ฮัสซัน โตะดง นูรยา เก็บบุญเกิด
เกือบเที่ยงวันที่ 25 ตุลาคม 2554 นักศึกษากลุ่มหนึ่งราว 100 กว่าคนทยอยเดินลงจากรถสองแถวมุ่งหน้าไปยังหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ที่บัดนี้เหลือเพียงที่โล่งว่างเปล่าภายในรั้วกั้น เนื่องจากโรงพักถูกรื้อเพื่อสร้างใหม่
ด้านหน้าคือสนามเด็กเล่น มีพื้นที่ไม่ถึง 1 ไร่ เป็นจุดหมายปลายทางของนักศึกษาชายหญิงจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในภาคใต้กลุ่มนี้ พวกเขาเข้าไปจัดแถวยืนรอเป็นระเบียบบนผืนเสื่อที่หยิบยืมมา ต่างหันหน้าไปทางทิศตะวันตก
ตำรวจนายหนึ่งเข้ามาร่วมในแถวด้วย ส่วนทหาร ตำรวจ และชายฉกรรจ์นอกเครื่องแบบอีกหลายสิบต่างยืนมอง
สถานที่แห่งนี้เมื่อ 7 ปีที่แล้ว มีแต่คนนอนหมอบถอดเสื้อเรียงรายไปจนถึงในแม่น้ำ ก่อนหน้านั้นไม่กี่นาที ผู้คนเรือนพันต่างมาชุมนุม เรียกร้องให้ปล่อยตัวชาวบ้านที่ถูกจับ การเจรจามีขึ้นหลายครั้ง แต่ไม่เป็นผล
ไม่นานความโกลาหลเกิดขึ้น เมื่อรถดับเพลิงฉีดน้ำเข้าใส่ผู้ชุมนุมเสียงปืนดังรัวขึ้นเป็นระยะๆ อย่างน่ากลัว สิ้นเสียงปืน ผู้คนที่นอนหมอบถูกสั่งให้ถอดเสื้อ ถูกสั่งคลานขึ้นไปนอนหมอบต่อบนรถบรรทุกทหาร มีทั้งถูกผลัก ถูกดึงขึ้นรถยีเอ็มซี บางคนนอนแน่นิ่งและมีเลือดไหล
รถบรรทุกทหารขนาดใหญ่จอดเรียงรายกว่า 100 คัน แต่ละคันอัดแน่นไปด้วยผู้ชุมนุมที่อ่อนล้าจากการถือศีลอด โดยเฉพาะคันท้ายๆ ที่ออกเดินทางในช่วงตะวันกำลังจะตกดิน
โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ไกลออกไปกว่า 130 กิโลเมตร คือ ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
เป็นเหตุการณ์ที่นำมาสู่การเสียชีวิตของผู้ชุมนุมระหว่างการขนย้ายถึง 78 คน รวมกับที่สภ.ตากใบ เป็น 85 ศพ เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจให้คนในพื้นที่ รวมถึงคนต่างประเทศเป็นอย่างมาก แผ่นซีดีบันทึกเหตุการณ์ถูกนำไปเผยแพร่กระจายต่อๆ กันไป
เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ยังคงค้างคาใจคนในพื้นที่มาจนทุกวันนี้ อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ "ไฟใต้" ยังไม่สงบ
"รออีก 5 นาที ถึงเวลาเราจะละหมาดปกติก่อน จากนั้นจะละหมาดฮายัต ขอพรแก่พระเจ้า ตามด้วยการอ่านอัรวาฮ หรืออ่านบทสวดเพื่ออุทิศผลบุญแด่ผู้สูญเสีย"เสียงจากแกนนำนักศึกษาป่าวประกาศในวาระรำลึก 7 ปี เหตุสลดตากใบ
เมื่อถึงเวลา เสียงอาซานหรือ การป่าวประกาศว่าถึงเวลาละหมาดแล้ว นักศึกษาผู้ทำหน้าที่โต๊ะอิหม่าม ยืนนำหน้าเป็นผู้นำละหมาด ต่อเนื่องไปจนถึงการละหมาดฮายัตจนเสร็จ แล้วจึงให้นักศึกษาทุกคนนั่ง
ล้อมเป็นวงกลมแยกกันชายหญิง บทสวดที่มาจากโองการในคัมภีร์อัลกุรอานก็เริ่มขึ้น
การละหมาดฮายัตของกลุ่มนักศึกษาครั้งนี้นอกจากขอพรจากพระเจ้าให้ประทานสันติภาพแก่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ยังขอให้พระเจ้าดลใจให้รัฐบาลและมีผู้มีอำนาจ ยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็วด้วย
ขณะเดียวกัน นักศึกษาหญิงอีกกลุ่ม ถือป้ายข้อความที่สื่อถึงการเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 รวมทั้งกฎหมายพิเศษอื่นๆ ที่บังคับใช้ในพื้นที่
ทั้ง 2 กิจกรรมเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการ
หยุดละเมิดสิทธิมนุษยชนยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน "7 ปี รำลึกตากใบ...ละหมาดฮายัตอหิงสา"จัดโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทั้งวิทยาเขตปัตตานีและวิทยาเขตหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ทั้งหมดรวมตัวกันที่สำนักงานกรรมการอิสลามประจำจ.นราธิวาส ก่อนมุ่งหน้าสู่ สภ.ตากใบ
หลังเสร็จพิธี นายกิตติศักดิ์ ปัตตานีประธานโครงการ กล่าวว่า กิจกรรมนี้ต้องการแสดงให้เห็นว่าความรุนแรงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเท่ากับลืมความเป็นมนุษย์ พวกเราต้องการให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดสันติสุขโดยเร็ว แต่สันติภาพก็ไม่ได้มาด้วยการรอคอย
แต่ใช่ว่า 25 ตุลาคม จะเป็นวันครบรอบเหตุการณ์ 85 ศพตากใบ อย่างเดียว แต่ยังมีอีกวันที่ตรงกับวันครบรอบเหตุการณ์นี้ด้วย
ตามปฏิทินอิสลาม ซึ่งยึดตามการโคจรของดวงจันทร์ หรือจันทรคติ ทำให้มีจำนวนวันน้อยกว่าปีที่ยึดตามการโคจรของดวงอาทิตย์ หรือสุริยคติ อยู่ 11 วัน
การรำลึกเหตุการณ์ตากใบของปีพ.ศ.2554 ตามปฏิทินอิสลาม จึงตรงกับวันที่ 11 สิงหาคม 2554 หรือวันที่ 11 เดือนรอมฎอน ปีฮิจเราะห์ศักราช 1432
ในวันนี้ ซึ่งตรงกับเดือนแห่งการถือศีลอดของชาวมุสลิม กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ จึงร่วมกับเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ จัดงานทำบุญ(อัรเวาะห์) เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบเมื่อ 7 ปีที่แล้วด้วย ที่โรงเรียนตาดีกา บ้านจาเราะ ต.ไพรวันอ.ตากใบ
มุมหนึ่งของงานมีชาวบ้านอีกกลุ่ม ต่างช่วยกันทำอาหารด้วยความทุ่มเท เพื่อเลี้ยงต้อนรับทั้งร่วมกันละศีลอดสำหรับแขกผู้มาเยือน และทั้งพี่น้องร่วมชะตาชีวิตเดียวกัน
"อัรเวาะห์ ครั้งนี้ เราตั้งใจอุทิศผลบุญนี้ให้ผู้สูญเสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบทุกคน"นางแยนะ สะแลแมหรือ "ก๊ะแยนะ"ตัวแทนชาวบ้าน และผู้ได้รับผลกระทบ หญิงแกร่งผู้นำต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมเหตุการณ์ตากใบกล่าว
ลูกชายของ ก๊ะแยนะเป็นหนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาเป็นแกนนำผู้ชุมนุม ร่วมกับคนอื่นอีก 57 คน แม้คดีนี้ถูกถอนฟ้องในเวลาต่อมา แต่นั่นก็เป็นผลกระทบอย่างหนึ่ง
แม้งานนี้เป็นการรำลึกเหตุการณ์ตากใบ แต่ในงานไม่ได้มีเพียงผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบอย่างเดียว ยังมีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อื่นๆ ด้วย
น.ส.ดวงสุดา นุ้ยสุภาพเธอนับถือศาสนาพุทธ สูญเสียพ่อจากการถูกลอบยิงในปีพ.ศ.2547 จากนั้นก็สูญเสียปู่กับตาด้วยการถูกลอบฆ่าอย่างโหดเหี้ยม เมื่อปีพ.ศ.2550
ดวงสุดาเชื่อว่า เธอสามารถก้าวข้ามห้วงเวลาแห่งความทุกข์ได้ ด้วยการให้อภัย มองทุกคนในฐานะความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าผู้นั้นจะนับถือศาสนาใด ทุกคนยังคงมีทุกข์ สุข เจ็บ หรือตายเหมือนกัน
ค่ำลง เสียงอาซานดังขึ้น ได้เวลารับประทานอาหาร แต่รอมฎอนเมื่อ 7 ปีที่แล้วบางคนไม่มีแม้โอกาสได้ละศีลอด
ที่มา หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7640 หน้า 5