Skip to main content

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

ชาคริต โภชะเรือง

“วันที่ 21–24 ตุลาคม 2554 ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากบริเวณตั้งแต่ชุมพรลงไป ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15–35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และในช่วงวันที่ 25–27 ตุลาคม 2554 มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก”

เป็นข้อความรายงานสภาพอากาศภาคใต้ ที่ปรากฏในเว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ ขณะฝนปลายเดือนตุลาฯ เริ่มตกพรำ

ภาพน้ำหลากท่วมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร ปรากฏในจอโทรทัศน์และหน้าหนังสือพิมพ์มากว่า 2 เดือน กอปรกับบทเรียนเหตุการณ์น้ำท่วมหนักในจังหวัดสงขลา โดยเฉพาะอำเภอหาดใหญ่ และวาตภัยในอำเภอริมชายฝั่งทะเลเมื่อปลายปี 2553 ทำให้เกิดกระบวนการรวมตัวกันหลายภาคส่วน กระทั่งยกระดับขึ้นเป็น “ภาคีพลเมืองสงขลาเพื่อการรับมือภัยพิบัติ”

ภาคีพลเมืองสงขลาเพื่อการรับมือภัยพิบัติ ประกอบด้วย สภาองค์กรชุมชน, มูลนิธิชุมชนสงขลา, เครือข่ายสงขลาพอเพียง, เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขตพื้นที่สงขลา, สำนักงานปฎิรูป, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, สมาคมสวัสดิการภาคประชาชนจังหวัดสงขลา, โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้สุขภาวะชุมชน 23 เกลอ, โครงการความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความยากจน การพัฒนาสังคม และสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และโครงการเครือข่ายเมืองในเอเซียเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สำหรับโครงการเครือข่ายเมืองในเอเซียเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Asian Cities Climate Change Resilience Network–Thailand) ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (The Rockefeller Foundation) ดำเนินการใน 4 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย มีเมืองเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 10 เมือง ในประเทศไทยมี 2 เมืองหลักที่เข้าร่วมโครงการคือ เมืองเชียงราย และเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

โครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและความพร้อมของเมือง ในการเตรียมรับมือกับผลกระทบ หรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประสานงานกันเป็นเครือข่าย และภาคีความร่วมมือต่างๆ ในการพัฒนายุทธศาสตร์และมาตรการต่างๆ เพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเมือง และประชากรที่มีความเสี่ยง และต้องการความช่วยเหลือเป็นลำดับต้นๆ

สำหรับภาคีความร่วมมือ ประกอบด้วย สมาคมสิ่งแวดล้อมไทย, กรมชลประทาน, กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย, กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ, มูลนิธิชุมชนสงขลา, เทศบาลเมืองคลองแห, เทศบาลตำบลพะตง, เทศบาลเมืองควนลัง, เทศบาลเมืองคอหงส์, เทศบาลนครหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และหอการค้าจังหวัดสงขลา

คำบอกเล่าถึงที่มาที่ไปของความร่วมมือจากปากนายชาคริต โภชะเรือง ประธานมูลนิธิชุมชนสงขลา บอกว่า ในปี 2553 ให้ภาพของการก่อตัวได้ชัดเจนยิ่ง

ช่วงที่ผ่านมา จังหวัดสงขลาได้รับภัยพิบัติจากธรรมชาติอย่างรุนแรง สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ ภาคีความร่วมมือในจังหวัดสงขลาสรุปตรงกันว่า ควรมีประเด็นร่วมในการทำงานระดับจังหวัด นั่นคือ การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนเป็นฐาน ให้ประชาชนสามารถใช้เป็นโอกาสในการจัดการตนเองเรื่องภัยพิบัติ

เหตุการณ์ภัยพิบัติเมื่อปี 2553 พบว่าชุมชนและเครือข่ายบางเครือข่าย มีการเตรียมความพร้อมและจัดการแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว สภาองค์กรชุมชนตำบลท่าหิน ใช้ฐานสภาองค์กรชุมชนทบทวนบทเรียนพบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานรัฐ มีงบประมาณในการแก้ปัญหา แต่ไม่มีกระบวนการประสานงานกับชุมชน

“ชุมชนไม่มีการเตรียมการรับมือก่อนเกิดเหตุ การรับมือจะต้องเริ่มจากการสำรวจข้อมูล ถอดบทเรียนนำไปสู่การแก้ปัญหา ทำแผนที่ทำมือสำรวจจุดเสี่ยง กลุ่มเสี่ยง และจุดอพยพ มีการพัฒนาศักยภาพยุคลากร ด้วยการอบรมอาสาสมัครเฝ้าระวังอพยพ มีการสัมมนาซ้ำเพื่อปรับทัศนะประเด็นภัยพิบัติ จนนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นกับประชาชน” เป็นข้อสังเกตเชิงเสนอแนะจากนายชาคริต โภชะเรือง

ส่วนที่ตำบลบ่อแดง อำเภอสทิงพระ ซึ่งใช้วัดพิกุลเป็นศูนย์กลางประสานงาน ให้สภาองค์กรชุมชนเป็นผู้จัดระบบ ระดับครัวเรือนใช้อาสามัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) คอยช่วยเหลือ มีการสื่อสารผ่านสื่อชุมชน

หมู่ที่ 2 ตำบลทุ่งหวัง ช่วยตัวเองด้วยการจัดตั้งกองกลางระดับหมู่บ้าน 3 วัน มีไฟฟ้า น้ำ มีโรงครัวกลาง ใช้ไม้ฟืน น้ำมัน นำแบตเตอรี่รถยนต์มาปั่นไฟ เป็นต้น

ชุมชนเมืองหาดใหญ่ ร่วมกับโครงการเครือข่ายเมืองในเอเชียเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พัฒนากลไกเชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น วิชาการ ประชาชน จัดทำแผนชุมชนเพื่อรับมือภัยพิบัติ ทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ ไปจนถึงหลังเกิดเหตุ พร้อมกับจัดทำคู่มือระดับครัวเรือนออกแจกจ่าย

อำเภอจะนะ มีการจัดตั้งเครือข่ายคนรักษ์จะนะช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากภัยน้ำท่วมในตลาดจะนะ เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ มีการต่อรองเชิงนโยบายให้ปรับแนวทางการพัฒนาที่จะนำไปสู่การขุดคลองจากนาทวี–จะนะ 7 สาย สร้างเขื่อนนาปรัง ผลจากการสำรวจข้อมูลนำไปสู่การปรับแนวทางการต่อสู้ ไปเป็นการต่อสู้ในเชิงนโยบายว่าด้วยประเด็นสิทธิของชุมชน รวมทั้งขอคำปรึกษาและประสานงานกับนักวิชการผังเมืองมาวางแผนการจัดการพื้นที่รับน้ำ

  ส่วนในระดับองค์กร เช่น สมาคมอาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สงขลา กระทรวงสาธารณสุขกระตุ้นผ่านบทเรียนที่ได้รับจากในพื้นที่ มีนวตกรรมทำเครื่องวัดน้ำฝนแบบง่ายๆ โดยใช้ขวดน้ำเปล่า 600 cc ตัดปากขวดออก ตั้งที่โล่งวัดน้ำ 2 ชั่วโมง หากเกิน 7 เซนติเมตร เป็นสัญญาณว่าน้ำท่วมแน่ ถึงตอนนี้ทางสมาคมฯ ก็ต้องปรับตัวเฝ้าระวังน้ำท่วม

มูลนิธิชุมชนสงขลา จัดทำกองบุญฟื้นฟูชีวิตผู้ประสบภัย ร่วมจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านอาหารและวัสดุอื่นๆ ให้กับชุมชนพื้นที่ โดยศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาชุมชนชาวเกาะบก มีการจัดตั้งกองบุญฟื้นฟูชีวิตผู้ประสบภัยจังหวัดสงขลา โดยมูลนิธิชุมชนสงขลา การช่วยเหลือตนเองของชุมชนในพื้นที่เขารัดปูน เชิงแส การจัดระบบวิทยุชุมชนและวิทยุสื่อสาร การจัดความสัมพันธ์ที่ต้องพึ่งพากันของกลุ่มวิทยุอินทรี และกลุ่มวิทยุเครื่องแดงของกองทัพภาค 4 เป็นต้น

ต่อมา จึงมีการรวมตัวของภาคีพลเมืองสงขลาเพื่อการรับมือภัยพิบัติ โดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนตั้งแต่ขั้นวางแผนงาน วิเคราะห์ความเสี่ยง ปฏิบัติงาน ตรวจสอบประเมินผล ครอบคลุม ระยะก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย และหลังเกิดภัย

ทั้งนี้ในการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอน จะต้องได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคราชการ ทำหน้าที่ให้การสนับสนุนชุมชน จนสามารถลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติให้ได้มากที่สุด

ถึงกระนั้นนายชาคริต โภชะเรือง ยังมองว่า แนวทางการรับมือภัยพิบัติโดยชุมชนเป็นฐาน ในจังหวัดสงขลา ควรจัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงภัย แผนที่พื้นที่ปลอดภัยเพื่อรองรับการอพยพ มีการประเมินโอกาสหรือความเป็นไปได้ที่จะเกิดอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม รวมทั้งศึกษาวิธีลดผลกระทบ และมีการสรุปบทเรียนเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการในอนาคต

“ภาคีพลเมืองสงขลาเพื่อการรับมือภัยพิบัติ จะทำหน้าที่ประสานงานหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ความช่วยเหลือชุมชนที่เดือดร้อนจริงๆ ลดการปฏิบัติงานซ้ำซ้อนของหน่วยงานต่างๆ ไม่ให้เหมือนอย่างที่เคยเป็นมา”

เป็นความคาดหวังที่หล่นออกมาจากปากของนายชาคริต โภชะเรือง ที่กำลังวุ่นวายอยู่กับการเตรียมรับมือภัยพิบัติ ในฤดูมรสุมนี้.