Skip to main content
 
นูรยา เก็บบุญเกิด
ฮัสซัน โตะดง
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
 
โครงการศึกษาเอกสารประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้: ร้อยเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ปาตานี ได้ศึกษาค้นคว้าและรวบรวมเอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งในแหล่งค้นคว้าต่างๆ ไม่ว่าในกรุงเทพฯ จนออกนอกประเทศถึงมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งมีการรวบรวมรายชื่อพร้อมทั้งคำอธิบายเอกสารแต่ละชิ้นได้ส่วนหนึ่งแล้ว
 
ตั้งแต่ก่อนเที่ยงวันที่ 18 สิงหาคม 2554 ที่ใต้ถุนห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลรูสะมิแล ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี บรรดาผู้คนประมาณ 50 ชีวิต จากหลากหลายที่มาเดินทางมาร่วมกิจกรรม “โครงการศึกษาเอกสารประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนใต้: ร้อยเอกสารสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปาตานี” หรือ 100 Important Documents about Patani History Project อันเป็นโครงการที่จัดขึ้นโดยภาควิชาประวัติศาสตร์ แผนกวิชามลายูศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ร่วมกับหน่วยวิจัยภูมิภาคศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยการสนับสนุนของมูลนิธิเอเชีย (คลิกดูกำหนดการ)
 
งานในวันนั้น นอกจากจะนำเสนอเอกสารเกี่ยวประวัติศาสตร์ปัตตานี 100 ชิ้น ทั้งที่เป็นภาษามลายู ภาษาไทย และภาษาต่างประเทศแล้ว ยังมีการเสวนาในหัวข้อเดียวกับชื่อโครงการ จากผู้รู้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีแง่มุมที่น่าสนใจยิ่ง
 
....................................................................
 

 

อาหมัดอูมาร์ จะปะกียา

 

 
 
ดร.อาหมัดอูมาร์ จะปะเกีย
รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และกิจการพิเศษ
มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา
 
             สมัยก่อนการเรียนประวัติศาสตร์ปาตานี ต้องเรียนกันอย่างลับๆ แต่วันนี้เราสามารถพูดเรื่องประวัติศาสตร์ปาตานีเพื่อกำหนดทิศทางในอนาคตได้บ้างแล้ว ผมคิดว่าการพูดคุยเรื่องประวัติศาสตร์ ควรแยกจากการเมืองปัจจุบัน และไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนกระทบต่อจิตใจ จนกลายเป็นเรื่องที่พูดกันไม่ได้
 
ในช่วง 20–30 ปีที่ผ่านมา หลายคนไม่กล้าเขียนประวัติศาสตร์ปาตานี เพราะเกรงจะถูกเพ่งเล็ง ผมจึงชื่นชม “อ.บางนรา” ที่กล้าบุกเบิกเขียนออกมา ซึ่งเป็นก้าวย่างที่ดี เพราะเป็นการปลดแอกวัฒนธรรมความกลัวที่จะเขียนประวัติศาสตร์ปาตานี แต่ถึงอย่างไรยุคที่ อ.บางนรา ลุกขึ้นมาเขียนประวัติศาสตร์ปาตานี ก็ยังไม่สามารถใช้ชื่อจริงได้ เพราะการพูดประวัติศาสตร์ปาตานีสมัยนั้น เป็นเรื่องผิดกฎหมาย
 
อับดุลเลาะห์ ลออแมน หรือ อ.บางนรา เป็นคนแรกที่ลุกขึ้นมาเขียนประวัติศาสตร์ปาตานี และเป็นงานเขียนที่มีคนนำไปอ้างอิงจำนวนมาก มีผู้นำไปแปลจากภาษามลายูเป็นภาษาอื่นๆ จนกลายเป็นงานเขียนสำคัญทางประวัติศาสตร์
 
ผลจากงานเขียนของอับดุลเลาะห์ ลออแมน ทำให้คนรุ่นหลังกล้าที่จะออกมาเขียนประวัติศาสตร์ปัตตานีอย่างเปิดเผย สุดท้ายออกมาเป็นเรื่อง ปาตานี...ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู ของ พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม เป็นงานเขียนประวัติศาสตร์ปาตานีที่เปิดเผยและชัดเจนมาก รวมทั้งงานของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยอย่าง ศ.ดร.ครองชัย หัตถา
 
วันนี้วัฒนธรรมความกล้าที่จะเขียนประวัติศาสตร์ปาตานีได้กระจายออกไปแล้ว และเวทีนี้เป็นอีกเวทีปลดแอกวัฒนธรรมความกลัวที่จะเขียนประวัติศาสตร์ปาตานี งานนี้จะทำให้การเขียนประวัติศาสตร์ปาตานี เป็นวัฒนธรรมปกติธรรมดาของการเขียนและเรียนรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปาตานี
 
ผมคิดว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้ว อย่าเอาประวัติศาสตร์มาเป็นปัญหาอุปสรรคในการกำหนดทิศทางและการพัฒนาในอนาคต ประวัติศาสตร์ก็คือประวัติศาสตร์ เป็นบทเรียน จะต้องแยกแยะให้ได้ ประวัติศาสตร์เป็นความจริง เอกสารประวัติศาสตร์จึงสำคัญมาก การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในด้านวิชาการ ต้องแบ่งให้ชัดเจน ระหว่างประวัติศาสตร์กับการเมืองปัจจุบัน
 
ผลที่เกิดจากวัฒนธรรมความกลัวในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ปาตานี ทำให้ต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์กันอย่างลับๆ เพราะไม่สามารถเรียนรู้โดยเปิดเผยได้ วัฒนธรรมนี้ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ผู้ที่มีอำนาจก็ต้องมีท่าทีที่ชัดเจนต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ด้วย
 
เราต้องดูบทเรียนในประวัติศาสตร์ เพราะประวัติศาสตร์มีจุดอ่อน จุดแข็งในตัวมันเอง ความหมายของผมคือ ผู้มีอำนาจต้องดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านพ้นไปแล้ว อะไรเป็นจุดแข็งที่จะนำมาพัฒนาต่อ และอะไรเป็นจุดอ่อนที่จะต้องลบเลือน สิ่งที่มันเกิดขึ้นแล้วในประวัติศาสตร์ สิ่งที่เคยผิดพลาดในประวัติศาสตร์ กลายเป็นอคติเป็นความไม่พอใจ นี่คือความผิดพลาดทางนโยบายในสมัยนั้น ที่ส่งผลสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
 
สมัยปรีดี พนมยงค์ เขานำประชาธิปไตยมาเป็นตัวตั้ง ทำอะไรก็ปรึกษาหารือกับผู้นำใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการกำหนดทิศทางอนาคตร่วมกัน
 
สมัยนั้นมีเรื่องเกี่ยวข้องกับกฎหมาย ปี ค.ศ.1945 มีกฎหมายอิสลาม กำหนดให้มีจุฬาราชมนตรี คณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ผู้นำมุสลิมสมัยนั้นคือ นายหะยีสุหลง โต๊ะมีนาตอบรับ และได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีเป็นคนแรก สุดท้ายจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ก็ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของพื้นที่นี้ นี่เป็นตัวอย่างที่เป็นจุดแข็งของประวัติศาสตร์
 
สมัยนั้น การเมืองในภูมิภาคนี้ อยู่ในภาวะย่ำแย่ ประเทศอินโดนีเซียประกาศเอกราชในปี ค.ศ. 1947 และประเทศมาเลเซียประกาศเอกราชตามมา แต่คนมลายูในปัตตานี ยะลา นราธิวาส กลับยอมรับกฎหมาย ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางของที่นี่ นี่เป็นตัวอย่าง
 
ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล คนที่เป็นรัฐบาลมาจากทหารคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มองเป็นเรื่องไม่ดี กลับมองเป็นด้านลบ จนหะยีสุหลง โต๊ะมีนา ซึ่งยื่นข้อเรียกร้อง 7 ประการต่อรัฐบาล ถูกจับและถูกฆ่า
 
การฆ่าหะยีสุหลง โต๊ะมีนา ส่งผลไม่ดีทางการเมือง เพราะหลังจากนั้น 3 ปี คือปี ค.ศ.1960 ก็เกิดขบวนการแบ่งแยกดินแดน ก่อนหน้านั้นไม่มีขบวนการแบ่งแยกดินแดน สมัยอับดุลกอเดร์ (เต็งกูอับดุลกอเดร์ กามารุดดีน [สิ้นพระชนม์ในปี 2476] เจ้าผู้ปกครององค์สุดท้ายของปาตานี – กองบรรณาธิการ) ไม่ได้เป็นขบวนแบ่งแยกดินแดน ขบวนการแบ่งแยกดินแดนเกิดหลังจากฆ่าหะยีสุหลง โต๊ะมีนา เพราะรัฐไม่ยอมรับข้อเสนอของหะยีสุหลง โต๊ะมีนา อคติที่มีต่อกันในสมัยนั้นมีสูงมาก
 
มีเอกสารฉบับหนึ่ง เป็นมติของคณะรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรมในสมัยนั้นดำเนินการ ระบุความต้องการของรัฐที่จะเปลี่ยนศาสนาของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากศาสนาอิสลามเป็นศาสนาพุทธ อคติแบบนี้นำไปสู่การตัดสินใจทางการเมืองในสมัยนั้น
 
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ที่มีทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง เป็นบทเรียนแก่ผู้มีอำนาจและรัฐบาล ไม่เพียงแค่ของภาคใต้ แม้กระทั่งเหตุการณ์ 14 ตุลา หรือ 6 ตุลาทมิฬ ก็ต้องเก็บรับมาเป็นบทเรียน เพราะนักการเมืองหลายคนในปัจจุบันก็เคยจับปืนเข้าป่า ต่อสู้กับรัฐบาลในสมัยนั้นมาแล้ว แต่นโยบาย 66/23 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จนคนที่ถืออาวุธในสมัยนั้นยอมจำนน
 
คนที่ต่อต้านรัฐบาล ไม่ใช่แค่คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น กรณีถังแดงที่จังหวัดพัทลุง สถานการณ์ก็ย่ำแย่ แต่วันนี้เราจะพูดในแง่ของประวัติศาสตร์ปาตานี ในฐานะผู้สนับสนุนกิจกรรมนี้ จะต้องเขียนประวัติศาสตร์ปาตานีออกมาให้ชัดเจน จากการสนับสนุนของ พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม หรืออาจารย์ครองชัย หัตถา และผู้ใหญ่หลายๆ คน นับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะเดินต่อไปในอนาคต เพื่อที่จะทำให้ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ขอชื่นชมรัฐบาลปัจจุบัน ที่กล้ายอมรับความจริง
 
ผู้นำขบวนการก็ต้องยอมรับความจริงเช่นกัน เหมือนกับยัสเซอร์ อาราฟัต (1929 – 2004, อดีตผู้นำองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ [PLO] – กองบรรณาธิการ) ที่ทำสงครามกับอิสราเอลเป็นเวลาหลายปี สุดท้ายต้องมาเจรจากัน เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องยอมรับความจริง จะฝังความเป็นจริงไม่ได้ แต่เรื่องการเมืองต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ เป็นตัวอย่างที่อยากจะบอกว่า ขอเรียนถึงหน่วยงานทางด้านความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องยอมรับความจริงว่า เรื่องของประวัติศาสตร์ก็เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ ต้องเปิดกว้าง
 
ขอชื่นชมที่ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่แปลหนังสือประวัติศาสตร์ปาตานีของอิบรอฮิม ชุกรี (ประวัติราชอาณาจักรมลายูปะตานี, แปลโดย หะสัน หมัดหมาน, มะหามะซากี เจ๊ะหะ และเรียบเรียงโดย ดลมนรรจน์ บากา หนังสือเล่มนี้แปลมาจากต้นฉบับของ Ibrahim Syukri ในชื่อ Sejarah Kerajaan Melayu Patani ซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกในภาษาญาวีเมื่อปี 2501 และได้รับการตีพิมพ์ในภาษาไทยครั้งแรกเมื่อปี 2541 โดยโครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มอ.ปัตตานี และตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในปี 2549 โดยสำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม บุ๊ค ในขณะที่ฉบับแปลภาษาอังกฤษได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกมาตั้งแต่ปี 2528 โดยศูนย์การระหว่างเทศศึกษา มหาวิทยาลัยโอไฮโอ  – กองบรรณาธิการ) และหนังสือเล่มอื่นๆ ที่แปลไปก่อนหน้านี้ นับเป็นก้าวที่สำคัญอย่างมาก และต้องทำเรื่องเล่านี้ให้เป็นเรื่องธรรมดาเป็นเรื่องปกติ ในอนาคตรัฐบาล ควรทำให้การเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ปาตานี เป็นวิชาหนึ่งในหมวดวิชาสังคมศึกษา
 
ความสัมพันธ์ของเอกสารที่เกี่ยวข้องกับปาตานี มีเขียนกันไว้เยอะมาก จากที่ผมได้วิจัยมาแต่ก่อนนั้น มีเยอะใน Colonial Office (ทบวงบริหารอาณานิคม) ในศตวรรษที่ 18–19 สมัยอังกฤษเข้ามาปกครองแหลมมลายู อังกฤษได้ตั้ง Colonial Office ไม่ว่าจะเป็นที่สิงคโปร์, ปีนัง มีบันทึกใน Colonial Office เยอะมาก หรือใน Foreign Office (FO: กระทรวงการต่างประเทศ) มีหนังสือโต้ตอบกับกษัตริย์มลายูในสมัยที่มีปัญหากับอังกฤษ เช่น ต่วนกูอับดุลกอเดร์ ที่เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายกับ เซอร์ สวิทเท่นแฮม (Sir Frank Swettenham) ผู้เป็น General Governor (ข้าหลวงใหญ่) ตัวแทนของอังกฤษที่ดูแลแหลมมลายู เป็นการโต้ตอบที่น่าสนใจมาก
 
อยากบอกว่าความสัมพันธ์ทางเอกสารที่เกี่ยวข้องกับปาตานีนั้น ได้จาก Foreign Office และ Colonial Office เยอะมาก ในศตวรรษที่ 20 อังกฤษมีบทบาทสูง โดยเฉพาะในแหลมมลายู อังกฤษมีข้อมูลเยอะมาก
 
เมื่อกล่าวถึงกีตาบยาวี (ตำราภาษายาวี) จะนึกถึงกีตาบเรื่องศาสนา เรื่องการทำพิธีกรรมต่างๆ แต่หากศึกษากีตาบเหล่านี้อย่างชัดเจน เช่น งานเขียนของเชคอะหมัด อัลฟอฏอนี จะพบว่ากีตาบหรือหนังสือของท่าน ไม่ได้มีเฉพาะด้านการทำอิบาดะห์ (วัตรปฏิบัติทางศาสนา) อย่างเดียว แต่มีด้านอื่นด้วย เช่น ด้านสังคม เป็นต้น
 
หนังสือชื่อ หะดิษกอตุล ของเชคอะหมัด มีการกล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้สังคมมลายูตกต่ำ เข้าใจว่าช่วงนั้นโลกมุสลิมตกต่ำอย่างยิ่ง เพราะช่วงศตวรรษที่ 18–19 โลกอิสลามอยู่ในช่วงที่ตกต่ำอย่างมาก โดยเฉพาะมาเลเซียมีความล้าหลังด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากกว่าตะวันตก ขณะที่ตะวันตกสามารถผลิตหนังสือได้เป็นแสนเล่ม ภายในเวลาอันรวดเร็ว แต่มาเลซียยังคัดด้วยมือ อ่านแล้วทำให้มองเห็นสภาพปัญหาของสังคมตอนนั้นได้
 

จำรูญ เด่นอุดม 

 

พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม
ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ 
 
ทำไมเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ปาตานี จึงไม่เป็นเอกสารสำคัญของประเทศไทย นับเป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก ปัญหาอุปสรรคของการศึกษาประวัติศาสตร์ปาตานีคือ เอกสารที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปาตานีถูกทำลายไปมาก ทั้งสมัยก่อนหะยีสุหลง โต๊ะมีนา หรือยุคหลังหะยีสุหลง โต๊ะมีนา
 
กระทั่งเอกสารของคุณพ่อของผมคือ ตนกูจิ ตนกูอาลี ซึ่งเป็นทนายความ เวลามีลูกความมาคุยที่บ้านเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปาตานี ก็จะจดบันทึกไว้ในสมุดเล่มหนึ่ง บันทึกตั้งแต่ยุคสร้างปืนพญาตานี มีคนนั้นเล่าคนนี้เล่าว่า การสร้างปืนเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ พ่อจะบันทึกไว้ตลอด ท้ายที่สุดทางราชการมาขอยืม จากนั้นก็หายไปจนถึงทุกวันนี้ เอกสารทางประวัติศาสตร์ปาตานี มักจะถูกซุกซ่อน หรือทำลาย นำไปฝังไว้ในอ่างบ้าง ในดินบ้าง สมัยโบราณซ่อนไว้ในกระบอกไม้ไผ่ เพื่อไม่ให้เจ้าหน้ารัฐรู้
 
ผมเคยเป็นพนักงานสอบสวน ผมรู้ว่าเวลาเจ้าหน้าที่ไปค้นบ้าน จะไปหาเอกสารทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะหนังสือภาษายาวี เมื่อเจอหนังสือภาษายาวีก็จะจับเจ้าของ ก่อนที่จะมีการแปลหนังสือภาษายาวี หากแปลแล้วเป็นเอกสารที่ไม่สำคัญก็จะปล่อยตัว ถ้าเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ปาตานี จะแจ้งข้อหาว่าสมรู้ร่วมคิดในการก่อการร้ายหรือเป็นกบฏ จึงทำให้ไม่มีใครเก็บเอกสารประวัติศาสตร์ปาตานีไว้เลย
 
นี่คือปัญหา ทำไมประวัติศาสตร์ปาตานีไม่ปรากฏในมือของคนปาตานี ก็เพราะความกลัวตรงนี้ คนปาตานีจึงนำเอกสารทางประวัติศาสตร์ไปให้พี่น้องทางฝั่งกลันตัน ประเทศมาเลเซียเก็บไว้
 
ฉะนั้นเอกสารทางประวัติศาสตร์ของปาตานี จะไปอยู่สถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศมาเลเซีย ท่านทราบหรือไม่ว่า มีเอกสารประวัติศาสตร์ปาตานีที่เขียนด้วยมือ บนแผ่นกระดาษ 4 แผ่น เขียนโดยคนกรือเซะ ปรากฏว่าเอกสารชิ้นนี้ขายไปในราคา 3,000 บาท ให้กับพิพิธภัณฑ์ที่ตรังกานู เพราะไม่กล้าเก็บไว้ที่บ้าน นี่คืออุปสรรคสำคัญในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ปาตานี เพราะเอกสารประวัติศาสตร์ปาตานี เป็นเอกสารต้องห้ามในประเทศไทย โดยเฉพาะเอกสารภาษายาวี ซึ่งเป็นเอกสารต้นฉบับ
 
ผมได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ปาตานี จากการนำกองกำลัง ตชด.เขต 9 ที่สงขลา (ในขณะนั้น) ไปล้อมค่ายเปาะเยะ (ผู้นำกองกำลังติดอาวุธของ BNPP [Barisan Nasional Pembebasan Patani] ในขณะนั้น) ที่ตำบลกะพ้อ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี แต่เปาะเยะหนีไปมาเลเซีย และเสียชีวิตที่นั่น จากการค้นเอกสารต่างๆ ในนั้น ผมไม่อยากบอกว่ามีเอกสารอะไรบ้าง แต่ที่สำคัญคือ ทำให้รู้เรื่องประวัติศาสตร์
 
ตอนนั้นคุณชูวิทย์ ไวยถนอมสัตย์ (รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาในสมัยนั้น) เจ้าของเอกสาร Sejarah Kerajaan Patani นำเอกสารประวัติศาสตร์กษัตริย์ปัตตานีมาให้ผมอ่าน ประกอบกับเอกสารที่ผมเจอในค่ายเปาะเยะ ทำให้ผมสนใจมากยิ่งขึ้น เพราะเกี่ยวข้องกับงานที่ทำอยู่
 
ปัญหาการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ปาตานีเกิดจาก หนึ่ง เพราะเอกสารถูกทำลาย ถูกซ่อนเร้น ถูกฝัง เนื่องจากเป็นสิ่งต้องห้าม ในฐานะผมเป็นข้าราชการตำรวจ ผมรู้ว่าสิ่งนี้เป็นของต้องห้าม สอง นับวันการเขียนเรื่องประวัติศาสตร์จะน้อยลง และรวบรวมได้น้อยลง รู้แล้วก็เล่าต่อๆ กันมา แต่ไม่มีคนนำมาเขียน รู้ไว้ฝังไว้ในหูแล้วก็เล่า
 
ผิดกับอดีตในสมัยเชค ดาวุด, เชค อะหมัด และอีกหลายๆ คน เมื่อรู้แล้วจะเขียนเก็บไว้ เรื่องเล่าจะเปลี่ยนไปตลอดจากคนที่ 1 คนที่ 2 ทุกวันนี้หานักเขียนยากขึ้น แต่ก็มีหลายคนเริ่มเขียนแล้ว อาจารย์ครองชัย หัตถา อาจารย์นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน และอาจารย์อุดม ปัตนวงศ์ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1960 มา ไม่มีใครเขียน คนแรกที่เขียนคือ แบเลาะฮ์ (อับดุลเลาะห์ ลออแมน) ทำอย่างไรที่จะให้มีนักเขียนมากๆ เราต้องผลิตนักเขียนให้มากขึ้น
 
เอกสารของปาตานีส่วนใหญ่ที่เชื่อถือได้ เป็นเอกสารที่จดบันทึกโดยชาวต่างประเทศ เพราะชาวต่างประเทศบันทึกโดยไม่มีอคติ เช่น ของฮอลันดา หรืออังกฤษ เป็นต้น
 
จดหมายของอังกฤษที่เขียนเรื่องปาตานีแตก ในปี พ.ศ.2329 เป็นจดหมายของฝรั่งที่มาทำงานเหมืองแร่ในปาตานี เล่าเรื่องและเขียนส่งให้ Governor (ข้าหลวง) ที่อินเดีย เอกสารฉบับนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ เหตุการณ์วันนั้นเกิดอะไรขึ้น มีคนวิ่งออกจากปาตานีประมาณ 10,000–20,000 คน คนที่บาดเจ็บยังไม่ตาย ทำอย่างไรให้ตาย เป็นเอกสารบันทึกของฝรั่ง ไม่ใช่เขียนขึ้นโดยใช้จินตนาการ เป็นเอกสารที่มีจริง คนที่ไปพบคือ ดร.นิอันวาร์ (Nik Anuar Nik Mahmud, เสียชีวิต 2010) เปิดเผยแล้วก็นำมาเขียนต่อ (หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปาตานีเล่มสำคัญของเขา คือ Sejarah Perjuangan Melayu Patani 1785-1954 [ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชนมลายูปาตานี พ.ศ. 2328-2497 – ปัจจุบันยังไม่มีการแปลเป็นภาษาไทย] ที่ตีพิมพ์ในปี 2542 โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย [Penerbit UKM] นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับปาตานีอีกหลายเล่ม อาทิเช่น The Malays of Patani : the search for security and independence (2008), Tamadun dan sosio-politik Melayu Patani (2007, เขียนร่วมกับ Mohd. Zamberi A. Malek), The Malay unrest in South Thailand : an issue in Malayan-Thai border relations (1994) และ Negeri-negeri Melayu utara di bawah pemerintahan Thai, 1943-1945 (dengan tumpuan kepada Kedah) (1986) เป็นต้น – กองบรรณาธิการ)
 
คนที่เขียนประวัติศาสตร์ปาตานีได้ดีคือฝรั่ง เพราะเขาไม่มีอคติ เขาไม่ก้าวข้ามเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง นี่เป็นเรื่องสำคัญ ถึงวันนี้ยังไม่มีสถานที่เก็บเอกสารเกี่ยวกับเรื่องประวัติศาสตร์ในปัตตานีหรือยะลา ถึงมีก็ไม่กล้าที่จะเก็บไว้ รัฐบาลก็ไม่ได้เก็บเอกสารไว้ที่นี่ เพราะกลัวว่าคนที่นี่จะรู้เรื่องประวัติศาสตร์ และการเสียสละของผู้ที่ต่อสู้ เกิดอารมณ์กับรัฐ โรงเรียนอนุบาลยะลาเมื่อปี 2 ปีที่แล้ว ขึ้นป้ายใหญ่ ดับไฟใต้ต้องดับประวัติศาสตร์ปัตตานี นี่เป็นปัญหาของภาครัฐ เป็นความคิดของผู้นำภาครัฐ
 
ความสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ประวัติศาสตร์ปาตานีมักจะถูกบิดเบือน เช่น กรณีกรือเซะ
 
นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์ปาตานีมักจะเขียนด้วยภาษามลายูอักษรอาหรับ หรือภาษายาวี ตรงนี้เป็นปัญหาของคนยุคปัจจุบันคือ เด็กรุ่นใหม่ได้ทิ้งภาษาของพ่อแม่ตัวเอง เข้าไปค้นหาศึกษาประวัติศาสตร์ที่เป็นต้นฉบับด้วยภาษายาวีไม่ได้ ต้องอ่านจากเอกสารภาษาไทย ซึ่งถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขเนื้อหาไปแล้ว จึงไม่มีโอการเรียนรู้อรรถรสของภาษา และอรรถรสของวรรณกรรม
 
เราจะทำอย่างไรที่จะให้เด็กรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับภาษามลายู หากอ่านประวัติศาสตร์ปาตานีด้วยภาษายาวี ซึ่งมีอรรถรสของมันอยู่ จะเข้าใจอะไรได้ลึกซึ้งมากกว่าอ่านผ่านภาษาไทย

 

 

 

อุดม ปัตนวงศ์

 

 
นายอุดม ปัตนวงศ์
มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้
 
การบันทึกประวัติศาสตร์ในสมัยศรีวิชัยใช้ภาษาสันสกฤต ด้วยอักขระปัลลวะ ซึ่งเป็นภาษาโบราณ เมื่อ 800 กว่าปีก่อนมีการเปลี่ยนภาษาในการบันทึกประวัติศาสตร์จากอักษรปัลวะเป็นภาษายาวี ตอนเซนต์ ฟรานซิส ซาเวียร์ เผยแพร่ศาสนาคริสต์ ยังต้องเผยแพร่ด้วยภาษายาวี ผมขอฝากถึงคนรุ่นหลังให้เขียนประวัติศาสตร์ปาตานีให้มากขึ้น เนื่องจากการเขียนประวัติศาสตร์ เป็นการสร้างประจักษ์พยานในทางวิชาการ
 
เอกสารทางประวัติศาสตร์มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นประจักษ์พยานร่วมสมัย ไม่ใช่หนังสือประวัติศาสตร์บุคคลที่มาทีหลัง
 
ส่วนใหญ่แล้วเอกสารทางประวัติศาสตร์มีความสำคัญอย่างยิ่ง ขณะนี้คนมลายูปาตานี แทบไม่มีเอกสารยืนยันให้บุคคลภายนอกเชื่อมั่นว่า ประวัติศาสตร์ของเรามีหลักฐานรองรับ
 
โครงการศึกษาเอกสารประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนใต้ จึงเป็นงานในมิติใหม่ เป็นงานยืนยันความเป็นตัวตนของคนมลายูปาตานี
 
ในช่วง 500 กว่าปีที่ผ่านมา เอกสารสำคัญที่บันทึกโดยอาณาจักรมุสลิม โดยเฉพาะอาณาจักรสมุทระ-ปาไซ (Samudra-Pasai) ที่สุมาตรา เริ่มต้นขึ้นหลังจากสุลต่านรับอิสลามแล้ว มีการนำอักษรปัลลวะ มาดัดแปลงเป็นภาษายาวี หรือเรียกว่ามลายูยาวี หลังจากนั้นเป็นต้นมา ประมาณ 800 กว่าปี อาณาจักรมุสลิมทั้งหมดในเขตนูซันตารา (Nusantara) ซึ่งมีอาณาจักรมากมาย ใช้ภาษามลายูอักษรยาวีทั้งหมดเป็นภาษาของราชอาณาจักร
 
แม้แต่การเผยแพร่ศาสนาคริสเตียน ยังเผยแพร่เป็นภาษามลายูอักษรยาวี หากมลายูกลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหม่ การรวบรวมเอกสารประวัติศาสตร์ปาตานีที่เกี่ยวข้องกับโลกมลายู 300 กว่าล้านคน เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง คนอื่นจะได้เห็นว่าคนมลายูไม่ได้อ้างอะไรลอยๆ
 
โดยเฉพาะงานเขียนประวัติศาสตร์ปาตานี เดิมไม่ใช่คนปาตานีเขียน แต่ผู้เขียนเป็นชาวฝรั่งทั้งสิ้น ไม่มีการเบี่ยงเบน ไม่มีอคติ เขียนตรงไปตรงมา แต่ผู้ปกครองฝ่ายรัฐสยามกล่าวหาว่า เป็นประวัติศาสตร์เบี่ยงเบน แม้แต่นักศึกษาบางคนบอกกับผมว่า ประวัติศาสตร์ปาตานีเชื่อไม่ได้ เป็นประวัติศาสตร์ที่ขึ้นอยู่กับผู้เขียน ขึ้นอยู่กับผู้ที่มีอำนาจ เป็นประวัติศาสตร์ที่มีวาระซ่อนเร้น
 
เอกสารต่างๆ ที่มีการบันทึกเอาไว้ในอดีต สามารถยืนยันได้ว่า สภาพการณ์ในสมัยนั้นเป็นอย่างไร อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ
 
ผมอ่านประวัติศาสตร์สุลต่านที่มีอยู่ ในนูซันตาราทั้งหมด ที่มีอยู่ในโลกมลายู ก็มีความชัดเจนว่า ปาตานีในสมัยที่มะละกาล่มสลายแล้ว สุลต่านมะฮ์มุดหนีไปตั้งหลักที่ยะโฮร์ ตั้งอาณาจักรใหม่ก็เคยร่วมกับปาตานีและปาหัง ยกกองทัพไปรบกับอาเจะห์ ทั้งๆ ที่อาเจะห์เป็นอาณาจักรมุสลิม
 
สมัยก่อนนั้น ไม่เกี่ยวว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ ขอให้ได้เป็นใหญ่ในแผ่นดินก็แล้วกัน นั่นเป็นสมัย City State ไม่ใช่ Nation State
 
หลักฐานเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับปาตานี หลักฐานเหล่านี้บอกได้ว่า ปาตานีเป็นแนวขอบของนูซันตาราเท่านั้นเอง
 
นูซันตารา หมายถึง ภูมิภาคมลายู ที่เป็นหมู่เกาะส่วนใหญ่ แต่เนื่องจากคนมลายูมีสายโยงใยคาบเกี่ยวกัน คนจากสุมาตราเข้ามาอยู่มุมแหลมมลายูกันเยอะ
 

 

 

อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง

 
นายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง
นักวิชาการอิสระด้านสันติวิธี
 
โครงการศึกษาเอกสารประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนใต้เป็นงานยาก เป็นงานบุกเบิก และต้องฝ่าวัฒนธรรมความกลัว ข้ามเขตแดนที่จะพูดเรื่องตัวเองให้คนอื่นได้รับรู้ว่า ตัวเองเป็นอะไรบ้าง มาอย่างไร ผมไม่อยากให้ยึดติดกับประวัติศาสตร์ อยากให้มองว่าประวัติศาสตร์เป็นทุนทางสังคม ที่สามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้
 
งานวิจัยนี้ถ้าจะร้อยเรียงออกมา จะต้องมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับปาตานีบ้าง มันต้องมีเรื่องการศึกษาแน่นอน เพราะปาตานีเป็นระเบียงของมักกะฮ์ มีเอกสารอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง ทางด้านเศรษฐกิจมีเอกสารชิ้นใดบ้างที่กล่าวถึง ที่นี่มีความอุดมสมบูรณ์ในการปลูกข้าวอย่างไร ถึงทำให้รัฐทางตอนเหนือต้องมาปล้นเอาไป
 
แผนที่ความคิดของปัตตานีว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างไร วิทยาศาสตร์เป็นอย่างไร อุลามะอ์ (นักปราชญ์) ที่เล่นแร่แปรธาตุ ที่มีการพูดกันว่า เชค มูฮำหมัดดีน เขียนกีตาบ (หนังสือหรือตำรา) เล่มหนึ่ง สามารถแปรเป็นทองได้ ลูกศิษย์แย่งกันจนต้องเผาทิ้ง เป็นเรื่องในอดีต เรื่องของโลกาภิวัตน์ที่อาจารย์อิลยาสกล่าว การมองภาพสังคมมุสลิม แล้วสามารถสะท้อนสังคมได้อย่างไร
 
การขึ้นเรือของ เชค ดาวุด กลับมาปาตานี เพื่อต่อสู้กับรัฐตอนเหนือ ยุคนั้นไม่ได้เป็นการยึดดินแดนคืน แต่เป็นการยึดบารมีคืน บังเอิญปาตานีสูญเสียอำนาจการปกครอง เมื่อปี 2329 ซึ่งเป็นยุคของการล่าอาณานิคม ซึ่งเป็นยุคของการยึดครอง ฉะนั้นบาบอ (โต๊ะครู) ที่อยู่ทางยะหริ่งจึงพูดว่า ปาตานีถูกยึดครอง
 
เอกสารประวัติศาสตร์ปาตานีมีคุณค่าหลายประการ เอกสารร้อยเรียงตรงนี้ นอกจากแบ่งเรียงตาม ลำดับเวลาแล้ว น่าจะแบ่งเรื่องของมิติ หรือมุมมองที่ได้จากเอกสาร เพราะมีเอกสารมากมาย ที่หลายท่านอ่านแล้วจะเข้าใจ
 
ผมเขียนเรื่อง จากกรือเซะสู่บางกอก” จากมุมของเชลยศึกที่ถูกเกณฑ์ไปจากปาตานี มันเจ็บปวดมากในความรู้สึก ผมเขียนพลางเช็ดน้ำตาไปพลางหลายครั้ง คนพิมพ์ซึ่งไม่รู้เรื่องอะไรเลย ก็ต้องล้างหน้าเป็นสิบครั้งกว่าจะเสร็จ เอกสารเพียง 9 หน้าเอง
 
ผมไม่อยากเห็นประวัติศาสตร์มีไว้เพื่ออ่านแล้วร้องไห้กับความทุกข์ทรมานในอดีต อยากให้มองว่าจากจุดนั้น มีการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการที่ดีขึ้นมาแล้วอย่างไร และเราจะวางอนาคตให้แก่ลูกหลานอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องภาษา ผมเคยอ่านหนังสือของนักภาษาศาสตร์คนหนึ่ง กล่าวถึงการใช้ภาษาว่า ภาษาอะไรก็ตามที่ไม่ได้พูดใน 30 ปี ภาษานั้นจะสูญหายไป
 
เอกสารประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของทุนทางสังคม ที่เราอยากจะบอกกับคนรุ่นใหม่ ผมเชื่อว่ามีคนอ่านไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ อยากให้เอกสารเหล่านี้เผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต เพื่อให้คนทั่วโลกรับรู้ว่า ขณะนี้เรากำลังต่อสู้เรื่องศักดิ์ศรี ผ่านภาษามลายูท้องถิ่น เพื่อให้คนภายนอกรับรู้ว่า เรากำลังต่อสู้ ฉะนั้น อยากให้เอกสารเหล่านี้นำมาสู่งานวิจัย เพื่อให้เอกสารเหล่านี้เผยแพร่ออกไป จะได้มีเอกสารตอบโต้ออกมา ซึ่งเราจะได้เอกสารเพิ่มอีกเยอะมาก
 

 

 

ครองชัย หัตถา

 
 
 
 
 
 
 
 
นายนิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
อาจารย์ประจำภาควิชาภาษามลายู
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
 
ผมไปประเทศมาเลเซียกับคณะทำงานโครงการนี้พบว่า มีความยากลำบากอย่างมากในการหาข้อมูล บางครั้งต้องใช้เส้นสายส่วนตัว
 
เอกสารที่ได้เป็นเอกสารจากหน่วยงานราชการของประเทศมาเลเซีย เอกสารฮิกายัตปัตตานีที่ได้มา เป็นข้อมูลจากประวัติกษัตริย์ปาตานี (Dewan Bahasa dan Pustaka) ได้มาจากมหาวิทยาลัยมลายา ประเทศมาเลเซีย การไปหาเอกสารจากสถานที่ต่างๆ ต้องให้ผู้ใหญ่ประสานสถานที่เหล่านั้น
 
บางคนอาจจะมองว่า 100 เอกสาร ไม่ได้สำคัญสักเท่าไร แต่ความจริงแล้วมีประเด็นสำคัญอยู่ในตัวเอกสารมากมาย
 
 
หมายเหตุ: ดูรายงานที่เกี่ยวข้องโครงการ ได้ที่ "ร้อยเอกสาร ประวัติศาสตร์ปาตานี" โดย รอซิดะห์ ปูซู (หนังสือพิมพ์ข่าวสด) และ "นักวิชาการจัดงาน 100 เอกสาร ขุดราก ‘ประวัติศาสตร์ปาตานี’ " (DSJ)