มูฮำหมัด ดือราแม สำนักข่าวประชาไท
อารีด้า สาเม๊าะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้(DSJ)
“เจ้าหน้าที่อธิบายว่า แนวร่วมก่อความไม่สงบที่ถูกจับตัวได้ ส่วนหนึ่งเป็นศิษย์เก่าของเรา ผมก็ยอมรับว่าจริง แต่พวกเขาก็อยู่ในฐานะศิษย์เก่า”
อาหะมะรูยามี มูยุ เจ้าของโรงเรียนมะอาหัดอิสลามียะห์ คือเจ้าของประโยคข้างต้น
อาหะมะรูยามี เป็นครูสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งคนในพื้นที่จะคุ้นเคยกับการเรียก “มูเดร์บาลอ” มากกว่า ในวัย 63 ปี มีประสบการณ์ด้านการสอนวิชาศาสนาอิสลามมากว่า 20 ปี สืบทอดตำแหน่งเจ้าของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแห่งนี้จากบิดา
โรงเรียนมะอาหัดอิสลามียะห์ ที่ชาวบ้านรู้จักในชื่อ “ปอเนาะบาลอ” ตั้งอยู่หน้าสถานีรถไฟบาลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลาแห่งนี้ ถูกฝ่ายรัฐมองด้วยสายตาหวาดระแวงสงสัยมาตลอด บวกกับคำร่ำลือว่าเป็น “โรงงานผลิตแนวร่วมก่อความไม่สงบ”
อาหะมะรูยามี มูยุ
อุสตาซที่นี่ถูกยิงตาย 6 คน
อาหะมะรูยามี เล่าว่า ปอเนาะบาลอตกอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ที่สุดราวปี 2550 – 2552 เริ่มจากปรากฏข่าวว่า ผู้ก่อเหตุไม่สงบหลายคนเป็นศิษย์เก่าของปอเนาะบาลอ และในช่วง 2 ปีนั่นเองที่มีอุสตาซ (ครูสอนศาสนาอิสลาม) ของที่นี่ถูกยิงตายไป 6 คน ทำให้ทั้งอุสตาซและนักเรียนที่เหลืออยู่ ต้องอยู่อย่างหวาดผวา
ในขณะที่อุสตาซอีก 2 -3 คน หายตัวไป ไม่ยอมกลับมาสอนหนังสือตามปกติ ยังไม่รวมอุสตาซอีกหลายคนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเชิญตัวไปสอบสวนหลายครั้ง แต่ยังไม่ใครถูกดำเนินคดี
มีครั้งหนึ่งที่คนร้ายใช้อาวุธปืนเอ็ม-16 ยิงถล่มฆ่านายอับดุลเราะมาน สะมะ อายุ 60 ปี อุสตาซปอเนาะบาลอและเป็นกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา เสียชีวิตคารถกระบะเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2550 ทำให้ในวันต่อมานักเรียนปอเนาะบาลอทั้งชายหญิงกว่า 1,500 คน ชุมนุมประท้วงร่วมกับชาวบ้านที่หน้ามัสยิดกลางประจำอำเภอรามัน ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปรวมตัวกันที่หน้าสำนักงานเทศบาลตำบลกายูบอเกาะ อำเภอรามัน และกางเต็นท์ขวางถนน
จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมยื่นข้อเรียกร้อง 8 ข้อ ผ่านนายธานี หะยีสาและ ปลัดอำเภออาวุโส รักษาการนายอำเภอรามัน เช่น รัฐบาลต้องไม่อคติและกลั่นแกล้งประชาชนมุสลิมอีก รัฐบาลต้องไม่จับตัวผู้บริสุทธิ์อีก รัฐบาลต้องถอนกำลังทหารและหน่วยล่าสังหารออกจากพื้นที่ให้หมด รัฐบาลต้องประกาศยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นต้น กระทั่งเวลา 14.00 น. จึงสลายการชุมนุม
ทว่า เหตุการณ์ที่ส่งผลสะเทือนต่อปอเนาะบาลอมากที่สุด เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งอาหามะมะรูยามี บอกว่า เป็นเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับปอเนาะบาลอมากที่สุด เพราะเกิดขึ้นภายในปอเนาะบาลอเอง
ย้อนกลับไปเมื่อกลางดึกคืนวันที่ 1 เมษายน 2554 ชายฉกรรจ์ 10 คน แต่งกายคล้ายทหาร สวมหมวกแดง ตั้งด่านสกัดรถบนถนนสายจ๊ะกว๊ะ – รือเสาะ เรียกตรวจรถกระบะโตโยต้า วีโก้คันหนึ่ง หมายเลขทะเบียน ผข – 3510 สงขลา มีนายพิชัย ติ้นสั้น พ่อค้าขายผักชาวอำเภอรือเสาะเป็นคนขับ มีภรรยานั่งโดยสารมาด้วย
ทว่า ทั้ง 2 คนถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ทำร้ายจนบาดเจ็บ แล้วยึดรถคันนั้นไป พร้อมปล้นเงินสดกว่า 120,000 บาท
หลักฐานชิ้นสำคัญที่เจ้าหน้าที่ใช้ตัดสินใจเข้าตรวจค้นปอเนาะบาลอในเวลาต่อมาคือ ภาพจากโทรทัศน์วงจรปิดที่ชี้ให้เห็นชัดว่า รถกระบะคันนั้น มีคนขับเลี้ยวเข้าไปในโรงเรียนแล้วขับรถออกไปในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น ทิ้งหลักฐานซึ่งเป็นเอกสารคู่มือรถและอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง โดยมีร่องรอยถูกเผาทำลาย
อาหะมะรูยามี เล่าว่า ตอนนั้น พวกนักเรียนเห็นว่ามีรถเข้ามาในปอเนาะ แต่ไม่มีใครรู้ว่าเป็นรถใคร แล้วก็ไม่ได้สนใจมาก เพราะปกติมีรถยนต์เข้าออกปกติ ประตูปอเนาะไม่ได้ปิด
เหตุการณ์นี้ยิ่งทำให้ฝ่ายรัฐมองปอเนาะบาลอด้วยความหวาดระแวงยิ่งขึ้น จนนำมาสู่การจับเขาคุยกันของนายทหารจำนวนหนึ่งที่มีพล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 รวมอยู่ด้วย กับกลุ่มอุสตาซและผู้บริหารของปอเนาะบาลอจำนวนหนึ่งที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี
ความผิดของปอเนาะบาลอครั้งนี้ช่างร้ายแรงนัก อาจถึงขึ้นต้องปิดปอเนาะ แต่พล.ท.อุดมชัย ไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น เพราะอาจส่งผลไปถึงมวลชน แน่นอนว่าฝ่ายปอเนาะคงไม่ต้องการให้ปิดเช่นกัน
วันที่ 27 เมษายน 2554 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าได้เชิญบุคลากรของปอเนาะบาลอเกือบ 40 คน กับนักการเมืองท้องถิ่นและผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่อีกจำนวนหนึ่ง เดินทางไปร่วมเสวนา “เปิดใจสร้างสันติสุข โรงเรียนมะอาหัดอิสลามียะห์” ถึงที่โรงแรมไดอิชิ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
เป็นวงเสวนาที่เริ่มต้นด้วยวลีเด็ด “อดีตไม่สำคัญ วันนี้ฉันรักเธอ” ที่ออกมาจากปากของ พ.ท.อิศรา จันทะกระยอม เมื่อคราวเป็นผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา 12 รับผิดชอบพื้นที่อำเภอรามัน พร้อมกับแง้มรายชื่อบุคคลอันเป็นผลผลิตของปอเนาะบาลอ ก่อนที่จะให้แต่ละคนเปิดอกคุย
อาหะมะรูยามี เล่าว่า ตั้งแต่ปี 2548 จนปัจจุบัน มีเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะทหารมาตรวจเยี่ยมปอเนาะบาลอตลอด เคยถูกเจ้าหน้าที่ตรวจค้นครั้งใหญ่ก็คือหลังจากคนร้ายนำรถกระบะที่ปล้นเข้ามาในบริเวณปอเนาะ แต่ยังไม่เคยถูกปิดล้อม ส่วนการเข้ามาในช่วงหลังๆ มักเป็นการมาแจกยาสามัญประจำบ้านให้เด็กปอเนาะ
จำนวนนักเรียนลดลงเกินครึ่ง
อาหะมะรูยามี เล่าด้วยว่า ก่อนปี 2547 ปอเนาะบาลอมีนักเรียนประมาณ 2,000 คน ครั้นอีกประมาณ 3 ปี ต่อมา เมื่อเหตุการณ์ยิ่งรุนแรงขึ้น ผู้ปกครองเริ่มย้ายเด็กไปเรียนที่อื่นหรือไม่ก็ไม่ส่งเด็กมาอีกเลย เดิมมีเด็กจากภาคใต้ตอนบนมาเรียนที่นี่มากถึง 40 คน เพราะพ่อแม่ต้องการให้ได้เรียนศาสนาควบคู่กับสามัญ แต่ตอนนี้เหลือเด็กกระบี่แค่คนเดียว
ปัจจุบันทั้งโรงเรียนมีนักเรียน 900 คน มีเด็กที่พักประจำที่ “ปอเนาะ” หรือที่พักลักษณะเหมือนกระท่อมในบริเวณโรงเรียนลดลงจาก 600 คน เหลือ 200 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง นักเรียนที่เหลือเรียนไป - กลับ ซึ่งอาหะมะรูยามี บอกว่า เพราะนักเรียนรุ่นหลังๆ นิยมเดินทางไปกลับมากกว่าจะอยู่ประจำ
“แม้จำนวนจะนักเรียนลดลงไปเกินครึ่ง แต่จำนวนอุสตาซก็ลดลงด้วยเช่นกัน แม้ไม่มีใครขอลาออก (ลดลงเพราะถูกยิงตายหรือไม่ก็หลบหนีไป) ทำให้จำนวนอุสตาซกับจำนวนนักเรียนสัมพันธ์ลงตัวพอดี” อาหะมะรูยามี ระบุ
มาตรการที่เข้างวด
อาหะมะรูยามี เล่าว่า หลังต้องประสบกับช่วงเวลาที่เลวร้ายมาหลายครั้ง ทางโรงเรียนจึงพยายามออกมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันมิให้โรงเรียนตกอยู่ในความระแวงสงสัยอีกต่อไป รวมทั้งป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับนักเรียน โดยเฉพาะการเข้มงวดกับนักเรียนชายมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น การออกคำสั่งห้ามนักเรียนชายเข้าไปอุดหนุนร้านอาหารด้านข้างโรงเรียน เนื่องจากที่ผ่านมามักมีนักเรียนชายชอบไปรวมกลุ่มกัน โดยทางโรงเรียนไม่ทราบว่าไปทำอะไรบ้างและมีคนนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่
ส่วนที่สำคัญคือ พยายามสอดส่องว่ามีศิษย์เก่าของโรงเรียนมาเกี่ยวข้องกับนักเรียนหรือไม่ การไปมาหาสู่ของศิษย์เก่าภายในบริเวณโรงเรียนต้องระวังมากขึ้น ซึ่งไม่มีธุระจำเป็นจริงๆ ทางโรงเรียนจะไม่อนุญาตให้ศิษย์เก่าเข้ามานั่งเล่น นอนเล่นในบริเวณโรงเรียนโดยไม่จำเป็น
“กลางคืนต้องปิดประตูรั้วโรงเรียน ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่เปิดประตูทิ้งไว้ เพราะไม่เคยมีเรื่องร้ายอะไร จึงไม่ทราบว่ามีใครเข้ามาในเวลากลางคืนบ้าง แต่ตอนนี้ก็ต้องปิดไว้เพื่อเป็นการป้องกันอันตาย”
ฟ้าหลังฝนของปอเนาะบาลอ
ในช่วงสองปีให้หลังสุด ทุกอย่างเริ่มกลับมาดีขึ้น มีนักเรียนที่เรียนศาสนาควบคู่กับสามัญเพิ่มขึ้น จากเดิมที่จะมีนักเรียนที่เรียนชั้นศาสนาอย่างเดียวจำนวนมากพอสมควร จำนวนนักเรียนก็เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังเพียงพอกับจำนวนอุสตาซและครูสอนวิชาสามัญ ยังไม่ต้องจ้างเพิ่ม
เมื่อผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปแล้ว ครูผู้สอนต่างก็มีกำลังใจและมีความพยายามในการสอนมากขึ้น ดูเหมือนว่า ช่วงนี้ทุกคนพยายามตื่นขึ้น สอนดีขึ้น พยายามเร่งยกระดับมาตรฐานของตัวเองขึ้นมา หลังจากที่ต้องห่อเหี่ยวสิ้นหวังมาช่วงหนึ่ง ทุกคนมีความอยากที่จะสอนนักเรียนอย่างเต็มที่ หลังจากที่ไม่สามารถแสดงบทบาทครูได้เต็มที่มากนัก เพราะมัวแต่หวาดระแวง
โรงเรียนพยายามประชาสัมพันธ์และสร้างความตระหนักถึงอนาคตของนักเรียนให้มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา นักเรียนที่นี่ไม่ค่อยเลือกเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาในประเทศ แต่เลือกเรียนต่อในสายวิชาศาสนามากกว่า
อาจจะด้วยเหตุนี้ก็ได้ ที่ทำให้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีนักเรียนจากที่นี่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศได้มากขึ้น ดูอย่างที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีซิ มีเป็นสิบๆ ก็เกิดจากการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ของครูและโรงเรียน
“โชคดีที่ในช่วงที่โรงเรียนเจอเผชิญวิกฤติ บุคคลากรหลายคนก็ยังยืนยันที่จะอยู่ที่นี่ต่อไป” คือคำทิ้งท้ายของอาหะมะรูยามี มูยุ
พ.ท.อิศรา จันทะกระยอม
"ความคลุมเครือที่ปอเนาะบาลอจบลงแล้ว"
“ผู้ใหญ่ข้างบนจะสั่งปิดปอเนาะบาลอ ยังไงก็ต้องปิด ผมก็โดนกดดันมาอีกที” คือคำเปิดเผย พ.ท.อิศรา จันทะกระยอม ปัจจุบันเป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 152 กองพลทหารราบที่ 15
พ.ท.อิศรา เปิดเผยข้อมูลว่า ปอเนาะบาลอ ถูกฝ่ายความมั่นคงของรัฐจับตามองตั้งแต่ปี 2548 เนื่องจากมีข้อมูลว่าครูสอนศาสนาบางส่วน เผยแพร่แนวคิดกู้เอกราชรัฐปัตตานีแก่นักเรียน และมีผลผลิตจากปอเนาะบาลอที่มีหมายจับหลายคน ซึ่งเป็นเหตุให้ยิ่งสงสัยว่า ปอเนาะน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องเป็นแหล่งเผยแพร่แนวคิดของขบวนการก่อความไม่สงบ
“ผมก็เรียนมูเดร์ตรงๆ ว่า ผู้ใหญ่จะสั่งปิดโรงเรียนนี้ แต่ผมใช้วิธีการสร้างความเข้าใจระหว่างโรงเรียนกับทหาร ซึ่งทางโรงเรียนก็ยอมรับว่าที่ผ่านมามีขบวนการก่อความไม่สงบมาใช้พื้นที่โรงเรียนจริง”
“การสั่งปิดโรงเรียนเป็นเรื่องใหญ่ นอกจากไม่แก้ปัญหาแล้ว ยังสร้างความรู้สึกไม่ดีแก่ชาวบ้านที่ทราบข่าวด้วย จะยิ่งเป็นการสร้างเงื่อนไข สิ่งที่ต้องทำตอนนี้ คือเลี่ยงการสร้างเงื่อนไขต่างๆ ที่นำไปสู่ปัญหาจากทั้งสองฝ่าย”
“ข้อมูลจากวงเสวนาครั้งนั้น ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าใจคนในปอเนาะบาลอมากขึ้นว่า มีแรงกดดันบางอย่างที่ทำให้พวกเขาต้องเข้าไปเกี่ยวพันในขบวนการ บางคนบอกว่าเป็นแฟชั่น ถ้าไม่เข้าร่วมขบวนการแล้วจะเชย ซึ่งทำให้เห็นว่าปัญหาอยู่ที่ตัวบุคคล”
“ปอเนาะเป็นเพียงอาคาร สถานที่ ไม่ได้มีความผิดอะไร แต่ถ้ามีคนที่คิดไม่ดีอยู่ที่นั้น ก็ต้องว่ากันที่ตัวคน ตราบใดที่ผมยังอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมจะไม่ยอมให้โรงเรียนบาลอถูกปิดแน่นอน”
พ.ท.อิศรา ระบุว่า ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างปอเนาะบาลอกับและทหารดีขึ้นมาก หลังจากได้เปิดอกคุยกัน ทางโรงเรียนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่วนฝ่ายทหารก็ได้เข้าไปทำกิจกรรมกับปอเนาะบาลอมากขึ้น
“โดยส่วนตัว ผมมองว่า ขบวนการมีข้อดีที่สามารถดึงเยาวชนให้เลิกยาเสพติดได้ เพราะต้องทำด้วยอุดมการณ์ที่บริสุทธิ์ แต่สิ่งที่ไม่ดีคือการให้เยาวชนจับอาวุธ แล้วจะถอนตัวออกมาไม่ได้ เป็นการตัดอนาคตเด็ก”
“ทุกอย่างที่ปอเนาะบาลอเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ความคลุมเครือจบลงแล้วหลังการเสวนาที่หาดใหญ่ อุสตาซที่ยังมีชื่อในบัญชีของเจ้าหน้าที่ก็มีการสารภาพมาตรงๆ แล้ว และสัญญาว่าจะไม่กลับไปเข้าขบวนการอีก ปอเนาะก็ให้ความร่วมมือดี ทุกอย่างจบลงด้วยดี” พ.ท.อิศรา จันทะกระยอม กล่าวทิ้งท้าย