มูฮำหมัด ดือราแม สำนักข่าวประชาไท
ฮัสซัน โตะดง, อารีด้า สาเม๊าะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
ในที่สุด การเปลี่ยนตัวเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ก็เกิดขึ้นในห้องประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2554 ที่สนามบินดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ท่ามกลางมวลน้ำมหาศาลที่กำลังจ่อท่วมเมืองหลวงของไทย
เป็นมติคณะรัฐมนตรีที่ให้โยกย้ายนายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปนั่งเก้าอี้ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี แล้วแต่งตั้ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ดำรงตำแหน่งเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้แทน มีผลตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2554
เป็นการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารสูงสุดครั้งแรกของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในตำแหน่งเลขาธิการ ตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553
ภาณุ อุทัยรัตน์
ภาพจาก http://www.prachachat.net/view_news.php?newsid=02pol02141252§ionid=0202&day=2009-12-14
หากย้อนดูประวัติของนายภาณุ อุทัยรัตน์ จะพบว่า นอกจากเป็นคนปัตตานีโดยกำเนิดแล้ว ส่วนใหญ่ยังรับราชการวนเวียนอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ภาณุ อุทัยรัตน์ เกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499 ที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และระดับปริญญาโท สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ภาณุ อุทัยรัตน์ เริ่มรับราชการครั้งแรกในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส โดยเป็นปลัดอำเภอประจำอำเภอระแงะ ปลัดอำเภอแว้ง จ่าจังหวัดนราธิวาส เป็นปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายบริหารงานปกครอง (ปลัดอาวุโส) อำเภอเจาะไอร้อง
จากนั้นขยับเป็นนายอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส และนายอำเภอเมืองสงขลา
ต่อมาได้โอนมาสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าสำนักงานจังหวัดสงขลา
ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง เป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคง (ระดับ 10) และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี
จากนั้นย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ในช่วงสั้นๆ กระทั่งในปี พ.ศ.2552 ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ควบตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
ต่อมาในปี พ.ศ.2554 เมื่อพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2554 โดยยกฐานะศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นนิติบุคคล อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี และนายภาณุ อุทัยรัตน์ เป็นรักษาการเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
ผ่านไปเกือบ 3 เดือน ภาณุ อุทัยรัตน์ จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้จากคณะรัฐมนตรีในวันที่ 4 เมษายน 2554
ภาณุ อุทัยรัตน์ ได้นั่งทำงานในตำแหน่งเลขาธิการฯ ได้เพียง 6 เดือนเศษ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติโยกไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดทางให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้แทน
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง
ภาพจาก http://www.thairath.co.th
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นไปตามข่าวที่ปรากฏออกมาเป็นระยะก่อนหน้านี้
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นชาวจังหวัดอ่างทอง เคยเป็นตำรวจสืบสวนมือดีของกองปราบปราม เคยเป็นทีมสืบสวนคดีสำคัญๆ เช่น คดีแก๊งล็อคหวยของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือกองสลาก เมื่อปี 2544 ซึ่งนำมาสู่การพิพากษาลงโทษจำคุกผู้กระทำผิดในเครือกลม บางกรวย
เป็นทีมสืบสวนที่มี พ.ต.ท.ชัดชัย เลี่ยมสงวน ซึ่งต่อมาตกเป็นคำเลยคดีอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมทนายความมุสลิม ร่วมอยู่ด้วย
ล็อคหวย เป็นคดีที่เกิดขึ้นในยุคที่พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ เป็นผู้บังคับการกองปราบปราม และพล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการกองสลากด้วย
ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี พ.ต.อ.ทวี ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม และมีบทบาทเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีสำคัญหลายคดี อาทิ คดีเช่าตึกทีพีไอทาวเวอร์ คดีปั่นหุ้นปิคนิค คดีทุจริตขายสินทรัพย์ขององค์กรเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.)
หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกปฏิวัติยึดอำนาจ พ.ต.อ.ทวี ถูกย้ายไปเป็นรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส.
จนกระทั่งเมื่อนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ พี่ชายของพล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี จึงได้ถูกโยกย้ายกลับมารักษาการอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษอีกครั้งในที่สุด เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2551 พร้อมกับมีคำสั่งโยกย้ายนายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษไปช่วยราชการในตำแหน่งรักษาการเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.)
จากนั้น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำรงตำแหน่งนี้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2551 - 29 กันยายน 2552
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ถูกฝ่ายตรงข้ามระบุว่า เป็นคนของระบอบทักษิณ คอยช่วยเรื่องคดีความต่างๆ ที่อยู่ในมือของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษและโยงใยถึงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและเครือข่าย เช่น คดีอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร คดีหุ้นเอสซีเอสเสท คดีฆ่าตัดตอนในช่วงสงครามยาเสพติด ฯลฯ
กระทั่งวันที่ 29 กันยายน 2552 คณะรัฐมนตรีที่มีนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งย้ายพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ไปดำรงเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม และแต่งตั้งนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอธิบดีกรมสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษแทน อันเป็นตำแหน่งล่าสุดก่อนที่จะเป็นเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
ทว่า หากการตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศบก.จชต. ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่เกิดขึ้นในเร็ววัน ตำแหน่งเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง นั่งอยู่ อาจไม่มีที่นั่งทำงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
เพราะภายใต้ศูนย์นี้ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะถูกโยกไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนกลาง มีเพียงระดับรองเลขาธิการเท่านั้นที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่เท่านั้น
ขณะที่เสียงจากคนในพื้นที่บางส่วน อย่างนายอับดุลรอนิ กาหามะ สมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) ที่พูดถึงการเปลี่ยนเลขาธิการว่า หากยังรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมีประสิทธิภาพ