Skip to main content

อารีด้า สาเม๊าะ, ทวีศักดิ์ ปิ, ฮัสซัน โตะดง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

           

นายวันชัย  ศักดิ์อุดมชัย ผู้อำนวยการศูนย์อุตมนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก เปิดเผยว่า ฤดูฝนในภาคใต้ปีนี้จะเริ่มต้นหลังจากวันที่ 20 ตุลาคม 2554 เป็นต้นไป แต่ขณะนี้ยังคาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ว่า ฝนจะตกมากน้อยแค่ไหน เพราะฝนตกยังไม่เต็มที่ จึงต้องรอให้เข้าฤดูฝนของภาคใต้จริงๆ ก่อนจึงจะคาดการณ์ได้

นายวันชัย กล่าวว่า คาดว่า ปีนี้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจจะเจอน้ำท่วมอีกครั้งแน่นอน แต่คงไม่รุนแรงเหมือนช่วงปลายปี 2553 เนื่องจาก เพราะช่วงนั้นได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชั่นที่พัดเข้าฝั่งจังหวัดสงขลา แต่ปีนี้โอกาสที่ภาคใต้จะเจอพายุอีกหรือไม่ยังคาดการณ์ไม่ได้เช่นกัน

“การก่อตัวของพายุในบริเวณภาคใต้ของไทย ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยมากนัก จึงคาดว่าคงจะไม่เจอพายุลูกใหญ่ขนาดปีที่แล้ว แต่ยังไงก็ต้องเตรียมรับมือไว้ก่อน” นายวันชัย กล่าว

นายวันชัย กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านไม่ควรประมาท ต้องมีการเตรียมการตลอดเวลา เพราะความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศในปีนี้ไม่แน่นอน ต้องติดตามรับฟังข่าวสารสภาพอากาศในแต่ละวัน โดยเฉพาะช่วงที่เป็นฤดูฝนของภาคใต้ ที่กำลังจะมาถึงในปลายเดือนตุลาคมนี้

นายวันชัย กล่าวว่า ปีนี้พื้นที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส คงไม่เจอน้ำท่วมหนักเหมือนภาคกลางและภาคเหนือของไทย โดยเหตุการณ์น้ำท่วมภาคกลาง เกิดจากน้ำจากภาคเหนือไหลลงมายังภาคกลาง แต่ทางภาคใต้น้ำจะไหลลงทะเลทันที จึงท่วมไม่นานเหมือนภาคกลางและภาคเหนือ

นายวันชัย กล่าวอีกว่า แม้ยังคาดการณ์ปริมาณฝนไม่ได้ แต่ก็ต้องเตรียมตัวรับมือ ซึ่งชาวบ้านที่ประสบเหตุน้ำท่วมทุกปีจะทราบดีว่า ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง เช่น เตรียมข้าวสารอาหารแห้ง ขั้นแรกต้องจะเตรียมการด้วยตัวเองก่อนจะดีที่สุด ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐมาถึง ส่วนชาวประมงต้องระวังคลื่นลมที่แรงขึ้นด้วย

            นายวันชัย เปิดเผยต่อว่า สามารถติดตามข้อมูลสภาพอากาศของประเทศไทยได้ที่เว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th ซึ่งจะรายงานความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทุก 6 ชั่วโมง นอกจากนี้ศูนย์อุตอนิยมวิทยาได้ส่งข่าวสารสภาพอากาศให้สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดทุกจังหวัด เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบเป็นระยุอยู่แล้ว

นายภานุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า โดยปกติพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ น้ำจะท่วมในช่วงเดือนพฤศจิกายน –ธันวาคมของทุกปี แต่ตอนนี้ทั้ง 33 อำเภอของจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาสยังปกติอยู่ อย่างไรก็ตาม ศอ.บต.เองก็มี มาตรการรองรับน้ำท่วมไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยเฉพาะการเตรียมการระบายน้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้แล้ว ทั้งการขุกลอกคูคลอง เป็นต้น

นายภานุ กล่าวว่า ประเมินว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปีนี้ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เนื่องจาก ปริมาณน้ำฝนขณะนี้มีไม่มาก หรือถ้ามีฝนตกเพิ่มขึ้นอีก ก็น่าจะเตรียมรองรับได้ แต่คิดว่า สถานการณ์น้ำท่วมไม่น่าจะหนักเหมือนปีที่แล้ว

 

ศอ.บต.ส่งน้ำดื่มโครงการพนม.ช่วย

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 12 ตุลาคม 2554 ที่หน้าอาคารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อำเภอเมือง จังหวัดยะลา บรรดาเจ้าหน้าที่ได้ช่วยกันนำน้ำดื่มบรรจุขวดทยอยนำขึ้นบนรถบรรทุก 6 ล้อ จำนวน 10,000 ขวด จากโรงผลิตน้ำดื่มในโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนระดับหมู่บ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พนม.) เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ที่ประสบอุทกภัยที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้ ยังมีอีเอ็มบอล(ลูกบอลจุลินทรีย์) ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าอีก 10,000 ลูก เพื่อนำไปมอบให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง เพื่อบำบัดน้ำเสียไม่ให้เกิดกลิ่นเหม็น

นายภานุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า น้ำขวดดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากคนกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่ศอ.บต. เคยให้การการสนับสนุนในนามกลุ่มราษฎรในเครือข่ายส่งเสริมอาชีพของ ศอ.บต.จำนวน 7 กลุ่มโดยจะนำไปมอบให้นายกรัฐมนตรีที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุถกภัย (ศปภ.) ที่สนามบินดอนเมืองใน วันเวลา 13.00 น. วันพรุ่งนี้

 

มุสลิมปัตตานีร่วมพันละหมาดขอพร

เวลา 12.30 น. วันที่ 12 ตุลาคม 2554  ที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี นายยะโก๊บ หร่ายมณี อีหม่ามมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เป็นผู้นำละหมาดฮายัต (ละหมายขอพรจากพระเจ้า) ขอให้พระองค์อัลเลาะห์พระผู้เป็นเจ้าประทานพรแก่ผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ของประเทศไทยให้ปลอดภัยและผ่านพ้นเหตุการณ์ร้ายโดยเร็ว

ในพิธีมีชาวมุสลิม ทั้งประชาชน นักเรียน นักศึกษาเข้าร่วมละหมาดเกือบ 1,000 คน จนล้นออกมาด้านนอกมัสยิด ผู้ที่เข้าร่วมละหมาดทุกคนต่างยกมือขอพรเพื่อขอให้พระผู้เป็นเจ้าประทานความปลอดภัยทั้งชีวิต และทรัพย์สิน และขอให้เหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ได้ผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว

 

ขอบริจาคของจำเป็นสำหรับมุสลิม

นายอิสมานดี เหมตระกูลวงศ์ ประธานชมชนมุสลิมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เปิดเผยว่า  ชมรมมุสลิมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ได้ร่วมช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคกลางที่อพยพเข้ามาอยู่อาศัยชั่วคราวภายในอาคารยิมเนเซียม 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิตAnchor ซึ่งผู้อพยพส่วนใหญ่ไม่สามารถนำของใช้จำเป็นติดตัวออกมาด้วย หลายคนมีเพียงเสื้อผ้าชุดเดียว รวมทั้งชาวมุสลิมที่นี่ด้วย

นายอิสมานดี เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประสบภัยชาวมุสลิมซึ่งขณะนี้มีอยู่ประมาณ 100 กว่าคน ต้องการสิ่งของที่จำเป็นสำหรับมุสลิม เช่น ผ้าปูละหมาด ผ้าโสร่ง อาหารสำเร็จรูปฮาลาล ฮิญาบแบบสวมสะดวกสำหรับผู้ใหญ่ แม้ว่ามีคนมาบริจาคครบตามจำนวนชาวมุสลิมที่มีอยู่ แต่คาดว่าจะผู้อพยพเข้ามาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงยังจำเป็นต้องขอรับบริจาคสิ่งของเหล่านั้นอยู่ เพื่อให้ชาวมุสลิมที่เข้ามาหลบภัย รวมทั้งเพื่อแจกจ่ายให้แก่ชาวมุสลิมที่ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่อื่นๆ

                   นายอิสมานดี เปิดเผยว่า หากมีผู้ต้องการบริจาคสิ่งของจำเป็นสำหรับมุสลิม สามารถบริจาคโดยตรงได้ที่ ห้องละหมาด ณ ศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยน้ำท่วม อาคารยิมเนเซียม 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต และสามารถร่วมบริจาคเป็นเงินโดยโอนผ่านทางบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาย่อย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เลขที่บัญชี 4750199869 ชื่อบัญชี นายอิสมานดี เหมตระกูลวงศ์ แจ้งผลภายหลังการโอน 083-1909572