Skip to main content

ฮัสซัน โตะดง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

ศูนย์ทนายมุสลิมเผยรับร้องเรียนกว่า 2,300 เรื่อง เหตุถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมเกือบ 300 แต่ศาลลงโทษคดีป่วนใต้แค่ 33 จาก 122 คดี จี้รัฐยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯในชายแดนใต้ เหตุเปิดทางเจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิ

ศูนย์ทนาย

แถลง - นายสิทธิพงศ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม(กลาง) เปิดแถลงถึงผลกระทบจากการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนายนิเซ๊ะ นิฮะ ผู้ถูกควบคุมตัวตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัว (ขวา) ร่วมแถลงข่าวด้วย

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 5 ตุลาคม 2554 ที่สำนักงานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี นายสิทธิพงศ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม พร้อมด้วยนายอนุกูล อาแวปูเต๊ะ หัวหน้าสำนักงานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี เปิดแถลงข่าวเรียกร้องให้ยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) โดยมีนายนิเซ๊ะ นิฮะ ผู้ถูกควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ต่อด้วยพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ได้รับการปล่อยตัว ร่วมแถลงข่าวด้วย

นายสิทธิพงศ์ แถลงว่า มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้รับเรื่องร้องเรียนเรื่องผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2554 รวมทั้งสิ้น 2,338 เรื่อง ในจำนวนนี้มีชาวบ้านร้องเรียนว่า ถูกละเมิดสิทธิโดยการซ้อมทรมาน 282 เรื่อง

นายสิทธิพงศ์ แถลงต่อไปว่า เมื่อคดีขึ้นสู่ศาล ปรากฏว่า มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมเป็นทนายความแก้ต่างให้กับจำเลยในคดีเกี่ยวกับความมั่นคง สืบเนื่องจากบังคับใช้กฎหมายพิเศษ จำนวน 495 เรื่อง โดยศาลมีคำพิพากษาแล้ว จำนวน 122 เรื่อง แยกเป็นคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษ 33 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 27.04 และคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้อง มีจำนวนมากถึง 87 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 72.95

นายสิทธิพงศ์ แถลงอีกว่า มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมเห็นว่า การใช้พยานหลักฐานจากการซักถามผู้ถูกควบคุมตัวตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานจับตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายได้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

“มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จึงได้ยื่นคำร้องคัดค้านการควบคุมตัวตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อให้ศาลได้ไต่สวนคำร้องขอควบคุมตัว เพื่อให้มีการนำเสนอข้อเท็จจริงในชั้นศาลว่า มีการใช้หลักฐานอะไรเป็นเหตุผลในการขอควบคุมตัวมาโดยตลอด เพื่อเป็นบรรทัดฐานทางสังคม ทั้งกรณี การซ้อมนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กรณีลูกชายของอีหม่ามยะผา กาเซ็ง ที่เสียชีวิตในการควบคุมตัวของทหาร และผู้ถูกควบคุมตัวร่วมกับอีหม่ามยะผา กาเซ็ง และกรณีที่ควบคุมตัวราษฎรในพื้นจังหวัดสงขลา เป็นต้น” นายสิทธิพงศ์ แถลง

นายสิทธิพงศ์ แถลงว่า ศูนย์ทนายความมุสลิมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จากข้อเท็จจริงและกรณีตัวอย่างที่นำเสนอมา จะทำให้รัฐบาลตระหนักถึงการละเมิดสิทธิ จากการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไป

นายสิทธิพงศ์ แถลงว่า การแถลงข่าวครั้งนี้ ขึ้นหลังจากกรณีการควบคุมตัวนายนิเซ๊ะ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2554 ต่อมาญาติร้องเรียนต่อมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมว่า การควบคุมตัวนายนิเซ๊ะเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อเจตนารมณ์ของการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ และขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

“ต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2554 ทนายความของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ยื่นคำร้องคัดค้านการควบคุมตัวต่อศาลจังหวัดปัตตานี เป็นหมายเลขคดีดำที่ ฉฉ.47/2554 ศาลจังหวัดปัตตานีมีคำสั่งเรียกเจ้าพนักงานตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมทั้งให้นำตัวนายนิเซ๊ะ มาเพื่อไต่สวนในวันที่ 5 ตุลาคม 2554 แต่ปรากฏว่าวันที่ 4 ตุลาคม 2554 เจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวนายนิเซ๊ะ ก่อนวันนัดไต่สวน ศาลจึงเห็นว่าไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องไต่สวนต่อไป ศาลจึงมีคำสั่งให้งดการไต่สวนคดีดังกล่าว” นายสิทธิพงศ์ แถลง

นายสิทธิพงศ์ แถลงต่อไปว่า มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เป็นองค์กรหนึ่งที่เรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษที่บังคับใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เนื่องจากในมาตรา 11 (1) ของพระราชกำหนดฉบับนี้ ระบุว่า เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการจับและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยและนำเข้าสู่กระบวนการซักถาม โดยที่ผู้ถูกควบคุมตัวไม่มีสิทธิในการพบหรือปรึกษาทนายความ ซึ่งแตกต่างจากสิทธิของผู้ต้องหาตามระบุไว้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2550

“ที่ผ่านมา มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนการประกาศต่ออายุการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2554

นายนิเซ๊ะ กล่าวว่า ตนไม่อยากให้กระบวนการยุติธรรมของชาติ ถูกกฎหมายอะไรก็ไม่รู้ มาบดบังความดีงามของกระบวนการยุติธรรม ตนกลัวอยู่อย่างเดียวว่า มีคนตั้งแต่หนึ่งคนจนถึงคนหมู่มาก เริ่มไม่ศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ซึ่งตามความรู้สึกของตน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นปัญหาใหญ่ที่ จะทำให้ประชาชน เริ่มหมดศรัทธากับกระบวนการยุติธรรม

เมื่อเวลา 09.30 น. วันเดียวกัน ที่ห้องพิจารณาคดี 2 ชั้น 2 ศาลจังหวัดปัตตานี นายศิริชัย วจีสัจจะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดปัตตานี ขึ้นนั่งบัลลังก์ไต่สวนคำร้องคัดค้านการควบคุมนายนิเซ๊ะ นิฮะ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หมายเลขดำที่ ฉฉ.47/2554 โดยนายนิเซ๊ะพร้อมทนายเดินทางมาที่ศาลจังหวัดปัตตานี แต่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรกะพ้อ จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นผู้ร้องขอขยายเวลาควบคุมตัวนายนิเซ๊ะ ไม่ได้เดินทางมาที่ศาล

นายศิริชัย เห็นว่า ผู้ร้องทราบว่านัดแต่ไม่มา ถือว่าไม่คัดค้าน ส่วนผู้ถูกควบคุมหลังได้รับการปล่อยตัวจากสถานที่ควบคุมแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องไต่สวนคำร้องของทนายผู้คัดค้านอีกต่อไป มีคำสั่งให้ยกคำร้อง โดยใช้เวลาในการพิจารณากรณีนี้เพียง 30 นาที