ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
บ่ายวันที่ 11 ตุลาคม 2554 ขบวนแรลลี่วันที่อยู่อาศัยโลกภาคใต้ 2554 จะเดินทางมาถึงโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง อำเภอเมือง จังหวัดพังงา
ย่ำค่ำวันเดียวกัน เวลาประมาณ 19.30 น. ก็จะเดินทางถึงชุมชนท่าเรือใหม่รัษฎา ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายของการจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกของภาคใต้ ในปี 2554
สำหรับการจัดที่ชุมชนท่าเรือใหม่รัษฎา ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
กำหนดการสำคัญของการจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกภาคใต้ ณ จังหวัดภูเก็ต อยู่ตรงวันที่ 12 ตุลาคม 2554 ซึ่งจะมีการยื่นข้อเสนอของเครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต ต่อนายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต
เนื้อหาของข้อเสนอ และประเด็นพูดคุยในงานวันที่อยู่อาศัยโลกจังหวัดภูเก็ต 2543 พุ่งเป้าความสำคัญไปยังประเด็น “ที่อยู่อาศัย สวัสดิการชุมชน ธนาคารเครือข่าย” เนื่องเพราะจังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่เศรษฐกิจการท่องเที่ยว มีหลายชุมชนประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน อันเนื่องมาจากชุมชนต่างๆ ล้วนแล้วแต่อยู่บนที่ดินของรัฐ หรือไม่ก็เป็นของเอกชน
กระทั่ง “เครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต” ได้นำประเด็นเหล่านี้มาเคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหา มีการทำงานกันเป็นเครือข่ายมีทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล และคนจนเมืองที่กระจุกตัวอยู่ตามชุมชนแคบๆ
เรื่องราวเหล่านี้ จึงถูกนำมาขึ้นโต๊ะเจรจากับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาครัฐ จนได้รับการผ่อนผัน และได้รับสิทธิ์ก่อสร้างบ้าน โดยมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหา ด้วยการสนับสนุนงบประมาณผ่านโครงการบ้านมั่นคง
หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2547 มูลนิธิชุมชนไทได้เข้ามาสำรวจชุมชนที่ประสบภัย และประสบปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน
กระทั่งเกิดการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต มีทั้งหมด 30 ชุมชน ร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน สวัสดิการชุมชน องค์กรการเงิน และชาติพันธุ์ชาวเล
ต่อมา ปัญหาที่อยู่อาศัยได้เข้าสู่การแก้ปัญหาภายใต้โครงการบ้านมั่นคง เริ่มจาก 5 ชุมชนแรก จนปี 2554 จึงเพิ่มเป็น 13 ชุมชน และกำลังดำเนินการของบประมาณบ้านมั่นคงเพิ่มอีก 6 ชุมชน เบื้องต้นทุกชุมชนจะต้องจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ด้วยความร่วมมือของคนในชุมชน มีการวางข้อตกลง มีคณะกรรมการของแต่ละชุมชนบริหารการจัดการ
ฒุฒิพร ทิพย์วงศ์
“เราต้องการแก้ไขปัญหาที่ดินในเชิงนโยบายด้วยโฉนดชุมชน ทางเครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต เสนอพื้นที่ออกโฉนดชุมชนทั้งหมด 17 ชุมชน ทั้งหมดผ่านการพิจารณาความพร้อม จากคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชนแล้ว 7 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนคลองเกาะผี ท่าเรือใหม่รัษฎา สะปำ ท่าสัก อ่าวยนต์ แหลมหลา และปากบาง” เป็นข้อมูลจากนางสาวฒุฒิพร ทิพย์วงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต
ในส่วนชุมชนที่ยังไม่ผ่านการพิจารณา นางสาวฒุฒิพร ทิพย์วงศ์ บอกว่า ต้องกลับไปทำข้อมูลและเตรียมความพร้อมเพิ่มเติม โดยเฉพาะชุมชนที่มีพื้นที่กว้างขวางอย่างชุมชนกิ่งแก้ว ต้องเตรียมการอย่างละเอียดและรอบคอบ เพราะมีทั้งผู้ประสบความเดือดร้อนจริง และผู้ประสบความเดือดร้อนแฝง ต้องให้ชาวบ้านในชุมชน ร่วมกับองค์การส่วนท้องถิ่น และภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันคัดกรองป้องกันความขัดแย้งในชุมชน
เสกสรรค์ สุพนึก
10 ชุมชน มีเงิน 720,000 บาท เริ่มปล่อยกู้เป็นสวัสดิการให้กับชุมชนวงเงิน 4 แสนกว่าบาท เมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่กู้ไปปลดหนี้นอกระบบ เป็นทุนการศึกษา ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และประกอบอาชีพ โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน
นายเสกสรรค์ สุพนึก ผู้จัดการธนาคารเครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต บอกว่า ธนาคารผู้จัดการธนาคารเครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต เกิดจากกลุ่มออมทรัพย์ของแต่ละชุมชน ร่วมกันระดมทุน ตอนนี้มีทั้งหมด
คนที่จะกู้จะมีคณะกรรมการของชุมชนคัดกรองว่า สามารถให้กู้ได้หรือไม่ โดยพิจารณาตามความเหมาะสม เน้นการช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ
“เรานำรายได้ไปจัดสวัสดิการและปันผลให้กับชุมชน 50% ส่วนอีก 50% เป็นกองทุนขับเคลื่อนเครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต ที่ผ่านมาเวลาไปประชุมที่กรุงเทพมหานคร หรือต่างจังหวัด ต้องใช้วิธีการเรี่ยไรเงินจากชาวบ้าน นานเข้าชาวบ้านก็ระอา รายได้จากตรงนี้ จึงนำไปแก้ปัญหานี้ด้วย”
เป็นคำบอกเล่าจาก นายเสกสรรค์ สุพนึก ก่อนจะถึงวันจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกภาคใต้ 2554 เกือบหนึ่งสัปดาห์
ข้อเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
จากเครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต
- ชุมชนในเครือข่ายฯ ขอรับการพัฒนาและ/หรืออนุญาตให้ชุมชนสามารถพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ โดยเฉพาะน้ำประปา ไฟฟ้า ถนน คูระบายน้ำ เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนโดยเร่งด่วนโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล, องค์การบริหารส่วนตำบล, องค์การบริหารส่วนจังหวัด) หรืออำเภอและจังหวัดได้
- ขอให้หน่วยงานรัฐยุติการดำเนินคดีกับชาวชุมชน ในการแก้ปัญหาของแต่ละชุมชนให้มีการเปิดเจรจาโดยมีตัวแทนของเครือข่ายฯ เข้าร่วมการแก้ไขปัญหาทุกครั้ง โดยเฉพาะปัญหาที่ดินและการใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ.2522 เป็นเครื่องมือในการไล่รื้อชุมชน
- ให้ยุติการไล่รื้อชุมชนในทันที
- ชุมชนที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีให้สามารถพัฒนาชุมชนได้ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น และให้ดำเนินการตามมติที่มีการพิสูจน์สิทธิที่ดินแล้วโดยหน่วยงานของรัฐบาลและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
- ให้ทางจังหวัดใช้มาตรการ/การคุ้มครองและช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ สำหรับกลุ่มชาวเล (5 ชุมชนในจังหวัดภูเก็ต) ซึ่งเป็นกลุ่มชุมชนดั้งเดิมของเมือง และมีการพัฒนาและแก้ปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553