Skip to main content

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

ประมาณ 10 วัน นับตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2554 อันเป็นวันครบรอบ 7 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส เกิดเหตุไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ต่ำกว่ากว่า 86 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 21 คน บาดเจ็บ 98 ราย

เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ขณะใกล้ถึงวันอีดิ้ลฮัฎฮา อีกวันสำคัญทางศาสนาอิสลาม ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 6 พฤศจิกายน 2554

ห้วงเดียวกันนั้น มีปรากกฎการณ์หลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเปลี่ยนตัวเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือศอ.บต. จากนายภาณุ อุทัยรัตน์ ไปเป็นพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2554

การออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้กันอย่างคึกคักของกลุ่มองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่

 

อ.ต.ร.1

อ.ต.ร.

 

หนุนต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

 

mac

ค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

 

 

คัดค้านพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ปัจจุบัน พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกประกาศใช้ในจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาสเป็นครั้งที่ 25 แล้ว โดยมีอายุการใช้ครั้งละไม่เกิน 3 เดือน ครั้งล่าสุดประกาศใช้ระหว่างวันที่ 20 กันยายน 2554–วันที่ 19 ธันวาคม 2554

ที่ผ่านมา การใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2550 อันเป็นกฎหมายพิเศษที่ฝ่ายรัฐใช้แก้ปัญหาความไม่สงบ ถูกต่อต้านจากหลายกลุ่มองค์กร เนื่องจากเห็นว่าเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจหน้ามิชอบละเมิดสิทธิผู้ถูกควบคุมตัว จนนำมาสู่การบาดเจ็บ พิการ เสียชีวิต และสูญหายของผู้ถูกควบคุมตัวมาแล้วหลายคน

หนึ่งในองค์กรที่เป็นหัวหอกหลักในการคัดค้านพ.ร.ก.ฉุกเฉินคือ “มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม” องค์กรให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งรับเป็นทนายความให้กับจำเลยในคดีความมั่นคง ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

การเคลื่อนไหวคัดค้านพ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างคึกคักครั้งล่าสุด มีขึ้นหลังจากมีการควบคุมตัวนายนิเซ๊ะ นิฮะ อายุ 43 ปี อดีตนักกิจกรรมนั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เคยผ่านการเคลื่อนไหวหญ่ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อปี 2535

นายนิเซ๊ะ นิฮะ ควบคุมตัวจากโดยทหารกลุ่มหนึ่ง ณ บ้านพัก เลขที่ 32/5 หมู่ที่ 3 ตำบลตะลุโบะ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ตอนเช้าวันที่ 16 กันยายน 2554 อ้างว่าเป็นการใช้อำนาจภายใต้กฎอัยการศึก

จากนั้น นายนิเซ๊ะถูกนำตัวไปควบคุมที่ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี จนเกือบครบ 7 วัน วันที่ 22 กันยายน 2554 นายนิเซ๊ะก็ถูกตำรวจสถานีตำรวจภูธรกะพ้อ อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี ขอควบคุมตัวต่อตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และถูกย้ายไปควบคุมตัวที่ศูนย์พิทักษ์สันติ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ โรงเรียนตำรวจภูธร 9 จังหวัดยะลา

ระหว่างที่ถูกควบควบคุมตัวที่ศูนย์พิทักษ์สันติ นายนิเซ๊ะเขียนจดหมายด้วยลายมือลงส่งให้ญาตินำออกมาเปิดเผยต่อสังคม

เป็นจดหมายที่มีร่องรอยพับจนเป็นกระดาษแผ่นเล็ก พร้อมลงลายมือชื่อ ระบุวันที่ 1 ตุลาคม 2554 มีเนื้อหาว่า “ข้าพเจ้านายนิเซ๊ะ นิฮะ ยังมีสติสมัญชญะดี ร่ายกายแข็งแรง หลังจากนี้ถ้าหากมีอะไรในกระบวนการซักถามในชั้น พ.ร.ก. ข้าฯ นายนิเซ๊ะ นิฮะ จะไม่ให้การใดทั้งสิ้น นอกจากจะยืนยันคำให้การเดิม ถ้าหากเกิดอะไรขึ้นแก่ข้าฯ ไม่ว่าร่างกายหรือชีวิต หรือกรณีใดก็ตาม ข้าฯ ขอเขียนหนังสือนี้เป็นลายลักษณ์อักษรไว้เป็นหลักฐาน เพื่อดำเนินการต่อไป”

พร้อมคำทิ้งท้าย “ขอคัดค้านพ.ร.ก.”

เมื่อจดหมายของนายนิเซ๊ะ ถูกนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ กลุ่มองค์กรภาคประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 17 องค์กร ซึ่งต่อมารวมตัวจัดตั้งเป็นเครือข่ายประชาสังคมคัดค้านพ.ร.ก.ฉุกเฉิน นำโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้ออกแถลงการณ์มีข้อเรียกร้องสำคัญ ให้รัฐบาลยกเลิกการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ต่อมา วันที่ 4 ตุลาคม 2554 เจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวนายนิเซ๊ะ ก่อนถึงวันที่ศาลจังหวัดปัตตานี นัดไต่สวนการควบคุมตัวโดยมิชอบ ตามที่ทนายจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและญาติได้ยื่นคำร้องคัดค้านการควบคุมตัวต่อศาล ในวันที่ 5 ตุลาคม 2554

วันต่อมา นายสุทธิพงศ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เปิดแถลงข่าวถึงผลกระทบจากการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยมีนายนิเซ๊ะ ร่วมแถลงด้วย เนื้อหาระบุว่า มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้รับร้องเรียนเรื่องผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษของเจ้าหน้าที่รัฐ จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2554 ทั้งสิ้น 2,338 เรื่อง มีผู้ร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมาน 282 เรื่อง

ขณะที่คดีความมั่นคงที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมเป็นทนายจำเลยมีทั้งสิ้น 495 เรื่อง เป็นคดีที่ศาลพิพากษาแล้ว 122 เรื่อง

เป็นคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษ 33 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 27.04

เป็นคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้อง 87 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 72.95

ขณะที่องค์กรเครือข่ายอย่างกลุ่มบัณฑิตอาสาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (INSOUTH) จัดมีกิจกรรมรณรงค์เรียกร้องให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างต่อเนื่อง นับตั้งกิจกรรม “เตะพ.ร.ก.” Say No Emergency Decree โดยมีผู้ร่วม 80 คน ที่สนามฟุตบอลนานาชาติหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2554

จากนั้นวันที่ 22 ตุลาคม 2554 จัดคาราวานรถโบราณ รณรงค์คัดค้านพ.ร.ก.ฉุกเฉิน “Classis Rally Say no Emergency Decree” ตระเวนไปตามเส้นทางต่างๆ ในจังหวัดปัตตานี ผ่านอำเภอยะรัง อำเภอมายอ อำเภอปะนาเระ อำเภอสายบุรี อำเภอยะหริ่ง สุดท้ายปลายทางที่บ้าน InSouth อำเภอเมืองปัตตานี มีรถโบราณเข้าร่วมประมาณ 100 คัน

ในคาราวานนี้ มีกลุ่ม INSouth Junior เครือข่ายเยาวชนระดับมัธยมศึกษา ที่มีบทบาทคณะกรรมการนักเรียนของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ในจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดสงขลา เข้าร่วมด้วย

นายกริยา มูซอ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กล่าวว่า การจัดคาราวานรถโบราณ เป็นการรณรงค์ให้ประชาชนระดับรากหญ้าได้รับรู้ว่า ขณะนี้มีคนชั้นกลางและชาวบ้านจับมือกันออกมาคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว

ครั้นถึงวันครบรอบ 7 ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส วันที่ 25 ตุลาคม 2554 สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดโครงการหยุดละเมิดมนุษยชนยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “7 ปี รำลึกตากใบ……ละหมาดฮายัตอหิงสา” ที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ

ต่อเนื่องไปจนถึงการจัดเวทีสาธารณะ วาระประชาชน : ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2554 ที่ห้องห้องประชุมอาคารวิทยนานาชาติ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ของเครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เป็นเวทีที่มีนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมกว่า 1,500 คน ไฮไลท์ของเวทีอยู่ในช่วงบ่ายที่เชิญผู้ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 5 คนมาเล่าเหตุการณ์ที่ตนเองประสบ ประกอบด้วย นายนิเซ๊ะ นิฮะ นายสักรี สาและ ผู้ถูกควบคุมตัวพร้อมกับอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ที่เสียชีวิตระหว่างการควบคุมของทหาร และนายสุกรี อาดัม เป็นต้น

 

รัฐย้ำยังจำเป็นต้องใช้

ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งพ.อ.ปริญญา ฉายดิลก โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 4 และพ.ต.อ.ชอบ คิสาลัง รองผู้บังคับการสอบสวนสืบสวน ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างยืนยันถึงความจำเป็นของรัฐที่ยังต้องการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อที่ประชุมสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2554 ที่ห้องประชุม 1 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้จังหวัดยะลา

พ.อ.ปริญญา ระบุว่า พระราชกำหนดฉบับนี้เป็นเครื่องมือสำคัญของฝ่ายความมั่นคง ในการต่อสู้กับฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบ เนื่องจากสามารถเชิญตัวมาซักถามและปล่อยตัวได้เลย ถ้ากฎหมายอาญาปกติ เมื่อมีการเชิญตัวต้องแจ้งข้อหา แทนที่เรื่องจะยุติแค่การพูดคุย ก็ต้องดำเนินคดีตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด ทำให้เยิ่นเย้อเสียเวลา ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชาวบ้านมากกว่า

พ.ต.อ.ชอบ ให้ความเห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังจำเป็นต้องใช้ เพราะผลจากการเชิญตัวที่ผ่านมา ทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวร่วมเยอะมาก ขณะที่การจับกุมดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา ค่อนข้างทำได้ลำบาก เพราะขาดพยานหลักฐาน เนื่องจากไม่ใครยอมเป็นพยานให้กับพนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ผู้ถูกจับกุม ถูกตัดสินปล่อยตัวเป็นส่วนใหญ่ ตนยืนยันว่าผู้ที่ถูกดำเนินคดี ล้วนแต่จับกุมถูกตัวทั้งสิ้น

 

ความรุนแรงรับ 7 ปีตากใบ

ทว่า ขณะที่การเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรต่างๆ เป็นไปอย่างเข้มข้น เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ก็พุ่งสูงตามไปด้วย

ก่อนถึงวันครบรอบ 7 ปีตากใบ เพียง 2 วัน เกิดเหตุระเบิดร้านมินิมาร์ท 2 จุด ในอำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส และเหตุยิงถล่มจุดตรวจบ้านยะกัง ในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส มีผู้เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บสาหัส 8 ราย ส่วนผู้ก่อเหตุเสียชีวิต 1 คน ถือเป็นเหตุการณ์ใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

กระทั่งถึงวันครบรอบ 25 ตุลาคม 2554 ตั้งแต่ช่วงค่ำวันนั้น เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิด 21 ลูก ในเขตเทศบาลนครยะลา ตั้งแต่เวลาประมาณ 18.30 – 23.00 น. แต่สามารถเก็บกู้ได้ 5 ลูก มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 50 คน อาการสาหัส 15 ราย เสียชีวิต 3 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ก่อเหตุ 2 ราย ยังไม่นับรวมเหตุการณ์อื่นๆ อีกประปราย

ส่วนในพื้นที่รอบนอก พบใบปลิวจำนวนมาก มีข้อความว่า “เผามัสยิดกรือแซะ หะยีสุหลง ตากใบ อีหม่ามยะผา ไอร์ปาแย บ้านกาโสด ฆ่าเยาวชนด้วยอาวุธหนัก 4 X 100 ฆ่าผู้นำชุมชน วางระเบิดกุโบร์โต๊ะอาเย๊าะและอีกมากมาย” ส่วนอีกแผ่นเขียนว่า “ตากใบ 25/10/2004 อุสตาซ ครูสอนศาสนา นักเรียน นักศึกษา ประชาชน”

ถัดมาวันที่ 30 ตุลาคม 2554 เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดใน 6 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส รวม 14 จุด ตั้งแต่เวลา 17.50 น.–18.20 น. รวมเกิดเหตุระเบิด แต่ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต แยกเป็นเหตุระเบิด 9 จุด ลอบวางเพลิง 4 จุด และยิงหม้อแปลงไฟฟ้า 1 จุด

แน่นอนว่า หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ยังได้ใช้กฎอัยการศึก และพ.ร.ก.ฉุกเฉินในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไปแล้วหลายราย

ขณะที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจจังหวัดยะลา แจ้งเตือนเครือข่ายภาคประชาชนและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ให้เฝ้าระวังการก่อเหตุร้ายของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบภายในบริเวณเขตชุมชนย่านการค้า ย่านชาวไทยพุทธในตัวเมืองยะลา ระหว่างวันที่ 6–12 พฤศจิกายน 2554 ซึ่งเป็นช่วงเฉลิมฉลองเทศกาลวันรายอฮัจญ์ของมุสลิม

ส่วนในจังหวัดปัตตานี หน่วยข่าวความมั่นคงแจ้งเตือนว่า กลุ่มก่อความไม่สงบเตรียมก่อเหตุในอำเภอมายอ อำเภอยะหริ่ง อำเภอกะพ้อ และอำเภอสายบุรี โดยเตรียมระเบิดไว้แล้ว 30 ลูก ทั้งชนิดแสวงเครื่องแบบตั้งเวลา ชนิดกด ชนิดเหยียบ และชนิดซุกในรถจักรยานยนต์

นอกจากนี้ มีรายงานอีกว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้เข้ามาสำรวจพื้นที่เป้าหมายลอบวางระเบิด 8 จุด ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี เป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบชุดใหม่กว่า 20 คน มาจากพื้นที่รอยต่อระหว่างอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานีกับอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา

 

บุกสำนักงานโจมตีศูนย์ทนายมุสลิม

ขณะเดียวกัน การออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และองค์กรเครือข่ายก็ถูกท้าทาย จากกลุ่มตนที่อ้างว่ามาจาก “องค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ” หรือ อ.ต.ร. นำโดยนายพิทักษ์นิติภูมิ ดอเหะ อ้างว่าเป็นผู้ช่วยประธานใหญ่องค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (อ.ต.ร.) เดินทางมายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2554

พร้อมกับยื่นนามบัตร ระบุว่า ทำหน้าที่ผู้ประสานงานฝ่ายจัดตั้ง–อบรมภาคใต้ สำนักงานองค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (อ.ต.ร.) สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 163/15 ซอยเสนานิคม 1 ถนนพหลโยธิน 32 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900

จดหมายเปิดผนึกฉบับดังกล่าวระบุว่า มีทนายความของศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานีบางคน เรียกรับเงินจากชาวบ้านในการดำเนินการทางคดี ไม่รับผิดชอบต่อลูกความ ไม่ไปศาล และไม่ช่วยยื่นเรื่องเพื่อดำเนินการทางคดีให้ลูกความ พร้อมกับเรียกร้องให้ศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี ชี้แจงคดีที่ยังค้างคาอยู่ 3 คดี

นายสากีมัน เบญจเดชา ทนายความประจำมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานีพร้อมผู้ช่วยทนายความอีก 5 คน ได้ร่วมกันยืนยันว่า ข้อมูลที่ทางตัวแทนอ้างถึง เกิดจากความเข้าใจผิด มีเพียง 2 คดีและจำเลย 3 คน ที่ทนายความของศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานีรับผิดชอบ ทุกคดีมีความคืบหน้า โดยเฉพาะคดีดำที่ 0226/2551 ทางทนายความของศูนย์ฯ ดำเนินการสิ้นสุด จนศาลมีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว ส่วนคดีดำที่ 2262/2554 ศาลนัดสืบพยานวันที่ 22–23 มีนาคม 2555

“ส่วนคดีดำที่ 212/2554 คดีแดงที่ 212/2554 เป็นคดีผิดพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ที่ยกขึ้นมากล่าวหาศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี ไม่ใช่คดีความมั่นคง จึงไม่เข้าเงื่อนไขการรับช่วยทางคดีของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมมาตั้งแต่ต้น” นายสากีมัน กล่าว

ประมาณ 15.00 น. วันเดียวกัน มีชายไม่ทราบชื่อได้ว่าจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ให้แจกใบปลิว “เสียงจากประชาชนภาคใต้” มีข้อความกล่าวหาศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี เรียกรับเงินจากชาวบ้าน จนทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนเป็นหนี้สิน ขณะที่คดีความไม่คืบหน้า ทิ้งคดี ซ้ำเติมความทุกข์ให้กับผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

นายอนุกูล อาแวปูเต๊ะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี ระบุว่า เป็นการจงใจโจมตีและทำลายชื่อเสียงของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี

หลังจากมีการร้องเรียนและแจกจ่ายใบปลิว “โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้” พยายามติดต่อนายพิทักษ์นิติภูมิ ตามหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ระบุไว้ในนามบัตร ที่มอบให้เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี แต่ไม่มีการตอบรับ

ต่อมามูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีทนายความของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานีไม่รับผิดชอบการทำคดี ทำให้จำเลยและญาติได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ ขณะเดียวกันได้เข้าแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี

 

เปิดคลิปถล่ม

ขณะที่ในโลกออนไลน์ มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอโจมตีมูลนิธิศูนย์ทนายมุสลิมด้วยเช่นกัน เช่น คลิปที่ชื่อว่า คัดค้าน พรก. ใครได้ (เสีย) ทางเว็บไซด์ http://www.youtube.com/ ความยาว 09.57 นาที อัปโหลดโดย Naachannel1 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2554 มีเนื้อหาที่พูดถึงการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมกับโจมตีมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม

ในคลิปดังกล่าว มีการสัมภาษณ์ชาวบ้านคนหนึ่ง ยืนยันว่าการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่กระทบกับคนทั่วไป พร้อมกับนำเสนอภาพความเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ ที่เรียกร้องให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน สลับภาพเหตุการณ์ความไม่สงบ และภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ภาพของชาวมุสลิม เป็นต้น

เนื้อหาในคำบรรยายในช่วงแรกๆ ระบุว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือหนึ่งในการแก้ปัญหาความไม่สงบได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และเป็นกฎหมายทางเลือกที่ใช้ในการเปิดทาง เพื่อให้มีการพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ที่ถูกระบุว่าเป็นแนวร่วม หรือผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับหตุการณ์ความรุนแรง เพื่อหาข้อเท็จจริง ซึ่งที่ผ่านมาการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ช่วยให้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ต้องรับโทษมาแล้วหลายราย

จากนั้นจึงเริ่มโจมตีมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ที่รณรงค์ปลุกกระแสให้ยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษในการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการเขียนรายงานเสนอองค์การสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศ อ้างว่าเป็นการนำเสนอข้อมูลฉพาะบางด้านและบิดเบือนข้อเท็จจริง

ในคลิปยังระบุอีกว่า การนำนายนิเซ๊ะ นิฮะ ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ภายใน 30 วัน และให้หน่วยงานมีหนังสือยอมรับผิดต่อความผิดพลาดเผยแพร่ต่อสาธารณะ รวมทั้งให้รัฐชดเชยค่าเสียหายแก่ผู้ที่ถูกควบคุมตัว เป็นการสร้างกระแสกดดันเพื่อช่วยเหลือพวกพ้อง ขณะที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมพยายามยกระดับตนเองเพื่อเรียกร้องงบประมาณ

พร้อมกับตั้งคำถามว่า ศูนย์ทนายความมุสลิมมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ก่อเหตุรุนแรงหรือไม่ เพราะให้ความสำคัญต่อการช่วยเหลือผู้ก่อเหตุร้ายมากกว่าช่วยเหลือผู้บริสุทธิ์ ตอนท้ายของคลิประบุชื่อผู้ผลิตว่า “กลุ่มประชาชน ผู้รักความเบ็นธรรม”

 

อ.ต.ร.คือใคร?

จากการตรวจสอบของโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ในอินเตอร์เน็ต พบว่า มีหลายองค์กรที่มีชื่อในลักษณะเดียวกัน แต่มีองค์กรที่ใช้ชื่อย่อว่า อ.ต.ร. อยู่ 2 องค์กร

องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (อ.ต.ร.) ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า LAW ENFORCEMENT INVESTIGATION ORGANIZATION (LEIO) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ 163/15 ซอยเสนานิคม 1 ถนนพหลโยธิน 32 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 อีเมล : [email protected] แต่ค้นไม่พบเว็บไซต์ที่ใช้ชื่อองค์กรนี้

โลโก้ขององค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (อ.ต.ร.) ตามที่ปรากฏในนามบัตรของนายพิทักษ์นิติภูมิ พบว่าเป็นรูปธงไตรรงค์ มีพาน 2 ชั้นอยู่ด้านขวา มีข้อความภาษาไทยและอังกฤษ 3 แถว อยู่ด้านล่าง แถวแรก คำว่า อ.ต.ร. แถวที่ 2 องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และแถวที่ 3 LAW ENFORCEMENT INVESTIGATION ORGANIZATION

อีกองค์กรคือ องค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (ภาคประชาชน) พบว่ามี 2 เว็บไซด์ที่ใช้ชื่อองค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (ภาคประชาชน)

เว็บไซต์แรกคือ http://leio-lawbiss.net/index.php ระบุว่ามีสำนักงานเลขที่ 56/43 หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี 20000 โทร 085-1818 033 , 089-2333 088 โทรสาร. 038-797 205 อีเมล : [email protected]

อีกเว็บไซต์ http://www.ongkarn-leio.org/index_main.php ระบุว่า สำนักงานเลขที่ 12/7 ถนนพลับพลาไชย แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100  โทร 02-2230351 โทรสาร 02–2230352 เปิดทำการ วันจันทร์–เสาร์ เวลา 09.00 - 16.00 น. อีเมล : [email protected] และระบุชื่อดร.อนันต์ บูรณวนิช เป็นประธานใหญ่องค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (ภาคประชาชน)

ทั้ง 2 เว็บไซต์ ใช้โลโก้เดียวกันคือ ธงไตรรงค์ มีพาน 2 ชั้นอยู่ด้านขวา มุมธงด้านขวาทั้งด้านบนและด้านล่างครอบพาน ส่วนด้านล่างมีอักษรย่อ อ.ต.ร.

ส่วนองค์กรอื่นที่มีชื่อในลักษณะเดียวกัน เช่น องค์การตรวจสอบอำนาจรัฐ (สากล) ในเว็บไซต์ http://www.ongkarn-avoi.org/ ระบุว่ามีสำนักงานเลขที่ 4/1391 หมู่บ้านสหกรณ์ ถนนเสรีไทย 57 แยกที่ 40 แขวงบึงกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ 10240 โทร.02–379–6530, 085–689–2288, 089–769–9989, 087–981–8366 แฟกซ์ 02–379–6530, 02–933–2811 เปิดทำการเวลา 10.00 - 15.00 น. ในวันราชการ เว้นวันหยุดเสาร์–อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์

องค์กรส่งเสริมการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐภาคประชาชน (อ.ส.ป.ช.) มีนายปิยะ พระเสนา รักษาการประธานองค์กร เว็บไซต์ http://hi-thaksin.weebly.com สำนักงานเลขที่ 472 โชคชัย 4(10) ลาดพร้าว 53 แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร 10230

นี่คือ ปรากฏการณ์ที่เกาะเกี่ยวและเกี่ยวเนื่องกับการออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของเครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในขณะนี้