Skip to main content

 

อารีด้า สาเม๊าะ  

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

 

ตุลาการเสนอชดใช้ 4 แสน คดีทหารซ้อมนักศึกษายะลา ร้องชดเชยเหตุทำร้ายร่างกาย คุมตัวเกินกฎหมายกำหนด ศาลปกครองสงขลานัดพิพากษา 22 พฤศจิกายน 2554

 

 

 

 

 

 

                                             อิสมาแอ เตะ

 

 

 

เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 26 ตุลาคม 2554 ที่ห้องพิจารณาคดี 2 ศาลปกครองจังหวัดสงขลา ศาลปกครองจังหวัดสงขลา นัดพิจารณาคดีนายอิสมาแอ เตะ และนายอามีซี มานาก นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ยื่นฟ้องกองทัพบกและกระทรวงกลาโหม กรณีถูกควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมานทั้ง 2 คน ร่วมกับผู้ถูกควบคุมตัวคนอื่นๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลและคำรับสารภาพคดีหมายเลขดำที่ 187,188 / 2552

 

โดยมีตุลากรองค์คณะผู้พิจารณาคดี 3 คน ตุลาการผู้แถลงคดี 1 คน ผู้ฟ้องคดี พร้อมทนาย และตัวแทนผู้ถูกฟ้องคดีมาศาล มีนักศึกษามาร่วมฟังการพิจารณาคดี ประมาณ 20 คน

 

ตุลาการองค์คณะผู้พิจารณาคดีอ่านแถลงการณ์คดีนี้ว่า คดีมีข้อมูลดังนี้ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2551 และพบร่องรอยบาดแผลตามร่างกายของผู้ถูกควบคุมตัว จากการซ้อมทรมาน เพื่อให้รับสารภาพ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551 จากนั้นนายอิสมาแอ และนายอามีซี ถูกปล่อยตัวเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 รวมระยะเวลาถูกควบคุมตัว 9 วันซึ่งเกินกำหนดการควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ที่ให้อำนาจควบคุมตัวได้เพียง 7 วัน

 

ตุลาการองค์คณะผู้พิจารณาคดีแถลงต่อไปว่า เป็นเหตุให้นายอิสมาแอ และนายอามีซี ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายและเอาผิดต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดดังกล่าว 2 หน่วยงานคือ กองทัพบกและกระทรวงกลาโหม แต่ฝ่ายผู้ถูกฟ้องได้ส่งพันโทเอกพล นิโลดม อก.มทบ.42 จังหวัดสงขลารับฟังการพิจารณาคดีแทน

 

ตุลาการองค์คณะผู้พิจารณาคดีแถลงด้วยว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2554 ทนายพร้อมผู้ฟ้องคดีนี้ทั้ง 2 คน ได้ยื่นคำแถลงเป็นหนังสือ พร้อมหลักฐานยืนยันบาดแผลที่เกิดจากการถูกซ้อมทรมาน และแผ่นบันทึกภาพและเสียง ต่อศาลปกครองสงขลามาแล้ว แต่แผ่นบันทึกภาพและเสียงดังกล่าว ศาลปกครองสงขลาไม่รับเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาคดี เนื่องจากถูกส่งมาหลังจากการรวบรวมหลักฐานวันสุดท้ายแล้ว จึงรับพิจารณาเฉพาะหลักฐานก่อนหน้านั้นเท่านั้น

 

นายอิสมาแอ เตะ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 แถลงด้วยวาจาต่อศาลว่า ตนมาแถลงต่อศาลวันนี้ เพื่อไม่ได้บอกว่าตนคนเดียวที่ถูกทำร้ายร่างกายระหว่างถูกควบคุมตัว แต่ยังมีอีกหลายคนที่ถูกทำร้ายร่างกาย แต่ตนเป็นคนแรกที่กล้าฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิด

 

นายอิสมาแอ แถลงด้วยอาการสั่นๆ ต่อไปว่า ผลกระทบจากการถูกควบคุมตัวดังกล่าว ทำให้ตนไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย ถูกสังคมมองว่าเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ มีชื่อปรากฏในรายชื่อผู้ต้องสงสัยของหน่วยงานราชการ ทำให้ตนสูญเสียชื่อเสียง ไม่กล้าเข้าสมัครทำงานในหน่วยงานราชการได้อย่างที่ตั้งใจไว้ จนทำให้ครอบครัวผิดหวัง กลายเป็นคนมีมลทิน จึงร้องขอให้ศาลสั่งผู้ถูกฟ้องรับผิดชอบ

 

นายอิสมาแอ แถลงต่อศาลว่า ปัจจุบันตนเข้าร่วมทำงานกับภาคประชาสังคมและประกอบธุรกิจเล็กๆ เท่านั้น

 

นางสาวจันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีทั้งสอง แถลงต่อศาลว่า ยืนยันว่า ทั้ง 2 คน ถูกทำร้ายร่างกายระหว่างถูกควบคุมตัวที่โดยทหารหน่วยเฉพาะกิจที่ 11 จังหวัดยะลาและที่ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี โดยมีหลักฐานยืนยัน คือ รายงานเวชระเบียน ใบรับรองแพทย์และรูปภาพ แต่ฝ่ายทหารยืนยันว่าไม่ได้ทำร้ายร่างกาย แต่ไม่มีหลักฐานมายืนยัน

 

นางสาวจันทร์จิรา แถลงต่อไปว่า ระหว่างที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวกถูกควบคุมตัว ญาติเห็นร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกาย ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551 ญาติจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดปัตตานี ตามมาตรา 90 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ขอให้นำตัวมาที่ศาล ซึ่งศาลจังหวัดปัตตานีได้รับคำร้องและมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารผู้ควบคุมตัวนำผู้ถูกควบคุมตัวมาศาลในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 เพื่อแสดงข้อมูล ข้อเท็จจริง เหตุผลและข้อกฎหมายที่ใช้ในการควบคุมตัว แต่เจ้าหน้าที่ทหารกลับปล่อยตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองกับพวกไปในยามวิกาล และไม่ได้มาศาลตามหมายเรียกของศาลจังหวัดปัตตานี เป็นเหตุให้ศาลยกคำร้องของผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวก เนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้งสองกับพวกได้รับการปล่อยตัวแล้ว จึงไม่มีเหตุให้ศาลวินิจฉัยคำร้อง

 

นางสาวจันทร์จิรา แถลงอีกว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง เรียกร้องค่าเสียหายในส่วนที่เจ้าหน้าที่กระทำการละเมิดต่อร่างกาย จิตใจและความเสียหายต่ออนาคตของทั้ง 2 เช่น ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ที่ไม่สามารถเข้ารับราชการได้ ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ 2 ไม่กล้าออกจากหมู่บ้าน ทำให้ต้องประกอบอาชีพกรีดยางพาราภายในหมู่บ้านได้อย่างเดียว

 

จากนั้น ตุลาการผู้แถลงคดี แถลงว่า แม้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ให้อำนาจในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ โดยผู้ถูกควบคุมตัวไม่สามารเรียกร้องชดใช้ค่าเสียหายได้ แต่ข้อเรียกร้องที่ให้เจ้าหน้าที่รับผิดชอบในส่วนที่ควบคุมตัวเกินกำหนดนั้น ศาลสามารถพิจารณาว่าสมควรให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบได้หรือไม่

ตุลาการผู้แถลงคดี แถลงต่อไปว่า ในกรณีนี้ ผู้ฟ้องคดีสามารถร้องขอให้เจ้าหน้าที่รับผิดชอบได้ เนื่องจากผู้ฟ้องคดีที่ 1 มีหลักฐานเป็นเวชระเบียน ซึ่งได้บันทึกผลการตรวจร่างกายว่า มีบาดแผลตามร่างกายมายืนยันต่อศาล เพราะตามมาตรา 32 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ระบุให้รับรองสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย โดยห้ามการทรมาน

ตุลาการผู้แถลงคดี แถลงด้วยว่า ขณะเดียวกันผู้ถูกฟ้องคดีไม่มีหลักฐานยืนยันว่า ไม่ได้ทำร้ายร่างกายนักศึกษาดังกล่าว ศาลจึงพิจารณาให้เจ้าหน้าที่รับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย โดยเสนอชดใช้ต่อนายอิสมาแอ กรณีถูกทำร้ายร่างกายและถูกควบคุมเกินกำหนด เป็นเงิน 305,000 บาท ส่วนนายอามีซี ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ไม่มีหลักฐานว่าถูกทำร้ายร่างกาย ศาลพิจารณาเสนอให้ชดใช้เป็นเงิน 100,000 บาท ส่วนคำร้องขออื่นศาลยกคำร้องขอ โดยพิจารณาว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหน้าที่ และอาศัยอำนาจตามกฎหมาย

 

จากนั้นตุลาการองค์คณะผู้พิจารณาคดี นัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554

 

ในวันเดียวกันศาลจังหวัดยะลา ได้แจ้งเลื่อนการพิจารณาคดีการไต่สวนการตายของนายอาหะมะ มะสิละ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิตไปเป็นวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 หลังจากนางสาวสมสกุล ศรีเมธีกุล ทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทนายฝ่ายผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา กรุงเทพมหานคร ขอให้เลื่อนการพิจารณาคดีนี้ เนื่องจากไม่สามารถเดินทางเข้าร่วมการพิจารณาคดีได้ เพราะติดน้ำท่วมที่กรุงเทพมหานคร