ฮัซซัน โตะดง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
พล.ต.อัคร ทิพโรจน์
พล.ต.อัคร ทิพโรจน์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.4 สน.) และกอ.รมน.4สน. เปิดเผยว่า พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 มีคำสั่งให้ค่ายทหารในภาคใต้ในสังกัดกองทัพบกทั้ง 17 ค่ายตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยภายในค่ายทหารต่างๆ รวม 17 ศูนย์ เพื่อเป็นผู้ช่วยพนักงานของรัฐในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่างๆ โดยคาดว่า ในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะเกิดภัยพิบัติในภาคใต้
พล.ต.อัคร เปิดเผยอีกว่า ทั้ง 17 ศูนย์ ครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ เพราะบางจังหวัด เช่น นครศรีธรรมราช มี 2 ค่ายทหาร เนื่องจากเป็นจังหวัดใหญ่ นอกจากนี้ บางจังหวัดยังมีค่ายทหารของกองทัพเรือด้วย ซึ่งทางกองทัพเรือก็น่าจะมีการเตรียมช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยเช่นกัน
พล.ต.อัคร เปิดเผยด้วยว่า โดยปกติ แม่ทัพภาคที่ 4 จะมีปฏิทินรับมือภัยพิบัติตามวงรอบประจำปีอยู่แล้ว เพื่อเตรียมรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ ทั้งพายุ น้ำท่วม ดินถล่ม ภัยแล้ง หรือภัยพิบัติอื่นๆ ทั้งที่คาดการณ์ได้และคาดการณ์ไม่ได้
พล.ต.อัคร เปิดเผยว่า ทหารมีความพร้อมเรื่องคนที่เป็นหมู่คณะ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ที่ใช้ทางทหารใช้อยู่ สามารถนำปรับใช้เป็นเครื่องมือช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัยได้ เช่น รถทรงสูงที่สามารถวิ่งในน้ำได้ เป็นต้น
พล.ต.อัคร กล่าวว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการบรรเทาสาธารณภัย คือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงมหาดไทย ทหารจะมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้ประสบภัยพิบัติในอำเภอและจังหวัดที่ค่ายทหารนั้นอยู่
พล.ต.อัคร กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คาดอาจจะเกิดอุทกภัยหนักเช่นกัน หน่วยทหารที่ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ประชาชนในพื้นที่ สามารถแปรสภาพมาเป็นหน่วยบรรเทาสาธารณภัยได้ทันที เนื่องจากขณะนี้ในพื้นที่จังหวัด 3 ชายแดนภาคใต้ มีทหารอยู่ทุกพื้นที่เพื่อรักษาความสงบ หากน้ำมา ทหารที่อยู่ในพื้นที่ก็พร้อมที่จะช่วยเหลือประชาชนได้ทันที เป็นทำงานในรูปแบบ ทูอินวัน คือ รักษาความสงบเรียบร้อยไปด้วยและช่วยเหลือผู้ประสบภัยไปด้วย
พล.ต.อัคร กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการเตรียมการรับมือภัยพิบัติ คือการประสานงานและซักซ้อมแผนการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด เวลาเกิดเหตุใครมีหน้าที่ทำอะไร จะให้ทหารช่วยอะไร ต้องดูว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรุนแรงขนาดไหน
พล.ต.อัคร กล่าวว่า ทหารจะมีวิธีช่วยเหลือประชาชน 4 ขั้นตอน คือ 1.ช่วยเหลือชีวิตก่อนคือการอพยพหนี้ภัย 2.ช่วยเหลือเรื่องการส่งยังชีพ เช่น ส่งน้ำ อาหาร 3.ช่วยเหลือการรักษาพยาบาล กรณีได้รับบาดเจ็บ และ4.การฟื้นฟู่หลังน้ำลด
“4 ขั้นตอนนี้ ทางทหารจะทำความเข้าใจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ และแบ่งงานกันทำ เช่น การช่วยชีวิตจะต้องใช้อากาศยาน ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มี แต่ทหารมีก็เอาอากาศยานของทหารออกมาช่วยเหลือประชาชน เป็นต้น” พล.ต.อัคร กล่าว
พล.ต.อัคร เปิดเผยว่า สำหรับการฟื้นฟูนั้น ทหารไม่มีงบประมาณในส่วนนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง คือ กรมป้องกันและบรรเทาภัยสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย การที่จะให้ทหารนำเครื่องมือต่างๆ ของทหารมาช่วยนั้น ก็ต้องใช้งบประมาณจากกรมป้องกันและสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย