อารีด้า สาเม๊าะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
ยมท.รับบริจาคซื้ออูฐเชือดส่งโซมาเลีย ช่วยคนอดอยากผ่านเอ็นจีโอมาเลย์ พร้อมส่งอาสาสมัครร่วมปีหน้า ภารกิจแรก MRA ค้นพบแหล่งน้ำจืด ช่วยได้ถึง 300,000 ชีวิต
อูฐ
(ภาพจากwww.kosintrotech.comfirst20.asp)
นายมูรชีดี กาลอ ประธานสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.) สาขาจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทยได้จัดทำโครงการซื้ออูฐกุรบ่านเพื่อชาวโซมาเลีย ล่าสุดได้รวบรวมเงินบริจาคจนสามารถจัดซื้ออูฐได้แล้ว 8 ตัว เพื่อใช้ในการทำพิธีกูรบ่าน หรือการเชือดสัตว์พลีในวันตรุษอี้ดิลอัฎฮา แล้วนำไปแจกจ่ายให้ชาวโซมาเลียที่กำลังประสบปัญหาอดอยากในขณะนี้
นายมูรชีดี เปิดเผยต่อไปว่า เงินบริจาคดังกล่าวจะส่งไปให้ MALAYSIAN RELIEF AGENCY หรือ MRA ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ของประเทศมาเลเซีย และมีตัวแทนประจำอยู่ทางตอนเหนือของประเทศโซมาเลีย เพื่อนำไปซื้ออูฐที่ในประเทศเพื่อนบ้านของโซมาเลีย แล้วลำเลียงไปช่วยเหลือชาวโซมาเลียต่อไป
นายมูรชีดี เปิดเผว่า สำหรับการเปิดรับบริจาคเงินซื้ออูฐจะดำเนินการจนถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2554 ในราคาส่วนละ 3,500 บาท
“ตามหลักศาสนาอิสลามได้แบ่งอูฐ วัว หรือควายออกเป็น 7 ส่วนใน 1 ตัว ซึ่งแต่ละคนสามารถครอบครองสัตว์ที่เชือดได้ตั้งแต่ 1 ส่วนขึ้นไปแล้วแต่กำลังความสามารถ จากนั้นแบ่งเนื้อสัตว์ออกเป็น 3 ส่วน คือ บริจาคในคนจน บริจาคให้คนรวย และเก็บไว้กินเอง”
“ที่ผ่านมา ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการระดมทุนช่วยเหลือชาวโซมาเลียแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่เดือนรอมฎอนซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิมเมื่อราวเดือนสิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยสามารถรวบรวมเงินบริจาคได้ประมาณ 1,030,900 บาท” นายมูรชีดี กล่าว
นายมูรซีดี เปิดเผยด้วยว่า ในปีพ.ศ.2555 สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทยเตรียมจะส่งอาสาสมัครเข้าไปร่วมปฏิบัติภารกิจกับองค์กรMRA ในประเทศโซมาเลียด้วย โดยต้องเป็นคนที่มีจิตอาสาและสามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้
นายมูรซีดี เปิดเผยด้วยว่า องค์กร MRA ได้เข้าไปปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือประชาชนชาวโซมาเลียสำเร็จเป็นภารกิจแรกแล้ว คือ การสำรวจพบแหล่งน้ำบริสุทธิ์ในโซมาเลียทางตอนเหนือของโซมาเลีย เมื่อเดือนสิงหาคม 2554 เชื่อว่าจะสามารถหล่อเลี้ยงชาวโซมาเลียได้ประมาณ 300,000 คน
นายมูรซีดี เปิดเผยว่า หลังการสำรวจพบ ทางองค์กรMRA และรัฐบาลโซมาเลียจะสำรวจพื้นที่ที่มีความจำเป็นในการใช้น้ำมากที่สุดก่อน และเตรียมสำรวจแหล่งน้ำเพิ่มเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนต่อไป
นายมูรชีดี เปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้ชาวโซมาเลียเริ่มได้รับความช่วยเหลือมากขึ้น หลังการยื่นมือเข้าช่วยเหลือของประเทศต่างๆ โดยความช่วยเหลือเข้าถึงชาวโซมาเลียแล้วประมาณ 70 - 80 เปอร์เซ็นต์ หลังจากประสบปัญหาภัยแล้งและความอดอยากอย่างรุนแรงมานานหลายเดือน โดยกลุ่มประเทศอาหรับมีบทบาทในการช่วยเหลือมากที่สุด
นายมูรชีดี เปิดเผยอีกว่า ประเทศแรกๆ ที่ให้ความช่วยเหลือชาวโซมาเลีย คือ คูเวตและซาอุดิอาระเบีย ตามมาด้วยมาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมทั้งความช่วยเหลือจากประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
นายมูรซีดี เปิดเผยว่า ประชาชนชาวโซมาเลียที่ประสบปัญหาอดอยากมากที่สุดอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของประชากรที่มีจำนวนมากขึ้น เช่น แหล่งน้ำสะอาดที่หายากมาก ทำให้แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากความหิวโหยจำนวนมาก ขณะที่การช่วยเหลือเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งของกลุ่มติดอาวุธที่มีอิทธิพลในพื้นที่