Skip to main content

อารีด้า สาเม๊าะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2554 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ องค์กร Initiatives for International Dialogue จากประเทศฟิลิปปินส์ ได้จัดการอบรมเรื่อง People’s Diplomacy Training มีนายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ร่วมเป็นวิทยากรในหัวข้อ advocacy and networking

นายมูฮำมัดอายุบ กล่าวต่อผู้เข้าร่วมอบรมว่า ภาคประชาสังคมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีจุดอ่อนอยู่มาก ซึ่งเกิดจากสภาพต่างคนต่างทำ ยังเปิดใจรับฟังความเห็นที่แตกต่างกันน้อยมาก ส่งผลให้การขับเคลื่อนประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขาดพลัง ผู้ทำงานขับเคลื่อนประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จคึงต้องถามตัวเองด้วยว่า ที่ผ่านมาทำงานอย่างไร เป็นนักกิจกรรมหรือนักเคลื่อนไหว ทำงานเพื่อประชาชนหรือทำงานเพื่อรัฐ ทำงานเครือข่ายหรือขับเคลื่อนเครือข่าย คำถามเหล่านี้สำคัญต่อตัวผู้ขับเคลื่อน

 “อำนาจได้มาจากการรวมกลุ่ม และขับเคลื่อนได้ด้วยเครือข่าย ขณะนี้หลายเสียงเรียกร้องคนในให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีพลังที่สามารถขับเคลื่อนได้ การสร้างเครือข่ายกับต่างประเทศเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสร้างพลังในการต่อรอง สิ่งที่สำคัญคือการสร้างเครือข่ายในพื้นที่ด้วยกัน เราต้องยอมรับความแตกต่าง และต้องเดินต่อไปด้วยกันให้ได้” นายมูฮำมัดอายุบ กล่าว

นายมูฮำมัดอายุบ กล่าวด้วยว่า อีกหนึ่งปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ การสื่อสารภายในอย่างต่อเนื่องกับเครือข่าย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ชาวต่างประเทศที่สนใจประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มองเห็น และพยายามเข้ามาอุดช่องว่างนี้ ขอฝากถึงผู้ทำงานเครือข่ายในอนาคตว่า ต้องประเมินตัวเองและพัฒนาจุดแข็งขององค์กร นำมาต่อกับงานของเครือข่ายในพื้นที่