เมื่อเวลาประมาณ 08.30 น. วันที่ 6 กันยายน 2554 ชาวบ้านตำบลนาทับและตำบลใกล้เคียง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ประมาณ 500 คน รวมตัวที่ศาลาเอนกประสงค์ชุมชนนาทับ ก่อนเคลื่อนขบวนเดินทางไปชุมนุมบริเวณทางเข้าโรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา โดยร่วมกันกางเต็นท์ปิดถนนเพชรเกษม 43 หาดใหญ่–ปัตตานี ทั้ง 4 ช่องทางจราจร ส่งผลให้การจราจรติดขัดอย่างหนัก
ต่อมา เวลาประมาณ 17.00 น. นายพิศาล ทองเลิศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และตัวแทนจากโรงไฟฟ้าจะนะ เข้าเจรจากับกลุ่มชาวบ้านเพื่อให้เปิดถนน แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จนเวลาประมาณ 18.00 น. กลุ่มชาวบ้านยอมเปิดถนนฝั่งขาเข้าหาดใหญ่ 2 ช่องทางจราจร โดยชาวบ้านยังคงชุมนุมต่อ
นายโชติบริพัฒน์ ไชยแก้ว ประธานศูนย์ยุติธรรมชุมชนนาทับ เปิดเผยว่า ตนและชาวบ้าน จะปักหลักชุมนุมจนกว่าจะได้พบนายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อทวงถามข้อรียกร้องของชาวบ้านต้องการให้ฟื้นฟูคลองนาทับกลับสู่สภาพเดิม ส่งเสริมอาชีพเสริมเพื่อทดแทนให้กับชุมชนรอบโรงไฟฟ้าในระหว่างการฟื้นฟู ทบทวนการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าจะนะแห่งที่ 2 จนกว่าจะแก้ไขปัญหาโรงไฟฟ้าจะนะได้ และให้ชุมชนมีส่วนร่วมมูลนิธิประมงคลองนาทับ ที่จัดตั้งโดยการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
นายโชติบริพัฒน์ เปิดเผยด้วยว่า หลังจากวันที่ 20 กรกฎาคม 2554 ชาวบ้านได้ประชุมร่วมกับนายวิวัฒน์ สิริเกียรติกุล ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าจะนะ ซึ่งได้รับข้อเสนอของชาวบ้านเพื่อรายงานไปยังผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยทราบโดยขอเวลา 7 วัน ก่อนจะนำปัญหามาประมวลร่วมกับชาวบ้านในวันที่ 27 กรกฎาคม 2554
นายโชติบริพัฒน์ เปิดเผยอีกว่า เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2554 ตัวแทนโรงไฟฟ้าจะนะ ตัวแทนชาวบ้าน และส่วนราชการจังหวัดสงขลา ได้เจรจาร่วมกันมีข้อตกลงให้มีการตั้งกรรมการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นภายใน 15 วัน แต่ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการตามคำเรียกร้องของชาวบ้านแต่อย่างใด
นายโชติบริพัฒน์ เปิดเผยด้วยว่า หลังจากนั้นในวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 ตนและชาวบ้านร่วมกันยื่นหนังสือต่อนายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการมูลนิธิประมงคลองนาทับ ที่จัดตั้งโดยการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งมีผู้ว่าราชการ จังหวัดสงขลา เป็นประธานมูลนิธิฯ ขอให้นำเงินในมูลนิธิฯ ที่มีอยู่ 20 ล้านบาท ไปใช้เยียวยา ส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้า โดยให้เวลาในการแก้ปัญหาภายใน 15 วัน แต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ตนและชาวบ้านจึงต้องกลับมาชุมนุมอีกครั้ง
นายโชติบริพัฒน์ เปิดเผยอีกว่า ตนและชาวบ้านจะชุมนุมจนกว่านายสุทัศน์ลงมาเจรจารับข้อเสนอของกลุ่มชาวบ้านชุมชนรอบโรงไฟฟ้าจะนะ เนื่องจากเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจสามารถดำเนินการตามข้อเสนอของชาวบ้านได้
“หากไม่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เคยสัญญากันไว้ ชาวบ้านจะคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ แห่งที่ 2 ถ้าไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านก็จะมีการชุมนุมประท้วงปิดโรงไฟฟ้าจะนะ จนถึงที่สุดจน และจะประท้วงซ้ำซากจนกว่าจะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะดำเนินการตำข้อเรียกร้องของชาวบ้าน” นายโชติบริพัฒน์ กล่าว
นายพิศาล เปิดเผยว่า เวลา 14.00 น. วันที่ 7 กรกฎาคม 2554 จะมีการเจรจา 3 ฝ่าย ระหว่าง ตัวแทนโรงไฟฟ้าจะนะ ตัวแทนชาวบ้าน และส่วนราชการจังหวัดสงขลา ที่โรงไฟฟ้าจะนะ เพื่อหารือเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านโรงไฟฟ้าจะนะ