Skip to main content

 

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)

เดินหน้าสร้างเขื่อนแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง “เขารูปช้าง” นักสิ่งแวดล้อมชี้ท้ายเขื่อนเจอผลกระทบแน่ หวั่นยิ่งทำ “สมิหลา” พังหนัก ชาวบ้านร้องให้ออกแบบ–ศึกษาใหม่ “กรมเจ้าท่า” ไม่สนเดินหน้าทำ

เวทีเขื่อนกันคลื่นเขารูปช้าง

เดินหน้า – กรมเจ้าท่าเดินหน้าศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม สร้างเขื่อนกันคลื่น แก้ปัญหากัดเซะชายฝั่งเขารูปช้าง เมืองสงขลา

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2554 ที่ห้องประชุมเทศบาลเมืองเขารูปช้าง ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา บริษัทปัญญาคอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัทออโรร่าเทคโนโลยีแอนด์เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ร่วมกับกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม จัดประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะบริเวณบ้านทุ่งใหญ่ หมู่ที่ 3–7 ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มีส่วนราชการ ภาคเอกชน ชาวบ้านจากตำบลเขารูปช้าง และตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เข้าร่วมประมาณ 50 คน

นายประยุทธ เจริญกุล ผู้จัดการโครงการฯ ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า กรมเจ้าท่าได้ว่าจ้างบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาศึกษาสำรวจออกแบบโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ที่บริเวณบ้านทุ่งใหญ่ หมู่ที่ 3–7 ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา แล้วเสร็จ เมื่อปี 2552 ต่อมาประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดให้โครงการก่อสร้างหรือขยายสิ่งก่อสร้างในทะเล จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  กรมเจ้าท่าจึงทบทวนผลการศึกษาออกแบบสำรวจเพิ่มเติม และจัดทำ EIA ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาเห็นชอบก่อนก่อสร้างโครงการ

นายประยุทธ ชี้แจงอีกว่า จากการศึกษาสาเหตุการกัดเซาะชายฝั่ง ศึกษาสภาพชุมชน สภาพแวดล้อมโครงการ และลักษณะรูปแบบที่มีการนำมาใช้แก้ไขปัญหา ได้มีการนำเสนอแนวคิดรูปแบบของการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ตำบลเขารูปช้าง จากการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 สรุปเป็น 5 แนวทาง คือ 1.เติมทรายชายฝั่ง 2.ก่อสร้างเขื่อนหินทิ้งกันเคลื่อน 3.ก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นใต้น้ำ 4.ก่อสร้างเขื่อนหินทิ้งกันคลื่นสลับกับก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นใต้น้ำ และเติมทรายชายฝั่ง 5.ก่อสร้างสะพานคอนกรีต

นายประยุทธ ชี้แจงด้วยว่า จากการพิจารณาความเหมาะสมทางเลือกในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลาพบว่า ทางเลือกที่ 4 คือการผสมผสานระหว่างสร้างเขื่อนกันคลื่นกับสร้างเขื่อนใต้น้ำ มีความเหมาะสมมากกว่าทางเลือกอื่นๆ มีความโดดเด่นในการป้องกันคลื่นลม ส่งผลให้พื้นที่ใช้สอยตามแนวชายหาด สอดรับกับวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่ ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ชายฝั่งได้อย่างเหมาะสม

“บริเวณที่มีการสร้างเขื่อนกันคลื่นสูงเหนือน้ำ เป็นบริเวณที่ไมมีชุมชน การใช้ประโยชน์ในการช่วยบดบังคลื่นลมกับเรือประมงพื้นบ้านได้ ขณะที่การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นใต้น้ำ เพื่อลดผลกระทบด้านทัศนียภาพ ก็จะเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของท้องถิ่นได้เป็นเป็นอย่างดี” นายประยุทธ กล่าว

นายเจริญ มัชฌิมาปาโร ชาวบ้านตำบลเขารูปช้าง ถามและให้ความเห็นกับบริษัทที่ปรึกษาว่า ถ้านำทรายมาถมชายหาดสามารถใช้งานได้กี่ปี หากเลือกการเติมทรายชายฝั่ง ก็ไม่ควรมีโครงสร้างกีดขวางทางน้ำในทะเล  เพราะจะทำให้เกิดการกัดเซาะมากยิ่งขึ้น

นายสุพจน์ จารุลักขณา ผู้เชี่ยวชาญด้านโยธา ตอบว่า ตนเห็นด้วยว่าไม่ควรมีโครงสร้างกีดขวางทางน้ำในทะเล ถ้าหากเลือกการเติมทรายชายฝั่ง จะแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้แค่ 6–7 ปีเท่านั้น ยิ่งปัจจุบันมีพายุคลื่นลมเข้าฝั่งบ่อย การถมทรายยิ่งแก้ปัญหาได้เพียงไม่กี่ปี อีกทั้งราคาทรายที่นำมาถมลูกบาศก์เมตรละ 460 บาท ต้องนำมาถมชายหาดกว่า 8 กิโลเมตร จำเป็นต้องใช้งบประมาณ 32 ล้านบาทต่อปี

นายสุพจน์ กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าถึงจะถมทรายอย่างไร หรือจะสร้างเขื่อนกันคลื่นก็ไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ จึงควรเน้นให้ความสำคัญว่า จะทำอย่างไรที่จะลดความรุนแรงของพลังคลื่นให้ได้มากที่สุด ทางเลือกนี้น่าจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการกัดเซาะชายหาดมากที่สุด

นายเจริญ เสนอว่า อยากให้นำทางเลือกทั้ง 4 ทางเลือกกลับมาพิจารณาใหม่ได้หรือไม่ เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา และหาจำนวนเงินงบประมาณที่ต้องใช้ในแต่ละทางเลือกมาประกอบการพิจารณาด้วย

นายวรรณชัย บุตรทอง ตัวแทนจากกรมเจ้าท่า ตอบว่า จะให้เริ่มศึกษาแนวทางในการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายหาดใหม่ไม่ได้ เนื่องจากแนวทางที่เลือก ผ่านสำรวจออกแบบแล้วตั้งแต่ปี 2551 ที่ก่อสร้างไม่ได้เนื่องจากประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ออกมาในปี 2552 กำหนดให้โครงการก่อสร้างหรือขยายสิ่งก่อสร้างในทะเลต้องจัดทำ EIA

“กรมเจ้าท่าจึงมาทำ EIA ถึงแม้โครงการนี้อาจจะทำให้สูญเสียทัศนียภาพ มองแล้วไม่สวยงาม แต่จากการศึกษาพบว่าการผสมผสานระหว่างสร้างเขื่อนกันคลื่นกับสร้างเขื่อนใต้น้ำเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด ถ้าให้ศึกษาออกแบบใหม่ต้องใช้งบประมาณใหม่อีก” นายวรรณชัย กล่าว

นายอุสมาน ห้อยวารี ชาวบ้านตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เสนอว่า อยากให้กรมเจ้าท่ารื้อเขื่อนกันคลื่นเล็กๆ 3 อันที่อยู่บริเวณบ้านบ่ออิฐ ตำบลเกาะแต้ว เพราะเวลาคลื่นซัดน้ำเข้ามาทรายไม่เข้าฝั่ง ส่งผลให้เกิดการกัดเซาะทำให้ชายฝั่งเว้าแหว่งถนนพัง ตนคิดว่าถ้าไม่สามารถดักทรายได้ ควรเชื่อมเขื่อนทั้ง 3 ให้เป็นตัวเดียวกันได้หรือไม่ เนื่องจากปีหนึ่งๆ ชายฝั่งจะถูกกัดเซาะ 3 – 4 วา

นางสาวศาณี ทิพย์ทะเบียนการ เจ้าหน้าที่จากสํานักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 16 สงขลา แสดงความเห็นว่า ในทางวิชาการการก่อสร้างเขื่อนหินทิ้งกันคลื่นสลับกับก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นใต้น้ำ มีผลกระทบต่อการกัดเซาะบริเวณพื้นที่ท้ายเขื่อนแน่นอน อยากให้คำนึงถึงการเปลี่ยนของกระแสน้ำ ให้ศึกษาขอบเขตผลกระทบกับหาดชลาทัศน์ (หาดสมิหลา) เพราะปัจจุบันประสบปัญหาการกัดเซาะชายหาดอย่างหนัก

นายถนอมศักดิ์ แป๊ะเส้ง ว่าที่ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีเมืองเขารูปช้าง แย้งว่า ต้นสนบริเวณหาดสมิหลาล้มระเนระนาด จากการโดนคลื่นลมพายุในปี 2553 ที่ผ่านมา ถ้าหากเจ้าหน้าที่จากสํานักงานสิ่งแวดล้อมมัวแต่กังวลโน่นกังวลนี่ก็ไม่ต้องทำอะไรกัน ตนขอเสนอให้กรมเจ้าท่าทำไปเลย