Skip to main content

มูฮำหมัด ดือราแม สำนักข่าวประชาไท

ฮัสซัน โตะดง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)

 

 

 

 

 

           อิสกันดาร์ ธำรงทรัพยื

 

                                     อิสกานดาร์ ธำรงทรัพย์

 

 

 

อิสกันดาร์ ธำรงทรัพย์เป็นอดีตประธานกลุ่มนักศึกษาชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือ PNYS ในช่วงปี 2527 ก่อนผันตัวมาเป็นผู้ทำงานภาคประชาสังคมที่มุ่งเน้นไปยังโครงการเยียวยาชุมชน ต่างๆ และขับเคลื่อนกระบวนการสร้างพลังความเป็นกลางผ่านองค์กรอาสาสมัคร

 

ปัจจุบัน อิสกันดาร์ ธำรงทรัพย์เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงขององค์กรป้องกันสาธารณภัย ฮิลาลอะห์มัรทำหน้าที่กู้ภัยพลเรือน, ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ, เก็บศพ, ตลอดจนอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ให้กับผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กำลังเผชิญกับเหตุการณ์รุนแรงรายวัน

 

บทบาทการทำงานในองค์กรป้องกันสาธารณภัย ทำให้เขาสามารถเข้าไปใน พื้นที่สีแดงบางแห่งประกอบกับสถานะ อดีตสมาชิกกลุ่ม PNYS” จึงเลี่ยงไม่พ้นที่จะถูกมองเป็น คนในของแนวร่วมขบวนการก่อความไม่สงบ เมื่อบวกรวมกับการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเวลานาน ทำให้มุมมองของ อิสกันดาร์ ธำรงทรัพย์สามารถสะท้อนให้เห็นทั้งวิธีคิดของ ขบวนการและ ภาครัฐที่คมชัดยิ่ง

 

เมื่อ อิสกันดาร์ ธำรงทรัพย์หันหัวเรือเข้าสู่การเมืองในระบบเลือกตั้ง ในฐานะแกนนำคนสำคัญของ พรรคประชาธรรมแนวคิดมุมมองของหนุ่มใหญ่ผู้นี้ต่อสภาพการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงน่าสนใจยิ่ง

 

ต่อไปนี้คือทัศนะของ อิสกันดาร์ ธำรงทรัพย์ต่อการเมืองในระบบเลือกตั้ง ที่ถอดออกมาจากแถบบันทึกเสียงคำต่อคำ

 

                                                  0 0 0

 

พรรคประชาธรรมคิดอย่างไรกับการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า เป็นทัศนะของผม อย่าถือว่าเป็นทัศนะของพรรคเลย ผมมองว่าการปกครองรูปแบบพิเศษเป็นไปได้ยาก เพราะถ้าต้องการสันติภาพ ก็ต้องให้พื้นที่กับคนที่กำลังต่อสู้อยู่กับรัฐ นี่คือหัวใจ คนที่กำลังต่อสู้อยู่ในขณะนี้ ถ้าไม่มีพื้นให้พวกเขา ต่อให้มีการจัดการปกครองพิเศษกี่รูปแบบก็แล้วแต่ ก็คงยากที่จะทำให้เหตุการณ์สงบลงได้

 

เพราะฉะนั้น ในเมื่อประชาธรรมเป็นพรรคการเมืองที่เกิดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องมีนโยบายที่ชัดเจนกว่าพรรคอื่นๆ สำหรับประเด็นนี้

 

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ความขัดแย้งที่กำลังเกิดอยู่มันมาจากความขัดแย้งเรื่องอะไร และความขัดแย้งอะไรเป็นหลัก อะไรเป็นรอง จะจบลงได้อย่างไร คือมีจิตนาการความสงบก่อน ซึ่งผมเห็นขั้นตอนแรกคือ การเปิดพื้นที่สำหรับคู่ขัดแย้ง ประเด็นนี้ต่างหากเป็นประเด็นสำคัญ ต้องมองว่า การต่อสู้วันนี้ เป็นการต่อสู้ทางการเมือง เป็นการหลั่งเลือดที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง

 

การเมืองในที่นี้คือ กระบวนการในการจัดการปกครองมนุษย์ให้อยู่อย่างมีความสุขได้ จะต้องใช้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เข้ามาจัดการวิถีชีวิตของมนุษย์ ของสังคม นั่นคือการเมืองในมุมของผม

 

เมื่อคนกลุ่มหนึ่งเชื่อรูปแบบการปกครองอีกรูปแบบหนึ่ง ขณะที่รัฐเชื่อในอีกรูปแบบหนึ่ง ถ้าจะแก้ปัญหาก็ต้องนั่งลงคุยกันก่อน

 

ความเชื่อที่แตกต่างตรงนี้ ชัดเจนว่า เป็นความขัดแย้งทางการเมือง แม้เบื้องต้นเราเห็นรูปธรรม คือมีการยิงกัน มีการรบกัน มีการจับกุมกัน ทั้งหมดนี้ไม่มีเหตุจากเรื่องส่วนตัว แต่เรียกได้ว่า เป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองตามนิยามที่ผมว่าไว้เมื่อตะกี้

 

เพราะฉะนั้นถ้ามองทางออกแบบง่ายๆ คนทะเลาะกัน จะเลิกแล้วต่อกันได้ ต้องมีการให้อภัยกันหรือนิรโทษกรรมกันก่อน และต้องรู้สึกร่วมทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

 

การจะให้รู้สึกอภัยกันได้ ต้องแลกกับอะไร แต่ละฝ่ายจะต้องได้อะไร เสียอะไร มันต้องเห็นตรงนี้ก่อน

 

จากนั้นมีกระบวนการพิจารณาต่อนโยบาย ต่อกฎหมายที่จะใช้พื้นที่ตรงนี้ ที่จะต้องกลั่นกรองในรูปแบบพิเศษ ถ้าจะเรียกเขตปกครองพิเศษอาจจะยากเกินไป แต่ต้องมีกระบวนการหนึ่งที่รับประกันได้ว่า สิ่งที่แต่ละฝ่ายต่อสู้เอาชีวิตแลกกันมาจะต้องไม่สูญเปล่า

 

ผมจึงเสนอแนวทาง สันติภาพในคืนเดือนมืด หมายถึงว่า มันมีการตกลงกันภายใน อยู่ในที่มืด ใครคุยกับใครไม่รู้ แต่ทุกฝ่ายสามารถได้ยินข้อเสนอระหว่างกัน

 

คนที่ได้ยินข้อเสนอ สามารถนำไปปฏิบัติได้ โดยไม่จำเป็นต้องออกมาประกาศตามที่เสนอไป นั่นคือความเป็นไปได้ที่แท้จริงของกระบวนการสันติภาพของที่นี้

 

ที่ผ่านมาก็มีความพยายามอยู่ แต่เป็นความพยายามที่ยังไม่เข้าใจจิตวิทยาคนมลายู ฝ่ายรัฐไม่อยากให้เสียหน้า ฝ่ายขบวนการฯ ก็ไม่อยากเสียเหลี่ยม

 

ในฐานะประธานมูลนิธิฮิลาลอะมัร แยกบทบาททางการเมืองออกจากการเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับพรรคประชาธรรมอย่างไร

ความจริงแล้วประเด็นมูลนิธิฮิลาลอะมัร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ประเด็นทางการเมืองก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง สังคมมุสลิมบ้านเรายังไม่รู้เรื่องการเมืองเท่าไหร่

 

การผสมผสานการทำงานมูลนิธิฯ ที่ทำงานเกี่ยวกับสาธารณกุศลกับเรื่องการเมืองนั้น ความจริงเป้าหมายมันไปจุดเดียว คือสังคม คือประชาชน แต่มันเป็นเรื่องที่สังคมไทยยังไม่ยอมรับ สังคมไทยยังแยกระหว่างการทำงานการเมืองกับการทำงานสาธารณกุศล หรืองานป้องกันสาธารณภัยไม่ได้ เพราะสังคมไทยมีความเชื่อว่า นักการเมืองเป็นคนไม่ดี ส่วนการทำสาธารณกุศลเป็นเรื่องของคนดี

 

ในความเป็นจริงแล้ว ในยุโรป ในอเมริกา องค์กรการกุศลหรือ มูลนิธิบางแห่งจะเดินไปด้วยกันกับการเมือง หรือจะเรียกว่าเป็นมูลนิธิของพรรคการเมืองก็ว่าได้

 

ในพื้นที่บ้านเราก็มีมูลนิธิที่มาจากต่างประเทศ ที่เขาทำงานสอดรับกับแนวทางของพรรคการเมืองหนึ่งๆ ในประเทศของเขาหลายมูลนิธิที่เข้ามา แต่สำหรับสังคมไทย คนในทางการเมืองไม่ค่อยจะถูกยกย่องเชิดชู แต่คนที่ถูกยกย่อง มักจะเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นคนชั้นสูงที่ลงมาทำงานแค่เพียงสาธารณกุศล

 

อุดมการณ์อย่างนี้ หรือทัศนะคติทางการเมืองแบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะสังคมคนไทยในกรุงเทพมหานคร แต่มันลามลึกลงมาถึงสังคม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

 

ถึงแม้คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะบอกว่า ตัวเองเป็นอิสลาม วิถีชีวิตไม่สามารถแยกออกจากการเมือง แต่จริงๆ แล้วทัศนะของคนที่นี่ กลับแยกการเมืองออกจากศาสนา ทั้งๆ ที่ทัศนะของอิสลาม การเมืองไม่ได้แยกจากออกจากศาสนา แต่ก็ยังอธิบายตรงนี้ไม่ได้ว่า ไม่แยกกัน แล้วรวมอยู่ด้วยกันอย่างไร ระหว่างการเมืองเรื่องสกปรก แต่ศาสนาเรื่องบริสุทธิ์

 

มันยังเป็นทัศนะที่มีแต่วาทะกรรม แต่ไม่สามารถอธิบายเป็นรูปธรรมได้ ตรงนี้แหละที่ผมมองว่ามันคืองานของคนที่ทำพรรคประชาธรรม คืออธิบายรูปธรรมการเมืองกับศาสนา

 

ผมมองว่า การที่ทัศนะของคนมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แยกการเมืองออกจากศาสนา เป็นเพราะเชื่อตามอุดมคติของคนในประเทศนี้ ที่เชื่อว่าคนเล่นการเมืองคือคนไม่ดี

 

การขับเคลื่อนการเมืองของคนมลายูเป็นอย่างไร

ผมจะขอพูดเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับพรรคประชา ธรรม เพราะผมเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย  ผมมองว่า การเมืองไม่ใช่เรื่องของการชนะการเลือกตั้ง หรือการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)อย่างเดียว

 

งานการเมือง คือการทำให้คนเข้าใจเรื่องการเมืองที่แท้จริงว่า เป็นอย่างไร หนึ่งในเป้าหมายของพรรคประชาธรรมคือ ปฏิวัติความคิดของมวลชน ว่าด้วยเรื่องการเมือง เพราะฉะนั้นพรรคประชาธรรมจึงเน้นให้คนทำความเข้าใจกับการเมือง ต้องยุ่งกับการเมือง ต้องเห็นความสำคัญของการเมือง คุณต้องเข้าใจว่าอิสลามนั้นการเมืองไม่ได้แยกออกจากศาสนา

 

ทุกวันนี้ คนยังมองว่า การเมืองเป็นเรื่องของการคอร์รัปชั่น หรือการแสวงหาผลประโยชน์ คนที่เป็นนักการเมือง เป็นคนพูดจาโกหกชอบพูดเอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้คนอื่น เป็นคนไม่ค่อยเคร่งศาสนา หรือเชื่อว่าคนเคร่งศาสนา ไม่สามารถยืนอยู่บนเส้นทางการเมืองได้

 

นี่คือทัศนะของประชาชนโดยรวม เขาเชื่อว่าเป็นอย่างนี้ เป็นความเชื่อที่ผิด เป็นทัศนะที่ไม่ดีต่อการเมืองและนักการเมือง และมันจะทำให้คุณไม่สามารถไปถึงเป้าหมายของอัลลอฮ์(พระเจ้าของอิสลาม) และรอศูล(ศาสนทูต)ได้เลยถ้าไม่รู้จักการเมือง

 

ถ้ามองง่ายๆ เช่นเรื่องที่มาของอำนาจในการปกครอง ไม่ว่าแบบพิเศษหรือปกครองตนเอง ถ้าไปอยู่ภายใต้คนไม่ดี มันจะส่งผลทำให้ประชาชนไม่ศรัทธาต่อระบบได้ ทั้งๆที่คุณอาจจะเขียนมาดีแล้วก็ตาม แต่เพราะการได้มาของผู้ปกครองอยู่ในกรอบคิดว่า การเมืองเรื่องสกปรก คนดีไม่ควรยุ่งเกี่ยว แล้วคุณคิดว่าใครจะเป็นผู้ปกครอง

 

ผมไม่สนใจว่า จะเรียกว่าระบอบอะไร จะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ใช่ก็ตาม แต่มันสำคัญที่คนดีๆต้องมีโอกาสที่จะเข้ามาปกครองได้มากกว่ารูปแบบที่เป็น อยู่ในทุกวันนี้  เพราะฉะนั้นการเมืองของคนมลายูถ้ายังมีทัศนะไม่ถูกต้องในทางการเมือง เข้าไปในการเมืองช่องไหนก็มีสิทธิ์ถูกกลืนเช่นกัน ไม่ว่าเก่าหรือใหม่ หรือชื่อกลุ่มอะไร

 

การจะเกิดขึ้นของคอลีฟาตุลลอฮ หมายถึงการสถาปนารัฐอิสลาม หรือรัฐบาลโลกอิสลาม มันเกิดขึ้นไม่ได้ ถึงจะต่อสู้ไปถึงขนาดไหนก็ไม่ชนะ เพราะอุดมการณ์ของคนมุสลิมเองมันเสียไปแล้ว

 

การจะทำให้พื้นที่ตรงนี้ เป็นพื้นที่ของคนดี จะต้องสร้างกระบวนการรณรงค์ต่อสู้ทางการเมือง เพื่อเปลี่ยนทัศนะความเชื่อของประชาชน จะต้องทำในหลายๆ รูปแบบ หนึ่งในหลายรูปแบบนั้นคือพรรคการเมือง เพราะพรรคการเมืองเป็นตัวตนของความเป็นการเมือง

 

ส่วนการเคลื่อนองค์กรรูปแบบอื่นๆ มันไม่มีเป้าหมายในการช่วงชิงอำนาจรัฐ แต่พรรคการเมืองมีเป้าหมายนั้น จะเป็นได้หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องเข้าใจนิยามที่ว่า การเมืองคือสงครามที่ไม่หลั่งเลือด ส่วนสงครามคือการเมืองที่หลั่งเลือด แล้วจะเห็นทั้งหมดของการปกครอง

 

พรรคประชาธรรมทำอะไรมาบ้าง

ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา พรรคประชาธรรมจัดอบรมสมาชิกมาแล้วประมาณ 2,000 คน การอบรมได้อธิบายขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้คนอื่นที่ไม่ใช่มุสลิมยอมรับได้ ไม่กลัวอิสลาม จะนำเสนอรูปแบบเนื้อหาการเมืองอิสลามอย่างไรให้คนอื่นยอมรับ

 

ถ้าคนมุสลิมยังไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดโลกอิสลาม เพราะถ้าคนมุสลิมยังไม่เข้าใจการเมืองของอิสลาม เราก็ทำได้แค่เรียกร้องอยากจะให้เกิด แต่ความปรารถนากับความเป็นจริง ไม่มีวันจะสอดคล้องต้องกันได้

 

การที่พรรคประชาธรรมไม่ได้รับการเลือกตั้ง เป็นความฝ่ายแพ้หรือความล้มเหลวของพรรคมุสลิม หรือพรรคของชาวมลายูใช่หรือไม่

การเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคประชาธรรมไม่สามารถปลุกกระแสความเป็นพรรคมุสลิม หรือพรรคมลายูขึ้นมาได้ มีเพียงแค่คนกลุ่มคนเล็กๆ ที่เข้าใจให้การสนับสนุนพรรค

 

ถึงแม้พรรคแนวนี้ จะแพ้การเลือกตั้งที่วัดผลแพ้ ชนะ จากจำนวนที่นั่งของ ส.ส. ในสภา แต่สำหรับพื้นที่ทางการเมืองของคนมลายูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แบบเต็มรูปแบบ ได้เริ่มขึ้นเป็นรูปธรรมแล้ว

 

อย่างที่ผมบอกไปว่า พรรคการเมืองคือองค์กรของประชาชนที่ถูกกฎหมาย ประเภทเดียวที่แสดงออกถึงเจตนารมณ์ในการช่วงชิงอำนาจปกครอง และนำเสนอความต้องการของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยได้สง่างามกว่า องค์กรภาคประชาชนอื่นๆ

 

ผมจึงมองว่า พรรคประชาธรรมยังไม่ได้เป็นฝ่ายแพ้ ยังมีโอกาสที่จะเอาชนะได้ในอนาคต เพียงแต่พรรคประชาธรรมจะต้องขยายมวลชนให้ได้มากขึ้น ต้องยอมรับว่า บนเส้นทางทางการเมือง อำนาจเงินมีอิทธิพลสูงมาก

 

ครั้งแรกของพรรคประชาธรรม ในสนามเลือกตั้งได้เรียนรู้อะไรบ้าง

ผมไม่นึกว่า ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อิทธิพลของเงินสูงขนาดนี้ ก่อนเลือกตั้งเราปราศรัยประมาณ 10 เวที มีประชาชนฟังแต่ละเวทีอย่างน้อย 2,000 คน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ลงสมัครปราศรัยตามมัสยิดต่างๆ ในเขตเลือกตั้งหนึ่งไม่ตำกว่า 80 จุด หรือ 80 มัสยิด แต่คะแนนที่ออกมาน้อยกว่าที่คาดเอาไว้

 

สิ่งที่ได้รับการสะท้อนออกมา ประชาชนไม่เชื่อว่า ประชาธรรมเป็นพรรคการเมืองจริง ประชาชนคิดว่าเป็นแค่พรรคเฉพาะกิจ ตั้งขึ้นมาทำลายคะแนนเสียงของนักการเมืองบางพรรค บางคนมองว่าเป็นพรรคของขบวนการใต้ดิน บางคนมองว่าเป็นพรรคที่ทหารให้การสนับสนุน มองว่าพรรคนี้รับเงินมาจากต่างประเทศ มีอะไรซุกซ่อนอยู่ข้างหลังเยอะมาก

 

ถ้าหากเราได้รับการสนับสนุนจากองค์กรใดองค์กรหนึ่งจริง นโยบายของพรรคประชาธรรม ก็ย่อมถูกกำหนดจากองค์กรนั้นๆ ถ้าให้องค์กรเหล่านี้สนับสนุน แน่นอนต้องมีเงื่อนไขบางอย่างตามมา แต่นี่เราไม่มี

 

การที่อดีตกลุ่มวาดะห์ไม่ได้รับการเลือกตั้ง เกี่ยวกับการเกิดขึ้นของพรรคประชาธรรมบ้างหรือเปล่า

อาจเกี่ยว แต่คงไม่มาก คนที่เคยน่าเชื่อถือของกลุ่มวาดะห์หายไป คนที่ได้รับการยอมรับ หรือหัวคะแนนของกลุ่มวาดะห์ ไปอยู่กับประชาธรรมเยอะ คนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นคนที่ได้รับความเชื่อถือ ประกอบกับความแตกแยกของกลุ่มวาดะห์เอง และที่สำคัญคือความเสื่อมของวาดะห์เอง

 

พรรคประชาธรรมเกิดขึ้นได้อย่างไร

พรรคประชาธรรมเกิดจากคนที่มานั่งคิดกันว่า ถึงเวลาที่คนรุ่นใหม่ ต้องให้ความสนใจเรื่องการเมือง เป็นการเมืองที่มีผู้นำทางการเมืองจริงๆ จังๆ ไม่ใช่แอบอยู่ข้างหลัง ไม่ใช่คอยเป็นสายลับ และตอนนี้ก็ถึงเวลาจะต้องมีพรรคการเมืองของมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้แล้ว

 

สำหรับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในรูปแบบที่เราต้องการ ออกมาเคลื่อนไหวในระบบจะปลอดภัยกว่า และการเคลื่อนไหวสามารถทำได้แหลมคมกว่า เวลาพูดทางการเมืองก็จะได้รับการยอมรับว่า นี่เป็นการหาเสียงของพรรคการเมือง ถ้าเป็นองค์กรทั่วไปพูดไม่ได้ ถูกมองไม่ดี ไม่ปลอดภัย

 

เป้าหมายของพรรคประชาธรรมคือ การปฏิวัติความคิดมวลชนในทางการเมือง ถ้าเป็นองค์กรแบบอื่น คงไม่สามารถใช้คำนี้ได้

 

พอเป็นพรรคการเมือง สามารถพูดเรื่องอะไรก็ได้ในทางการเมือง เพราะจะถูกมองแค่ว่า เป็นการหาเสียงและโฆษณาชวนเชื่อ ถึงแม้คำพูดทั่วไปของพรรคการเมือง จะถูกลดความน่าเชื่อถือลงไปสัก 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะสิ่งที่พรรคการเมืองพูดออกมา จะทำได้หรือไม่ก็ไม่รู้ แต่พูดออกไปก่อน แต่มันก็ปลอดภัย ไม่ถูกมองอย่างหวาดระแวงว่า เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ

 

นี่คือการเตรียมการรองรับศตวรรษที่ 15 ของอิสลาม (หมายถึงตามปฏิทินอิสลาม) การกลับเข้ามาสู่รังเดิมของมัน การเมืองในรูปแบบอิสลามกำลังเกิดขึ้น

 

วันนี้ทั่วโลกกำลังประสบปัญหากับระบอบของตนเอง คอมมิวนิสต์ สังคมนิยม ทุนนิยม หรือแม้แต่ประชาธิปไตย ทั้งหมดถูกตั้งคำถามว่า ทำให้มนุษย์อยู่อย่างมีความสุขจริงหรือ เรามีสิทธิ์เลือกผู้ปกครองแต่ไม่แน่ใจว่า เขาปกครองเพื่อใคร เรารวยมีเงินซื้อทองสวยๆ แต่ใส่เดินตลาดไม่ได้ ต้องเก็บไว้ที่บ้าน

 

วันนี้ในโลกอิสลาม ทั้งอิยิปต์ ตูนีเซีย ลิเบีย บาห์เรน ซีเรีย คนหนุ่มสาวเหล่านี้ก็กำลังเคลื่อนเข้าสู่กระบวนการนี้

 

มีวิธีการสร้างการเมืองให้สอดคล้องกับชาวมลายูอย่างไร

วันนี้ ถ้าหากเรากล้าพูดเรื่องที่พูดในอดีตแล้วเป็นอันตราย ทุกคนไม่กล้าพูด เช่น การปฏิวัติสังคม พูดถึงระบบที่ดีที่สุดของโลกสำหรับมนุษย์ควรเป็นแบบไหน มนุษย์ควรที่ใช้ระบบใดในการปกครองมนุษย์ด้วยกัน แล้วนำมาวิจารณ์แต่ละระบบ จนสุดท้ายมันชี้ได้ว่า ระบบใดเป็นระบบที่ดี ที่เหมาะสมสำหรับมนุษย์

 

สมมุติว่ามีคนเชื่อว่าระบบนั้นเป็นระบบอิสลาม ในทางการเมือง เราสามารถนำเสนอให้ใช้ระบบอิสลามได้ ตราบใดที่พรรคการเมืองของคุณยังอยู่กับระบบประชาธิปไตย คุณสามารถพูดแบบนี้ไปได้เรื่อยๆ เสียงที่พูดออกไปจะถูกรับฟัง

 

แต่ถ้าอธิบายไม่ได้เพราะตัวเองก็ไม่เข้าใจเท่าไหร่ หรือคนอื่นไม่เห็นด้วย เราก็เลือกใช้วิธีรุนแรงบังคับเอา หรือคุกคามกดขี่ สุดท้ายเราก็ไม่ต่างจากผู้กดขี่อื่นๆที่ผ่านมา

 

สมมุติว่า คนมลายูไม่พอใจสยาม ที่มาจัดการการปกครองด้วยการบังคับกันด้วยกำลัง รบกันฆ่ากันระหว่างชนชั้นนำทั้งสองฝ่าย สุดท้ายประชาชนจะอยู่กับฝ่ายชนะ แต่ถ้าอีกฝ่ายจะช่วงชิงอีก แล้วกลับไปใช้วิธีเดิมๆของยุคสมัยเก่า ต้องถามประชาชนเหมือนกันว่า พวกเขารู้สึกต่างกันมั้ย ถ้ายังเลือกใช้วิธีรุนแรงบังคับเอา

 

ถึงแม้เราจะบอกว่า คนมลายูอยากปกครองตามอัตลักษณ์ของตนเอง แต่หลายปีที่ผ่านมา มีความสุขดีมั้ย และคนที่ชอบอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ในเชิงบวกต่อคนมลายู ต้องถามเหมือนกันว่า ครอบครัวของเขาอยู่ตรงไหนของสถานการณ์วันนี้ ไม่ใช่ลูกเราส่งเรียน ลูกคนอื่นส่งรบ

 

ตอนนี้มีสมาชิกพรรคเท่าไหร่

สมาชิกของพรรคประชาธรรมมีประมาณ 8,000 กว่าคน เลือกตั้งที่ผ่านมาเราได้คะแนนรวม 30,000 กว่าคะแนน จังหวัดในประเทศไทยที่ไม่มีคะแนนของพรรคประมาณ 10 จังหวัด

 

จังหวัดที่มีคะแนนนอกจากพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว เรายังมีคะแนนที่กรุงเทพมหานคร ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครนายก เป็นต้น นี่เป็นคะแนนที่เราได้รับ ทั้งที่ที่เราไม่ได้เดินไปหา พรรคและผู้สมัครของพรรคไม่ได้เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง

 

นับเป็นสิ่งหนึ่งที่เชื่อมั่นว่า แนวทางของพรรคเดินไปข้างหน้าได้ พรรคประชาธรรมเป็นของคนรากหญ้า มีรากหญ้าเป็นฐาน เวลาปราศรัยก็บอกตลอดเวลาว่า เป็นพรรครากหญ้า พรรคของคนกระจอกๆ รากหญ้าที่มีฐานของปัญญาชนหนุนเสริม เป็นพรรคของคนธรรมดา

 

ถามว่าทำไมทางพรรคไม่เอาคนที่มีชื่อเสียงมาลงสมัครรับเลือกตั้ง คำตอบก็คือคนที่มีชื่อเสียง ไม่ค่อยอยากเปลืองตัวมาทำอะไรที่เป็นการเริ่มต้นหรอก เขารู่สึกว่าถ้าพลาดพลั้งเขาจะเสื่อมได้ ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาไม่ว่าสังคมไหน ยุคสมัยใด คนมีชื่อเสียงไม่ใช่คนเริ่มต้นก่อการเปลี่ยนแปลงสังคมตนเอง