Skip to main content

อารีด้า สาเม๊าะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

ศูนย์ทนายมุสลิมเตรียมแถลง ผลกระทบจากพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯชายแดนใต้ นับสถิติเทียบตัวเลขผู้ถูกคุมตัวกับคดีที่ศาลยกฟ้อง 18 องค์กรในชายแดนใต้เคลื่อนจี้ยกเลิก ตำรวจชายแดนใต้ปล่อยตัวนิเซ๊ะ นิฮะ นักเคลื่อนไหวช่วงพฤษภาทมิฬ ปี 2535 แล้ว

 

นายอับดุลเลาะห์ หะยีอาบู ทนายความศูนย์ทนายความมุสลิมหรือ MAC เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ศูนย์ทนายความมุสลิมจะแถลงข่าวเรื่องผลกระทบจากการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการประมวลจำนวนผู้ที่มาร้องเรียนกับศูนย์ทนายความมุสลิมตั้งแต่เริ่มบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อปี 2548

นายอับดุลเลาะห์ เปิดเผยต่อไปว่า ตั้งแต่ปี 2548 มีจำนวนผู้ร้องเรียนเรื่องผลกระทบจากการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯสูงมาก พร้อมกับจำนวนผู้ที่ถูกไต่สวนในชั้นศาล และจำนวนผู้ที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องมานำเสนอด้วย ซึ่งจะทำให้เห็นภาพรวมของผลกระทบที่ชาวบ้านที่นี่ได้รับจากพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

นายอับดุลเลาะห์ เปิดเผยอีกว่า ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดวันแถลงข่าว แต่คิดว่าน่าจะภายในสัปดาห์นี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่สังคมกำลังสนใจ และส่งสัญญาณให้รัฐบาลใหม่ทราบว่า ควรจะต่ออายุการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกหรือไม่ คิดว่าการแถลงข่าวครั้งนี้ จะส่งสร้างผลสะเทือนได้ไม่น้อย หากถูกนำไปเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของรัฐบาล

นายอับดุลเลาะห์ เผยด้วยว่า นอกจากนี้ จะมีการร้องเรียนเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษไปละเมิดสิทธิของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากด้วย

“ส่วนตัวเห็นว่า การแก้ไขพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ใช่ทางออกที่จะทำให้ลดผลกระทบจากการละเมิดสิทธิโดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายได้ ทางออกคือต้องยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯไปเลย เพราะมีเนื้อหาที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องหลักปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ซึ่งทำเยี่ยงการจับกุมผู้ต้องหา ทั้งที่รัฐธรรมนูญระบุชัดเจนว่า ถ้าศาลยังไม่ตัดสินความผิด ต้องสงสัยไว้ก่อนว่า ผู้ต้องสงสัยเป็นผู้บริสุทธิ์” นายอับดุลเลาะห์ กล่าว

นายอับดุลเลาะห์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยเยี่ยงผู้กระทำผิดจริง สังเกตจากการควบคุมตัวคนไปซักถามในกระบวนการซักถามตามหมายพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีการซักถามเพื่อให้ผู้ต้องสงสัยรับผิด ไม่ใช่เพื่อหาข้อมูลว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์หรือไม่ แม้ผู้ถูกควบคุมตัวจะปฏิเสธก็ตาม แถมยังมีการขอต่อเวลาควบคุมตัวต่อไปได้อีก เพื่อใช้เวลาซักถามจนกว่าผู้ถูกควบคุมตัวจะรับสารภาพ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2554 กลุ่มนักกิจกรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 18 องค์กร นำโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) ได้ร่วมกันได้ออกแถลงการณ์เรื่อง ขอให้ยกเลิกการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา ในนามเครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

แถลงการณ์ระบุว่า กรณีเจ้าหน้าที่จับกุมตัวนายนิเซ๊ะ นิฮะ ที่ตำบลตะลุโบะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี อดีตนักกิจกรรมเพื่อสังคม ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554โดยไม่มีการแสดงหมาย จากนั้นนายนิเซ๊ะ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรกะพ้อ จังหวัดปัตตานี ขอต่ออายุการควบคุมตัวตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯว่า เป็นการควบคุมตัวที่ไม่มีเหตุผล

แถลงการณ์ระบุต่อไปว่า เครือข่ายประสังคมคัดค้านพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีข้อเรียกร้องต่อรัฐ 3 ข้อ คือ 1.ขอให้ปล่อยตัวนายนิเซ๊ะ นิฮะ ทันที เพื่อเป็นบรรทัดฐานและให้มีหนังสือยอมรับผิดต่อความผิดพลาดในการทำงานของเจ้าหน้าที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ 2.ให้รัฐชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบตามสมควรแก่กรณี 3.ขอเสนอต่อรัฐบาลให้ยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ภายใน 30 วัน ถ้ายังตระหนักถึงความมั่นคงในสิทธิเสรีภาพของประชาชน

นายลีโอ เจ๊ะกือลี กรรมการเครือข่ายบัณฑิตอาสาจังหวัดชายแดนใต้ หรืออินเซาท์ INSOUTH  หนึ่งในองค์กรร่วมออกแถลงการณ์ เปิดเผยว่า กิจกรรมต่อไปที่จะเกิดขึ้น เพื่อผลักดันให้มีการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ องค์กรของตนมีแผนไว้สองระยะ คือในระยะสั้น จะใช้วิธีการรณรงค์ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเป็นหลัก เช่น อาจจะมีการออกแบบสติกเกอร์แจกจ่ายไปยังองค์กรเครือข่าย การใช้พื้นที่สื่อออนไลน์ในการรณรงค์ เป็นต้น

นายลีโอ เปิดเผยต่อไปว่า ส่วนในระยะยาวนั้น มีการวางแผนคร่าวๆว่า จะมีการขับเคลื่อนให้เป็นประเด็นใหญ่ ส่วนวิธีการจะเป็นอย่างไรนั้น ยังบอกไม่ได้

นายลีโอ เปิดเผยอีกว่า ส่วนเหตุผลที่อินเซาท์ เข้าร่วมในเครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากที่ผ่านมาภาคประชาสังคมในพื้นที่ มีความพยายามในการเดินหน้าคัดค้านและขอให้ยกเลิกการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาโดยตลอด ทั้งในรูปแบบการรณรงค์และการเรียกร้องต่อเจ้าหน้าที่ที่ละเมิดสิทธิชาวบ้าน แต่ในทางกลับกัน ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กลับไม่ได้ให้ความร่วมมือมากนัก กลายเป็นว่า ภาคประชาสังคมคิดเรียกร้องแทน

“แต่กรณีนี้เป็นตัวอย่างที่ดี ที่ผู้ได้รับผลกระทบออกมาคัดค้านเอง ทำให้การขยับเรื่องนี้ง่ายขึ้นเยอะ แต่สังเกตได้อีกอย่างว่า ช่วงนี้ภาคประชาสังคมในพื้นที่มีการขยับเรื่องนี้กันเยอะขึ้นด้วย ทำให้บรรยากาศในการเรียกร้องยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อำนวยให้เครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกแถลงการณ์ครั้งนี้” นายลีโอ กล่าว

นายลีโอ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่ใช่เพราะความกลัวอย่างเดียว ที่ทำให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่กล้าคัดค้านหรือเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปละเมิดสิทธิชาวบ้าน แต่ที่ผ่านมาเป็นเพราะชาวบ้านไม่เข้าใจกระบวนการเรียกร้องและชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือจนถึงที่สุด ทำให้การเรียกร้องขององค์กรภาคประชาสังคมไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้ไม่ไกล

“แต่กรณีของนายนิเซ๊ะ นิฮะ ซึ่งเป็นนักกิจกรรมที่เคยเคลื่อนไหวประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ด้วยนั้น ย่อมเข้าใจว่า การคัดค้านพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วยตัวเอง ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจะส่งผลให้การเคลื่อนไหวเรียกร้องของภาคประชาสังคมและนักกฎหมายเดินต่อไปได้ง่ายขึ้น” นายลีโอ กล่าว

สำหรับองค์กรร่วมในแถลงการณ์ ประกอบด้วย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม(MAC) ศูนย์ประสานงานองค์กรนักศึกษาและเยาวชนชายแดนใต้ (BOMAS) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) องค์การบริหาร องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี องค์การบริหารนักศึกษาภาคปกติมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา สภานักศึกษา องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เครือข่ายส่งเสริมสิทธิและเข้าถึงความยุติธรรม (HAP)

มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ (YAKIS) ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย (CCPD) ศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา (PUKIS) สมาคมเยาวชนเพื่อการพัฒนา (YDA) สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ (DEEPPEACE) สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย (สนมท.) เครือข่ายผู้ช่วยทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (SPAN) เครือข่ายบัณฑิตอาสาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (INSOUTH) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF) กลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้มหาวิทยาลัยรามคำแหง (PNYS)

รายงานข่าวแจ้งว่า เวลาบ่ายวันที่ 4 ตุลาคม 2554 ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนใต้ ได้ปล่อยตัวนายนิเซ๊ะ นิฮะ แล้ว โดยมีการแจ้งให้ญาติและทนายความรับทราบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้นำตัวนายนิเซ๊ะ นิฮะไปส่งที่อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี และนายนิเซ๊ะ นิฮะได้เดินทางกลับภูมิลำเนาโดยปลอดภัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว   จึงแจ้งมาเพื่อทราบ

 

.........

แถลงการณ์

กรณี/เรื่อง ขอให้ยกเลิกการบังคับใช้ พรก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2554 ได้มีใบแจ้งข่าวจากศูนย์ทนายความมุสลิม แจ้งว่าศาลจังหวัดปัตตานีเรียกเจ้าหน้าที่ไต่สวนการควบคุมตัวไม่ชอบ ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 กรณีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าจับกุมนายนิเซ๊ะ นิฮะ ที่บ้านเลขที่ 32/5 หมู่ที่3 ตำบลตะลุโบะ อำเภอเมืองจังหวัดปัตตานี ในวันที่16 กันยายน 2554 เวลาประมาณ 05.00 นาฬิกา โดยไม่ได้แสดงหมายแต่อย่างใด และควบคุมตัวไปยังค่ายทหารบริเวณโรงไฟฟ้าปัตตานี  ต่อมาเวลาประมาณ09.00 นาฬิกา วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัวต่อไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี และทำการซักถามโดยมิได้แจ้งว่าการควบคุมตัวและการซักถามดังกล่าว เป็นไปโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายใด ระหว่างการซักถามเจ้าหน้าที่สอบถามถึงประวัติส่วนตัว โดยมิได้มีการซักถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบแต่อย่างใด

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๔ เจ้าหน้าที่ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหารฯ แจ้งกับนายนิเซ๊ะ นิฮะ ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรกะพ้อ อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี ยื่นคำร้องขอออกหมายควบคุมตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘  โดยมิได้แจ้งว่าเหตุที่ขอออกหมายควบคุมตัวดังกล่าวเป็นไปด้วยความจำเป็นใด และในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๔ เจ้าหน้าที่ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์นำผลการซักถามให้ผู้ถูกควบคุมตัวลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าว โดยในเอกสารดังกล่าวผู้ถูกควบคุมตัวให้การปฏิเสธและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบใดๆที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการควบคุมตัวในวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๔ และย้ายสถานที่ควบคุมตัวไปที่ศูนย์พิทักษ์สันติ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดยะลา จึงเป็นการดำเนินการที่ซ้ำซ้อนและไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ภายหลังจากที่ผู้ร้องคัดค้านได้ยื่นคำร้องแล้วนั้น ศาลมีคำสั่งนัดไต่สวนผู้ร้องและผู้ร้องคัดค้านแลนายนิเซ๊ะ นิฮะ ผู้ถูกควบคุมตัว ในวันวันพุธที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๓๐ นาฬิกา

ทั้งนี้นายนิเซ๊ะ นิฮะ นั้นปัจจุบันเป็นปัญญาชนที่มีบทบาทในงานพัฒนาชุมชนตามวิถีชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น อดีตเป็นนักกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงสมัยที่มีการชุมนุมของประชาชนและนักศึกษาขับไล่ พลเอกสุจินดา คราประยูร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือเหตุการณ์ที่เป็นที่รู้จักกันว่า เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี2535 ร่วมกับพรรคสานแสงทองซึ่งเป็นพรรคการเมืองนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง จากนั้นก็ได้มีบทบาทเกี่ยวข้องกับงานพัฒนาสังคมและชุมชนมาโดยตลอด อาทิเช่นงานค่ายอาสาพัฒนาชนบท หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬได้มีโอกาสร่วมเคลื่อนไหวกับสมัชชาคนจน กระทั่งได้รับเลือกเป็นประธาน PNYS (กลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยรามคำแหง) เมื่อปี 2537 และต่อมาได้มีส่วนร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคม ร่วมกับองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่อง จนจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2540 คณะรัฐศาสตร์ สาขาการปกครอง

ด้วยตระหนักถึงมาตรฐานแห่งหลักนิติรัฐที่มีเจตนารมณ์จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และจะผดุงซึ่งความยุติธรรมในสังคม  ถ้าพิจารณาถึงประโยชน์ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต่อการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งที่ชายแดนใต้ โดยยึดหลักเจตนารมณ์แห่งหลักนิติรัฐข้างต้นแล้ว

คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าไม่มีเหตุผลแห่งตรรกะใด ที่จะยอมรับได้ว่าไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอ้างอำนาจพรก.ฯฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในขณะควบคุมตัวประชาชนที่ถูกสงสัย และตามอำนาจของกฎหมายฉบับนี้ ประชาชนไม่มีสิทธิจะทำการตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างว่าได้ปฏิบัติตามหน้าที่ อาทิเช่น กรณีมีการซ้อมทรมานผู้ถูกสงสัยขณะควบคุมตัว โดยเฉพาะที่เป็นข่าวครึกโครม นั่นคือ กรณีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง และกรณีนักศึกษาราชภัฎยะลา 

เพื่อไม่ให้เป็นแค่น้ำผึ้งเพียงหยดเดียว ที่เป็นเหตุให้ต้องเกิดการแสดงออกทางการเมืองของภาคประชาชน ที่ยกระดับมากกว่านี้ และทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศต้องเสียชื่อเสียงต่ออานารยะประเทศที่เคารพในหลักการสิทธิมนุษยชนสากลนั้น เครือข่ายประสังคมคัดค้านพรก.ฉุกเฉิน จึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐ ดังต่อไปนี้

1. หลังจากแถลงการณ์ฉบับนี้ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ ขอให้รัฐปล่อยตัวนายนิเซ๊ะ นิฮะ ทันที เพื่อเป็นบรรทัดฐาน และให้มีหนังสือยอมรับผิดต่อความผิดพลาดในการทำงานของเจ้าหน้าที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ

2. ให้รัฐชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบตามสมควรแก่กรณี

3. ขอเสนอต่อรัฐบาลให้ยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ภายใน 30 วัน ถ้ายังตระหนักถึงความมั่นคงในสิทธิเสรีภาพของประชาชน

                                                                                                                        ลงชื่อองค์กรภาคี

เครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พรก. ฉุกเฉิน

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.)

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม(MAC)

ศูนย์ประสานงานองค์กรนักศึกษาและเยาวชนชายแดนใต้(BOMAS)

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)

องค์การบริหาร องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

องค์การบริหารนักศึกษาภาคปกติมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา

สภานักศึกษา องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

เครือข่ายส่งเสริมสิทธิและเข้าถึงความยุติธรรม (HAP)

มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ (YAKIS)

ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย (CCPD)

ศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา (PUKIS)

สมาคมเยาวชนเพื่อการพัฒนา (YDA)

สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ (DEEPPEACE)

สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย(สนมท.)

เครือข่ายผู้ช่วยทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม(SPAN)

เครือข่ายบัณฑิตอาสาจังหวัดชายแดนภาคใต้(INSOUTH)

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม(CRCF)

กลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้มหาวิทยาลัยรามคำแหง(PNYS)