Skip to main content

อารีด้า สาเม๊าะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

นิติภูมิ เนาวรัตน์

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2554 ที่ห้องน้ำพราว โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี ชมรมสหกรณ์ระดับจังหวัดปัตตานีและองค์การบริหารตำบลสายบุรี จังหวัดปัตตานี จัดการบรรยายพิเศษ เรื่อง คุยกับนิติภูมิ “เบิกฟ้า ก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC 2015)” โดยร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ เนาวรัตน์ คอลัมนิสต์ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ บรรยายว่า อาเซียนที่กำลังจะกลายเป็นประชาคมในปี 2558 จะส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศสมาชิกเปลี่ยนไปมาก การค้าขาย การบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือจะเป็นไปอย่างเสรี รวมถึงการลดภาษี ซึ่งอาชีพที่จะสามารถเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีฝีมือได้เลยคือ อาชีพวิศวกร นักสำรวจ สถาปนิก แพทย์ ทันตแพทย์ นักบัญชี และอีกอาชีพที่น่าสนใจมากที่สุดคือ นางพยาบาล ที่ตนส่งเสริมให้เด็กไทยเรียนมากที่สุด

ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ กล่าวอีกว่า แม้การเปิดเสรีอาเซียนจะเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะสามารถค้าขายในทุกที่ของประเทศอาเซียนได้ แต่นั่นก็หมายถึงสมาชิกอื่นของอาเซียนก็มีโอกาสเช่นกัน ฉะนั้นสิ่งที่ต้องเตรียมคือศักยภาพด้านฝีมือและภาษาที่จะใช้ในการสื่อสารระหว่างคนส่วนใหญ่ในอาเซียน นั่นคือภาษามลายูและภาษาอังกฤษ ซึ่งคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นกลุ่มที่ได้เปรียบที่สุดของประเทศไทย เป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพมากที่สุดในการช่วงชิงโอกาสในเวทีอาเซียนโดยเฉพาะในเรื่องของเศรษฐกิจ

“ผมเจอนักเรียนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 คน ไปเรียนต่อด้านศาสนาอิสลามที่ประเทศอินโดนีเซีย แล้วพัฒนาทักษะด้านภาษาอินโดนีเซีย ผนวกกับสามารถสื่อสารภาษาถิ่นของอินโดนีเซียได้ ปัจจุบันประกอบอาชีพเป็นล่ามในเรือลำเลียงสินค้า มีรายได้ประมาณ 2 – 3 แสนบาทต่อเดือน ซึ่งคนไทย 2 กลุ่มเท่านั้นที่จะสามารถทำงานประเภทนี้ได้ คือคนไทยที่สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ และคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สามารถสื่อสารด้วยภาษามลายูได้” ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ กล่าว

ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ กล่าวต่ออีกว่า ผู้ปกครองท่านใดที่กำลังจะส่งลูกหลานเรียนยังประเทศในแถบตะวันตก อยากให้ลองคิดใหม่ เพราะความได้เปรียบของเด็กที่เรียนในแถบอาเซียนจะมีงานรองรับมากกว่า ยิ่งการเปิดการค้าเสรีที่จะมีทำให้ความต้องการทั้งด้านแรงงานสูงมาก โดยเฉพาะแรงงานของประเทศไทยที่มีคุณภาพสูง อาจจะเป็นโอกาสที่ดีกว่า ทั้งนี้ต้องประเมินอนาคตด้วยว่า ความรู้ที่ได้จากการเรียนจากต่างประเทศมีงานรองรับหรือไม่ ซึ่งนักเรียนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เรียนจบจากประเทศอินโดนีเซียจะได้เปรียบมากกว่าเรียนจบจากที่อื่น

ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ กล่าวด้วยว่า แม้จะมีการเปิดเสรีการค้า ที่ทำให้เพดานภาษีสินค้าลดลงเท่ากับศูนย์ แต่ประเทศสมาชิกอาเซียนยังสามารถปกป้องสินค้าหลักของตัวเองได้ โดยการตั้งเพดานภาษีที่สูงเพื่อปกป้องการนำเข้าในสินค้าบางรายการ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ แบบ High sensitive list หรือสินค้าอ่อนไหวสูง เช่น ประเทศอินโดนีเซียยังคงตั้งเพดานภาษีข้าวนำเข้าที่สูงอยู่ เพราะต้องการป้องกันการแข่งขันกับข้าวในประเทศ

ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมามีการเจรจาต่อรองเพื่อให้แต่ละประเทศตกลงในข้อจำกัดนี้ ซึ่งสินค้าในหมวดความอ่อนไหวของประเทศไทย ที่ตัวแทนไปเจรจาต่อรองนั้น คือมันฝรั่ง ไม้ตัดดอก กาแฟและเนื้อมะพร้าว ซึ่งตนมองว่า ยังไม่สามารถเชื่อได้ว่า ประเทศไทยจะได้เปรียบจากการกำหนดเพดานภาษีสินค้าดังกล่าว ซึ่งยังไม่ใช่สินค้าที่ควรจะต่อรอง ทั้งนี้เกิดจากตัวแทนประเทศไทยยังไม่ใช่บุคคลที่เหมาะสมในการต่อรอง ไม่เข้าใจในสภาพปัญหาของสินค้าเกษตรแต่ละประเภท ทำให้เรียงลำดับความสำคัญไม่ถูกต้อง