จริงใจ จริงจิตร โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
ผ่านไปแล้วอย่างคึกคัก สำหรับงานสัมมนาในโครงการประชุมวิชาการระดับชาติ “ชุมคน ชุมชน คนใต้ ครั้งที่ 3 เสียงจากผู้ไร้สิทธิชายแดนใต้” (Voices of the Voiceless: from the southernmost People in Thailand) ที่จัดโดยโครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาเพื่อการบูรณาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ ระหว่างวันที่ 12–14 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา หอประชุมอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา
หนึ่งในหลากหลายประเด็นปัญหาที่มีการหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวข้อสนทนาคือ “นโยบายองค์กรภาคีเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้”
หัวข้อนี้มีนักปฏิบัติการทางสังคมเรียงหน้าขึ้นมานำเสนอกันอย่างคึกคัก ไล่มาตั้งแต่ไมตรี จงไกรจักร จากเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปและการเมือง (คปสม.) ปรีดา คงแป้น จากมูลนิธิชุมชนไทย นิธิมา บินตำมะหงง จากสำนักงานกองทุนฟื้นฟูแลพัฒนาเกษตรกร มณเฑียร ธรรมวัติ สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง มีนักวิชาการร่วมแจมอยู่หนึ่งคนคือ ผศ.จำนงค์ แรกพินิจ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ
เนื้อหาที่พูดกันในหัวข้อนี้คือ ประเด็นการผลักดันในเชิงนโยบายและการขับเคลื่อน
ไมตรี กงไกรจักร
ไมตรี จงไกรจักร บอกว่า วันนี้ของเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปและการเมือง เป็นเพียงการเริ่มต้นในการผลักดันบางเรื่องสู่สาธารณะ เนื่องเพราะจะผลักดันนโยบายได้ ก็ต้องทำให้สาธารณะเข้าใจก่อน ในเชิงของการขับเคลื่อน ทำอย่างไรให้ทุกองค์กรขับเคลื่อนไปพร้อมกัน เพราะทุกๆ ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาของทุกคน
สำหรับปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไมตรี จงไกรจักร มองว่า ควรจะเป็นปัญหาระหว่างคนภาคใต้ทั้งภาคกับรัฐบาล ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นปัญหาเฉพาะของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะในข้อเท็จจริง ต้องยอมรับว่า ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาของคนไทยทั้งหมด
ปรีดา คงแป้น
“ทุกๆ เครือข่ายจะต้องมีกองทุนเป็นของตนเอง เพื่อจะให้งานของแต่ละเครือข่ายขับเคลื่อนไปได้ เครือข่ายต่างๆ จะต้องเชื่อมโยงกับเครือข่ายอื่นๆ ทั่วประเทศ เพื่อที่จะร่วมแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำอย่างไรให้สันติสุขกลับคืนมาให้ได้”
เป็นทัศนะของปรีดา คงแป้น ในวันนั้น
ขณะที่มณเฑียร ธรรมวัติ สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง มองว่าการนำเสนอประเด็นเขตปกครองพิเศษในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แสดงให้เห็นว่าโครงสร้างที่มีอยู่เดิมใช้ไม่ได้ ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ ประเด็นนี้เป็นหน้าที่ของชุมชนจะต้องออกมาร่วมกันขับเคลื่อน สำหรับจังหวะของการขับเคลื่อน สื่อมีความสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชน ประชาชนกับรัฐ เพราะฉะนั้นการนำเสนอประเด็นปัญหาของตนเองผ่านสื่อ เพื่อให้คนอื่นได้รับรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญ
มณเฑียร ธรรมวัติ
“รัฐบาลชุดปัจจุบันประกาศจะให้พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่เขตปกครองพิเศษ จะต้องเป็นเขตปกครองพิเศษที่มาจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ไม่ใช่เขตปกครองพิเศษแบบเอาทหารเป็นจำนวนมาก เข้ามาอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นี่เป็นภาระที่คนภาคใต้ต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้รัฐบาลรับรู้” มณฑียร ธรรมวัติ กล่าว
ขณะเดียวกัน เมื่อพูดถึงทิศทางการพัฒนาภาคใต้ มณเฑียร ธรรมวัติ ยืนยันด้วยความมั่นใจว่า คนภาคใต้ไม่ต้องการโครงการพัฒนาที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คนภาคใต้ต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ แต่ยั่งยืน
นี่คือ บทสนทนาภายใต้หัวข้อ “นโยบายองค์กรภาคีเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้”