ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กำเนิดโครงการพัฒนาด้านพลังงานที่ใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง
สังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาความมั่นคงทางพลังงาน รวมตลอดถึงผลกระทบเชิงลบจากโครงการพัฒนาแบบรวมศูนย์ และทำแบบแยกส่วนไม่บูรณาการกัน ทำให้ทีมนักวิชาการจากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ม.ธ.), คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และมหาวิทยาลัยชีวิตเมืองนครศรีธรรมราช จับมือทำโครงการการจัดการความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ โดยเน้นการแสวงหาทางออกด้านพลังงานใหม่ที่ยั่งยืน และเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มาตั้งแต่พ.ศ. 2552 โดยมีเป้าหมายว่า จะส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนต่างๆ ในสังคมเข้าใจเรื่องพลังงานไฟฟ้าให้มากขึ้น และร่วมกันกำหนดนโยบายพลังงานที่เหมาะสม เพื่อเสนอแนะโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีหลากหลายทางเลือก ในขนาดที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งการเชื่อมโยงประเด็นพลังงานกับประเด็นความมั่นคงด้านอาหาร และความเข้มแข็งของชุมชนเข้าด้วยกัน
กลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการ ได้แก่ ชุมชนที่ตั้งอยู่ตามเทือกเขาใกล้แหล่งน้ำตก ที่มีศักยภาพในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำตก และสหกรณ์การเกษตรสวนยางที่ทำกิจการโรงรมยางแผ่นประมาณ 400 แห่งในภาคใต้ ซึ่งสหกรณ์กำลังประสบปัญหาน้ำเสียจากกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควัน และการขาดแคลนไม้ฟืนที่เป็นเชื้อเพลิงในเตาเผา และทำให้ราคาฟืนแพงขึ้นเรื่อยๆ การดำเนินงานของโครงการฯ ได้ยึดแนวคิดหลัก ดังนี้
บูรณาการพลังปัญญา ความสามารถจากทุกภาคส่วน (Integration) โดยการสร้างเป้าหมายร่วม เน้นความร่วมมือกันทำงานเชิงบวกอย่างสร้างสรรค์ และเปิดพื้นที่ทางวิชาชีพและทางสังคมให้ทุกภาคส่วนที่ร่วมกันทำงาน
ทำงานแบบองค์รวม (Holistic approach) ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การเมือง การปกครอง การเรียนรู้ การเสริมพลังชุมชน วัฒนธรรม ไม่ทำงานเพื่อต้องการบรรลุวัตถุประสงค์ด้านใดด้านหนึ่ง โดยละเลยมุมมองด้านอื่นๆ
พัฒนากลไกการทำงาน (Mechanism Development) ใหม่ เป็นการเพิ่มโอกาสความสำเร็จ อาทิ การแต่งตั้งคณะทำงานจากหลายฝ่าย หลายชุด ที่ทำหน้าที่แตกต่างกัน แต่หนุนเสริมซึ่งกันและกัน
ส่งเสริมการพึ่งตนเอง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Self Reliance and Sustainable Development)
โครงการฯ จะเน้นทำงานกับชุมชนที่มีศักยภาพในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีสำนึกในการช่วยเหลือตนเอง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตลอดจนร่วมกับชุมชนและภาคีอื่นๆ แสวงหาแนวทางในการแก้ปัญหา หรือสนองความต้องการที่แท้จริงของชุมชน ตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นวัตกรรมใหม่ในสังคมวิชาการ:การวิจัยแบบเบ็ดเสร็จ (RDM)
โครงการจัดการความรู้ด้านพลังงานในพื้นที่ภาคใต้นี้ มี “อัตลักษณ์” พิเศษ กล่าวคือ เป็นโครงการที่ทำงานแบบเบ็ดเสร็จครอบคลุม (ก) การสร้างความรู้และปัญญา (Research) ของทั้งทีมนักวิชาการ ของภาคีที่ร่วมทำงาน และชาวบ้านผู้เป็นกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้กระบวนการจัดการความรู้ การสรุปบทเรียน การศึกษาวิเคราะห์ การทดลอง (ข) การพัฒนา (Development) คือ การนำความรู้ที่ได้มาใช้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำชุมชน หรือการสร้างต้นแบบระบบบำบัดน้ำเสีย และเอาก๊าซมาใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนฟืน การสร้างต้นแบบเตาลูกผสม ที่ใช้ได้ทั้งไม้ฟืนและถ่านอัดแท่ง ปรับปรุงห้องรมยางของสหกรณ์การเกษตรสวนยาง และ (ค) การสร้างเครือข่ายหรือขบวนการขับเคลื่อนงาน (Movement) เพื่อให้นวัตกรรมใหม่ดังกล่าวส่งผลกระทบในวงกว้าง เช่น การสร้างเครือข่ายโรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชน 7 จังหวัดที่โครงการฯ ไปทำงานด้วย หรือเครือข่ายระหว่างสหกรณ์ฯ ด้วยกันในภาคใต้ นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกับเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องด้วย
โดยที่ทรัพยากรของโครงการฯ มีอยู่จำกัด ดังนั้น การสร้างรูปธรรมหรือแหล่งเรียนรู้ต่างๆ จึงต้องอาศัยการสนับสนุนทางการเงิน และด้านวิชาการเพิ่มเติมจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ดังกรณีสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำทีบ้านคลองเรือ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร นอกจากนี้ยังมีการสมทบงบประมาณจากกลุ่มเป้าหมายเอง ไม่ว่าจะเป็นกรณีโรงไฟฟ้าชุมชน กรณีการก่อสร้างเตาลูกผสมแบบประหยัดพลังงานที่สหกรณ์ฯ บ่อทอง อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา และการสร้างระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อแก้ปัญหามลพิษ และนำก๊าซมาใช้แทนไม้ฟืนบางส่วนของ สหกรณ์ฯ เก่าร้าง อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา
ผลกระทบของโครงการ
ปัจจุบันนอกจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนคลองเรือแล้ว โครงการฯ ได้ออกแบบพิมพ์เขียวสำหรับก่อสร้างโรงไฟฟ้าอื่นอีก 11 แห่ง ในจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา จังหวัดตรัง จังหวัดสตูล จังหวัดพัทลุง จังหวัดสุราษฎร์ธานีด้วย ซึ่งในแต่ละพื้นที่กำลังอยู่ในระหว่างเตรียมความพร้อมของชุมชน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยราชการของจังหวัดนั้น รวมทั้งภาคประชาสังคมด้วย หากพื้นที่ใดมีความพร้อมก่อน ก็สามารถทยอยดำเนินการก่อสร้าง ในขณะที่ต้นแบบระบบบำบัดน้ำเสีย และเตาลูกผสม/ห้องรมยางที่ปรับปรุงใหม่ก็ขยายตัวไปสู่อำเภออื่นๆ ในจังหวัดสงขลา รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง เช่น พัทลุง เป็นต้น และกำลังดำเนินการเจรจาแนวทางการเผยแพร่บทเรียนไปยังเครือข่ายสหกรณ์การเกษตรสวนยางทั่วภาคใต้
จังหวัดนครศรีธรรมราชนับว่าเป็นพื้นที่ที่ขยายผลเรื่องโรงไฟฟ้าพลังน้ำไปอย่างกว้างขวาง โดยสำนักงานพลังงานจังหวัด ฝ่ายปกครองของจังหวัด และองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ร่วมกันทำนโยบายพลังงานของจังหวัด โดยนักวิชาการด้านวิศวกรรมของโครงการจาก ม.อ. ได้ช่วยสำรวจข้อมูลแหล่งน้ำตกทั่วทั้งจังหวัด จนในที่สุดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้บรรจุโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำตกใน ยุทธศาสตร์ที่ 5 ว่าด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการพลังงาน ในแผนพัฒนา 3 ปี (2554–2556) มีโครงการศึกษาและก่อสร้างจำนวน 41 โครงการ ตั้งเป้าหมายของบอุดหนุนปีละกว่า 500 ล้านบาท เพื่อลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากโรงงานผลิตไฟฟ้ากระแสหลักลง
กระบวนการทางสังคมนำหน้าเทคโนโลยี
การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำตก นับเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหาการขาดพลังงาน การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี เพราะจะผลิตไฟฟ้าได้ต้องมีน้ำตกที่ไหลแรงอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนั่นหมายความว่า ป่าต้นน้ำต้องได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี และหากชุมชนไม่เข้มแข็งก็ไม่สามารถอนุรักษ์ป่าได้ แนวทางการทำงานของโครงการฯ เริ่มต้นจากการค้นหาชุมชนที่มีปัญหา หรือมีศักยภาพที่สนใจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อชุมชนของตนหรือเพื่อสังคม ไม่หวังรอรับความช่วยเหลือจากภายนอกเพียงถ่ายเดียว
จากนั้นจึงเข้าไปสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ การสร้างกระบวนการเรียนรู้ จนชุมชนเกิดความสนใจและเชื่อมั่นในระดับหนึ่ง ทีมงานวิศวกรรมจึงเริ่มทำการสำรวจสภาพภูมิประเทศร่วมกับผู้นำชุมชน และตัวแทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องแหล่งที่ตั้งฝาย แหล่งดักตะกอน อาคารโรงไฟฟ้า แนวทางท่อส่งน้ำ ฯลฯ แล้ววางระบบเก็บข้อมูลเรื่องปริมาณฝน ความแรงและความสม่ำเสมอของกระแสน้ำ ฯลฯ ในช่วงระยะยาว เพื่อนำมาใช้ในการออกแบบ จากนั้นจึงออกแบบรายละเอียดโครงสร้าง และรายละเอียดการก่อสร้าง เมื่อได้แบบพิมพ์เขียวแล้วก็ต้องมาแลกเปลี่ยนข้อมูลกับชุมชนอีก เพื่อให้แบบก่อสร้างดังกล่าวเหมาะสมกับเงื่อนไขของชุมชนให้มากที่สุด ทั้งระบบนิเวศ ต้นทุน ระบบการเงิน กฎหมาย เงื่อนไขทางสังคม การใช้ประโยชน์ การบริหารจัดการ ฯลฯ
ระหว่างการก่อสร้าง โครงการฯ ได้สร้างกระบวนการเรียนรู้แก่ชุมช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต ประเด็นคำถามเรื่องวิธีการก่อสร้าง การบริหารงานโรงไฟฟ้าในอนาคต การจัดการด้านการเงินของชุมชน วิถีชีวิตของชุมชน การพัฒนาชุมชน ฯลฯ เป็นเรื่องที่นำมาปรึกษาและเตรียมหาทางแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเป็นระยะๆ
โรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชนบ้านคลองเรือ
บ้านคลองเรือ ตำบลปากทรง อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร เป็นชุมชนขนาดเล็ก มีประชากรอาศัยอยู่ 89 ครัวเรือน รวมทั้งสิ้น 306 คน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตรแบบผสมผสาน (เกษตร 4 ชั้น) ปลอดสารพิษ และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
ปัจจุบันชุมชนได้รับการอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชให้ทำกินได้ในพื้นที่ 1,050 ไร่ และต้องทำหน้าที่เป็นผู้อนุรักษ์และดูแลป่าทั้งหมด 16,050 ไร่ ชุมชนไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาแบบพึ่งตนเองเป็นหลัก
การสร้างโรงไฟฟ้าเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูงสำหรับชุมชนใดชุมชนหนึ่ง รวมทั้งบ้านคลองเรือ แต่ชุมชนแห่งนี้ ก็มิได้ย่อท้อต่อการระดมทรัพยากรจากทุกวิธีที่เป็นไปได้ ขั้นแรกชุมชนได้ใช้ทรัพยากรที่ตนมีอยู่ นั่นคือ แรงงานของทุกหลังคาเรือน ที่ผลัดกันมาทำงานตลอดทั้งปี จัดหาวัสดุก่อสร้างฝายและอาคารโรงไฟฟ้าด้วยตนเอง
นอกจากนี้ ยังได้พร้อมใจกันไปสร้างฝายชะลอน้ำให้หน่วยงานของรัฐจำนวน 70 ฝาย ได้เงินมาซื้อเสาไฟฟ้าของส่วนรวม การใช้เงินกองทุนในชุมชน ตลอดจนเงินรางวัลที่ได้จากการชนะเลิศการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ประจำปี 2553 (รับรางวัลถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) ร่วมสมทบ และการร่วมจัดทอดผ้าป่าสร้างโรงไฟฟ้าด้วย ในส่วนที่เหลือนั้น นับว่าชุมชนแห่งนี้โชคดีที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ให้การสนับสนุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า กังหัน และงบประมาณรวม 9 ล้านบาท (ตามหลักกาi CSR การดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม) รวมทั้งส่งเจ้าหน้าที่มาให้ดำเนินการก่อสร้างควบคู่ไปกับการสร้างการเรียนรู้แก่ชาวบ้านด้วย
โรงไฟฟ้าชุมชนแห่งนี้มีกำลังการผลิต 100 กิโลวัตต์ ใช้น้ำจากน้ำตกเหวตาจันทร์เพียงหนึ่งในสามของที่มีอยู่ เพื่อไม่แย่งน้ำสำหรับการบริโภคและการผลิตทางการเกษตรของชาวบ้าน ซึ่งในอนาคตหากชุมชนมีความประสงค์และมีทุนเพียงพอ ก็สามารถขยายกำลังการผลิตเพิ่มได้อีก โดยยึดหลักการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงออกแบบโครงการจนแทบไม่มีการตัดต้นไม้ในป่าเลย ระหว่างการก่อสร้างมิได้ใช้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ช่วย แต่ใช้แรงงานคนเป็นสำคัญ จึงทำให้การทำงานเป็นไปค่อนข้างช้า เป็นภาระของชาวบ้านมาก แต่ก็ได้ผลดีในแง่การเรียนรู้ การสร้างสำนึกความเป็นเจ้าของและความผูกพันกันระหว่างคนในชุมชน (และคนนอกชุมชนที่มาร่วมงานจิตอาสาขนวัสดุขึ้นเขาเป็นครั้งคราว)
เรื่องที่น่าสนใจคือ แม้ทุกคนจะร่วมแรงร่วมใจกันทำงานมานานนับปีโดยไม่มีค่าตอบแทน แต่ชาวบ้านได้ตกลงกันว่า จะเก็บค่าใช้ไฟฟ้าในอัตราเดียวกับที่ชุมชนอื่นๆ จ่ายค่าใช้ไฟฟ้า เงินดังกล่าวจะนำมาใช้เป็นค่าบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้าในชุมชน เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน บางส่วนจะแยกเป็นกองทุนรักษาป่าและพัฒนาชุมชน ที่สำคัญคือจะต้องตั้งกองทุน “หมุนไป” สำหรับชุมชนอื่นๆ ในเครือข่ายที่จะสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนรายต่อไป
เป็นที่คาดหมายว่า หากชาวบ้านคลองเรือมีไฟฟ้าใช้ ป่าต้นน้ำแห่งนี้ก็จะอุดมสมบูรณ์ สร้างความชุ่มชื้นและป้องกันอุทกภัยสำหรับผู้คนในเขตลุ่มน้ำหลังสวน และยังสร้างทุนให้กับชุมชนอื่นๆ เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนแห่งต่อๆ ไปด้วย
จับตาดู...เวทีชาวบ้านกับภารกิจยิ่งใหญ่
เพื่อเป็นการสร้างการเรียนรู้ สร้างพลังและร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพลังงาน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่บริเวณต้นน้ำ และการป้องภัยพิบัติจากฝนแล้ง น้ำท่วม ตลอดจนอาหารมั่นคงปลอดภัย โครงการจัดการความรู้ฯ จึงได้ชักชวนหลายหน่วยงานร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรม โครงการเวทีสมัชชาเครือข่ายจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพลังงานอย่างยั่งยืน ขึ้น ณ บ้านคลองเรือ ในวันที่ 14–16 ธันวาคม 2554 โดยจะมีเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายพลังงาน เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน เครือข่ายสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยคณะต่างๆ เครือข่ายวิชาการพัฒนาชุมชน เครือข่ายจิตอาสา เครือข่ายของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ฯลฯ จากทั่วประเทศรวม 984 คนมารวมกันในชุมชนแห่งนี้