เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2554 ชาวบ้านตำบลนาทับ และตำบลใกล้เคียง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ประมาณ 500 คน ชุมนุมประท้วงเรียกร้องค่าชดเชยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนจากการดำเนินการของโรงไฟฟ้าจะนะ โดยกางเต็นท์ปิดทางหลวง 43 (หาดใหญ่ – ปัตตานี) บริเวณทางเข้าโรงไฟฟ้าจะนะ ฝั่งทางไปปัตตานี ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ทำให้รถที่สัญจรไปมาติดขัด โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดน (อ.ส.) ประมาณ 100 นาย คอยรักษาความปลอดภัย
เวลาประมาณ 14.30 น. ที่ห้องประชุมอาคารโรงอาหารของโรงไฟฟ้าจะนะ นายพิศาล ทองเลิศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เปิดเจรจากับชาวบ้านประมาณ 30 คน นำโดยนายโชติบริพัฒน์ ไชยแก้ว นายพีรดิศ เหร็มแอ และนายอมร เบ็ญหมาด โดยมี นายวิวัฒน์ ศิริเกียรติกุล ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าจะนะ นายวิทศักดิ์ จำเริญนุสิต ปลัดอาวุโส อำเภอจะนะ ร่วมเจรจา
การเจรจาใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง บรรยากาศเต็มไปด้วยความเคร่งเครียด กระทั่งเวลา 17.30 น.จึงตกลงกันได้ โดยตัวแทนโรงไฟฟ้าจะนะ ตัวแทนส่วนราชการ และตัวแทนชาวบ้าน ได้บันทึกข้อตกลงเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบคลองนาทับ ประกอบด้วย
1.พิจารณาจัดตั้งกองทุนพัฒนาอาชีพโดยขออนุมัติเงินจากมูลนิธิประมงคลองนาทับ ให้ชาวบ้านเป็นผู้บริหารงบประมาณ โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นที่ปรึกษา ทั้งนี้ให้กำหนดกรอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไขส่งให้นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นประธานมูลนิธิฯ ภายใน 30 วัน
2.ให้เพิ่มรายชื่อตัวแทนชาวบ้านในตำบลนาทับ 15 คน เป็นคณะกรรมการมูลนิธิประมงคลองนาทับ ซึ่งจะเสนอประธานมูลนิธิฯพิจารณาภายใน 15 วัน
3.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคลองนาทับภายใน 7 วัน โดยพิจารราจากตัวแทนชาวบ้านตำบลนาทับ ตัวแทนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และตัวแทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
4.ให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งร่วมกันตรวจสอบผลกระทบให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน นับแต่ได้มีการแต่งตั้ง หากผลการศึกษามีหลักฐานอันเกิดจากการกระทำของกฟผ. กฟผ.จะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย
5.จังหวัดสงขลารายงานผลความต้องการของชาวบ้าน เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ให้หยุดการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ ชุด 2 จนกว่าสามารถพิสูจน์ผลกระทบต่อคลองนาทับ ที่มาจากโรงไฟฟ้าชุดที่ 1 ให้แล้วเสร็จ
6.กฟผ.จะต้องติดตามข้อมูลการติดตั้งตะแกรงดักสัตว์น้ำโดยเร่งด่วนที่สุด ทั้งนี้ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าจะนะ จะร่วมประสานงานเพื่อเร่งรัดการดำเนินงานในเรื่องนี้กับตัวแทนชาวบ้าน (นายโชติบริพัฒน์ ไชยแก้ว)
จากนั้น นายพิศาล นายวิวัฒน์ ลงนามในบันทึกในฐานะตัวแทนกฟผ. และนายโชติบริพัฒน์ ในฐานะตัวแทนชาวบ้านนาทับ
หลังประชุม กลุ่มชาวบ้านจึงได้รื้อเต็นท์เปิดถนนบางส่วนในเวลาประมาณ 17.40 น. โดยนายโชติบริพัฒน์ นายอมร และนายพิศาล ได้ขึ้นเวทีแจ้งผลการเจรจา แต่กลับมีชาวบ้านหลายคนทักท้วงเป็นระยะ ทำให้ต้องใช้เวลากว่า 40 นาที อธิบายให้เข้าใจตรงกัน กระทั่งเวลา 18.30 น. ชาวบ้านจึงช่วยกันรื้อเต็นท์ทั้งหมดและทยอยกันกลับบ้าน