นูรยา เก็บบุญเกิด โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
เปิดผลสำรวจ “กรรมการนิติศาสตร์สากล” มุสลิม–พุทธมองปัญหาความรุนแรงชายแดนใต้ต่างกันสุดขั้ว มุสลิมเชื่อ ถูกรัฐเลือกปฏิบัติ ยันถูกกองกำลังความมั่นคงละเมิดสิทธิฯ ทั้งสองซศาสนิกไม่ยอมรับคนของรัฐ ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 7 ตุลาคม 2554 ที่ห้องกลางชล โรงแรมซีเอส.ปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ศูนย์ทนายความมุสลิม ร่วมกับคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) จัดเสวนารายงานผลการสำรวจ การรับรู้และทัศนะต่อหลักนิติธรรมของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Rule of Law Perceptions by the Public in the South) โดยมีตัวแทนจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมประมาณ 30 คน
นายศราวุธ ปทุมราช กรรมการนักนิติศาสตร์สากล รายงานผลการวิจัยว่า ประชาชนจำนวนมากในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังรู้สึกไม่ปลอดภัย กลัวต่อการบาดเจ็บและสูญเสียชีวิต โดย 17% ยังรู้สึกถูกกดขี่และถูกจำกัดการเคลื่อนไหว ถึงแม้ชาวพุทธ 40% จะไม่รู้สึกว่าได้รับผลกระทบด้านลบจากสถานการณ์ แต่ชาวมุสลิมรู้สึกไม่ได้รับผลกระทบเพียง 24% ชาวพุทธ 53% เชื่อว่าการฆ่าและเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดจากการกระทำของผู้ก่อความไม่สงบ ขณะที่หนึ่งในสามของชาวมุสลิม หรือ 34% เท่านั้น ที่เชื่อว่าความรุนแรงกระทำโดยผู้ก่อความไม่สงบ นอกจากนี้ 81% ของชาวมุสลิม และ 68% ของชาวพุทธ ในเขตพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความรุนแรงต่ำเห็นว่า ความรุนแรงที่เกิดจากกองกำลังความมั่นคง เป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้
นายศราวุธ เปิดเผยว่า ชาวมุสลิมเกินกว่าครึ่งระบุว่า กองกำลังความมั่นคงเป็นต้นเหตุของการฆ่า และต้นเหตุของความรุนแรงต่างๆ ขณะที่น้อยกว่า 18% ของชาวพุทธกลับคิดตรงกันข้าม ชาวพุทธ 53% เห็นว่า ผู้ก่อความไม่สงบและผู้ต้องการแบ่งแยกดินแดน มีส่วนรับผิดชอบในการฆ่า และเหตุการณ์ความรุนแรงส่วนใหญ่ มีเพีง 1/3 ของชาวมุสลิม ที่เห็นว่าผู้ก่อความไม่สงบมีส่วนรับผิดชอบ
“จะเห็นได้ว่า ถึงแม้คนทั้งสองกลุ่มในพื้นที่สีเขียว จะไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง แต่ผู้กระทำความผิดที่ทั้งสองกลุ่มกล่าวหาว่าก่อความรุนแรง กลับมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน” นายศราวุธ กล่าว
นายศราวุธ เปิดเผยอีกว่า พื้นที่ที่อยู่อาศัยและการนับถือศาสนา เป็นตัวแปรของความแตกต่างในการระบุผู้ก่อความรุนแรงด้วย เกือบ 79% ของชาวมุสลิมในพื้นที่สีแดง ซึ่งมีความรุนแรงสูงสุด 68% ของชาวมุสลิมในพื้นที่สีเขียว และ 20.6% ของชาวพุทธ ระบุกองกำลังความมั่นคงเป็นผู้กระทำความรุนแรง ขณะที่ชาวพุทธเกินครึ่งระบุองค์ประกอบของอาชญากรรมในสังคมว่า เป็นตัวหลักในการก่อความรุนแรง อีก 23.5% ระบุว่าความรุนแรงเกิดจากชุมชนเอง
“กองกำลังความมั่นคงที่ถูกระบุว่า กระทำความรุนแรงได้แก่ กองทัพ 24.9% เจ้าหน้าที่รัฐทั่วไป 28.5% ทหารพราน 7.7% ตำรวจ 4.5%” นายศราวุธ กล่าว
นายศราวุธ เปิดเผยว่า ผลการสำรวจยังระบุเกือบ 42% ในหมู่บ้านสีแดง และ 19% ของหมู่บ้านสีเขียว รู้สึกไม่ปลอดภัย ขณะที่ 15% ของชาวพุทธรู้สึกปลอดภัยอย่างยิ่ง กลับมีชาวมุสลิมรู้สึกปลอดภัยเพียง 1% ถึงกระนั้นยังคงมีชาวพุทธ 65% ชาวมุสลิม 42% เห็นว่ามีความจำเป็นต้องคงกองกำลังความมั่นคงไว้ เพื่อต่อต้านความรุนแรง และรักษาความมั่นคง แต่เกินกว่าสองในสามของทั้งสองกลุ่มเห็นว่า จะต้องปรับปรุงแก้ไขการปฏิบัติหน้าที่ของกองกำลังความมั่นคง
“ผลการศึกษายังพบว่า บุคคลที่เคยมีประสบการณ์กับระบบยุติธรรมปกติ ต่างเผชิญกับขั้นตอนที่ยืดเยื้อ ยุ่งยาก และไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ ทำให้พวกเขาไม่ขอควาการที่ใช้ในกระบวนการยุติธรรมช่วยเหลือ หรือร้องทุกข์กับตำรวจหรือศาล” นายศราวุธ กล่าว
นายศราวุธ เปิดเผยอีกว่า อุปสรรคใหญ่ในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในภาคใต้ตอนล่างคือภาษา การที่ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ ทำให้เป็นการยากลำบากที่คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งพูดภาษาไทยไม่คล่องแคล่ว จะสามารถสื่อสารและเข้าใจข้อความจากการสื่อสารได้อย่างถ่องแท้ อันนำมาสู่ข้อกังขาเกี่ยวกับล่ามที่ศาลแต่งตั้ง และการแปลของล่าม ขณะที่การว่าจ้างทนายความนับเป็นเรื่องยาก เพราะต้องเสียค่าใช้จ่าย ส่งผลให้ความยุติธรรมถูกนำไปเชื่อมโยงกับเงิน เพราะหากมีเงินย่อมสามารถจ้างทนายความเก่งๆ ได้ โอกาสชนะคดีก็มีสูงขึ้น
นายศราวุธ เปิดเผยด้วย ผลการสำรวจประชาชนในพื้นที่มีความเห็นว่า ในเกือบจะทุกกรณี ผู้กระทำผิดไม่เคยต้องรับผิดชอบต่อการก่ออาชญากรรม หรือการละเมิดที่ก่อขึ้น และผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนส่วนใหญ่ ล้วนเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจใช้กฎหมายในภาคใต้ตอนล่างโดยตรง ผู้ร่วมสนทนากลุ่มชาวมุสลิมส่วนใหญ่เห็นว่า การมีอยู่ของกองกำลังความมั่นคงในหมู่บ้าน ไม่ได้ทำให้เกิดความสงบสุข กลับมีส่วนก่อให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น เกือบ 35% ของชาวมุสลิม ระบุว่า ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมตลอดเวลาและบ่อยครั้ง มีเพียง 8% ที่มองว่าได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม และ 11% ของชาวพุทธที่ร้องเรียนว่าได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ขณะที่ 30% ของชาวพุทธระบุว่า ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมจากกองกำลังความมั่นคงเสมอ ชาวมสุลิม 30% รู้สึกว่ามีเพียงชาวมุสลิมที่ถูกตรวจสอบ ขณะที่ชาวพุทธไม่มีปัญหาเรื่องนี้ 2.5% ของชาวพุทธรู้สึกว่า มีแต่ชาวมุสลิมเท่านั้นที่ถูกตรวจสอบ
“ผู้ตอบคำถามส่วนมากคิดว่า กฎหมายอนุญาตให้กองกำลังความมั่นคงใช้ดุลยพินิจของตนเอง ในการตรวจค้นตัวบุคคลใดก็ได้ ชาวมุสลิมจึงมีเหตุผลสอดคล้องต้องกันว่า มีการเลือกปฏิบัติต่อพวกเขา โดยการตรวจค้นอย่างไม่เป็นธรรม และการตรวจค้นร่างกายไม่ว่าสถานที่ใดก็ตาม ไม่ได้ทำให้พวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัย” นายศราวุธ กล่าว
นายศราวุธ เปิดเผยอีกว่า 65% ของผู้อาศัยในหมู่บ้านสีแดง เคยมีประสบการณ์จากการกระทำของกองกำลังความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นการปิดล้อมหมู่บ้าน หรือบ้านบางหลังเพื่อตรวจค้น ขณะที่หมู่บ้านสีเขียวมีเพียง 28% ที่พบกับปัญหานี้ ประชาชนในพื้นที่สีแดงเกือบ 58% ระบุว่า ความรุนแรงเกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติงานของกองกำลังความมั่นคง ขณะที่ประชาชนในพื้นที่สีเขียว ถูกตรวจค้นบ้านพักแค่ 28% และเกือบ 59% ผู้ถูกตรวจค้นทั้งหมดระบุว่า ไม่มีการแสดงหมายค้น และไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของบ้าน ตรงกันข้ามกับชาวพุทธ ที่มีบ้านถูกตรวจค้นแค่ 3 หลัง โดยทั้งสามกรณีมีการแสดงหมายค้น หรือขอนุญาตตรวจค้น 53% ของชาวมุสลิมและ 18% ชาวพุทธระบุว่า การตรวจค้นไม่ได้กระทำอย่างเป็นธรรม ขณะที่ผลที่ได้รับจากการตรวจค้นพบว่า ชาวพุทธส่วนใหญ่ 40.5% และชาวมุสลิมแค่ 6.5% รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น
“ทหารและตำรวจเป็นกองกำลังหลัก ที่ถูกกล่าวถึง จากผู้ตอบคำถามว่า เป็นผู้เชิญตัว หรือจับกุม ระยะเวลาเฉลี่ยที่ถูกควบคุมตัวในสถานที่ทางหารคือ 30 วัน สถานีตำรวจ 8 วัน ระยะเวลาเฉลี่ยที่ผู้ถูกจับกุมตัว อยู่ภายใต้การถูกควบคุม 56 วัน ระเวลาเฉลี่ยที่ถูกผู้ถูกเชิญตัวอยู่ภายใต้การควบคุม 42 วัน เกือบ 86% ของผู้ถูกกักขังได้รับอนุญาตให้ญาติเยี่ยม เกือบ 63% ที่ผู้ถูกจับกุมไม่ได้รับอนุญาตให้พบทนายความ มีเพียง 20% ได้รับอนุญาตให้พบทนายความ โดยเฉลี่ยผู้ถูกคุมขัง/จับกุมได้รับอนุญาตให้พบทนายความหลังจากถูกเชิญตัว 11 วัน เร็วสุดได้รับอนุญาตให้พบทนายความภายใน 1 วัน หลังจากถูกเชิญตัว ช้าสุดที่ได้รับอนุญาตให้พบทนายความ 60 วัน หลังจากถูกเชิญตัว เป็นที่น่าสังเกตว่า การร้องขอพบทนายความทันที อาจถูกมองจากกองกำลังความมั่นคงว่า เป็นการยอมรับผิด” นายศราวุธ กล่าว
นายศราวุธ เปิดเผยอีกว่า ผู้เข้าร่วมสำรวจ 44 คนบอกว่า ถูกทารุณหรือทรมาน โดย 37% ระบุว่าถูกทำร้ายร่างกาย 20% ระบุว่าถูกบังคับให้อดนอน 10.4% ระบุว่าถูกช็อตด้วไฟฟ้า ผู้เข้าสำรวจกว่าหนึ่งในสี่เชื่อว่า กฎหมายอนุญาตให้กองกำลังความมั่นคงทรมานบุคคลได้ อีกหนึ่งในสี่เชื่อว่า กองกำลังความมั่นจะทรมานใครก็ได้ตามต้องการ โดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ในภายหลัง ชาวมุสลิม 21.5% และชาวพุทธ 24.2% ไม่เชื่อว่ากองกำลังความมั่นคงที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนจะถูกดำเนินคดี ชาวมุสลิม 21.8% และชาวพุทธ 18.5% เจ้าหน้าที่จะดำเนินการในกรณีกองกำลังความมั่นคงลิมดสิทธิมนุษยชนด้วยความเป็นธรรม ชาวมุสลิม 15.6% และชาวพุทธ 18.1% ไม่มีการสืบสวสสอบสวนกรณีกองกำลังความมั่นละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างถูกต้อง ชาวมุสลิม 11.5% และชาวพุทธ 1.5% ระบุว่าไม่พอใจเพราะเชื่อว่ารัฐพุ่งเป้าไปที่ชาวมุสลิม ขณะที่ชาวมุสลิม 0.3% และชาวพุทธ 7.5% ไม่พอใจเพราะมองว่ารัฐโอนอ่อนให้กับผู้ก่อความไม่สงบมากเกินไป
“ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐมักไม่ได้รับการลงโทษ เมื่อกระทำความผิด แตกต่างจากชาวบ้านที่มักจะถูกลงโทษอย่างรวดเร็วและรุนแรง นับเป็นตัวอย่างของการเลือกปฏิบัติที่รัฐกระทำในภาคใต้ ขณะที่ชาวพุทธเชื่อว่า การใช้อำนาจได้รับการยกเว้นโทษจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล รัฐไม่ได้ให้ความเห็นชอบหรือยินยอมให้เกิดการปฏิบัติมิชอบ ทั้งชาวพุทธและชาวมุสลิมเห็นสอดคล้องต้องกันว่า เจ้าหน้าที่ผู้ประพฤติมิชอบ จะต้องถูกดำเนินคดีโดยกระบวนการยุติธรรม” นายศราวุธ กล่าว
นายศราวุธ เปิดเผยว่า ผู้เข้าร่วมสำรวจมีข้อเสนอแนะทั้งหมดห้าประการ สองอันดับแรกคือ ให้รัฐเร่งจัดการแก้ปัญหายาเสพติด และสนับสนุนให้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีงานทำ ส่วนข้อเสนออื่นๆ ประกอบด้วย ให้ถอนกำลังความมั่นคงออกจากพื้นที่ ให้หยุดเลือกปฏิบัติต่อชาวมสุลิม และให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ
นายศราวุธ ระบุว่า การสำรวจครั้งนี้ เป็นการจัดทำเพื่อบันทึกรวบรวมแนวความคิดของประชาชนที่อาศัยอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะประเด็นหลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งกรอบของรายงานประกอบด้วย แนวความคิดของประชาชนต่อปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงและกฎหมายความมั่นคงในพื้นที่ สาเหตุของปัญหาเหล่านั้นและแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้ ระดับการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงและแนวความคิดของประชาชนต่อความรุนแรงและความคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน แนวความคิดของประชาชนต่อระบบยุติธรรมและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม แนวความคิดของประชาชนต่อการรับผิดชอบ การยกเว้นไม่ต้องรับโทษ และการใช้อำนาจโดยมิชอบ และความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องการพัฒนาสถานการณ์ในภาคใต้ให้ดีขึ้น
นายศราวุธ เปิดเผยว่า งานวิจัยภาคสนามชิ้นนี้ มีการสัมภาษณ์ประชาชน 1,373 คน สุ่มเลือกจากหมู่บ้าน/เขตเทศบาล ในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยอิงกับวิธีการจัดแบ่งกลุ่มสีที่กองทัพไทยใช้คือ พื้นที่สีแดงมีความรุนแรงสูงสุด พื้นที่สีเหลืองประชาชนส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนการก่อความไม่สงบ แต่ยังคงมีความเสี่ยง พื้นที่สีเขียวมีระดับความรุนแรงต่ำ และสนทนากลุ่มอีก 16 กลุ่ม เช่น กลุ่มนักเรียน กลุ่มสตรี กลุ่มชาวพุทธในหมู่บ้านที่มีชาวมุสลิมเป็นคนส่วนใหญ่ เป็นต้น