Skip to main content

 

 ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ( DSJ)

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาอุทธรณ์คดี “ท่อก้าซไทย–มาเลย์” ตุลาการผู้แถลงคดียืนตามคำพิพากษาศาลปกครองสงขลา ยันสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องชดใช้ค่าเสียหาย
 
               เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 13 กันยายน 2554 ที่ห้องพิจารณาคดี 4 ศาลปกครองสูงสุด นายชาญชัย แสวงศักดิ์ หัวหน้าคณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด และองค์คณะรวม 5 คน ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคำอุทธรณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในคดีหมายเลขดำที่ 454/2546  คดีหมายเลขแดงที่ 51/2549 ซึ่งเป็นคดีนายเจะเด็น อนันทบริพงศ์ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และพวก 24 คน ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 1 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย เพื่อเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานของรัฐ จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมผู้คัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย–มาเลเซีย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 ที่โรงแรมเจ.บี.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีผู้ฟ้องคดีและประชาชนจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ประมาณ 50 คน เดินทางมาฟังการพิจารณา

ชาวบ้านจะนะ

ชาวบ้านจะนะชนะ –ชาวบ้านกลุ่มคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย– มาเลเซีย จากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เดินทางไปร่วมฟังการพิจารณาคดีชาวบ้านฟ้องสำนักงานแห่งชาติเรียกค่าชดเชย กรณีถูกตำรวจสลายการชุมนุมโดยมิชอบ เมื่อปลายปี 2545 ซึ่งศาลปกครองสูงสุดแถลงว่า ที่ศาลปกครองสงขลาพิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวบ้านที่ถูกสลายการชุมนุมถือว่าสมควรแก่เหตุแล้ว
 
              ผู้ฟ้องคดีประกอบด้วย นายสุไลมานหมัดยุโส๊ะ ที่ 2 นายสุริยาหว่าหลำ ที่ 3 นางสุไรด๊ะห์โต๊ะหลี ที่ 4 นายเจะหมัด สังข์แก้วที่ 5  นายสาลี มะประสิทธิ์ที่ 6 นายมะแอ พรหมอินทร์ที่ 7 นางมลิยะ หีมมุเด็นที่ 8  นายสักการิยาหมะหวังเอียด ที่ 9 นายตอเหด เส็นอาลามีนที่ 10  นายคอเบดหมัดเมาะ ที่ 11  นายมูฮัมหมัดขัดตะรีมะหะจิ ที่ 12  นางขอเหล็มนุ้ย ที่ 13 นายวิโรจน์ สะอุที่ 14  นายรอเฝดหัดยุมสา ที่ 15  นายวิทวัสมะเด ที่ 16  นายโส๊ะหลำโส๊ะ ที่ 17 นายรอเด็นหมะประสิทธิ์ ที่ 18  นายบรรจงนะแส ที่ 19  นายกิตติภพสุทธิสว่าง ที่ 20 นางสาวศุภวรรณ ชนะสงครามที่ 21 นางสาวทัศนีย์ รุ่งเรืองที่ 22 นายพิชิต ไชยมงคลที่ 23 และนางสาวสุรัตน์แซ่จุ่ง ที่ 24
              นางสุไรด๊ะโต๊ะหลี ผู้ฟ้องคดีที่ 4 เป็นผู้แทนของผู้ฟ้องคดีแถลงต่อศาลด้วยวาจาว่าผู้ชุมนุมใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับสลายการชุมนุมถือเป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ทำให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิเสรีภาพและได้รับความเดือดร้อนจากการถูกดำเนินคด
              "หลังจากนั้นโครงการได้ก่อสร้างจนแล้วเสร็จปรากฏว่า สิ่งที่พวกดิฉันวิตกกังกวลกลับเป็นจริงไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสียง เรื่องกลิ่นจากโรงแยกก๊าซไทย–มาเลเซีย ส่งผลกระทบต่ออาชีพการประมงชายฝั่ง และการเลี้ยงปลาในกระชังของชาวบ้านในคลองนาทับด้วย” นางสุไรด๊ะ แถลง

               นายสมศักดิ์ ตัณฑเลขา ตุลาการผู้แถลงคดี ได้อ่านคำแถลงต่อองค์คณะว่า ที่ศาลปกครองสงขลาพิจารณาคดีเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมโดยกำหนดให้มีการชดใช้ค่าเสียหายจากการสลายการชุมนุมนั้นชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองสงขลามีอำนาจพิจารณาพิพากษา และเห็นว่าที่ผู้ถูกฟ้องคดีอุทธรณ์ว่าการชุมนุมของผู้ชุมนุมในวันที่ 20 ธันวาคม 2545 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะชุมนุมโดยไม่สงบและมีอาวุธนั้น ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่า ลูกตะกั่วถ่วงอวน หนังสติ๊กสามง่าม มีดสะปาต้า แม้เป็นอาวุธโดยสภาพ แต่มีจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ชุมนุม จึงเชื่อว่าเป็นเรื่องของเจตนาของแต่ละบุคคลไม่ใช่เจตนาร่วม ส่วนกรรไกร และไม้คันธง ไม่ถือเป็นอาวุธโดยสภาพ
              นายสมศักดิ์ แถลงอีกว่า การนำมาใช้ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมแล้ว จึงเป็นเจตนาของแต่ละบุคคล ไม่ใช่มีเจตนานำมาใช้เป็นอาวุธ เมื่อผู้ชุมนุมหยุดรอการเจรจาโดยสงบ บางส่วนนั่งรับประทานอาหาร บางส่วนละหมาด แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจกลับเข้าผลักดันสลายการชุมนุม จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม
             “ที่ศาลปกครองสงขลาพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายคนละ 10,000 บาท ถือว่าสมควรแก่เหตุแห่งพฤติการณ์ และความร้ายแรงแห่งละเมิด ที่มาต่อความเสียหายต่อสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและความเสียหายทางจิตใจแล้ว” นายสมศักดิ์ แถลง
             นางสาวส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความ เปิดเผยว่า ตุลาการเจ้าของสำนวนแจ้งว่า หลังจากนี้ตุลาการจะดำเนินการให้แล้วเสร็จ จากนั้นจะส่งคำพิพากษาให้ศาลปกครองสงขลาอ่านคำพิพากษา โดยยังไม่ได้ระบุวันเวลาแต่อย่างใด
            “นับเป็นกรณีแรกของประเทศไทย ที่มีการฟ้องร้องให้รับรองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน และเชื่อว่าคำพิพากษาคดีนี้ จะสร้างบรรทัดฐานทั้งในส่วนของการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน และในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถึงแนวปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมและหลักการปฏิบัติ หากต้องมีการสลายการชุมนุม” นางสาวส.รั ตนมณี กล่าว

            สำหรับคดีนี้ สืบเนื่องมาจากชาวบ้านและเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน ร่วมกันชุมนุมคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย– มาเลเซีย ที่ปากทางเข้าโรมแรมเจ.บี. อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในวันที่ 21 ธันวาคม 2545 เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านโครงการต่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชิณวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งมีกำหนดเดินทางมาประชุมรัฐมนตรีสัญจรร่วมกับคณะรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่โรงแรมเจ.บี.
            ผู้ชุมนุมได้ประสานงานกับตัวแทนรัฐบาล เแจ้งวันเวลาการเดินทาง รูปแบบการเดินทาง เส้นทาง และจุดหมายที่จะไปรอยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี โดยเดินทางออกจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ในช่วงบ่ายของวันที่ 20 ธันวาคม 2545
             เวลาประมาณ 19.00 น. ของวันที่ 20 ธันวาคม 2545  ผู้ชุมนุมเดินทางถึงพบว่าเส้นทางถูกปิดกั้นไว้ด้วยแผงเหล็กและกองกำลังตำรวจ จึงหยุดที่สวนหย่อม บริเวณสะพานถนนจุติ-บุญสูงอุทิศ ข้างอาคารจอดรถโรงแรมเจบี เพื่อรอยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีในวันที่ 21 ธันวาคม 2545 ตามที่กำหนดนัดหมายไว้
             ต่อมาตัวแทนของรัฐบาลได้เข้ามา หารือ และแจ้งให้รอประมาณ 1 ชั่วโมง ผู้ชุมนุมจึงได้แยกย้ายกันนั่งรับประทานอาหาร และละหมาดกันในบริเวณดังกล่าวโดยสงบ ระหว่างการรอผลการเจรจา ยังไม่ครบกำหนดเวลา ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งแถวแล้วเข้าผลักดันประชาชนด้วยกำลังและกระบอง จนกระทั่งผู้ชุมนุมต้องสลายการชุมนุม
            ผู้ชุมนุมที่เป็นเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนถูกจับกุมในที่เกิดเหตุ 12 คน ประชาชนผู้มาร่วมชุมนุมถูกออกหมายจับและถูกดำเนินคดีอีก 22 คน รวมถูกดำเนินคดีอาญาทั้งสิ้น 34 คน แต่ศาลจังหวัดสงขลา และศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด และระบุว่า การสลายการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย
            ในระหว่างการต่อสู้คดีอาญา เมื่อปลายปี 2546 ผู้ชุมนุมรวม 30 คน ได้ร่วมกันฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้รับผิดต่อความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม เป็นเงินคนละ 20,000 บาท และการที่ถูกทำร้ายร่างกายและทำลายทรัพย์สินต่อศาลปกครองสงขลา โดยศาลปกครองสงขลารับคำฟ้องเฉพาะผู้ฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 24 กรณีความเสียหายต่อเสรีภาพในการชุมนุม ส่วนความเสียหายจากการทำร้ายร่างกายและทำลายทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ 25 ถึงที่ 30 ศาลเห็นว่าเป็นเรื่องในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงให้ฟ้องต่อศาลแขวงสงขลาเป็นคดีแพ่ง
             เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2549 ศาลปกครองสงขลาพิพากษาว่า คำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ชุมนุมได้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องคดีรวม 24 ราย เป็นเงินคนละ 10, 000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ ต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ที่กรุงเทพมหานคร