ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2554 ที่ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมราชมังคลาพาวิลเลี่ยนบีช รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ร่วมกับไทยเอนยิเนียริ่งคอนซัลแตนท์ส์จำกัด และบริษัทซีคอนซัลท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด จัดประชุมสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบเพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการขนส่งทางน้ำในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีผู้เข้าร่วมประมาณ 80 คน
นายประพัตร์ กรังพานิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน บริษัท ไทยเอนยิเนียริ่งคอนซัลแตนท์ส์ จำกัด กล่าวว่า โครงการนี้เทศบาลนครสงขลาเป็นผู้เสนอให้กรมเจ้าท่า ศึกษาความเหมาะสมเพื่อสำรวจออกแบบการก่อสร้างท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ เพื่อสนับสนุนกิจการการขนส่งทางน้ำ กิจการประมง และการท่องเที่ยว ทั้งด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม
นายเชิดวงค์ แสงศุภวานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุทรศาสตร์และท่าเรือบริษัท ซีคอนซัลท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด นำเสนอว่า จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลในพื้นที่พบว่า มีพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาท่าเทียบเรือ 3 แห่ง คือ บริเวณท่าเรือสะพานไม้ บริเวณท่าเรือเก่าถนนนครนอก และบริเวณชุมชนแหล่งพระราม ในเขตเทศบาลนครสงขลา
นายเชิดวงค์ เปิดเผยผลการประชุมกลุ่มย่อยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ว่า ผู้นำชุมชนร้อยละ 70.59 เห็นด้วยให้มีการสร้างท่าเรือดังกล่าว กลุ่มประมงสงขลาและผู้ประกอบการเรือเห็นด้วย ร้อยละ 41.94 ส่วนชาวบ้านชุมชนแหล่งพระรามเห็นด้วยน้อยที่สุด คือ ร้อยละ 12.90 เท่านั้น
“กลุ่มผู้นำชุมชนและชาวบ้านชุมชนแหล่งพระรามส่วนใหญ่เห็นด้วยว่า พื้นที่บริเวณท่าเรือศุลกากรสงขลาเหมาะสมที่สุด ควรพัฒนาท่าเรือสะพานไม้เป็นท่าเรือท่องเที่ยว และประมง ส่วนสมาคมประมงสงขลาและผู้ประกอบการเรือประมงเห็นว่าการพัฒนาท่าเรือสะพานไม้มีความเหมาะสมที่สุด” นายเชิดวงค์
นายสุรพล กำพลานนท์วัฒน์ นายกสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา กล่าวแสดงความเห็นว่า ไม่เห็นด้วยกับการสร้างท่าเรืออเนกประสงค์ในทะเลสาบสงขลา เนื่องจากระดับน้ำทะเลมีความตื้นเขิน ทำให้เรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่เข้าเทียบท่าไม่ได้ ต้องขนถ่ายนักท่องเที่ยวด้วยเรือขนาดเล็กอีกทอดหนึ่งเพื่อขึ้นฝั่ง
“ผมคิดว่าควรปรับปรุงท่าเรือน้ำลึกสงขลามากกว่า เพราะในอดีตเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ เคยเทียบท่าที่ท่าเรือน้ำลึกสงขลามาแล้ว โดยสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้วันละพันกว่าคน แม้อาจต้องเสียค่าจอดค่อนข้างสูง แต่ยังจะดีกว่าต้องลงทุนขุดร่องน้ำที่ต้องใช้งบประมาณสูงกว่า” นายสุรพล กล่าว
นายไกรเลิศ เรืองสงฆ์ ผู้ประกอบการอู่เรือดวงประมงสงขลา กล่าวว่า เห็นว่าพื้นที่ทางเลือกในการสร้างท่าเรืออเนกประสงค์ทั้ง 3 แห่ง ตั้งอยู่ในเขตชุมชนเมือง หากสร้างท่าเรือบริเวณนั้น เท่ากับซ้ำเติมปัญหาการจราจรที่ติดขัดอยู่แล้ว
“ต้องการให้พัฒนาท่าเรือน้ำลึกสงขลา ให้สามารถรองรับเรือท่องเที่ยวได้ด้วย เนื่องจากอยู่นอกเมือง ปริมาณสินค้าที่ขนส่งผ่านท่าเรือน้ำลึกสงขลาก็มีไม่มากนัก” นายไกรเลิศ กล่าว
นายไกรเลิศ กล่าวว่า ท่าเรือขนถ่ายสินค้าที่มีอยู่ในบริเวณทะเลสาบสงขลาตอนนี้ ก็สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนมากพอแล้ว