Skip to main content

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

รถแทร็คเตอร์ รถบด และแรงงานกำลังทำงานปรับปรุงถนนหมายเลข 4186 ทางเข้าตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช กลางสายฝนที่ตกค่อนข้างหนักคราคร่ำไปด้วยโคลนดิน สองข้างทางปรากฏตลิ่งคลองพังทลายฉีกกว้างประหนึ่งแม่น้ำ ซากไม้ซุง หินก้อนน้อยใหญ่เรียงรายสะเปะสะปะ มีกระแสน้ำไหลเซาะผ่านช่องว่างแคบๆ

“พี่เล็ก” นายอนนท์ พานปลอด ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังภัย ขับรถยนต์ลัดเลาะไปตามเชิงเขาที่มีรอยปริพร้อมถล่มทุกเวลา ผ่านถนนและสะพานที่เคยขาดหลายแห่ง ซึ่งถูกปรับปรุงให้พอสัญจรได้เฉพาะหน้า รถยนต์ทะยานมุ่งไปสู่บ้านห้วยตง และบ้านทับน้ำเต้า 2 หมู่บ้าน ที่ประสบเหตุภัยพิบัติดินโคลนถล่มหนักที่สุดในพื้นที่กรุงชิง นบพิตำ

บริเวณฝายน้ำล้นที่ถูกทับถมด้วยเศษหิน ชาวบ้านจำนวนหนึ่งกำลังช่วยกันแข็งขันที่จะสร้างขึ้นมาใหม่แทนฝายเดิม เพื่อนำน้ำมาใช้สำหรับอุปโภค บริโภคเช่นเดิม ก่อนที่จะกลับมานั่งพักผ่อนพูดคุย สูบใบจากผ่อนคลาย ครั้นเมื่อทุกคนเห็นพี่เล็ก ซึ่งเป็นคนที่นำอุปกรณ์วิทยุสำหรับสื่อสาร อาหารการกิน ข้าวของเครื่องใช้ ทุกคนต่างทักทาย

นคร

จากซ้ายไปขวา นายเศวต พรหมอินทร์ นายแหล่ ตองติดรัมย์ นายลิขิต ไชยเพ็ชร์ นายอนนท์ พานปลอด

“มาอีกแล้วเหรอ แสดงว่าใกล้จะเกิดเหตุการณ์อีกแล้วใช่ไหม เรายังกลัวไม่หายเลย” นายลิขิต ไชยเพ็ชร์ ชายวัยดึกผมขาวโพลน ทักทายด้วยอากัปกิริยาล้อเล่นพลางหัวเราะ

ก่อนที่พี่เล็กจะถามนายเศวต พรหมอินทร์ ผู้ใหญ่บ้านห้วยตงว่าเตรียมรับมือภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างไร

“เราถางป่าสร้างสนามบินแล้ว ใช้เป็นลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ชาวบ้านไปซื้อข้าวสาร อาหารของกินและน้ำดื่มมาตุน เตรียมเครื่องปั่นไฟไว้ใช้ในยามฉุกเฉินแล้ว” นายลิขิต แย่งตอบ

 “ตอนนี้ชาวบ้านสื่อสารด้วยวิทยุเฝ้าระวังภัยที่อาจเกิดขึ้น ประสานงานกับวิทยุแม่ข่ายที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีการฝึกซักซ้อมการรับมือภัยพิบัติ ถ้าฝนตกติดต่อกัน 3 ชั่วโมง เราจะไปรวมตัวกันที่ศาลาประจำหมู่บ้านห้วยตง หรือไม่ก็ที่สำนักสงฆ์บ้านทับน้ำเต้าทันที ขณะนี้ชาวบ้านต้องการอุปกรณ์กู้ชีพ อาทิ เสื้อชูชีพ เชือก เพราะแนวดินถล่มเดิมก็ทำท่าจะถล่มอยู่แล้ว ฝนตกแค่ห่าเดียวก็เป็นเรื่อง” นายเศวตร บอกถึงการเตรียมตัวและความต้องการของชาวบ้าน

ข้อมูลจากว่าที่ร้อยตรีกำพล จิตตะนัง ผู้ประสานงานศูนย์จัดการภัยพิบัติพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชระบุว่า ศูนย์จัดการภัยพิบัติพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดตั้งขึ้นเพื่อประสานงานกับชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ ตั้งอยู่ที่อาคารวิจัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

“เบื้องต้นเราต้องการให้ชุมชนพึ่งพาตัวเองก่อน หากเกินความสามารถค่อยประสานงานมายังศูนย์ แจ้งความต้องการให้ช่วยเหลืออะไรบ้า ศูนย์จะประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่มีศักยภาพในการให้ความช่วยเหลือด้านนั้นๆ เพื่อลดปัญหาความช่วยเหลือซ้ำซ้อน” ว่าที่ร้อยตรีกำพล กล่าว

 

ในส่วนของโครงการจัดทำความพร้อมเพื่อรับมือภัยพิบัติ ว่าที่ร้อยตรีกำพลบอกว่า ประกอบด้วย งานเฝ้าระวังภัยพิบัติ โดยประมวลองค์ความรู้ นำความรู้ออกเผยแพร่ และบริการข้อมูลสารสนเทศผ่านเว็บไซต์ ซึ่งกำหนดเปิดไปแล้ว เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 จะมีการให้ข้อมูลกับชาวบ้านชุมชนต่างๆ ผ่านสถานีวิทยุของศูนย์ฯ เชื่อมต่อกับวิทยุชุมชนหลายแห่ง ออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์ออนไลน์ และเว็บไซต์เครือข่ายของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และเครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังภัยผ่านวิทยุสื่อสาร ที่จะออกมาให้ข้อมูลพื้นที่ต่างๆ เป็นระยะ

“มีการจัดทำความพร้อมเพื่อรับมือภัยพิบัติโดยให้ชุมชนจัดทำแผนงานรับมือในระดับชุมชน มีการซักซ้อมแผนกับป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช”

ในส่วนขอศูนย์ประสานงานฯ ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทำหน้าที่ประสานงานกับภาคีความร่วมมือต่างๆ ประกอบด้วย อาสาสมัครเฝ้าระวังและกู้ภัย นักวิชาการ สื่อมวลชน ภาคเอกชน ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน มีโจทย์ร่วมกันคือ ระหว่างตุลาคม 2554–มกราคม 2555 ต้องไม่มีคนเสียชีวิตจากเหตุภัยพิบัติในจังหวัดนครศรีธรรมราช

สำหรับโครงสร้าง ประกอบด้วย ทีมประสานงานกลาง ข้อมูลและสารสนเทศ เป็นหน้าที่ของศูนย์ฯ ทีมสื่อในส่วนนนี้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสได้จัดอบรมนักข่าวพลเมืองเตรียมรับมือภัยพิบัติ ทั้งยังมี MMC สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม TNews วิทยุชุมชน และนักข่าวอาสาภาคชาวบ้านเข้าร่วมด้วย

ในส่วนของทีมสุขภาพ มีกลุ่มอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านพยาบาล สาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลมหาราช อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทีมภาคสนาม ประกอบด้วย ทหารจากกองทัพภาคที่ 4 กองกำกับการตำรวจตระเวณชายแดนที่ 42 ฝ่ายครัว ประกอบด้วย กลุ่มแม่ค้าร้านข้าวแกงชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์ และชุมชนอ่าวท่าศาลา

ทีมกู้ภัย ช่วยชีวิต มีอาสาสมัครจัดการภัยพบัติจาก 35 พื้นที่ มูลนิธิประชาร่วมใจ หน่วยรถกู้ภัยใต้เต็กทุ่งสง อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ทีมกระจายอาหาร ส่วนทีมเฝ้าระวังเตือนภัย มีสถานีศูนย์วิทยุเฝ้าระวังภัย ศูนย์อุตุนิยมวิทยา รับผิดชอบ

ทีมศูนย์อพยพ ประกอบด้วย ศูนย์ฯ ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ วัดป่ายาง องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะทวด อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ทีมพื้นที่ มีอาสาสมัครในพื้นที่ ทีมวิชาการ ได้แก่ศูนย์บริการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ฯลฯ

วันนี้ฝนเริ่มตกลงมาแล้ว หนักบ้างเบาบ้าง โจทย์ไม่มีคนเสียชีวิตจากเหตุภัยพิบัติในจังหวัดนครศรีธรรมราช กลายเป็นเรื่องท้าทายความสามารถของคนเมืองคอนโดยแท้

 

 

 

กำพล จิตตะนัง

กำพล จิตตะนัง