Skip to main content

นูรยา เก็บบุญเกิด โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

นายมาหะมะพีสกรี วาแม หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า เมื่อเดือนกันยายน 2554 เจ้าหน้าที่ของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนราธิวาส ได้มีการซักซ้อมการรับมือกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งน้ำท่วม พายุและดินถล่มแล้ว เพื่อรับเตรียมรับมือกับภัยพิบัติธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้น

นายมาหะมะพีสกรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2554 ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส สั่งให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มจังหวัดนราธิวาส เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบูรณาการร่วมกันของทุกหน่วยงาน ทั้งจากที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รวมถึงภาคเอกชนหรือมูลนิธิต่างๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำการอยู่ที่ว่าการอำเภอทุกแห่งในจังหวัดนราธิวาสตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งศูนย์ดังกล่าวมีนายอำเภอเป็นผู้อำนวยการศูนย์

นายมาหะมะพีสกรี เปิดเผยว่า สำหรับพื้นที่จังหวัดนราธิวาสนั้นอยู่ติดทะเล และหากเกิดน้ำท่วม ปริมาณน้ำจะไม่มีผลกระทบต่อการเกษตรอย่างแน่นอน เพราะน้ำจะไหลลงสู่ทะเล ซึ่งทำให้ไม่มีน้ำขังนานเหมือนภาคกลาง

นายมาหะมะพีสกรี เปิดเผยว่า นอกจากนี้กรมชลประทานได้ขุดลอกคลองและคูน้ำ เพื่อเป็นช่องทางที่ทำให้ระบายน้ำได้มากขึ้น ทั้งยังมีระบบการเตือนภัยที่ดี เช่น หากมีฝนตกบริเวณพื้นที่อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส จะมีการประเมินปริมาณน้ำว่าจะไหลเข้าอำเภอสุไหงโก-ลก ซึ่งเป็นอำเภอที่ติดกันต่อไปหรือไม่

นายมาหะมะพีสกรี เปิดเผยว่า อย่างไรก็ตามเมื่อปี 2553 ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสได้ริเริ่มโครงการทำฝายแม้วขึ้น โดยกระจายไปทุกลำธาร ในจังหวัดนราธิวาส งบประมาณ 20,000 บาทต่อฝาย เนื่องจากทำได้ง่าย แต่สามารถช่วยชะลอน้ำได้เป็นอย่างดี

นายธนน เวชกรกานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม เปิดเผยว่า จังหวัดนราธิวาสเริ่มเปิดศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ประจำปี 2554 แล้วตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนราธิวาส ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส และที่ว่าการอำเภอทั้ง 13 อำเภอ

นายธนน กล่าวว่า ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม รวมถึงการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบอุทกภัยให้ทันต่อเหตุการณ์ อีกทั้งเพื่อให้การดำเนินการฟื้นฟูสิ่งสาธารณประโยชน์ที่ชำรุดเสียหายให้คืนสู่สภาพเดิมโดยเร็ว

นายธนน เปิดเผยด้วยว่า ในวันที่ 19 ตุลาคม 2554 จังหวัดนราธิวาสจะจัดงานวันรับบริจาคเงิน “รวมใจชาวนรา ซับน้ำตาผู้ประสบอุทกภัย” ตั้งแต่เวลา 13.00 น. ณ ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส ถนนศูนย์ราชการ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส จึงขอเชิญชวนข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้าง ตลอดจน ประชาชนที่มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ตามวันเวลาและสถานที่ดังกล่าว

ขณะที่สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดยะลา แจ้งว่า จังหวัดยะลา ขอเชิญร่วมบริจาคทรัพย์ สิ่งของ เครื่องอุปโภคบริโภค ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ได้ที่ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดยะลา โทร 073-213006 วิทยาลัยเทคนิคยะลา 0733213404 สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยะลา 073203560-4 เทศบาลนครยะลา 073212345 และที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอในจังหวัดยะลา หรือโอนเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขายะลา บัญชีออมทรัพย์ ชื่อ จังหวัดยะลาเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ เลขที่บัญชี 909-0-42720-1