Skip to main content

ยารีนา กาสอ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

 

เมื่อเวลา 13.00–16.00 น. วันที่ 28 กันยายน 2554 ที่ห้องประชุมคณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสโมสรมิตรภาพวัฒนธรรมสากล กองทุนวรรณกรรมไทย–มลายู โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้จัดสัมมนา “ร่องรอยกาลเวลา: อ่าวปัตตานี ร้อยมาลัยใส่เสียงวรรณกรรม”

ในการสัมมนาครั้งนี้ มีการจัดเสวนาเรื่อง “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น–ประวัติศาสตร์ชาติ” โดยมีผศ.ดร.ทวีศักดิ์ เผือกสม สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นายทองแถม นาถจำนง บรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน เป็นผู้นำเสวนา

ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวนำเสวนาว่า ภาษามลายูไม่จำเป็นต้องผูกกับชาติพันธุ์มลายูเพียงอย่างเดียว เพราะภาษากับความเป็นชาติอ ไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยกัน เรื่องคำนิยามความเป็นมลายูไม่ใช่ปัญหาใหม่ หากแต่เป็นปัญหาที่ปัญญาชนในโลกมลายูเอง พยายามหาคำตอบมานานแล้ว ปมสำคัญในความเป็นมลายูของปาตานีคือ กรณีคนจีนและศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่เป็นปมหนึ่งของความขัดแย้งในปัจจุบัน ทำให้เกิดเรื่องเล่าที่แตกต่างกันทางประวัติศาสตร์ ที่ต่อสู้กันอย่างรุนแรง ปมความขัดแย้งเรื่องเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เกิดจากขาดความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ ทำให้หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องเล่าที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวของรัฐไทยเท่านั้น

ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า ประเด็นเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวควรถูกจัดวางความเข้าใจใหม่ เกี่ยวกับบทบาทและความสัมพันธ์ระหว่างชาวจีนกับชาวมลายูมุสลิม ซึ่งจะลดความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างคนสองกลุ่มในปัจจุบัน ซึ่งเกิดจากการอธิบายและทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ โดยไม่เข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์ ทำให้คนจีนถูกมองว่าเป็ปัญหา แทนที่จะเป็นพลังหรือพลวัตแห่งความหลากหลายของความเป็นมลายูปาตานี

นายทองแถม นาถจำนง บรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน กล่าวในเวทีเสวนาว่า ประวัติศาสตร์ในประเทศไทยไม่ถูกนับให้เป็นวิชาการอย่างแท้จริง เนื่องจากคนที่มีอำนาจกีดกันการเผยแพร่ประวัติศาสตร์ จนกระทั่งหนังสือบางเล่มถูกห้ามเผยแพร่ ส่งผลทำให้นักวิชาการไม่กล้าพูดถึงประวัติศาสตร์ เพราะอาจจะถูกโยงไปถึงเรื่องความมั่นคง ถึงแม้ข้อมูลจะมาจากการค้นคว้าทางวิชาการแท้ๆ ก็ตาม

นายทองแถม กล่าวต่อไปว่า คนไทยถูกทำให้ขัดแย้งกันเอง เกิดความเคียดแค้นสืบทอดต่อกันมา ประวัติศาสตร์เป็นตัวปลุกระดม วิชาประวัติศาสตร์สมัยใหม่เกิดขึ้นในยุคที่รัฐมีพรมแดน ปัจจุบันคนส่วนใหญ่มุ่งเน้นศึกษาประวัติศาสตร์อาณาจักรมากกว่า ส่งผลให้มนุษย์ถูกกรอบของพรมแดน เข้ามากำหนดมิติทางด้านการศึกษา จนทำให้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นถูกกลืนหายไป กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงบทบาทของศูนย์กลางอำนาจ ไม่มีเรื่องของสามัญชน เห็นได้ชัดจากการอ่านประวัติศาสตร์มาตรฐานของราชการว่า ละเลยบทบาทสามัญชน

 

ทวีศักดิ์ เผือกสม

ทวีศักดิ์ เผือกสม