อารีด้า สาเม๊าะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถนการณ์ภาคใต้ (DSJ)
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แจ้งพบดีเอ็นเอหมูในแซนวิชไก่หย่องที่ปัตตานี กรรมการอิสลามบุกตรวจโรงงาน เจ้าของยันไม่ได้ตั้งใจ พร้อมสั่งเก็บและเลิกผลิต เตือนมุสลิมระวังของกินผสมสิ่งต้องห้าม เผยพบสินค้าปลอมฮาลาลอื้อ
ผสมหมู? – นายสาธร เชียรหยู เจ้าของโรงงานแซนวิซไก่หย่อง ยี่ห้อกุหลาบเบเกอรี่ ที่จังหวัดปัตตานี แสดงไกหย่องที่ซื้อมาจากตลาดเพื่อนำมาทำแซนวิซไก่หย่อง ซึ่งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตรวจพบสารพันธุกรรมของหมู่ในตัวอย่างแซนวิชไก่หยอง ตรากุหลาบ เบเกอรี่
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2554 สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ร่วมกับภาคประชาสังคม 10 องค์กรออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีแซนวิชไก่หยองตรากุหลาบเบเกอรี่ ซึ่งมีโรงงานผลิตที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดยะลา ปนเปื้อนสารพันธุกรรม หรือ ดีเอ็นเอ(DNA)หมู่
แถลงการณ์ระบุว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตรวจพบสารพันธุกรรมของหมู่ในตัวอย่างแซนวิชไก่หยอง ตรากุหลาบ เบเกอรี่ ดังนั้น เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2554 ฝ่ายกิจการฮาลาล สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ร่วมกับชมรมคุ้มครองผู้บริโภคด้านฮาลาเดินทางเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ สถานที่ผลิตเลขที่ 151 ถนนสิโรรส ซอย 6 ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
แถลงการณ์ระบุอีกว่า จากการพูดคุยกับนายสุรินทร์ แก้วหล้า เจ้าของกิจการ ได้ข้อสรุปหลักๆ ว่า ตัวอย่างที่พบสารพันธุกรรมหมู ผลิตที่โรงงานเลขที่ 79/79 ถนนยะรัง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โดยญาติที่ไม่ใช่มุสลิมเป็นผู้ดำเนินการ ภายใต้เครื่องหมายการค้าเดียวกัน และทางโรงงานไม่เคยขอใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาลสำหรับแซนวิชไก่หยอง แต่ใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาลของขนมปังปอนด์แทน
แถลงการณ์ระบุต่อไปว่า ฝ่ายกิจการฮาลาลและชมรมคุ้มครองผู้บริโภคด้านฮาลาล จึงขอให้เก็บขนมแซนวิชไก่หยองที่ผลิตที่บ้านเลขที่ 79/79 ถนนยะรัง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ออกจากตลาดให้หมดภายใน 17.00 น.ของวันที่ 17 ตุลาคม 2554 แต่เจ้าของกิจการอ้างว่า ไม่สามารถเก็บสินค้าได้เนื่องจากมีสัญญาซื้อขายกับร้ายเซเว่นอีเลเว่น แต่ได้แจ้งให้ญาติที่เป็นผู้ดูแลการผลิตหยุดใช้ไก่หยองเป็นส่วนผสมในแซนวิช และยินดีจะดำเนินการขอรับรองการใช้เครื่องหมายฮาลาลและแก้ไขฉลากสินค้าให้ถูกต้องโดยเร็ว
นายสาธร เชียรหยู เจ้าของโรงงานแซนวิซไก่หย่อง ยี่ห้อกุหลาบเบเกอรี่ เลขที่ 79/79 ถนนยะรัง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เปิดเผยเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2554 ว่า รู้สึกตกใจกับการตรวจพบสารพันธุกรรมหมูในผลิตภัณฑ์ของตน จึงได้สั่งลูกน้องให้ตามเก็บผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหาทั่วจังหวัดปัตตานีเรียบร้อยแล้ว และยกเลิกการผลิตแซนวิซไก่หย่องในวันรุ่งขึ้นหลังทราบข่าวทันที
นายสาธร เปิดเผยด้วยว่า ตนยอมรับความผิดพลาดในส่วนของฉลากสินค้าที่มีตราฮาลาล ซึ่งเป็นฉลากที่ใช้กับสินค้าที่ผลิตในโรงงานที่จังหวัดยะลา แต่กลับระบุที่อยู่บนซองสินค้าเป็นที่อยู่ของตน ส่วนตราฮาลาลที่ปรากฏบนซองแซนวิซไก่หย่องนั้น เป็นความผิดพลาดของตนที่แจ้งคนละหมายเลข ทั้งที่ได้ตราฮาลาลของตัวเองเรียบร้อยแล้ว
นายสาธร กล่าวว่า ตนได้ดำเนินการขอตราฮาลาลสำหรับแซนวิชไก่หย่องมาหนึ่งสัปดาห์แล้ว ซึ่งตอนแรกเข้าใจว่าโรงงานถูกตรวจสอบเพราะใช้ตราฮาลาลของสินค้าที่ยะลา แต่เมื่อทราบภายหลังว่า เป็นการพบสารพันธุกรรมหมู จึงคิดจะยกเลิกผลิตแซนวิชไก่หย่อง แต่จะผลิตแซนวิชแยมผลไม้แทน
นายสาธร ยืนยันว่า โรงงานของตนมีพนักงานมุสลิมทั้งหมด จ่ายค่าธรรมเนียมฮาลาลสำหรับขนมปังปอนด์ทุกปี ส่วนไก่หย่องที่ใช้ในแซนวิชนั้นสั่งซื้อมาจากตลาด ไม่ได้ผลิตเอง โดยกระบวนการผลิตทั้งหมด มีมุสลิมจัดการทั้งหมด
นายสาธร เปิดเผยว่า กุหลาบเบเกอรี่ เปิดกิจการมาประมาณ 30 ปีแล้ว เดิมขายแต่ขนมปังปอนด์ ส่วนแซนวิชไก่หย่องเพิ่งผลิตได้ปีกว่า ผลิตวันละประมาณ 20 -100 ชิ้น ส่งขายในร้านสะดวกซื้อในปัตตานีหรือตามลูกค้าสั่ง
นายสาธร กล่าวว่า ตนกังวลว่า ข่าวที่ออกไปจะทำให้คนเข้าใจว่า ตนผลิตหมูหย่องเป็นไส้แซนวิชแทนที่จะเป็นไก่หยอง ซึ่งจะส่งผลให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดไม่รับรองฮาลาลให้โรงงานตน
นายมาหะมะซักรี อูมา อายุ 30 ปี ลูกจ้างโรงงานแซนวิซไก่หย่อง กุหลาบเบเกอรี่ เปิดเผยว่า ตนเป็นคนซื้อไก่หย่องมาจากตลาดเอง โดยเลือกสินค้าที่มีตราฮาลาลเป็นหลัก ซึ่งมีหลายยี่ห้อ เช่น สหฟาร์ม ฮัสซันและฟารีดา เป็นต้น ไก่หย่องที่ซื้อมามีหมูหรือไม่ ตนไม่ทราบ เพราะซื้อจากตลาดไม่ได้ผลิตเอง
นางสาวนูรีซัน อาแซ อายุ 28 ปี พนักงานอีกคน เปิดเผยว่า ตนทำงานที่นี่มาสิบกว่าปี พนักงานที่นี่เป็นมุสลิมทั้งหมดและเป็นผู้ผลิตแซนวิชเอง ในแต่ละวันผลิตได้ไม่มาก จึงไม่ได้ใช้เครื่องจักร
“ถ้ารู้ว่าไก่หย่องมีสิ่งต้องห้ามผสมอยู่ ก็คงจะไม่ซื้อมาตั้งแต่แรก ดิฉันและเพื่อนร่วมงานก็รู้ดีว่า เป็นความผิดร้ายตามหลักการศาสนาอิสลาม” นางสาวนูรีซัน กล่าว
นายสมชาย กุลคีรีรัตนา ประธานชมรมคุ้มครองผู้บริโภคด้านฮาลาล เปิดเผยว่า การตรวจวิเคราะห์สินค้าว่าสารพันธุกรรมหมูหรือไม่นั้น ทางศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ใช้เทคนิค Real Time PCR ในการตรวจวิเคราะห์ สำหรับการตรวจไก่หย่องของแซนวิชไก่หย่อง ตรากุหลาบเบเกอรี่ มีการสุ่มตรวจ 3 ครั้ง ในเดือนกรกฎาคม สิงหาคมและตุลาคม 2554 โดยพบสารพันธุกรรมหมูในการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างถึง 2 ครั้ง
นายสมชาย เปิดเผยอีกว่า นายสุรินทร์ แก้วหล้าเจ้าของกิจการโรงงานกุหลาบเบเกอรี่ เป็นผู้ที่เพิ่งเข้ารับศาสนาอิสลาม หรือมุอัลลัฟ
นายสมชาย เปิดเผยด้วยว่า จากประสบการณ์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านฮาลาล พบว่า เนื้อหยองหรือไก่หยองส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่มีมุสลิมเป็นผู้ประกอบการ และมีหลายรายที่ไม่ได้ขอรับรองฮาลาลอย่างถูกต้อง มีการปลอมแปลงตราฮาลาลขึ้นมาเอง จึงขอให้ชาวมุสลิมพิจารณาอาหารที่จะบริโภคให้ถี่ถ้วน เนื่องจากปัจจุบันมีการปลอมแปลงตราฮาลาลมากขึ้น และมีการเจือปนสิ่งของต้องห้ามสำหรับมุสลิมในอาหารจำนวนมากเช่นกัน