Skip to main content

จริงใจ จริงจิตร โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)

 

         ม.อ.ปัตตานี

  color:red">สื่อใหม่ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตั้งวงเสวนาสื่อเก่า–สื่อใหม่ ชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลสื่อใหม่ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าสื่อเก่า

 

 

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 26กันยายน 2554 ที่คณะวิทยาการการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี รายวิชา 870-421 สัมมนาการสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้จัดเสวนาเรื่อง ณ รอยต่อสื่อเก่า–สื่อใหม่ระยะเปลี่ยนผ่าน

 

นายสมัชชา นิลปัทม์ อาจารย์ประจำสาขานิเทศน์ศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร กล่าวนำเสวนาว่า ที่ผ่านมา มีการปฏิวัติสื่อครั้งใหญ่จำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อนายโยฮัน กูเตนเบิร์ก ผลิตแท่นพิมพ์ ในสมัยศตวรรษที่ 14 ครั้งที่สอง เมื่อเกิดระบบ Web 2.0 ในศตวรรษที่ 21 ส่งผลให้สื่อยักษ์ใหญ่ในโลก เกิดการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญ จากเดิมที่ใช้ระบบ Paper base ก็เปลี่ยนมาใช้ระบบ E–Base กันมากขึ้น ระบบการจัดการสื่อก็เปลี่ยนทั้งทางทฤษฎีและความเป็นจริง เช่น ลักษณะข่าวจะสั้นขึ้น รูปแบบการนำเสนอก็เปลี่ยนตามไปด้วย

 

ดร.ฮัมเดีย มูดอ อาจารย์ประจำสาขานิเทศน์ศาสตร์ การสื่อสารการตลาดเพื่อการพัฒนา คณะวิทยาการสื่อสาร อธิบายว่า การพลวัตของสื่อใหม่ ส่งผลให้รูปแบบของการสื่อสารเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ขณะที่สื่อเก่าเป็นการสื่อสารทางเดียว แต่สื่อใหม่สามารถโต้ตอบกันได้โดยตรง เป็นเหตุให้ผู้ผลิตสินค้า จะต้องทำให้สินค้าของตนแตกต่างกับสินค้าอื่นๆ แต่สินค้าบางตัวก็ไม่สามารถสื่อสารผ่านสื่อใหม่ได้ทั้งหมด ในส่วนนี้ก็ยังต้องใช้สื่อเก่าในการสื่อสารกับผู้บริโภค เพื่อจะเข้าถึงพื้นที่ที่ยังมีข้อจำกัด ในการสื่อสารผ่านสื่อใหม่

 

นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ให้ความเห็นว่า ข้อดีของสื่อใหม่ก็คือ ทำให้ผู้บริโภคสื่อเข้าถึงสื่อได้ง่าย เนื่องจากสื่อใหม่เปิดพื้นที่ให้กับทุกคน ทำให้สื่อเป็นสิ่งใกล้ตัวของแต่ละคนมากขึ้น และส่งผลให้ผู้เบริโภคสื่อไม่ถูกกดดันจากสื่อกระแสหลัก ที่คอยทำหน้าที่กำหนดวาระสื่อว่า ควรสื่อสารข้อมูลข่าวสารไปในทิศทางไหน ตนต้องการให้ทุกคนทำความเข้าใจสื่อใหม่อย่างจริงจัง เพื่อประโยชน์ต่อตัวเองต่อสังคม โดยไม่ตกเป็นทาสของสื่อ

 

นายฏาวิ กูลณรงค์ ผู้บริหารห้างหุ้นส่วนจำกัด เกรทเตอร์ มัลติมีเดีย มองสื่อใหม่ในฐานะเป็นเจ้าของสถานีวิทยุ Fm คลื่นแรกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า การเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจคือ ในอดีตมนุษย์เคยคุยกันได้แค่ตัวต่อตัว ถัดมามนุษย์สามารรถพูดคุยผ่านสื่อกันได้ แต่ตอนนี้มนุษย์สามารถสื่อสารกันตัวต่อตัวผ่านสื่อได้เลย ซึ่งเป็นการผสมผสานของการสื่อสารกันตัวต่อตัวแบบดั้งเดิมกับการสื่อสารผ่านสื่อแบบเก่า สำหรับการสื่อสารผ่านสื่อ หรือที่เรียกกันว่าสื่อเก่า ซึ่งแยกย่อยออกเป็นสื่อกระแสหลักกับสื่อกระแสรอง กับการสื่อสารผ่านสื่อใหม่ ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับความต้องการ เพราะฉะนั้นนักการตลาดยุคปัจจุบัน จะต้องปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ให้ได้

 

นางสาวอามีเน๊าะ อารง นักศึกษาคณะวิทยาการสื่อสาร เปิดเผยว่า ตนใช้สื่อใหม่ เช่น Facebook, Twitter และ Google+ ในการติดตามข่าวสารจากนักข่าวมืออาชีพ แต่ตนก็ยังไม่ทิ้งสื่อเก่า และยังใช้ Social Media ในการเรียน เช่น ฝึกเขียนข่าวจากทวิตเตอร์ เป็นต้น ข้อควรระวังในการใช้ Social Media คือ ต้องตระหนักให้มากก่อนที่จะพิมพ์หรือแชร์อะไรออกไป เพราะจะส่งผลกระทบในวงกว้าง

 

นายอภิสิทธิ์ นาคนาวา นักศึกษาสาขาการสื่อสารการตลาดเพื่อการพัฒนา คณะวิทยาการสื่อสาร ผู้ชนะเลิศระดับประเทศ จากโครงการ one 2 call–Brand Age Award ประกวดแผนธุรกิจปีที่ 5 เปิดเผยว่า ในการทำแผนธุรกิจเรื่องถั่วทอดสมุนไพร ตนคิดถึงแผนการตลาด โดยกำหนดโลโก้เป็นรูปผู้ชายแต่งตัวแบบมุสลิม ซึ่งเป็นการนำเสนออัตลักษณ์ในพื้นที่อย่างชัดเจน โดยสื่อสารผ่านทั้งสื่อเก่าและสื่อใหม่ ตามกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการจะสื่อสารด้วย โดยส่วนตัวตนใช้สื่อใหม่ เช่น Facebook ในการสื่อสารเป็นหลัก