ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2554 ที่ห้องสงขลา 2 โรงแรมบี.พี.สมิหลาบีช อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา บริษัท เพิร์ลออย บางกออก จำกัด จัดการประชุมเพื่อเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 โครงการพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมในทะเล แหล่งผลิตปิโตรเลียมนงเยาว์ แปลงสัมปทานปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย หมายเลข จี 11/48 มีตัวแทนส่วนราชการและชาวบ้านเข้าร่วมประมาณ 50 คน
นายถาวร ชินะธิมาตร์มงคล เจ้าหน้าบริษัทอีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด เปิดเผยในที่ประชุมว่า บริษัท เพิร์ลออย บางกออก จำกัด ผู้ได้รับสัมปทานในแปลงสัมปทานปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย หมายเลข จี 11/48 จึงได้ว่าจ้างบริษัทอีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด จัดทำรายการการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมในทะเล แหล่งผลิตปิโตรเลียมนงเยาว์
นายถาวร เปิดเผยต่อไปว่า ที่ตั้งแท่นผลิต เรือกักเก็บปิโตรเลียม และท่อขนส่งปิโตรเลียมใต้ทะเล รวมถึงโครงสร้างต่างๆของโครงการพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมในทะเล แหล่งผลิตปิโตรเลียมนงเยาว์ อยู่ในแปลงสัมปทานปิโตรเลียม หมายเลข จี 11/48 อ่าวไทยตอนใต้ ใกล้เกาะโลตินทางทิศใต้ประมาณ 95 กิโลเมตร ห่างจากชายฝั่งที่ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานีไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 145 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดสงขลาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 162 กิโลเมตร บริเวณที่ตั้งแท่นผลิตมีระดับน้ำทะเลลึกประมาณ 70 เมตร
นายสุทธิชัย สุขสีเสน พลังงานจังหวัดสงขลา กล่าวว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติควรแก้ระเบียบ ข้อกฎหมายเพื่อแบ่งค่าภาคหลวงให้เป็นกองทุนพัฒนาอาชีพให้ชาวประมง นอกจากนี้บริษัท เพิร์ลออย บางกออก จำกัด ควรทำโครงการ (CSR) ในการตอบแทนและรับผิดชอบสังคม ไม่ว่าแท่นผลิตน้ำมันจะอยู่ไกล หรือใกล้ฝั่งมากน้อยแค่ไหน เพราะอย่างไรก็ตามต้องใช้ท่าเทียบเรือในจังหวัดสงขลาอยู่แล้ว
นายอภินันท์ ตอบว่า สำหรับโครงการในการรับผิดชอบสังคมและชุมชน บริษัทฯ จะให้ชาวประมงในจังหวัดสงขลา เสนอปัญหาและความต้องการกับสมาคมประมงจังหวัดสงขลา ว่าต้องการอะไร เช่น ต้องการให้มีการวางปะการังเทียม เป็นต้น ทางบริษัทฯจะประสานกับสมาคมประมงจังหวัดสงขลาอีกทีหนึ่งเพื่อรับทราบปัญหาและความต้องการ
นายโสภณ ชุมยวง รองนายกสมาคมประมงจังหวัดสงขลา เสนอว่า การแก้ระเบียบ ข้อกฏหมายเพื่อแบ่งค่าภาคหลวงซึ่งเป็นการแก้เชิงนโยบายนั้นสำหรับชาวประมงแล้วไม่มีความหวังเลย เนื่องจากต้องผ่านคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี
“การทิ้งปะการังเทียม ส่วนราชการได้ดำเนินอยู่แล้ว ตนอยากให้ทางบริษัทฯส่งเสริมให้ชาวประมงรวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นองค์กรให้มีความเข้มแข็งแล้วให้งบประมาณมาสนับสนุน เช่น การส่งเสริมอาชีพ มอบอุปกรณ์ในการทำการประมง ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดความขัดแย้งระหว่างชาวประมงด้วยกัน” นายโสภณ กล่าว