Skip to main content

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)

 

       

หนุน “กรมเจ้าท่า” ถมทรายชายฝั่งสะกอม ชาวบ้านหวั่นผลกระทบช่วงก่อสร้าง เสนอตั้งกรรมการฯ ลดปัญหากระทบกระทั่ง ระหว่างเจ้าท่ากับชาวบ้าน “คนตลิ่งชัน”กลัวกัดเซาะเฉพาะพื้นที่ เสนอถมทรายตลอดแนว 8 กิโลเมตร

 

 

         หาดสะกอม

ถมทราย – เวทีการมีส่วนร่วม โครงการสร้างเขื่อนแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กรมเจ้าท่าเลือกใช้วิธีถมทรายชายหาด อ้างเหมาะสมมีผลกระทบน้อยที่สุด

 

 

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2554 ที่ศาลาประชาคมอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา บริษัท เอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัทแอสตีคอน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมกับกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม จัดสัมมนาการมีส่วนร่วมพิจารณาร่างรายงานโครงการศึกษาสำรวจออกแบบเพื่อก่อสร้างเขื่อนการกัดเซาะชายฝั่งทะเลที่บริเวณหาดสะกอม อำเภอจะนะ และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ครั้งที่ 2 มีส่วนราชการ ภาคเอกชน ชาวบ้านจากอำเภอจะนะ และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เข้าร่วมประมาณ 50 คน

นายสุพจน์ จารุลักขณา วิศวกรและผู้จัดการโครงการฯ  ชี้แจงว่า กรมเจ้าท่าได้ว่าจ้างบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาศึกษาสำรวจออกแบบโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่บริเวณหาดสะกอม ระหว่างวันที่ 6–7 ตุลาคม 2553 วันที่ 13 ธันวาคม 2553 ให้ข้อมูลข่าวสารอย่างไม่เป็นทางการกับหน่วยงานราชการ จากนั้นวันที่ 14 ธันวาคม 2553 จัดสัมมนาการมีส่วนร่วมฯ ครั้งที่ 1 ที่ศาลาประชาคมอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา วันที่ 15 ธันวาคม 2553 จัดประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 1 ที่ศาลาหมู่บ้านโคกสัก ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ วันที่ 24 มีนาคม 2554 จัดประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 ที่ศาลาหมู่บ้านโคกสัก ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ

นายสุพจน์ ชี้แจงพื้นที่โครงการว่า ตั้งอยู่ที่บริเวณหาดสะกอม ด้านทิศตะวันตกของปากร่องน้ำสะกอมในเขตท้องที่หมู่ที่ 6 บ้านโคกสัก และหมู่ที่ 7 บ้านบ่อโชน ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา สำหรับพื้นที่ศึกษามีขอบเขตครอบคลุม 3 ตำบล 2 อำเภอ ได้แก่ ตำบลสะกอมกับตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ และตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา

นายสุพจน์ ชี้แจงอีกว่า จากการศึกษาสาเหตุการกัดเซาะชายฝั่ง สภาพชุมชน สภาพแวดล้อมโครงการ และลักษณะรูปแบบที่นำมาใช้แก้ปัญหา ได้มีการนำเสนอ สรุปแนวทางรูปแบบการป้องกันกัดเซาะชายฝั่งออกเป็น 5 แนวทางคือ 1.เติมทรายชายฝั่ง 2.ก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นและถมทรายชายฝั่ง 3.ก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นใต้น้ำ 4.ก่อสร้างหัวหาดและเติมทรายชายหาด 5.ก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น 2 ชั้น และเติมทรายชายหาด

นายสุพจน์ ชี้แจงอีกด้วยว่า  จากการศึกษาสาเหตุการกัดเซาะชายฝั่ง ศึกษาด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชนพบว่า ทางเลือกที่ 1 การเติมทรายชายหาดมีความเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากเป็นรูปแบบที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งบริเวณข้างเคียง และกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลน้อย ชุมชนสามารถเดินเรือได้ตามปกติ ไม่มีสิ่งก่อสร้างในทะเล สามารถใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ รวมทั้งค่าก่อสร้างต่ำ ตรงตามความต้องการของชุมชนที่ต้องการให้มีโครงสร้างน้อย

“สำหรับรูปแบบการก่อสร้างประกอบด้วย การเติมทรายชายหาดกว้างไม่น้อยกว่า 30 เมตร ยาว 2,250 เมตร ปรับปรุงซ่อมแซมเกาะกันกัดเซาะยาว 50 เมตร 2 ตัว รื้อย้ายและก่อสร้างเกาะกันกัดเซาะยาว 50 เมตร 1 ตัว รื้อย้ายและก่อสร้างเกาะกันกัดเซาะยาว 150 เมตร 1 ตัว ก่อสร้างแนวกันชนยาว 1,935 เมตร และปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณพื้นที่โครงการบ้านโคกสัก ขนาดพื้นที่ประมาณ 1.88 ไร่” นายสุพจน์ กล่าว

นายสมยศ เอื้ออภิสิทธิ์วงค์ ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม ชี้แจงว่า จากการศึกษาควรมีการปรับปรุงซ่อมแซมเกาะกันกัดเซาะ จะส่งผลกระทบให้ตะกอนในน้ำมากขึ้น จึงต้องก่อสร้างในช่วงคลื่นลมสงบ และต้องมีมาตรการควบคุมที่เคร่งครัดไม่ให้ทิ้งวัสดุที่จะก่อสร้างลงในทะเล อาจส่งผลกระทบกับการทำประมงชายฝั่ง ควรมีการประชาสัมพันธ์และหามาตรการในการลดผลกระทบกับชุมชน

“ในช่วงการก่อสร้างจะมีรถบรรทุกขนทรายและหิน ทำให้มีฝุ่นควัน อาจทำให้ชาวบ้านเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ง่ายขึ้น จากเศษทราย เศษหินตกหล่น” นายสมยศ กล่าว

นายมูนิน หว่าหลำ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลสะกอม อำเภอจะนะ กล่าวว่า คนโคกสักและชาวบ้านตำบลสะกอมดีใจเป็นอย่างยิ่ง ที่เลือกแนวทางถมทรายชายหาด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการกัดเซาะน้อย ไม่เหมือนกับการสร้างเขื่อนกัดเซาะในทะเล อีกทั้งไม่ส่งผลกระทบกับการทำประมงชายฝั่ง ที่สามารถนำเรือเข้า–ออกฝั่งไปหาปลาได้ ทุกคนเห็นด้วยกับโครงการนี้

นายกะดิ้น แสงดี ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ เสนอว่า อยากให้กรมเจ้าท่า ถมทรายชายหาดจากบ้านโคกสัก ตำบลสะกอม จนถึงชายหาดบริเวณตำบลตลิ่งชันด้วย ไม่ใช่ดำเนินการแค่ 4 กิโลเมตร แต่ควรเป็น 8 กิโลเมตร ถ้าจะสร้างก็ต้องสร้างให้เหมือนกัน

“ถ้าพังก็พังเหมือนกันไม่ใช่ให้ตำบลสะกอมอยู่รอด แต่ตำบลตลิ่งชันยังถูกกัดเซาะชายฝั่งจนพังระเนนระนาด ขอให้กรมเจ้าท่าถมทรายชายหาดที่ตำบลตลิ่งชัน ไปเชื่อมต่อกับชายหาดบริเวณตำบลนาทับ ที่กำลังดำเนินโครงการเช่นกัน” นายกะดิ้น กล่าว

นายวรรณชัย บุตรทองดี วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ กรมเจ้าท่า ชี้แจงว่า เรื่องการกัดเซาะชายหาดที่ตำบลตลิ่งชัน ถ้าจะดำเนินการทางกรมเจ้าท่าจะต้องศึกษาสำรวจออกแบบก่อน จากการศึกษาของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพบว่า ชายหาดตำบลสะกอมกัดเซาะรุนแรง แต่ชายหาดตำบลตลิ่งชันยังกัดเซาะน้อย จึงถมทรายชายหาดแค่ 4 กิโลเมตรก่อน

นายเจะปิ อนันทบริพงษ์ ชาวบ้านตำบลสะกอม อำเภอจะนะ แสดงความเห็นว่า ในช่วงของการก่อสร้างจะการจราจรจะติดขัดจากรถบรรทุกทราย บรรทุกหิน อีกทั้งสภาพถนนปัจจุบันก็ทรุดโทรม เป็นหลุมเป็นบ่อย่ำแย่อยู่แล้ว ตนขอเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการจากชุมชนคอยประสานงานกับกรมเจ้าท่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คอยแก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนและลดความขัดแย้งระหว่างกรมเจ้าท่ากับคนในชุมชน