Skip to main content

ทวีศักดิ์ ปิ โรงเรียนนักข่าชายแดนใต้ (DSJ)

พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา

 แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา
 
             แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 กรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า เมื่อปี 2550 ศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 เคยจัดทำคู่มือเยียวยาตามหลักศาสนาพุทธและอิสลามในสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ฉบับประชาชน แต่ประชาชนบอกว่าอ่านแล้วเครียด ในปี 2554 ศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 จะเป็นหน่วยงานกลางในการจัดทำคู่มือการเยียวยาในรูปแบบอิสลามอย่างเต็มตัว เนื้อหาในคู่มือเล่มนี้ มีทั้งบทดูอาร์ คุตบะห์ และกฎหมายศาสนาอิสลาม รวมถึงบทความวิชาการทางศาสนา โดยมีการรวบรวมประวัติท่านนบีมูหะหมัดนำมาประกอบไว้ในเล่มด้วย
แพทย์หญิงเพชรดาว กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์แล้ว ไม่รู้จะเยียวยาด้วยวิธีใด เช่น เหตุการณ์อุทกภัย ที่หมู่บ้านดาโต๊ะ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เมื่อประสบภัยแล้ว ผู้คนที่เข้าไปเยี่ยมมีแต่เยียวยาด้วยการบริจาคสิ่งของ แต่ไม่มีการเยียวยาทางด้านจิตใจ หากมีคู่มือเยียวยาตามวิถีศาสนา ก็สามารถยึดเหนี่ยวจิตใจชาวบ้านได้
แพทย์หญิง เพชรดาว เปิดเผยอีกว่า คู่มือการเยียวยาจะรวบรวมหลักการทางศาสนาจากหลากหลายเล่มนำมารวมกัน เช่น คุตบะห์สุขภาวะของมูลนิธีจันทร์เสี้ยว และคู่มือเดือนรอมฎอน กระทรวงกิจการศาสนาอิสลาม ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย และตำราจากเล่มอื่นๆ ทั้งนี้ในคู่มือจะมีคำสอนตามบทบัญญัติศาสนาอิสลาม เรื่องความอดทน (ซอบัร) เมื่อประสบกับปัญหาร้ายๆ ให้พอใจในสิ่งที่ประสบ และรู้จักสภาวะของตัวเองเป็นอย่างดี (ซูโกร) รู้จักการให้อภัยซึ่งกันและกัน (มาอัฟ)
แพทย์หญิงเพชรดาว กล่าวว่า เมื่อรวบรวมข้อมูลแล้ว จะนำเสนอของผู้นำศาสนาจาก องค์กรศาสนาในพื้นที่ เช่น คณะกรรมการอิสลามทั้งสามจังหวัด นักวิชาการจากสถานศึกษา วิทยาลัยอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี วิทยาลัยอิสลามยะลา และ มหาวิทยาลัยนราธิวาส พิจารณาต่อไป ตนเชื่อว่าเมื่อคู่มือดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์ จะเป็นคู่มือที่เหมาะสมสำหรับประชาชน ตามแบบฉบับของศาสนาอิสลามในช่วงเกิดความไม่สงบในพื้นที่ไดเป็นอย่างดี