ภานุวัฒน์ คงอินทร์ เสียชีวิตภายในเรือนจำ สภาพศพมีบาดแผลหลายแห่ง เนื่องจากตกลงมาจากที่สูง

ขณะเดียวกันนายอาวุธ สุวรรณโณ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางจังหวัดปัตตานี ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่เรือนจำ พร้อมกับแจ้งไปยังตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง พร้อมชุดปราบจลาจลกว่า 300 นาย เข้ามายังที่เกิดเหตุเพื่อควบคุมสถานการณ์ แต่ไม่สามารถเข้าไปภายในเรือนจำได้ เพราะสถานการณ์เริ่มขยายวง เนื่องจากนักโทษที่ร่วมกันก่อเหตุ ได้บังคับให้เจ้าหน้าที่เรือนจำ เปิดทางให้นักโทษที่มาจากจังหวัดนราธิวาสกับจังหวัดยะลา เข้าร่วมปฏิบัติการกับกลุ่มนักโทษที่ก่อเหตุด้วย ทำให้มีนักโทษเข้าร่วมก่อเหตุเกือบ 200 คน

ทั้งนี้ นักโทษได้แบ่งออกเป็น 2 พวก มีกลุ่มนักโทษแดนนอก ที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ ส่วนนักโทษแดนในเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปดูแลได้ ได้เข้าร่วมกันก่อเหตุจลาจลกว่า 800 คน จากนักโทษภายในเรือนจำประมาณ 1,200 คน บางคนปิดหน้าปิดตา ถือไม้เดินไปเดินมารอบๆ กำแพงในเรือนจำ โดยนักโทษบางคนพยายามทุบกำแพงบริเวณทางทิศตะวันตก ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่จึงเสริมกำลังตำรวจ จากสถานีตำรวจต่างๆ เข้าควบคุมสถานการณ์

จากนั้น ว่าที่ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ และนายเสรี ศรีหะไตร 2 รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เดินทางมายังเรือนจำกลางจังหวัดปัตตานี พร้อมกับเรียกผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุม เพื่อกำหนดแนวทางยุติปัญหา โดยมีนายอาวุธ และฝ่ายตำรวจ–ทหารเข้าร่วมประชุมด้วย

ต่อมา กลุ่มนักโทษที่ก่อเหตุได้ยื่นข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ต่อนายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ประกอบด้วย 1.ขอเปลี่ยนและกำหนดกฎระเบียบที่ไม่ตึงเครียดเกินไป 2.ขอเปลี่ยนผู้รับผิดชอบโรงครัวให้เป็นผู้ต้องขังมุสลิมทั้งหมด 3.ขอเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ตรวจค้นสิ่งของญาติเยี่ยมให้เป็นเจ้าหน้าที่มุสลิม 4.ขอปรับเปลี่ยนระบบงานกองอวน 5.ขอให้เจ้าหน้าที่หยุดใช้มาตรการลงโทษที่รุนแรง 6.ให้ผู้ต้องขังไทยพุทธที่เป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งหมดย้ายเรือนจำ และ 7.ห้ามโยกย้ายผู้ต้องขังที่ก่อเหตุในวันนี้ ถ้าย้ายจะมีการก่อเหตุที่รุนแรงขึ้น

นายเสรี ชี้แจงว่า สาเหตุมาจากการทะเลาะวิวาทกันระหว่างกลุ่มนักโทษ ซึ่งมีจำนวนมากจนเจ้าหน้าที่ควบคุมไม่ได้ กระทั่งเหตุการณ์บานปลายมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต กรณีที่เกิดขึ้นสาเหตุไม่ได้มาจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และไม่เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา ตนเข้าใจว่านักโทษคงจะกดดันกันเอง เนื่องจากผู้เสียชีวิตเป็นหัวหน้าศูนย์ฝึกอาชีพ ตนยืนยันว่าเจ้าหน้าที่จะไม่ใช้ความรุนแรง แต่จะเปิดเจรจาเพื่อยุติปัญหา โดยยึดระเบียบกฎหมายเป็นหลัก

นายเสรี ชี้แจงต่อไปว่า สาเหตุการเสียชีวิตของนักโทษ มาจากวิ่งหนีขึ้นที่สูง แล้วพลัดตกลงมากระแทกพื้น ส่วนข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสิ่งของญาติเยี่ยมเป็นเจ้าหน้าที่มุสลิมทั้งหมดนั้น ตอนนี้อยู่ระหว่างการเจรจา เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นไทยพุทธ ตรงไหนปฏิบัติกับนักโทษมุสลิมไม่ถูกต้องก็ต้องแก้ไข ตนประสานไปยังคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานีให้มาคุยกับนักโทษเพื่อแก้ปัญหานี้แล้ว

“ผมยังไม่ยืนยันว่า กลุ่มนักโทษที่ก่อเหตุมาจากเรือนจำกลางจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดยะลา แต่ขณะนี้เรือนจำก็ได้ควบคุมนักโทษกลุ่มนี้อย่างเข้มงวด พร้อมกับเข้าไปสืบค้นหาหลักฐานให้ชัดเจนว่า ใครเป็นผู้ก่อเหตุ จากนั้นจะดำเนินการตามกฎหมายและตามระเบียบของเรือนจำต่อไป” นายเสรี กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ผ่านมานักโทษชาวไทยพุทธและนักโทษชาวมุสลิม ได้ก่อเหตุทะเลาะวิวาทกันบ่อยครั้ง ล่าสุดกลุ่มนักโทษชาวไทยพุทธได้ทำร้ายนักโทษมุสลิมที่อาคารเรือนนอน 2 เป็นเหตุให้นักโทษมุสลิมออกมาตอบโต้ ด้วยการทำร้าย จนนักโทษชาวไทยพุทธติ้งวิ่งหนีขึ้นที่สูง ตกลงมาเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บสาหัส กระทั่งเกิดเหตุจลาจลภายในเรือนจำขึ้น

เวลา 11.00 น. วันเดียวกัน พล.ต.อัคร ทิพโรจน์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ในฐานะโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 พร้อมด้วย พ.ท.สัมพันธ์ อิสริยเตชะ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 21 อำเภอยะรัง ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์จากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ตรวจดูเหตุการณ์ไม่สงบ 2 จุด

จุดแรกในอำเภอยะรัง บนเส้นทางหลวงหมายเลข 410 ยะลา–ปัตตานี มีกลุ่มวัยรุ่นร่วมกันทำลายทรัพย์สินทางราชการ กล้อง CCTV จำนวน 48 ตัว พร้อมทั้งโปรยตะปูเรือใบ ต่อต้านการทำงานของเจ้าหน้าที่ เมื่อช่วงกลางดึกที่ผ่านมา จุดที่สอง เหตุการณ์ผู้ต้องขังภายในเรือนจำกลางจังหวัดปัตตานีก่อเหตุจลาจล

พล.ต.อัคร เปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดในอำเภอยะรัง เป็นความพยายามของกลุ่มเยาวชนที่ถูกปลุกระดม ที่จะต่อต้านและตอบโต้การทำงานของฝ่าย ส่วนเหตุการณ์ที่เรือนจำกลางจังหวัดปัตตานี เกิดจากการจัดระเบียบภายในเรือนจำ ไม่ให้มีการค้าขายยาเสพติด และสิ่งผิดกฎหมาย