ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
รุก – กรมชลประทานเดินเกมรุก โชว์แผนที่พื้นที่โครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำคลองท่าตะเภาและภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชุมพร
เมื่อเวลา 09.30 – 12.00 น. วันที่ 14 พฤศจิกายน 2554 ที่ห้องหิรัญญิกา โรงแรมนานาบุรี อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) โครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำคลองท่าตะเภาและภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชุมพร มีส่วนราชการ นักธุรกิจภาคเอกชน ผู้นำส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน นักพัฒนาเอกชน (NGOs) และประชาชน เข้าร่วมประมาณ 200 คน
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน ชี้แจงความเป็นมาว่า จากการดำเนินงานของกรมชลประทานในการดำเนินงานตามแนวทางพระราชดำริพบว่า การพัฒนาหนองใหญ่เป็นพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติ ขุดคลองหัววัง–พนังตัก ถึงแม้จะสามารถแก้ไขป้องกันน้ำท่วมในเขตเมืองชุมพรได้ดี แต่ก็ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดชุมพรได้
นายสมปอง บุญประเสริฐ ผู้จัดการโครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำคลองท่าตะเภาและภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชุมพร ชี้แจงว่า กรมชลประทานจึงได้ว่าจ้างบริษัทซิกม่า ไฮโดร คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัทพิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท ไฟนอล คอนซัลแตนท์ จำกัด ศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการลุ่มน้ำ ศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการออกแบบเบื้องต้นโครงการที่สำคัญเร่งด่วนของงานบรรเทาอุทกภัยและงานบริหารจัดการน้ำ โดยใช้งบประมาณ 24,979,214 บาท มีระยะเวลาในการศึกษา 540 วัน (18 เดือน) เริ่มจากวันที่ 14 กรกฎาคม 2554 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2556
นายสมปอง ชี้แจงอีกว่า พื้นที่ศึกษาของโครงการ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดชุมพร และพื้นที่บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดระนอง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี 6,485.68 ตารางกิโลเมตร ใน 8 ลุ่มน้ำย่อยคือ ลุ่มน้ำคลองท่าตะเภา ลุ่มน้ำคลองปะทิว ลุ่มน้ำคลองบางสน ลุ่มน้ำคลองชุมพร ลุ่มน้ำคลองสวี ลุ่มน้ำคลองตะโก ลุ่มน้ำคลองหลังสวน และลุ่มน้ำคลองละแม–คลองดวด สำหรับลุ่มน้ำคลองชุมพร มีโครงการจะขุดลอกผันน้ำเพิ่มเติมจากคลองชุมพรไปคลองนาคราช แล้วกลับไปลงคลองชุมพรอีกทีที่บริเวณท้ายน้ำก่อนลงสู่ทะเล
นายเจริญ ปานสุคนธ์ กำนันตำบลตากแดด อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร กล่าวในเวทีว่า ถ้าขุดคลองผันน้ำไปคลองท่าตะเภาน่าจะเหมาะสมกว่า เพราะระยะทางไม่ไกล ใช้พื้นที่ของรัฐ ถ้าขุดคลองสายใหม่ 4 – 5 กิโลเมตร ผันน้ำไปคลองนาคราช ต้องเวนคืนที่ดินชาวบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยาก
นายพิทยา น้ำเงิน รองนายกเทศมนตรีเมืองชุมพร เสนอในเวทีว่า ถ้าขุดคลองผันน้ำไปยังคลองนาคราชเป็นเรื่องยาก ก็ควรสร้างอ่างเก็บน้ำดีกว่า เพราะน่าจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้มาก และสามารถบรรเทาปัญหาภัยแล้งได้ด้วย ที่ผ่านมาเคยศึกษาอ่างเก็บน้ำคลองชุมพรไว้แล้ว
นายตะวัน แก้วรุ่ง ผู้ใหญ่บ้านท่ายาง ตำบลท่ายาง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร เสนอในเวทีว่า กรมชลประทาน ควรประสานแต่ละชุมชน แต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมไม่ใช่ดำเนินการอยู่ฝ่ายเดียว กรณีการสร้างเขื่อน สร้างอ่างเก็บน้ำ เช่น อ่างเก็บน้ำท่าแซะ ทำอย่างไรให้ชาวบ้านทั้งฝ่ายที่คัดค้านและฝ่ายสนับสนุน ได้มีส่วนร่วมนั่งพูดคุยกับกรมชลประทาน
“ควรแต่งตั้งชาวบ้านเป็นคณะกรรมการร่วมในการตรวจสอบการบริหารการจัดการน้ำ กรณีที่ชาวบ้านระแวงว่า จะสร้างอ่างเก็บน้ำคลองท่าแซะ ส่งไปขายบริษัท สหวิริยา จำกัด ผู้ประกอบการโรงถลุงเหล็ก ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์” นายตะวัน กล่าว