Skip to main content

 

 นูรยา เก็บบุญเกิด โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)

 

เครือข่ายประชาชนภาคใต้ ประกาศเดินหน้าพัฒนาศักยภาพชุมชน ฝ่าสารพัดปัญหามุ่งสู่ชุมชนเข้มแข็ง เตรียมทำแผนพัฒนาที่คนใต้ต้องการ สู้แผนพัฒนาภาครัฐ ดับฝันเมกะโปรเจ็กต์ จัดกระบวนการสื่อสารชุมชน พร้อมตอบโต้สร้างความยอมรับ

นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ

      นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ จากเครือข่ายลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

 

 เมื่อเวลา 13.00–14.00 น. วันที่ 14 กันยายน 2554 ที่ห้องประชุมปาริชาติ มหาวิทยาลัยทักษิณ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โครงการประชุมวิชาการระดับชาติ “ชุมคน ชุมชน คนใต้ ครั้งที่ 3 เสียงจากผู้ไร้สิทธิชายแดนใต้” (Voices of the Voiceless : from the southernmost People in Thailand) ซึ่งจัดโดยโครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาเพื่อการบูรณาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ มีการสรุปภาพได้ภาพรวมจากเวทีสมัชชาประชาชน “ว่าด้วยเสียงจากผู้ไร้สิทธิ” โดยนายนฤทธิ์ ดวงสุวรรณ จากเครือข่ายลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

 

นายนฤทธิ์ สรุปว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชนมี 2 ส่วนคือ กลุ่มผู้กระทำ และกลุ่มผู้ถูกกระทำ 2 กลุ่มนี้มีมุมมองต่างกัน เจ้าของปัญหาคือ ชุมชนมีแนวคิดต้องการจัดการตนเอง โดยใช้พื้นที่และเครือข่าย รวมทั้งยอมรับความหลากหลายทั้งภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม ในการทำงานร่วมกัน ทุกกลุ่มมองว่าวิถีชีวิตอิงอยู่กับฐานทรัพยากรทุกประเภทในภาคใต้ ในการดำรงชีวิตจึงต้องใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ใช้ศาสนาและวัฒนธรรมเป็นหลัก

 

นายนฤทธิ์ กล่าวถึงปัญหาจากกลุ่มผู้กระทำว่า ส่งผลกระทบต่อเครือข่ายต่างๆ จากหลักคิดต้องการพัฒนาให้เป็นเอกภาพหนึ่งเดียว ก่อให้เกิดแรงต้าน เมื่อพูดแผนพัฒนาต่างๆ แนวคิดเรื่องความเจริญ ความทันสมัย ทุนไร้พรมแดนยังคงครอบงำ และมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่วนความรู้สึกของผู้ถูกกระทำ หรือการใช้อำนาจพิเศษจัดการกับผู้ขัดขวางความเจริญ ผู้ที่คิดต่าง การกีดกันการเข้าถึงความช่วยเหลือสนับสนุน ซึ่งเกิดจากมุมมองการพัฒนาที่ต่างกัน ส่งผลให้เกิดการกดดันชนกลุ่มน้อยที่ถูกมองว่า เป็นผู้ขัดขวางความเจริญ โดยมองว่าไม่ใช่คนไทย มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่แยกแยะ

 

นายนฤทธิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหานโยบายจากส่วนกลางส่งตรงถึงพื้นที่ ปากบารา ทะเลสาบสงขลา ที่อยู่อาศัยของชาวเล คนพลัดถิ่น พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการพัฒนาอุตสาหกรรม และปัญหาความอยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่ผลกระทบจากภัยพิบัตินับเป็นอีกสาเหตุ ที่ทำให้ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยหลุดมือไปจากชาวบ้านในชุมชน นายทุนฉวยโอกาสออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินชาวบ้าน ขณะที่ปัญหาจากภัยพิบัติโดยตรง เกิดจากไม่มีการเตือนภัยล่วงหน้า ความช่วยเหลือเข้าไปถึงพื้นที่ล่าช้า ไม่ทั่วถึง เล่นพรรคเล่นพวก

 

นายนฤทธิ์ กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ทั้งหมด ส่งผลให้ฐานทรัพยากรของคนใต้เสื่อมโทรมลงอย่างรุนแรง ปัญหาที่พบคือ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกจำกัดพื้นที่ทางวัฒนธรรมรัฐไม่ยินยอมให้แสดงออก การถูกเบียดเบียนแหล่งทำกินของชาวเล ความไม่เสมอภาคที่คนไทยพลัดถิ่นได้รับ นำมาสู่การเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่ม จนถูกกล่าวหาเป็นพวกหัวรุนแรง

 

“จากความขัดแย้งแบ่งแยกที่ซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ความเป็นอยู่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน นอกจากความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับชุมชนจะเกิดขึ้นแล้ว ยังเกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับเอกชน ความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับหน่วยงานของรัฐ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มนักวิชาการที่ศึกษาโครงการขนาดใหญ่กับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ” นายนฤทธิ์ กล่าว

 

นายนฤทธิ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ของกลุ่มสตรีก็ซับซ้อนเช่นกัน โดยเฉพาะความเท่าเทียมทางวัฒนธรรม ที่นำมาสู่การกดขี่ผู้หญิง เช่น มีภรรยา 4 แล้วไม่เลี้ยงดู เมื่อมีปัญหาก็หย่าร้างกัน ส่งผลให้เกิดปัญหาการศึกษา เศรษฐกิจ การดูแลบุตร ครอบครัวที่ไม่มั่นคง ซึ่งมีผลกระทบต่ออนาคตของชาติ ขณะที่คุณภาพในการจัดการด้านการศึกษาด้อยลง ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาลดลง เด็กถูกจัดการให้เหมือนกันทั่วประเทศ เด็กในโรงเรียนตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและความแตกแยก

 

นายนฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า เรื่องทั้งหมดต้องการการพัฒนาแกนนำ เพิ่มศักยภาพในการจัดการครอบครัวให้กับกลุ่มสตรี ต้องสร้างความมั่นใจที่จะลุกขึ้นมายืนหยัดและต่อสู้กับปัญหา ขณะที่รัฐใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือจัดการคน ชุมชนต้องใช้ความกลัวเป็นโอกาสในการยืนหยัดต่อสู้กับปัญหา ต้องมีกระบวนการจัดการกลุ่มและเครือข่าย ทั้งด้านทุน การศึกษา สร้างความเข้มแข็ง และการรับมือภัยพิบัติ พร้อมกันไปกับการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิ์ ที่กระทบจากแผนพัฒนา จากการจัดการที่ดิน และการรุกเข้าของธุรกิจการท่องเที่ยว ที่กระทบต่อชาวเลโดยตรง

 

“สำหรับการเคลื่อนไหวเชิงนโยบายของภาคใต้ ตอนนี้มีการนำเสนอเแผนพัฒนาภาคใต้ที่คนภาคใต้ต้องการ การเสนอรูปแบบการจัดการการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตัวเอง มีกองทุนพัฒนาสตรี การพัฒนาสร้างความมั่นคงความยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมบ้างแล้ว ภายใต้การขับเคลื่อนกิจกรรมทั้งหมด ประเด็นสำคัญอยู่ที่การพัฒนาศักยภาพของคน การเรียนรู้ประสบการณ์ทั้งด้านลึก และด้านกว้างข้ามพื้นที่ ข้ามประเด็น ข้ามภาค” นายนฤทธิ์ กล่าว

 

นายนฤทธิ์ กล่าวต่อไปว่า อีกส่วนที่สำคัญคือ การจัดกระบวนการโต้ตอบของชุมชน การจัดการตนเองให้เป็นที่ปรากฏ ทำให้กิจกรรมต่างๆ ในระดับพื้นที่มีความยั่งยืน มีการขับเคลื่อนเชิงรุกไปถึงทำเนียบรัฐบาล ไปถึงศูนย์กลางอำนาจ ซึ่งจะต้องเพิ่มพื้นที่สื่อสารให้กับภาคพลเมือง ทั้งในระดับพื้นที่ ระดับเครือข่าย และระดับประเทศ

 

นายนฤทธิ์ สรุปถึงความก้าวหน้าของชุมชนว่า ที่เห็นชัดเจนคือรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียง ที่นำหน้าสังคมไปแล้ว แต่ยังไม่แสดงออกมาให้เห็นชัดๆ เป็นการสร้างความพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับเสรีอาเซียน ในมิติที่มากกว่าเศรษฐกิจขณะที่ศักยภาพด้านการศึกษาของคนรุ่นใหม่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีรูปแบบการศึกษาหลายรูปแบบ ตั้งแต่โรงเรียนตาดีกา ปอเนาะ การจัดการศึกษาของรัฐ ความก้าวหน้าที่น่าสนใจคือ การจัดการภัยพิบัติด้วยตัวเองของประชาชนที่ตื่นตัว มีการวางแผน มีการทำข้อมูล จนสามารถจัดการตัวเองได้เรียบร้อย และความก้าวหน้าในกลุ่มชาติพันธุ์ในมิติและประเด็นต่างๆ เช่น ความมั่นคงในชีวิต การศึกษา และพัฒนาเยาวชน การพัฒนาฐานอาชีพ การดูแลทรัพยากรธรรมชาติ

 

นายนฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ความก้าวหน้าที่เห็นได้ชัดอีกอย่างคือ การพัฒนาสตรีเข้าสู่มิติต่างๆ โดยใช้วัฒนธรรมการเลี้ยงลูก วัฒนธรรมความเป็นอยู่ วัฒนธรรมการทำมาหากิน วัฒนธรรมการใช้ชีวิตในครอบครัว วัฒนธรรมศาสนา เป็นเครื่องมือจัดตั้งเครือข่ายต่างๆ ส่วรความก้าวหน้าอีกเรื่องคือ การใช้จุดอ่อนจากที่ถูกระแวง ไม่ได้รับการยอมรับ เป็นโอกาสในการสร้างชุมชนศรัทธา จนเกิดการยอมรับในสังคมเพิ่มขึ้น สามารถสร้างความสงบ สันติสุข สมานฉันท์ ได้อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นกระบวนการ เปิดให้ภาคีทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมร่วมกันได้

 

“รัฐต้องปรับวิธีคิดในการพัฒนา ด้วยการให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมจริงๆ รัฐต้องพร้อมที่จะรับข้อเสนอจากประชาชน รัฐต้องทบทวนและหยุดโครงการต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น และหันมาฟังประชาชน หยุดสนับสนุนให้ประชาชนทะเลาะกันในชุมชน เพื่อผลักดันโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ รัฐต้องขยายเครือข่าย ดึงภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่นเข้าไปร่วมวางแผนการพัฒนา ขณะที่เครือข่ายประชาชนต้องเข้ามาร่วมผลักดันแก้ไขปัญหาต่างๆ ในระดับเชิงนโยบายด้วย” นายนฤทธิ์ กล่าว

 

นายนฤทธิ์ กล่าวว่า กระบวนการการเมืองภาคประชาชน หรือการเมืองภาคพลเมือง ยังต้องการให้รัฐบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดมากขึ้น และต้องการให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายบางฉบับ ที่สร้างปัญหาให้กับชุมชน นี่คือกระบวนการขับเคลื่อนการเมืองภาคประชาชน ที่ทำให้คนในชุมชน คนยากจน คนไร้ที่อยู่ คนไร้สัญชาติ เป็นคน เป็นพลังของบ้านเมือง