Skip to main content

ยารีนา กาสอ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)

ปัตตานีเพลส

นายอิบรอเฮ็ง เจะอาลี ประธานกรรมการบริหาร (CEO) บริษัท ดีอาร์เอสดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เจ้าของโครงการปัตตานีเพลส อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ขณะนี้มีแนวโน้มที่ดีว่า ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยจะอนุมัติสินเชื่อเพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์การค้า Pattani Mall สูง 5 ชั้น ขนาดพื้นที่ 5,700 ตารางเมตร มูลค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 280 ล้านบาท เนื่องผ่านการวิเคราะห์มูลค่าทางการตลาดแล้ว รอเพียงที่ประชุมคณะกรรมการของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยมีมติอนุมัติเท่านั้น

นายอิบรอเฮ็ง เปิดเผยต่อไปว่า ได้ขอสินเชื่อจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อดำเนินโครงการนี้ประมาณ 100 ล้านบาทเศษ เพื่อให้การก่อสร้างอาคารศูนย์การค้า Pattani Mall แล้วเสร็จ ปัจจุบันได้ตอกเสาเข็มแล้วและขึ้นเสาแล้ว โดยจะเร่งก่อสร้างเพื่อให้เปิดทันในช่วงกลางปี 2555 ส่วนงบประมาณที่เหลือเป็นเงินทุนของบริษัทฯ

“เหตุที่เชื่อว่าธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยจะอนุมัติสินเชื่อ เนื่องจากที่ผ่านมาโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย หรือ คอนโดเทลจำนวน รวม 4 อาคาร รวม 236 หน่วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปัตตานีเพลส ได้ขายได้เกือบหมดแล้ว เหลือเพียง 30 หน่วยเท่านั้น ส่วนอาคารสำนักงาน จำนวน 13 ห้อง ได้ขายไปหมดแล้ว จึงคิดว่าทำให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยมีความมั่นใจที่จะปล่อยสินเชื่อให้ แม้โครงการตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังเกิดเหตุไม่สงบก็ตาม” นายอิบรอเฮ็ง กล่าว

นายอิบรอเฮ็ง เปิดเผยอีกว่า สำหรับโครงการต่อไปของบริษัท ดีอาร์เอสดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด คือ การก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยจำนวน 245 หน่วย บริเวณถนนปุณณกันฑ์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องการขอสินเชื่อจากธนาคาร เนื่องจากไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาความไม่สงบเหมือนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี

นายวรวิทย์ บารู’ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จังหวัดปัตตานี ในฐานะประธานที่ปรึกษาบริษัท ปัตตานี มอลล์ จำกัด ผู้บริหารโครงการปัตตานีเพลส เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการปัตตานีเพลสมีอุปสรรคอย่างมาก โดยเฉพาะการจัดหางบประมาณในการก่อสร้าง เนื่องจากความไม่มั่นใจของแหล่งเงินกู้ โดยเฉพาะธนาคารทั้งในและต่างประเทศ เพราะโครงการตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ที่กำลังเกิดเหตุการณ์ไม่สงบอยู่

นายวรวิทย์ เปิดเผยต่อไปว่า ที่ผ่านมาโครงการปัตตานีเพลสได้หยุดชะงักไประยะหนึ่ง เนื่องจากขนาดสภาพคล่องทางการเงิน รวมทั้งขาดแรงงานทดแทนแรงงานชาวอีสานที่หนีกลับบ้านเนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบ จนกระทั่งสามารถรวบรวมเงินทุนจากสหกรณ์ออมทรัพย์อิสลามหลายแห่งในภาคใต้และกรุงเทพมหานครได้กว่า 80 ล้านบาท จนสามารถก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยได้เสร็จ และขายไปแล้วเกือบทั้งหมด

นายวรวิทย์ เปิดเผยอีกว่า สำหรับโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์การค้า Pattani Mall ทางบริษัท ปัตตานี มอลล์ จำกัด เคยขอสินเชื่อจากธนาคารหลายแห่งมาแล้ว เช่น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SMEs Bank ซึ่งได้รับการอนุมัติ แต่ทางบริษัทได้ปฏิเสธไปก่อน เนื่องจากไม่ต้องการเงินกู้ที่มีดอกเบี้ย จึงขอสินเชื่อไปที่ธนาคารซีไอเอ็มบี หรือ CIMB Bank ของประเทศมาเลเซีย แต่ถูกธนาคารแห่งประเทศไทยแนะนำว่า การลงทุนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้มีความเสี่ยง CIMB Bank จึงไม่กล้าให้เงินกู้

“CIMB Bank ต้องการให้เงินกู้ แต่ต้องมีคนมาเลเซียมาค้ำประกันด้วย ทางบริษัทฯจึงไม่ต้องการ เพราะค่อนข้างลำบาก ผมจึงถามเครือข่ายสหกรณ์อิสลามภาคใต้ว่า จะสู้ต่ออีกหรือไม่ ลงทุนอีกเพียง 120 ล้าน เพื่อนำมาสร้างอาคารศูนย์การค้า แต่ดูเหมือนจะลำบาก เพราะสหกรณ์ออมทรัพย์อิสลามที่เจ้าหนี้ได้เร่งรัดขอเงินคืน จึงได้ต้องขอสินเชื่อจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย” นายวรวิทย์ กล่าว

นายวรวิทย์ เปิดเผยว่า สำหรับลูกค้าของโครงการปัตตานีเพลส ส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ เจ้าของสวนยางพารา ซึ่งมีหลายสิบรายที่ซื้อด้วยเงินสด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สภาวะทางเศรษฐกิจของคนในพื้นที่ดีขึ้น และไม่ได้ลำบากอยากอย่างที่คิด แม้ยังมีเหตุไม่สงบอยู่ก็ตาม

สำหรับโครงการปัตตานีเพลส มี 3 ระยะ ประกอบด้วย Shopping Mall, Pattani hotel, hotel Condotel, Home Office, International Education Center, Sales Office รวมมูลค่าทั้งโครงการประมาณ 600 ล้านบาท