Skip to main content

มูฮำหมัด ดือราแม สำนักข่าวประชาไท

ฮัสซัน โตะดง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

 

ตำรวจชายแดนใต้ เป็นกลไกหลักในกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นในคดีความมั่นคงในพื้นที่ เฉกเช่นเดียวกับส่วนอื่นของประเทศไทย วันนี้ถูกผลักให้ต้องรับผิดชอบกระบวนการขั้นต้นกว่ากระบวนการยุติธรรมปกติ คือ การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) หน่วยงานที่มีฐานะกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส กำลังจะขอให้รัฐบาลยกเลิกเครื่องมือพิเศษนี้ ด้วยเหตุผลอะไรฟังจากปากของ “พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ” ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ดังนี้

 

พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ

...................................

 

วันที่ 8 ตุลาคม 2554 พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง จะเดินทางประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่หน่วยเฉพาะกิจอโณทัย ในค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

พล.ต.อ.โกวิท จะมอบนโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะประชุมเรื่องการปรับโครงสร้างการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่ โดยจะให้มีการบูรณาการการทำงานกันระหว่างทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

จากนั้นช่วงบ่ายพล.ต.อ.โกวิท จะเดินทางมาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนวันที่ 9 ตุลาคม 2554 จะเดินทางลงพื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส

 

ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเสนอเรื่องอะไรบ้าง

จะเสนอให้ทยอยยกเลิกการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทีละอำเภอ โดยเลือกอำเภอที่มีเหตุการณ์ไม่สงบน้อยที่สุดก่อน

เหตุขอยกเลิกเพราะในพื้นที่การใช้กฎหมายปกติ คือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา)เหมือนที่ใช้เหมือนทั่วประเทศอยู่แล้ว

การขอออกหมายเพื่อควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกฉินฯ ผมจะขอน้อยที่สุด และไม่ใช่ขอเพื่อเอาคนมาซักถามแบบไม่มีเหตุผลเลย ต้องมีเหตุผลพอสมควร

การขอออกหมายพ.รก.ฉุกเฉินฯ ของผม เหมือนกับจะขอออกหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ได้เลย คือ ต้องมีเหตุผลพอ ต้องมีหลักฐานพอสมควรกว่าจะออกหมาย พ.ร.ก.ฉุกฉินฯ

ตอนนี้พื้นที่ที่ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯไปแล้วก็มี 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา แล้วประกาศใช้มาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 กับอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี ซึ่งอำเภอแม่ลานก็เป็นพื้นที่ที่มีเหตุการณ์น้อย

การใช้มาตรา 21 ที่ให้จำเลยเขาอบรมแทนการถูกขัง ตอนนี้ก็มีแค่ 4 คนเอง ที่ใช้กระบวนการนี้ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนเข้าอบรมแล้ว

 

ที่ผ่านมาศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนใต้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยตาม พ.ร.ก.ฉุกฉินฯ กี่คนแล้ว

เป็นพันคน มีสถิติอยู่ แต่ตอนนี้ทางทหารได้ยุบศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ที่ใช้เป็นที่ควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกฉินฯ ซึ่งตั้งอยู่ในค่ายอิงคยุทธบริหารแล้ว อาจเป็นผลมาจากการประเมินหรือผลจากการร้องเรียน ก็เลยให้มาใช้ศูนย์พิทักษ์สันติอย่างเดียวในการควบคุมตัวตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

หลังจากนี้คนที่ถูกควบคุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะต้องถูกนำตัวอยู่ที่นี่ ซึ่งศูนย์พิทักษ์สันติผ่านการประเมินจากกาชาดสากลและองค์กรต่างๆ แล้วว่า เป็นสถานที่ควบคุมตัวได้ แต่ที่นี่ไม่มีลักษณะเป็นสถานที่คุมขัง ไม่มีการละเมิดสิทธิ เกือบทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตาม มีการติดตามเยี่ยมบุคคลที่ศูนย์ปล่อยตัวไปแล้ว

 

ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ยกเลิกไปเมื่อไร

ผมยังไม่เห็นคำสั่ง แต่ตอนนี้ทางทหารมาดูสถานที่ของศูนย์พิทักษ์สันติแล้ว การควบคุมตัวจะอยู่ภายใต้ตำรวจ ทางทหารส่งฝ่ายธุรการมาแลกเปลี่ยนข้อมูลเท่านั้น จะไม่มีทหารนำตัวไปซักถามต่างหาก

ส่วนทหารจะใช้กฎอัยการศึกจะควบคุมตัวใครที่ไหนก็เป็นเรื่องของทหาร เพราะเป็นอำนาจของทหาร แต่ถ้าถูกควบคุมตัวตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องส่งมาที่นี่

ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้จะไม่ออกหมายพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แบบเวียงแห ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นสถิติที่ถูกโจมตีได้ เพราะเวลาคนพูด เขาจะพูดเรื่องการควบคุมตัวมาซักถาม ว่าถูกจับ เมื่อจับคนมาแล้วไม่มีหลักฐานเอาผิดก็ต้องปล่อยตัวไป แล้วก็จะถูกโจมตี

 

กรณีการควบคุมตัวนายนิเซ๊ะ นิฮะ ชาวบ้านตำบลตะลุโบะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี มีความเชื่อมโยงอย่างไรกับสถานีตำรวจภูธรกะพ้อ จังหวัดปัตตานี เนื่องจากมีข่าวว่าตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรกะพ้อได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดปัตตานี เพื่อขอขยายเวลาควบคุมตัวนายนิเซ๊ะ ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

นิเซ๊ะ ถูกทหารควบคุมตามกฎอัยการศึก จากนั้นถูกส่งมามายังศูนย์พิทักษ์สันติ ซึ่งได้ซักถามไปแล้ว ก็พบว่าไม่มีประโยชน์อะไรก็ปล่อยตัวไป ในส่วนของผม ถ้าหากซักถามไปแล้ว ไม่มีประโยชน์ก็จะปล่อยตัวไป

การขอต่อเวลาควบคุมตัวตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตำรวจมีสิทธิเสนอขอต่อศาล แล้วศาลก็จะพิจารณาว่าจะให้ต่อเวลาหรือไม่ แต่การขอต่อเวลาควบคุมตัวหรือการขอออกหมายเพื่อควบคุมตัวตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯจะต้องเป็นความเห็นร่วมกันของ 3 ฝ่าย คือ ตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครอง เมื่อศาลอนุมัติ จึงสามารถควบคุมตัวได้ 7 วัน เมื่อครบ 7 วันก็สามารถขอต่อเวลาควบคุมตัวได้อีกครั้งละ 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน

กรณีการขอขยายเวลาควบคุมตัวนายนิเซ๊ะของตำรวจสถานีตำรวจภูธรกะพ้อ  ก็ต้องเป็นความเห็นร่วมกันของทั้ง 3 ฝ่าย คือสถานีตำรวจภูธรกะพ้อ ทหารในพื้นที่ และ นายอำเภอในพื้นที่

 

ทำไมกรณีของนายนิเซ๊ะต้องเป็นสถานีตำรวจภูธรกะพ้อ 

มีข้อมูลว่าเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดตาย 4 ศพ ในพื้นที่อำเภอกะพ้อ แต่เมื่อซักถามนายนิเซ๊ะแล้ว พบว่า ไม่เกี่ยวข้องและไม่มีประโยชน์อะไรก็ต้องปล่อยตัวไป นายนิเซ๊ะ เองก็ยินดีที่จะมาพบเรา หากเราเรียกตัวมา

โดยปกติคนที่ถูกปล่อยตัวไป เราจะให้เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ บางครั้งเรียกเขาก็มา บางครั้งเราไปเยี่ยม ที่นี่อยู่แบบพี่แบบน้อง หลายคนมีความผูกพันกับที่นี่

การเข้ามาอยู่ทีนี่ ตั้งแต่เริ่มแรกต้องผ่านการตรวจสุขภาพจากแพทย์ของศูนย์ก่อน เข้ามาแล้ว มีอุปกรณ์เครื่องมือพร้อมทุกอย่าง สามารถปฏิบัติตัวตามหลักศาสนาอิสลาม และปล่อยเป็นอิสระไม่ได้ขัง เพียงแต่จะอยู่ภายในบริเวณของศูนย์พิทักษ์สันติเท่านั้น

ก่อนจะถูกปล่อยตัวก็จะมีการตรวจร่างกายอีกครั้ง เพราะฉะนั้น ที่นี่จะไม่มีเรื่องร้องเรียนว่าถูกละเมิดสิทธิ และสามารถที่ตรวจสอบการทำงานได้

 

เวลามีการซักถามถูกถูกควบคุมตัวมีหน่วยงานภายนอกมาร่วมฟังด้วยหรือไม่

ถ้าหน่วยงานอื่นจะเข้ามาซักถาม เจ้าหน้าที่ของศูนย์พิทักษ์สันติก็ต้องอยู่ด้วย เพราะเคยมีเรื่องที่หน่วยงานอื่นมาซักถามแล้วทำร้ายเขาไปด้วย แต่เราต้องรับผิดชอบ ผมสั่งว่า ต้องมีเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สันติอยู่ด้วย ศูนย์พิทักษ์สันติมีเจ้าหน้าที่ซักถามอยู่ คนนอกหรือไม่ใช่ตำรวจของที่นี่ จะมาร่วมซักถามหรือมาสังเกตการเหมือน ป.วิอาญาไม่ได้

 

ข้อมูลจากการซักถามถูกนำไปใช้เป็นหลักฐานในการออกหมายจับตาม ป.วิอาญาหรือไม่

มีบางกรณีที่สามารถออกหมายจับตาม ป.วิอาญา โดยเจ้าตัวรับสารภาพ แต่ตำรวจก็ไม่มีหลักฐานอื่น

บุคคลที่ถูกควบคุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อาจจะได้รับการชี้แนะจากการคนข้างนอกว่า คุณเข้าไปแล้ว คุณอาจจะถูกซ้อม ฉะนั้นพวกนั้นเข้ามาจะไม่พูดอะไร แต่ที่นี่การซักถามต้องมีบุคคลที่มีความเชียวชาญด้วนจิตวิทยาโดยเฉพาะ

คนที่ถูกควบคุมตัวเข้ามาใหม่ๆ ทางศูนย์พิทักษ์สันติจะไม่คุยเรื่องคดีของคุณเลย จะคุยเรื่องประวัติ การศึกษา วิถีชีวิตของคุณเป็นอย่างไร เพื่อให้คุ้นเคยกันก่อน

แต่กรณีการซักถามแบบนี้ ต้องใช้เวลา ซึ่งก็ต้องขอขยายเวลาควบคุมตัวต่ออีก เพราะภายใน 7 วันยังซักถามยังไม่เสร็จ ยังไม่ถึงข้อมูลที่ต้องการ แต่การขอขยายเวลาควบคุมตัวก็ต้องให้ศาลพิจารณาว่า ควรจะให้ขยายเวลาหรือไม่

ช่วงปี พ.ศ.2548 - 2549 ศูนย์พิทักษ์สันติได้ควบคุมตัวถึง 200 กว่าคน เมื่อเข้ามาแล้ว ปรากฏว่าสถานการณ์ไม่เป็นอย่างที่ถูกชี้นำมาจากข้างนอก เพราะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติเป็นอย่างดี

อย่างผู้ถูกควบคุมตัวรายล่าสุดที่ได้มาจากอำเภอยะหา จังหวัดยะลา รับสารภาพและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

 

ตอนนี้มีหลายกลุ่มที่ออกมารณรงค์ให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีความคิดเห็นอย่างไร

รัฐบาลจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่ ก็ต้องฟังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ด้วย ถามว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มันดีหรือเปล่า มันก็มีข้อดีและไม่ดี ข้อไม่ดีคือ กฎหมายปกติมันมีอยู่แล้ว ทำไม่ต้องให้กฎหมายพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่มากเกินไป

ส่วนที่ดีคือ การที่เจ้าหน้าที่จะทำตามกฎหมายปกติ บางครั้ง บางกรณีมันไม่ทันกับคนร้าย คนร้ายอาจจะหนีไปแล้วก็ได้ แต่ผมว่าต้องค่อยๆยกเลิกไป อย่างน้อยต้องชี้แจ้งทำความเข้าใจแก่พี่น้องประชาชนได้

ทุกวันนี้ ประชาชนให้ความร่วมมือมากยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องเห็นใจประชาชน เขาไม่พูดไม่บอก เพราะกลัวฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐ อันตรายกับเขา และเราก็ไม่สามารถคุ้มครองเขาได้ 24 ชั่วโมง

 

ปัจจุบันแนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่มีการปรับตัวจากอดีตอย่างไร

สำหรับตำรวจ ผมเน้นมาก เพราะสถานการณ์ในอดีต ตำรวจของเราตกเป็นจำเลย สิ่งที่คนพูดคือ ไม่รับความเป็นธรรม ดังนั้นเราต้องปรับตัว

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 นโยบายของเราตั้งแต่การบังคับใช้กฎหมาย อาจต้องเป็นธรรม โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ทุกเรื่องที่เกิดขึ้น หากมีการร้องเรียน ตำรวจสามารถชี้แจ้งอย่างเต็มปาก เต็มตำ ตอบไปอย่างตรงไปตรงมา

อีกด้านหนึ่งที่ต้องทำงานควบคู่กันคือ เรื่องงานมวลชน ที่นี่มีโรงเรียนการเมือง ตั้งขึ้นมาเพื่ออบรมเจ้าหน้าที่ทุกระดับชั้น ใครก็แล้วแต่ ที่มาทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องเข้าอบรมโรงเรียนการเมืองของเราก่อน อย่างน้อยต้องรู้ ขนบธรรมเนียม ปฏิบัติของคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นอย่างไร

บางคนไปละเมิดสิทธิของประชาชนโดยทีรู้ไม่ถึงการณ์ เป็นการสร้างเงื่อนไขขึ้นมา งานมวลชนในอดีต จะเป็นชุดมวลชนสัมพันธ์ มีหน้าที่ทำงานมวลชน แต่ผมว่า ตำรวจทั้งโรงพักต้องทำงานมวลชนทั้งหมด อย่างจราจรที่ปฏิบัติหน้าที่ เราจะจับเขาเรามีข้อมูลหรือเปล่า เป็นความผิดครั้งแรกเป็นความผิดเล็กๆน้อยๆ อาจจะว่ากล่าวตักเตือนได้หรือเปล่า

 

ประเมินสถานการณ์ความไม่สงบตอนนี้เป็นอย่างไร

สถานการณ์โดยส่วนใหญ่มันก็ดีขึ้น คำว่าดีขึ้นเราคุยกันเฉพาะข้าราชการในการประชุมในการเทียบสถิติ เอาตัวเลขมาเปรียบเทียบ

แต่ผมว่า ตราบใดที่ยังคงมีคนเสียชีวิตในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตำรวจมีหน้าที่รักษาความปล่อยภัยชีวิตและทรัพย์สิน มียิงมีฆ่าทุกวัน จะบอกว่าดีขึ้นไม่ได้

แนวโน้มผมว่าดีขึ้นเรื่อยๆ หนึ่ง เราอย่าไปสร้างเงื่อนไข สอง ทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนทุกระดับให้ได้

ตำรวจของผมเหมือนกองกำลังประจำถิ่น ต้องอยู่ในพื้นที่ ทหารเขามาแล้วก็ไป ดั้งนั้นฐานของเราก็คือประชาชน ผมบอกว่าสงครามในเมืองแพ้ชนะอยู่ประชาชน ยิ่งสู้รบยิ่งเสียมวลชน ยิ่งรบยิ่งทำลายมวลชนAnchor

ผมเคยอยู่ที่อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม เคยทำงานมวลชนที่นั่น เพราะเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท. ) ฝ่ายใดได้ประชาชน ฝ่ายนั้นจะเป็นผู้ชนะ แต่ที่นั่นง่ายกว่าที่นี่ เพระการตั้งฐานของตำรวจต้องตั้งในหมู่บ้าน พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจะเข้าโจมตี ก็ต้องถามมวลชนหรือประชาชนในหมู่บ้านก่อนว่า ทหารชุดนี้ ตำรวจชุดนี้เป็นอย่างไร

ถ้ามวลชนบอกว่าตำรวจชุดนี้ไม่ดี ชอบรังแกชาวบ้าน ไม่เกิน 7 วัน ฐานแตกแน่ แต่ถ้าตำรวจชุดนี้ดี ไม่มีทางที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจะเข้าโจมตีได้ เพราะถ้าโจมตี พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเองจะเสียมวลชน เพราะพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยต้องอาศัยเสบียงจากชาวบ้าน เพราะพวกเขาอยู่ในป่า ส่วนมวลชนอยู่ในหมู่บ้าน

 

คดีสำคัญๆ ตอนนี้มีคดีอะไรบ้าง ความคืบหน้าเป็นอย่างไร

คือคดีลอบวางระเบิดที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส มีความคืบหน้าเยอะ ออกหมายจับคนร้ายแล้ว และกำลังติดตามที่มาที่ไปของรถที่คนร้ายใช้ลอบวางระเบิดอยู่

 

คนร้ายในคดีนี้เกี่ยวข้องยาเสพติดจริงหรือไม่

กับขบวนการก่อความไม่สงบเป็นคนละกลุ่มกัน แต่ตัวผู้ปฏิบัติการอาจจะเกี่ยวพันก็ได้ ที่เรารู้ว่ามันพันกันอยู่ เพราะอาวุธที่ใช้เกี่ยวโยงกับการก่อเหตุไม่สงบ แล้วบุคคลที่เกี่ยวพันขบวนการก็มีส่วนพัวพันกับยาเสพคิด

ส่วนเงินจากยาเสพมีความเชื่อมโยงกับขบวนการก่อความไม่สงบหรือเปล่า ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด เพราะเงินที่เข้าขบวนการ ไม่ได้โอนเงินผ่านธนาคาร แต่ดูการจากพฤติกรรมผู้นำท้องถิ่น น่าจะมีส่วนเกี่ยงข้อง เพราะมีการค้ายาเสพติดเยอะเท่าที่รู้

เรื่องยาเสพติดนั้น ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) มีการประชุมเรื่องยาเสพติดทุกวันพฤหัสบดีกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พื้นที่ของเราเป็นเป้าหมายหลักที่ยาเสพติดจากภาคเหนือจะทะลักเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นยาบ้า ใบกระท่อม ยาไอซ์จากประเทศมาเลเซียทะลักเข้ามาในพื้นที่

ในพื้นที่มีพ่อค้ารายใหญ่ เราก็พยายามจับ ผมก็ยังสงสัยมีสั่งการจากเรือนจำได้อย่างไร เราไปตรวจเรือนจำ เจอคนที่สั่งค้ายาเพราะเรายึดโทรศัพท์ในเรือนจำได้ ปรากฏว่าหมายโทรศัพท์ตรงกับหมายเลขผู้ต้องหาที่ถูกจับ

ตอนนี้ทหารมอบหมายให้ผมรับผิดชอบในเขต 5 เมืองหลัก คือเมืองสุไหง-โกลก เมืองเบตง เมืองยะลา ปัตตานีและนราธิวาส แต่หากไม่พอ ทหารก็จะมาเสริม อาสาสมัครรักษาดินแดนมาเสริม จะต้องเอาให้อยู่ ซึ่งทหารจะดูแลในพื้นที่นอกเมือง แถบชนบท

เรื่องการปรับโครงสร้างใหม่เป็นอย่างไร

รัฐบาลจะปรับโครงสร้างใหม่ โดยให้มีการบูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงสร้างใหม่เหมือน กอ.สสส.จชต. (กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้)ในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่งคงเป็นประธาน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมาหดไทย ทหาร ตำรวจ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ

ส่วนระดับภูมิภาคมอบให้แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธาน โดยมตำรวจกับศอ.บต. เป็นกรรมการ เดิมศอ.บต.แยกออกจากหน่วยความมั่นคง เพราะมีกฎหมายคนละฉบับ

ระดับจังหวัดมีผู้ราชการจังหวัดเป็นประธาน มีผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกับผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจจังหวัดนั่งซ้ายขวา ให้นายอำเภอ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรและผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจหมายเลข 2 ตัว เป็นทีมงานเดียวกัน ผมบอกว่า ต้องให้ฝ่ายปกครองเป็นใหญ่ ผู้ว่าราชการเป็นใหญ่ เพราะการสั่งการจะดีกว่า