Skip to main content
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
 
 
ปลายเดือนมิถุนายน 2554 แวดวงประวัติศาสตร์เมืองปัตตานี กลับมาคึกคักอีกครั้งจาการมาเยือนของ “ศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล” อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์สังหารหมู่ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งวันนี้มีฐานะเป็นศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา
 
          หนึ่งในหลายกิจกรรมที่ปัตตานีคราวนี้คือ การนำเสนอต่อที่สัมมนาทางวิชการเรื่อง “ประเด็นปัญหาปาตานีกับรัฐไทยในยุคหลังสมัยใหม่” ณ ห้องมะปราง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์เป็นผู้จัด
 
          ต่อไปนี้ เป็นมุมมอง (ในตอนที่ 3) ของเขาที่นำเสนอในการสัมมนาทางวิชาการ ในช่วงเช้าของวันที่ 29 มิถุนายน 2554
 
 
000000
 
อลิสา หะสาเมาะ: เมื่อกี้อาจารย์ทิ้งไว้น่าสนใจมาก เรื่องประวัติศาสตร์ปัตตานี อธิบายต่อได้ไหมคะ
 
ธงชัย วินิจจะกูล: ส่วนที่หนึ่ง ผมไม่รู้มาก อย่างที่สอง พวกคุณรู้มากกว่าผม ก็ลองไปคิดกันดูเองนะครับ เอาเป็นว่าเวลาผมสอนประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคโบราณ เวลาผมพูดถึงปัตตานี ผมจะพูดจากมุมมอง (Perspective) ของทั้งภูมิภาค
 
ปัตตานีไม่เคยเป็นรัฐที่ใหญ่โตมโหฬารมีอำนาจมากมาย ไม่เคย ปัตตานีอยู่ในท่ามกลางการเอาตัวรอดจากรัฐใหญ่อื่นๆ ตลอดเวลา การที่บอกว่าปัตตานีไม่ได้มีอำนาจมากมาย คุณอ่านประวัติศาสตร์ปัตตานีฉบับของอิบรอฮิม ซุกรี (หมายถึงหนังสือ Sejarah Kerajaan Melayu Pataniดูฉบับออนไลน์ ที่นี่ - หรือ History of the Malay Kingdom of Patani ในฉบับแปลภาษาอังกฤษ - ดูที่นี่ – และฉบับพากษ์ไทยใน ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปะตานีดูที่นี่ - สองเล่มหลังตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งโดยสำนักพิมพ์ Silkworm เมื่อปี 2548 และ 2549 ตามลำดับ – กองบรรณาธิการ) ที่ระบุว่าปัตตานีใหญ่เกินจริง ผมก็อ่าน ไม่ใช่ไม่อ่าน นี่พูดแบบนักประวัติศาสตร์ หวังว่าผมจะไม่ก่อปัญหา
 
ถ้าเราใช้มุมมองของภูมิภาค ฮิกายัต (Hikayat Patani – ดู ที่นี่ และ ที่นี่) ก็บอกอยู่แล้วว่า ทำไมปัตตานีต้องไปสร้างความสัมพันธ์กับยะโฮร์และปาหัง เพราะตอนนั้นยะโฮร์กับปาหังไม่เบา ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจมาจนถึงสมัยศตวรรษที่ 19
 
แม้กระทั่งเศรษฐกิจจากการขุดแร่ ตอนที่แร่ดีบุกเริ่มมีความสำคัญขึ้นมา ปลายศตวรรษที่ 18 ต้นศตวรรษที่ 19 ถ้าผมจำไม่ผิดคิดว่าย่านยะหริ่ง ผมไม่แน่ใจ มีเหมืองดีบุกที่ไม่ได้อยู่ในน้ำ เหมืองในน้ำอยู่แถวภูเก็ต ดูเส้นทางการค้า ดูความสำคัญของการขนแร่ดีบุกออกไป ความร่ำรวยของปัตตานีอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีความสัมพันธ์อันดีกับเปรัก ปาหัง และไทรบุรี
 
ถ้าย้อนกลับไปประมาณศตวรรษที่ 17 ซึ่งถือเป็นยุคทองของปัตตานีแล้ว แต่กลับล่มสลายได้ในเวลารวดเร็ว เพราะมันขึ้นอยู่กับสถานการณ์เฉพาะของการเปลี่ยนแปลงการค้าทางทะเลในช่วงนั้น ก่อนหน้านั้นความสำคัญของปัตตานี ถ้าผมจะเน้นก็เป็นระดับชั้นที่สองหรือ Secondary ผมไม่คิดว่าเป็นชั้นสูงสุด (Top Tier) มันเป็นระดับชั้นที่สอง (Second Tier) จะเป็นระดับชั้นที่สาม (Third Tier) หรือไม่ ผมไม่แน่ใจ แต่ไม่ใช่ชั้นที่หนึ่งของเมืองท่าที่อยู่แถบนี้ เพราะปัตตานีถูกก้าวข้ามหรือ bypass ได้
 
ทำไมลังกาสุกะถึงขึ้นมามีอำนาจในช่วงต้นๆ ก่อนที่รายากูนิงจะขึ้นมา เพราะเทคโนโลยีในการเดินเรือมันยังไม่พัฒนามาก เดินเรือข้ามสมุทรไปได้ไม่ไกล ต้องเดินเรือเลียบชายฝั่ง จนมาถึงคริสตศตวรรษที่ 4 พอพ้นคริสตศตวรรษที่ 4 สามารถเดินเรือข้ามทางฝั่งใต้ของเวียดนาม หรือฝั่งทางใต้ของกัมพูชาลงมาทางนี้ แต่ยังไปไม่ถึงชวา แค่ประมาณศตวรรษที่ 12–13 ไม่ต้องแวะปัตตานีก็ได้ อ้อมไปได้เลย ไปปัตตาเวีย คุณไปที่อื่น อ้อมไปเลยได้ ไม่จำเป็นต้องมาลงตรงนี้
 
แถมตอนนั้นเส้นทางทางบกที่สามารถเชื่อมอ่าวไทยกับอันดามันได้ ไม่ได้มีปัตตานีจุดเดียว ยังมีนครศรีธรรมราช มีพัทลุง มีสุราษฏร์ธานี ขึ้นจากฝั่งอันดามันไปออกพัทลุงก็ได้ ผมถึงบอกว่าปัตตานีไม่ได้เป็นอันดับสำคัญที่ยิ่งใหญ่มาก ปัตตานีเป็นระดับสองจึงต้องดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา
 
ประวัติศาสตร์ที่รุ่งเรืองอันหนึ่งของปัตตานี ที่เป็นที่รู้กันดีคือการเป็นโจรสลัด เป็นรัฐที่ร่ำรวยจากกการเป็นโจรสลัด ขอใช้คำว่าโจรสลัด เพื่อท้าทายให้ฉุกคิดก่อน ความจริงคำนี้เป็นคำที่ไม่แฟร์ ถ้าไม่เรียกโจรสลัด เรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า รัฐที่ขอค่าผ่านทาง การขอค่าผ่านทางนี่ใครๆ เขาก็ทำ ไม่ใช่แค่ปัตตานี คนที่มีอำนาจเขาก็ขอค่าผ่านทาง รัฐสมัยโบราณเป็นรัฐมาเฟียทั้งนั้น ตั้งแต่ประเทศไทยจนถึงเมืองจีน ไม่มีใครไม่เป็นรัฐมาเฟีย ส่วนจะเป็นมาเฟียใหญ่ หรือมาเฟียเล็กนั่นก็แล้วแต่ เขาขอค่าผ่านทางกันทั้งนั้น เพียงแต่สัดส่วน และความสำคัญของการขอค่าผ่านทาง จากความจำเป็นต่อเศรษฐกิจปัตตานี อาจจะเป็นแบบที่มากไปนิดหนึ่ง เมื่อเทียบกับหลายๆ ที่ เพื่อจะหารายได้ต่างๆ เข้ามา
 
แล้วตอนที่จีนประกาศยุติ ประกาศงดส่งกองเรือมาแถวนี้ เมื่อประมาณปี 1530 กว่าๆ อยู่ระยะหนึ่งตอนนั้นก็กลายเป็นโจรสลัดจริงๆ เลย ในความหมายว่า ปัตตานีต้องร่วมมือกับรัฐเล็กๆ ทางคาบสมุทรแถวนี้ ไม่ใช่แค่ปัตตานีอย่างเดียว ร่วมมือกันเป็นกองเรือออกไปหาลูกค้า ไม่ใช่ค้านะครับ ออกไปปล้นสินค้าบ้าง เรียกค่าผ่านทางบ้าง
 
ประวัติศาสตร์เหล่านี้ อิบรอฮิม ซุกรี เขียนมั้ย ก็ไม่เขียนใช่ไหม? มันเป็นประวัติศาสตร์คนสมัยก่อน ถ้าพูดกันแรงๆ ไม่ไว้หน้าใครทั้งสิ้นก็เป็นรัฐมาเฟียกันทั้งนั้น สยามก็เป็นมาเฟีย มาเฟียอยู่ด้วยการเรียกค่าคุ้มครอง เรียกค่าผ่านทาง เรื่องเหล่านี้เราจะนำมาเขียนให้เป็นแบบสมัยใหม่ หรือเราจะลบ หรือเราจะเลือน เราสามารถที่จะอดทนอยู่กับอดีตได้หรือไม่ อดีตจะเป็นเรื่องสวยหรู หรือไม่สวยหรู นั่นเป็นเรื่องปกติ คนสมัยก่อนเขาอยู่กันมาแบบหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าวันนี้เราต้องอยู่แบบนั้น แต่มันก็มีผลมาจนถึงปัจจุบัน นั่นคือสิ่งที่เราต้องเรียนรู้
 
ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของบทเรียน หลายอย่างมันเป็นฐานถึงปัจจุบัน ประวัติศาสตร์จึงไม่ได้มีไว้สำหรับความภูมิใจ หรือไม่ภูมิใจนะครับ ถ้าอย่างนั้นคนเราก็ไม่สามารถมีวุฒิภาวะได้ ถ้าเราเรียนประวัติศาสตร์มาตั้งแต่เด็กๆ เพียงเพื่อความภูมิใจ มันมีคำถามง่ายๆ ก็คือ เราเรียนด้วยความไม่ภูมิใจได้หรือไม่ เรียนเพื่อปัญญา ไม่ใช่เพื่ออารมณ์ดีใจ หรือเสียใจ เรียนเพื่อเป็นตัวเราในปัจจุบัน เพื่อเราจะได้มีทางเลือกในอนาคต
 
นี่คือ ตัวอย่างง่ายๆ ว่า เวลาพูดถึงปัตตานีในบริบทของภาพใหญ่ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัตตานีไม่ได้เป็นเมืองท่าที่สำคัญที่สุด แต่ก็มีบทบาท เป็นบทบาทที่ศึกษาแล้วสนุก และน่าสนใจมาก แน่นอนเมื่อเรามองจากมุมมองของฮิกายัต คนทั้งโลกย่อมมองเห็นตัวเองเป็นศูนย์กลาง เชิดชูเจ้านายของตัวเอง เชิดชูสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของตัวเอง อันนั้นเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ มันขึ้นอยู่กับว่าปัจจุบันเราจะอ่านอย่างไรมากกว่า เราอ่านแล้วก็ไม่จำเป็นต้องบอกว่า เขาผิด เขาแย่ เขาเลวที่ทำอย่างนั้น ไม่ต้อง
 
ถ้าเขาไม่ทำอย่างนั้น อาจประหลาด เราควรมีวุฒิภาวะที่จะรู้ว่ามันเป็นอย่างนั้นแล้ว มันเลยเป็นอย่างนี้ มองในภาพใหญ่ มองในภาพรวมเป็นอย่างไร มันไม่จำเป็นที่จะไปลบไปเลือน ทำให้เราได้รู้หลายๆ ด้านไว้ไม่ดีกว่าหรือ?
 
พอทำให้ประวัติศาสตร์ปัตตานี เป็นประวัติศาสตร์ชาตินิยม เราก็พบว่าปัตตานีก็ยืดๆ หดๆ พอๆ กับสยาม ถามว่าทำไมสมัยหนึ่ง ถูกแยกออกเป็นแขก 7 หัวเมือง เราก็บอกว่าสยามทำ อันนี้ถูก สยามเข้ามาแบ่งแยก แต่ถามจริงๆ เถอะว่าปัตตานีแตกเป็นเสี่ยงๆ เองอยู่แล้วใช่ไหม บรรดาเจ้าทั้งหลายในขอบเขตที่เรียกว่าปัตตานีโบราณ ทะเลาะกันปั่นป่วนวุ่นวายพอๆ กัน
 
อย่าทำให้ปัตตานีเป็นรัฐเดี่ยว มีความเป็นเอกภาพ แล้วสยามมาแบ่งแยก คนในสมัยโบราณเจ้าใหญ่เจ้าเล็กนี่ทะเลาะกันปั่นป่วนวุ่นวายไปหมด ขนาดดูหนังที่ไม่ต้องตีความอย่างสุริโยทัย ทะเลาะกันเต็มไปหมดเลย สำหรับอยุธยาแล้ว เป็นเรื่องธรรมดาเหมือนกัน นี่ยกตัวอย่างให้ฟัง
 
การเป็นเอกภาพ ปัตตานีก็ไม่ค่อยมี อาจจะมีช่วงยุคทองพอแบ่งผลประโยชน์กันได้ ก็มีเอกภาพกันหน่อย แต่ความแตกแยกของรัฐสมัยใหม่นี้ รัฐมลายูทั้งหมด ไม่ใช่ปัตตานีแตกแยกกันเป็นพิเศษ รัฐมลายูแตกเป็นเสี่ยงมาแต่ไหนแต่ไร มีคำอธิบายทางประวัติศาสตร์ได้ ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์
 
รัฐมลายูจึงไม่เคยมีใครสามารถสถาปนาตัวเองเป็นพี่เบิ้มได้อย่างพม่า อย่างสยาม จนต้องข้ามไปฝั่งชวา ถึงสามารถสถาปนาขึ้นมาเป็นใหญ่ได้ อย่างยุคโบราณก็มีมัชปาหิต ที่สามารถสร้างตัวเองขึ้นมาเป็นใหญ่ได้ แต่รัฐในตัวแหลมมลายู ไม่เคยมีใครสถาปนาตัวเองเป็นพี่เบิ้มได้ใหญ่ขนาดนั้นเลย ฉะนั้นสิ่งที่ปัตตานีเป็น จึงเป็นเรื่องปกติ เหมือนกับรัฐมลายูหลายๆ แห่งในแถบนี้
 
ครองชัย หัตถา: เท่าที่ดูในห้องนี้ส่วนหนึ่งเป็นนักวิชาการท้องถิ่น บางท่านก็เป็นสื่อมวลชน เป็นนักศึกษานะครับ ผมดูว่า เรามีคนอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกถูกสร้างมาจากการศึกษาในส่วนกลางอย่างเช่นผม เป็นต้น อีกกลุ่มคือนักวิชาการท้องถิ่นปัตตานี รับรู้ประวัติศาสตร์ด้วยสำนวนประวัติศาสตร์ชาตินิยมท้องถิ่น คำถามคือว่าเมื่อนักวิชาการมาอยู่ตรงนี้ และอยู่ท่ามกลางปัญหา เราจะทำงานกันอย่างไร
 
ผมก็รู้สึกเห็นใจหลายท่านที่ได้พยายามทำ ในส่วนรัฐศาสตร์ก็ออกมาเสนอแนะรูปแบบการปกครอง แรกๆ ผมเองไม่ได้มีหน้าที่อะไรในด้านประวัติศาสตร์ เพราะผมเป็นนักภูมิศาสตร์ แต่ในที่สุดก็ต้องหันมาสนใจประวัติศาสตร์ เพราะถือเป็นหน้าที่ของนักวิชาการ ถึงจะเรียนมา หรือไม่เรียนมา ก็ควรจะต้องศึกษา
 
ในที่สุดก็เห็นในสิ่งที่ท่านอาจารย์ธงชัยได้สะท้อนมาหนึ่งชั่วโมงกว่าๆ ผมรู้สึกนึกภาพตามไปว่า ปัญหาเป็นอย่างนั้นจริงๆ นักวิชาการท้องถิ่นก็ต้องมีคำตอบให้กับปัญหาทางประวัติศาสตร์ด้วย ไม่ใช่ผมทำผิดที่พยามเขียนเรื่องประวัติศาสตร์ปัตตานี พยายามอ่านเรื่องลังกาสุกะ พยายามวิเคราะห์เรื่องมัสยิดกรือเซะว่า ทำไมถึงกลายเป็นประเด็นทางการเมือง
 
หลายเรื่องที่ตัวเองอยากทำ แล้วก็ลงไปทำโดยไม่ได้ของบประมาณจากรัฐ ผมภูมิใจที่ใช้เงินของรัฐน้อยมาก ไม่ต้องเป็นหนี้บุญคุณหรืออยู่ใต้บุญคุณของรัฐ เพราะผมทำด้วยความสนใจ เดินออกไป ไปคุยไปถามไปขุดไปค้นตามประสานักวิชาการ เขียนสรุปเมื่อเห็นประเด็นที่ไม่เหมือนกับที่เขาเข้าใจกัน ในทางวิชาการก็มีประเด็นตรงนี้มาตลอด ขณะนี้ก็ยังทำประเด็นอื่นๆ
 
ประเด็นที่ผมสนใจคือ เรื่องรายากูนิงที่ท่านอาจารย์พูดถึงหลายครั้ง ผมเองจะว่าไปก็มีส่วนถูกใช้ จากหนังสือสองหน้ากระดาษที่นำไปอ้างอิง ผมก็ถูกขอตัวไปช่วยดูบท ดูอะไรต่างๆ ผมบอกว่าถ้าออกมาเป็นละครแล้ว ผมช่วยไม่ได้นะ แต่ตัวเนื้อแท้ของประวัติศาสตร์ที่ได้จากการอ้างอิงการค้นคว้านี่ อาจจะพอให้ความเห็นได้
 
สิ่งที่ผมได้คุยได้รับรู้ตอนนั้นคือ คนยังไม่รู้ว่ารายากูนิงคือใคร เข้ามาอยู่ตรงไหนของประวัติศาสตร์ปัตตานีและประวัติศาสตร์ไทย ผมว่าคนปัตตานีเอง 90% ไม่รู้ว่ารายากูนิงคือใคร ยกเว้นนักวิชาการอย่างอาจารย์อุดม ปัตนวงศ์ ถึงเวลาออกอากาศ ชาวบ้านจริงๆ ก็เปิดไปดูช่องอื่น เขาคิดว่าเป็นหนังจักรๆ วงศ์ๆ เช่นเดียวกันกับคนไทยภาคอื่น เปิดพบรายากูนิงไปก็เปลี่ยนช่องนะครับ ในหัวของคนไทย 99% ไม่มีเรื่องรายากูนิง ไม่รู้ว่าคืออะไร
 
เมื่อเกิดละครรายากูนิงขึ้นมา (ดูเรื่องย่อ ที่นี่) จะผิดจะถูกก็วิจารณ์กันไป ถ้าต้องการรสชาติคำวิจารณ์ที่ถึงพริกถึงขิง ให้ไปอ่านงานของอาจารย์มาร์ค แอสคิว (ดูใน "รัฐแห่งความเพ้อฝัน: อดีตที่ไม่ลงรอยของปัตตานีและความเป็นไปไม่ได้ของการ 'สมานฉันท์'" ใน วารสารฟ้าเดียวกันปีที่ 8 ฉบับที่ 1– กองบรรณาธิการ) เกือบสี่สิบหน้าครับ อ่านแล้วคนใต้เรียกว่าได้แรง ผมอยากให้ทุกคนได้อ่านนะครับ
 
เหตุผลจริงๆ ที่เกี่ยวกับรายากูนิงก็คือ การสะท้อนความเป็นตัวตน ซึ่งมาจากแนวคิดของอาจารย์ธงชัย ในหนังสือ Siam Mapped ที่มีอยู่ในห้องสมุดที่นี่ (Siam Mapped : A History of the Geo-Body of a Nation ดูลิงค์ ที่นี่ – กองบรรณาธิการ) นั่นคือต้องการเน้นความเป็นตัวตน ผมอยากให้ทุกคนเห็นตรงกันว่า ปัตตานีก็มีตัวตน มีระบบกษัตริย์นะ คนไทย 99.99% ไม่เข้าใจระบบกษัตริย์ของปัตตานีนะครับ สุลต่าน รายาก็ไม่รู้เรื่องเลย เพราะการศึกษาของไทยไม่เคยให้ความรู้ตรงนี้
 
คนที่มีความรู้ตรงนี้ จะถูกรัฐเพ่งเล็ง นี่คุณกำลังรื้อฟื้นระบบกษัตริย์ที่นี่หรือเปล่า แต่เหตุผลลึกๆ ของผมในฐานะนักวิชาการ ผมต้องการสะท้อนความจริงว่า ครั้งหนึ่งระบบนี้มันเคยมีอยู่ เคยดำรงอยู่ จำเป็นต้องบอกความจริงให้สาธารณชนรับทราบ
 
ในความเป็นรายากูนิง มันมีสยามเข้ามาเกี่ยวข้อง มีความสัมพันธ์กัน เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่หักล้างกัน เป็นความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เป็นความสัมพันธ์ที่มีการตีสองหน้า มันมีทุกรสทุกชาติ รายากูนิงจึงเป็นตัวแทนที่ดีของความสัมพันธ์ระหว่างปัตตานีกับสยาม ในทัศนะของนักวิชาการอย่างผม เพราะมันมีทุกรสชาติ ดีกันก็มี ไปกันได้เข้าใจกันดีระหว่างพระเจ้าปราสาททองกับรายากูนิงทำท่าจะชอบกันด้วยซ้ำ ในละครรู้สึกจะชอบกันอยู่นะคู่นี้ แต่มีอุปสรรคตรงพระเจ้าปราสาททองมีภรรยาอยู่ก่อนแล้ว อันนั้นเป็นเรื่องของนวนิยาย ขณะที่การสะท้อนความสัมพันธ์ที่แข็งกร้าวต่อกัน ก็ปรากฏให้เห็นในรายากูนิง
 
เหตุผลที่ผมเห็นว่ามีส่วนดีอยู่บ้าง แม้จะถูกวิจารณ์มากคือ การทำให้คนสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือคนไทยที่ถูกสร้างด้วยประวัติศาสตร์ไทย ที่อาจารย์ธงชัยพูดถึงแล้วพูดถึงอีก ผมก็เป็นอย่างนั้นด้วย กับกลุ่มที่สองคือกลุ่มที่ถูกสร้างขึ้นมาจากประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งรับรู้ประวัติศาสตร์ปัตตานีแล้วรู้สึกเจ็บปวดเจ็บใจอยู่ในความทรงจำ อยู่ในสายเลือดกันมายาวนาน ได้มาพบกันในละคร เพราะมันไม่มีปัญญามาพบกันในหนังสือเรียน
 
ถ้าใจกว้างที่จะรับรู้ตรงนี้ ผมเองสามารถเป็นตัวแทนของคนอีกสองสามคน ที่ไม่ได้อยู่ในห้องนี้ พอจะให้คำตอบ หรือพูดแทนได้ว่า เราต้องการให้คนสองฝ่ายพบกันในละคร แล้วก็ดูเสียงวิจารณ์ตอนละครฉายออกไป แน่นอนครับ ในหมู่ชาวบ้านเงียบสนิท เพราะเขาไม่เข้าใจในสิ่งที่ละครสะท้อน ขณะที่โครมครามครึกโครมเอิกเกริกมาก ในบรรดานักวิชาการที่เขาสนใจวิเคราะห์เจาะลึก เช่น อาจารย์มาร์ค แอสคิว เป็นต้น
 
แม้กระทั่งอาจารย์ธงชัยก็อาจจะรู้สึก เอ๊ะนี่มันบิดพลิ้วบิดเบือนเสแสร้งอะไรหรือเปล่า แต่เนื้อแท้จริงๆ แล้ว ต้องการสะท้อนสองอย่าง คือ หนึ่งความมีตัวตนของปัตตานี ที่คนจะต้องรับทราบ สองคือคนสองฝ่ายได้พบกันในละคร ได้เริ่มต้นนิดหนึ่ง ยังดีกว่าเป็นนักวิชาการแล้วไม่ได้ทำอะไรเลย
 
ธงชัย วินิจจะกูล: ผมกลับคิดอีกทางหนึ่ง ผมไม่ได้โทษอาจารย์ครองชัย ผมกลับคิดว่าก็อย่าเซ็นเซอร์อาจารย์ อย่าเปลี่ยนบทที่อาจารย์เขียนไว้มาก อาจารย์อยากเชื่ออย่างไร เสนออย่างไรก็ทำอย่างนั้น ผมว่ามันถูกปรับถูกเปลี่ยนมากไปหน่อย เพื่อให้ออกไปในแนวปรองดองสมานฉันท์อย่างที่เขาต้องการ ให้อาจารย์ทำสิ ส่วนรัฐบาลอยากจะมีรายากูนิงเวอร์ชั่นสมานฉันท์ก็ออกมา ก็เขียนออกมา จะให้อาจารย์ครองชัยทำ ให้ทมยันตีทำ หรือให้คนอื่นทำก็ได้
 
ผมอ่านเรื่องทมยันตีเขียนเกี่ยวกับล้านนา ชื่อเรื่องอะไรจำไม่ได้แล้ว สุดท้ายสามกษัตริย์มีครูคนเดียวกัน ผมอ่านแล้วตลกฉิบหายเลย หัวเราะก๊ากเลย ผมถึงอยากจะเห็นอาจารย์ธเนศวร์ เจริญเมือง เขียนนิยายจังเลย เพราะมันจะออกมาอีกอย่างหนึ่ง
 
ผมพยายามดูโปรดักส์โดยไม่ต้องคิดโทษอาจารย์อย่างนั้นอย่างนี้ แทนที่จะเป็นเวอร์ชั่นสมานฉันท์เวอร์ชั่นเดียว ผมอยากให้อาจารย์ได้ทำอย่างที่อาจารย์อยากทำ อย่ามาเซ็นเซอร์ ถ้าทมยันตีอยากมีอีกเวอร์ชั่นก็ทำไป นี่ยังไม่ต้องพูดถึงว่า คนเขียนบทก็ยังไปเปลี่ยนบททมยันตีอีก เพราะทุกคนอยากจะเชื่อว่า ความรู้ของทุกคนนั้นถูก ผมก็อยากเชื่ออย่างนั้น แต่อย่างที่บอกสิ่งที่ทำให้ประวัติศาสตร์อันตรายน้อยลงก็คือ แบกันให้หมดบนโต๊ะ ปล่อยให้ให้คนเขาฟังกันให้หมด แล้วสุดท้ายทุกเวอร์ชั่นจะมีอิทธิพลน้อยลง รวมทั้งเวอร์ชั่นผมก็จะมีอิทธิพลน้อยลง
 
มูฮำหมัดอายุป ปาทาน: ถามเอาความรู้นิดหนึ่งครับอาจารย์ คือ ผมสนใจที่อาจารย์บอกว่าแบ ถ้าถามจากคนข้างในมีพลวัต (dynamic) ทางความคิด ที่อาจารย์บอกพวกนั้น มันไม่มี dynamic ทางความคิด อาจารย์ดูนักวิชาการภาคประชาสังคมจากข้างใน มันมีพลวัตทางความคิดที่จะแบประวัติศาสตร์แบบอาจารย์บอกรึเปล่า นี่ข้อแรก
 
ผมเชื่อว่า ถ้าข้างในมันมีพลวัตทางความคิดอย่างที่อาจารย์บอก ภารกิจนี้มันตกมาเป็นภาระนักวิชาการในพื้นที่ด้วย ทั้งนักวิชาการท้องถิ่นและนักวิชาการในมหาวิทยาลัย เพราะมันจะต้องแบ การแบมันมาไม่ได้จากภาคประชาสังคมอย่างเดียว ถ้านักวิชาการไม่ยอมแบเรื่องปัตตานีออกมา
 
ข้อที่สอง ผมคิดว่าประเด็นที่อาจารย์พูดได้น่าสนใจ คือ การปรับให้อยู่ร่วมกันได้ ผมว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นน่าสนใจ โจทย์ก็คือว่า นักวิชาการกับภาคประชาสังคม มันจะปรับให้อยู่ด้วยกันได้อย่างไร  ประวัติศาสตร์ปัตตานีอยู่ได้ ประวัติศาสตร์อื่นก็อยู่ได้ ผมว่าประเด็นนี้ค่อนข้างจะถามในรูปธรรมว่า มองจากคนข้างใน มันควรจะไปอย่างไร อย่างน้อยที่อาจารย์พูดเมื่อกี้ผมดีใจ คือ อาจารย์บอกว่า แต่ก่อนมันพูดไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้ปัตตานีมหานครมันพูดได้ แสดงว่าตอนนี้มันก็มีการปรับเหมือนกัน แต่มันจะปรับต่อไปอย่างไร เป็นประเด็นที่ท้าทาย ทั้งนักวิชาการและภาคประชาสังคม
 
อันสุดท้ายที่ผมจะถามอาจารย์ครับ อาจารย์อยู่ต่างประเทศเยอะ ผมคิดว่าประเด็นแบบประวัติศาสตร์ปัตตานีในต่างประเทศเขาสนใจไหม อันนี้ถามแบบคนไม่รู้
 
ธงชัย วินิจจะกูล: สองประเด็นแรก ผมว่ามันไม่ใช่คำถาม คุณอภิปรายถามเองตอบเองเบ็ดเสร็จแล้วว่า นักวิชาการยังไม่แบเลย อันนี้ผมไม่พูดปกป้อง นักวิชาการก็เหมือนคนอื่นๆ เหมือนนักบริหาร นักปกครอง บางคนคิดแบบนี้ บางคนคิดอย่างอื่น ผมเชื่อว่าในบรรดาคนที่พอจะคิด เข้าใจเรื่องพวกนี้ เขาก็พยายามแบอยู่ ส่วนพวกคนที่เขาไม่คิด นักวิชาการหรือนักประวัติศาสตร์ที่ต้องทำเพื่อความมั่นคงในประเทศไทยนี่มีมาก
 
สมัยผมเป็นนักศึกษา ยังจำได้เลยว่าหม่อมเจ้าสุภัทดิศ ดิศกุล โอรสกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังออกมาพูดเลยว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านมีเกณฑ์ในใจว่า เรื่องอะไรถ้าไม่เป็นประโยชน์ก็อย่าไปพูดถึงเลย เพราะฉะนั้นเราจึงมีคนคิดอย่างนั้นอยู่เยอะ เราอาจจะบอกว่าในสปิริต มีความจำเป็นต้องเข้าใจ อันนั้นก็ว่าไป แต่ในสปิริตความเป็นนักวิชาการ พูดอย่างนี้มันไม่ถูก เอาเป็นว่ามีคนอย่างนั้นมากก็แล้วกัน
 
ถามว่าในบรรดาคนที่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น อยากจะพูดอยากจะแบได้แค่ไหน พูดได้แค่ไหน ผมว่าเขาก็พยายามทำอยู่ แต่สุดท้ายมันก็มีเงื่อนไขอื่นด้วย ใช่ไหมครับ อย่างที่ผมบอกว่า แทนที่จะพูดเรื่องนี้ (ชูแผ่นพับเรื่องเขตปกครองพิเศษ) เมื่อ 50 ปีก่อน เพิ่งมาพูดได้ตอนนี้
 
ขณะที่ประวัติศาสตร์อีกหลายเรื่องยังพูดไม่ได้เลย ผมเคยทำเรื่อง 6 ตุลา หลายคนคงรู้ใช่ไหมครับ ทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าเราจะพูดได้หมดทุกเรื่อง สุดท้ายผมเพิ่งเขียนลงหนังสืออ่านว่า วัฒนธรรมการวิจารณ์ของไทยมันอันตราย วิจารณ์ผิดก็ติดคุก หลายท่านคงคิดว่าผมกำลังแซวอาจารย์เจตนา นาควัชระอยู่ ผมไม่ได้แซว ผมกำลังโต้เลย อาจารย์เจตนาเคยพูดว่า ต้องมีวัฒนธรรมการวิจารณ์ ผมกำลังบอกอาจารย์เจตนาว่า ถ้าเราวิจารณ์ผิดก็ติดคุกได้ แค่เบาะๆ ถึงจะไม่ถึงติดคุกก็อาจจะถูกรังเกียจ มันมีขวากหนาม ซึ่งมันไม่ควรจะเป็นแบบนั้น อันนี้เป็นอุปสรรคที่คนจะออกมาพูดอะไร ก็ต้องมาคิดหน้าคิดหลัง เวลาถามว่าจะทำอย่างไร ผมถึงบอกว่าไม่มีในเชิงรูปธรรม (ดูใน "กุ ลอบ ลอก แต่งแบบไพร่ๆ ความผิดของ ก.ศ.ร. กุหลาบที่ตัดสินโดยนักประวัติศาสตร์อำมาตย์" ใน วารสารอ่าน ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 มกราคม-มีนาคม 2554 – กองบรรณาธิการ)
 
ผมบอกเลยว่า ผมเข้าใจสิ่งที่คุณพูด เพราะเป็นปัญหาที่เห็นกันอยู่แล้ว นักวิชาการภาคประชาสังคมควรทำอย่างไร คุณก็ตอบอยู่แล้ว อย่างน้อยที่สุดก็บอกว่า พวกเราพยายามค่อยๆ คิดว่า หลายๆ อย่างที่เรารู้ที่เราคิดมันเป็นกรอบที่เป็นปัญหา ทุกคนจะรู้มากรู้น้อยคิดได้มากคิดได้น้อยเป็นภาวะปกติ ที่เถียงกันไปกันมาก็ว่ากันไปเปลี่ยนกันไป
 
ขอให้ฉุกใจคิดสักหน่อยว่า ยังมีหลายอย่างในตัวเรา ที่เราไม่ยอมเปลี่ยน แม้กระทั่งผมแม้กระทั่งคุณ คนที่คิดว่าเปลี่ยนแล้วก็เปลี่ยนแค่บางเรื่อง อีกหลายๆ เรื่องมันก็เปลี่ยนยากเหมือนกัน ทุกคนเป็นอย่างนี้ เวลาที่ทุกคนเป็นอย่างนี้
 
วุฒิภาวะทางประวัติศาสตร์แยกไม่ออกจากการมีสังคมประชาธิปไตย ที่มีเสรีภาพทางการพูดมันแยกกันไม่ออก มันมีขั้นตอนที่จะไปถึงสารพัด มีช่วงเปลี่ยนผ่านสารพัด สารพัดช่วง สารพัดแบบ แต่พูดกันในเชิงหลักการก่อนว่า วุฒิภาวะทางประวัติศาสตร์ ที่จะลดความอันตรายของประวัติศาสตร์ มันแยกไม่ออกกับการปล่อยให้เกิดการพูด คนเรามักจะคิดง่ายๆ ว่า การพูดในสิ่งที่ฟังไม่รื่นหู ทำให้เกิดการทะเลาะ เราไม่เคยคิดกลับกันว่า ปล่อยให้พูดกันเยอะๆ เลยครับ ความอันตรายจะน้อยลง
 
มนุษย์มันภูมิคุ้มกันอยู่นะ พอประวัติศาสตร์มันออกมาหลายเวอร์ชั่น เราก็ไม่ค่อยอยากจะเชื่ออะไรง่ายๆ อีกแล้ว อันตรายมันเกิดจากการเชื่อบางอย่างอย่างฝังหัวไม่ยอมเปลี่ยน และผูกพันกับมัน (commit) คนเราควรมีดีกรีแห่งความกังขา (skeptic) ของการเป็นคนฟังหูไว้หูมากขึ้น ซึ่งควรเป็นจุดมุ่งหมายของมหาวิทยาลัย
 
สุดท้ายการผลิตบัณฑิตคือการผลิตคนให้ฟังหูไว้หูแค่นั้นเอง ทำยากนะครับ ทั้งที่ดูง่ายนิดเดียว ถ้าทุกคนรู้จักการฟังหูไว้หู หลายอย่างที่ดูอันตราย จะอันตรายน้อยลง นักวิชาการกับภาคประชาสังคมผมก็คิดว่าเป็นมนุษย์ปุถุชน สุดท้ายแล้วเราก็มีความเชื่อของเรา ผมพูดเรื่องประชาธิปไตยเพื่ออะไร สุดท้ายเราก็เป็นมนุษย์ปุถุชนที่มีความดีความชั่ว มีความเชื่อสารพัด ถ้าเราอยู่ในสังคมที่มีความเชื่อหลายๆ อย่าง เราจะไม่กล้าผูกพันตัวเองเพราะเรารู้ว่าคนอื่นเขาคิดอย่างไร ไม่ใช่กลัว เราฟังหูไว้หู เพื่อเปิดโอกาสเปิดพื้นที่ให้คนอื่น
 
ผมเคยถามตัวเองว่าทำไมหลังช่วงรัฐประหาร สังคมไทยจึงถอยกรูดมหาศาลในทางวัฒนธรรม อันนี้หลายๆ คนอาจจะไม่เห็นด้วย นี่คือความเห็นของผม พูดง่ายๆ ว่าก่อนรัฐประหาร รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะดีจะชั่วก็ทะเลาะกันไป แต่บรรยากาศในการพูดคุยถกเถียงมันเปิดกว่านี้ พอหลังรัฐประหารคุณดูกระทรวงวัฒนธรรมสิ อนุรักษ์นิยมได้เหลือเชื่อ
 
หลังรัฐประหารผมพยายามคิดว่า มันเกี่ยวอะไรกันระหว่างรัฐประหารกับความเป็นอนุรักษ์นิยมของกระทรวงวัฒนธรรม ผมคิดว่ามันเกี่ยวกับบรรยากาศของการฟังหูไว้หูมันลดลง ไปเกิดบรรยากาศที่อำนาจบางอย่างสามารถสถาปนาว่า ความรู้ความเชื่อว่า แบบนี้ถูกกว่าดีกว่า ทำได้ง่ายขึ้น เพราะมีอำนาจรัฐคุ้มกัน
 
ทั้งที่ก่อนหน้านั้น ทักษิณจะดีจะเลวก็ทะเลาะกันไป อย่างน้อยจะด่าคนเสียๆ หายๆ จิปาถะ แต่อำนาจในการใช้กลไกต่างๆ ก็มีจำกัด อย่างน้อยสื่อมวลชนก็ด่าทักษิณได้ แล้วด่าแหลกเลยด้วย หลังรัฐประหารสื่อมวลชนที่ด่าทักษิณก็หยุดด่ารัฐบาลหลังรัฐประหารอะไรอย่างนี้ ผมคิดว่ามันเกี่ยวกันตรงบรรยากาศ ที่เราจะต้องฟังหูไว้หูมันหดมันลดลงไป
 
ทั้งนักวิชาการและประชาสังคมผมเรียกร้องว่า แต่ละคนพยายามหาความรู้ความคิดอะไรใหม่ๆผมรู้ว่าทุกคนมีขีดจำกัด คงไม่มีใครสามารถเป็นผู้วิเศษ และอย่างน้อยผมอาจจะโชคดีกว่าหลายๆ คน ตรงที่มีอาชีพอ่านหนังสือเขียนหนังสือ อีกหลายคนเขาเสียเปรียบเรา การจะไปโต้เถียงเรียกร้องให้เขาคิดได้เหมือนเรา มันจึงไม่ยุติธรรม
 
สิ่งที่สำคัญกว่าและยากกว่าก็คือ ให้บรรยากาศทางสังคมเกิดสภาวะของการฟังหูไว้หู ทำให้คนหลายคนที่อยากจะคิดอยากจะเชื่อในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ได้รู้สึกว่าต้องบันยะบันยังบ้าง ได้ตระหนักตลอดเวลาว่า มีคนอื่นที่เขาคิดไม่เหมือนเรา และมีเหตุมีผลอยู่ข้างๆ เรา
 
ถึงแม้จะมีการใช้อำนาจ เช่น ธงชัยนั่งบนโต๊ะกุมไมโครโฟนพูดอยู่ตอนนี้ แต่อำนาจชนิดนี้มันอยู่สั้นนิดเดียว พอออกนอกห้องเราก็ลืมหมดแล้ว ใช่หรือไม่ นักเรียนที่เรียนกับเราพอหมดเทอม ก็เอาความรู้คืนใส่ลิ้นชักเขาก็กลับไปเชื่ออย่างเดิม คนเราไม่ได้เปลี่ยนกันแค่ชั่วฉับพลัน
 
คำถามก็คือแล้วจะอยู่กันอย่างไร ผมพูดไปหลายครั้งแล้ว วิธีที่สำคัญที่สุดคือการลดอันตราย ซึ่งถึงที่สุดมันควบคู่กันมากับการให้มีเสรีภาพ ที่จะให้ความรู้ทั้งหลายแบกันบนโต๊ะ พอแบกันแล้ว เราอย่าคิดว่าคนจะฟังและเชื่อง่ายๆ ยิ่งแบกันหลายอันมากขึ้น มันจะปลดอาวุธ (disarm) มันจะลดภาวะอันตรายของความรู้เหล่านั้น
 
ผมพูดอย่างนี้ เพราะจุดมุ่งหมายของคนอย่างผม ไม่ได้อยากจะทำให้ความรู้ที่มีอยู่นี้มีอำนาจ เราขอแค่มีที่ยืนเท่านั้น ผมคิดว่าภาวะสังคมที่น่าพิสมัยกว่าคือ เราขอที่ยืนแล้วไม่ต้องมีอำนาจ
 
ความรู้ที่น่ากลัวคือ ความรู้ที่ถูกนำไปผนวกกับอำนาจ
 
00000