Skip to main content

นูรยา เก็บบุญเกิด โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

เมื่อเวลา  14.00 น.–17.00 น. วันที่ 3 พฤศจิกายน 2554 ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดปัตตานีหลังใหม่ มีการประชุมการเตรียมการป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัย ในพื้นที่เสี่ยงภัยและพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดปัตตานี ครั้งที่ 1/2554 มีว่าที่ร้อยตรีเลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธาน มีตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายอำเภอทุกอำเภอ และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้าร่วมกว่า 100 คน

นายพิชัย วงษ์แปลง ผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมปัตตานี แจ้งต่อที่ประชุมว่า ตลอดปี 2554 ในพื้นที่ความรับผิดชอบมีฝนตก 145 วัน คิดเป็นปริมาณน้ำฝน 1.452.8 มิลลิเมตร มีค่ามาตรฐานอยู่ที่ 1.914.1 มิลลิเมตร รวมตลอดทั้งปีมีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าค่าน้ำฝนปกติประมาณ 461.3 มิลลิเมตร หลังจากนี้จะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นอีก 550–750 มิลลิเมตร คาดว่าภาพรวมปี 2554 ปริมาณน้ำฝนจะสูงกว่าปกติเล็กน้อย ส่วนปรากฎการณ์เอลนีโญและลานีญา มีความเป็นไปได้ที่จะอยู่ในภาวะปกติ หรืออาจจะกลับไปเป็นภาวะลานีญาได้อีกในช่วงปลายปี 2554 หรือต้นปี 2555 สำหรับความรุนแรงของอุทกภัย จะอยู่ในระดับเบาถึงปานกลาง โดยจะอยู่บริเวณพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำปัตตานี แม่น้ำสายบุรี และพื้นที่น้ำท่วม

“ข้อควรระวังคือ เดือนพฤศจิกายน 2554 และเดือนธันวาคม 2554 อาจมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้ตอนล่าง และทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุหมุนเขตร้อน หรืออาจจะถึงขั้นพายุดีเปรสชั่น พายุโซนร้อนหรือไต้ฝุ่น ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2554 เป็นต้นไป ให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัดปัตตานี โดยเฉพาะพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำและเชิงเขา เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง และน้ำป่าไหลหลาก” นายพิชัย กล่าว

นายแวมามุ  แวหะมะ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานปัตตานี แจ้งต่อที่ประชุมว่า ระยะเวลาเคลื่อนตัวของน้ำในแม่น้ำปัตตานีอยู่ที่ 72 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำในลุ่มน้ำปัตตานีอยู่ที่ 0.74 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 120 เมตร ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำในลุ่มน้ำสายบุรีอยู่ที่ 0.7 เมตร ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 2.90 เมตร ขณะนี้โครงการชลประทานได้เตรียมเครื่องสูบน้ำไว้ที่คลองสามัคคี และคลองเขตเทศบาลเมืองปัตตานีแล้ว

นายอนุรักษ์  ธีระโชติ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี แจ้งต่อที่ประชุมว่า ลุ่มน้ำปัตตานีมีความยาว 210 กิโลมตร โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานีมีความสามารถในการระบายน้ำ 1,100 เมตรต่อวินาที หากระดับน้ำยิ่งต่ำpbj’ทำให้การเดินทางของน้ำช้าลง นอกจากนี้การเลี้ยงปลาในกระชัง และเรือยนต์บางประเภทก็เป็นอุปสรรคในการเดินทางของน้ำ เพราะไปขวางเส้นทางการไหลน้ำ

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานีกำลังเฝ้าระวังการเกิดพายุ ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2554 และหากเกิดฝนตกติดต่อกันเป็นระยะเวลา 2 วัน จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 500 เมตร” นายอนุรักษ์ กล่าว

นางชไมพร   ขวัญทอง พาณิชย์จังหวัดปัตตานี ได้ขอความร่วมมือจากที่ประชุมว่า หากพบเห็นหรือประสบปัญหาการจำหน่ายสินค้าเกินราคา และการกักตุนสินค้าในช่วงอุทกภัย ให้แจ้งไปที่สายด่วน 1569 หรือ 073–336245, 073–337786, 089–9799819 และ089–9674719 ผู้กระทำผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท

ว่าที่ร้อยตรีเลิศเกียรติ แจ้งต่อที่ประชุมว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปัตตานี รับผิดชอบในการป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ติดต่อได้ที่ศาลากลางจังหวัดปัตตานี หมายเลขโทรศัพท์ 073–333208 สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขอให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มในท้องถิ่นนั้นๆ จัดเวรยามเฝ้าระวัง สำรวจพื้นที่เสี่ยงภัย จัดทำฐานข้อมูลจุดที่เกิดน้ำท่วมประจำ สำรวจอุปกรณ์ หรือยานพาหนะ เตรียมรองรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ เช่น เรือท้องแบน หรือเครื่องยนต์ ถ้าไม่มีเรืออาจเตรียมแพ หรือหารถแทร็คเตอร์ หรือรถไถนาเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงกำหนดจุดอพยพ โดยจัดตั้งศูนย์พักพิงในพื้นที่ใกล้ที่สุด สะดวกและปลอดภัยที่สุดแก่ผู้ประสบภัย

“สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ผมได้มอบหมายให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จัดตั้งคณะทำงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยไม่ให้มีการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน พร้อมกับมอบหมายให้สำนักงานเทศบาลแต่ละพื้นที่ จัดหานักประดาน้ำคอยช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่จมน้ำด้วย” ว่าที่ร้อยตรีเลิศเกียรติ กล่าว