background:white">นูรยา เก็บบุญเกิด, อัสซัน โต๊ะดง
background:white">โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
ช่วยน้ำท่วม - ภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เร่งผลิตมัสมั่นไก่กระป๋อง เก็บไว้ได้นานกว่า 1 ปี ส่งไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในภาคกลาง
ส่งมอบ - ผศ.สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มอบถุงยังชีพ ให้กับผู้ประสบอุทกภัย ผ่าน พ.อ.เดชา พันธมิตร ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 44 สำนักงานพัฒนาภาค 4 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย
นางพัชรินทร์ ภักดีฉนวน อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยถึงการผลิตมัสมั่นไก่กระป๋องของภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่า เป็นการผลิตเพื่อบริจาคให้ผู้ประสบอุทกภัย ถือเป็นการผลิตเฉพาะกิจ การผลิตมัสมั่นไก่กระป๋องครั้งนี้ นอกจากจะได้รับเงินสนับสนุนจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน และประชาชนทั่วไปด้วย
นางพัชรินทร์ กล่าวว่า สาเหตุที่ผลิตมัสมั่นไก่กระป๋อง เนื่องจากก่อนหน้านี้มีข่าวว่า จากสำรวจผู้บริโภคอาหารทั่วโลกของสถาบันแห่งหนึ่งพบว่า แกงมัสมั่นเป็นอาหารยอดนิยมอันดับหนึ่งของโลก เมื่อต้องผลิตอาหารบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จึงตัดสินใจผลิตแกงมัสมั่นไก่กระป๋อง ถึงแม้ผลิตภัณฑ์แกงมัสมั่นไก่กระป๋องที่ทำบริจาค จะไม่มีเครื่องหมายฮาลาล เพราะการจะได้เครื่องหมายฮาลาล จะต้องได้เครื่องหมายอย.ก่อน การดำเนินการค่อนข้างใช้เวลานาน เราไม่สามารถรอได้ แต่ยืนยันได้ว่าไก่ที่ใช้ผลิต เป็นไก่ที่ฆ่าโดยคนมุสลิม ทั้งยังมีกรรมวิธีในการผลิตภายใต้ข้อกำหนดของการผลิตอาหารฮาลาล ดังนั้นมุสลิมจึงรับประทานได้
“ส่วนประกอบทั้งหมด ทั้งกระป๋องบรรจุภัณฑ์ เนื้อไก่ เครื่องแกงมัสมั่น กะทิ ถั่วลิสง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง เราซื้อปลีกจึงทำให้มีต้นทุนผลิตค่อนข้างสูง ทั้งยังผลิตจำนวนน้อย ต่างกับระบบอุตสาหกรรมที่ผลิตครั้งละมากๆ ทำให้ใช้ต้นทุนการผลิตต่ำ” นางพัชรินทร์ กล่าว
นางพัชรินทร์ กล่าวอีกว่า เนื่องจากหน้าที่หลักของตนคือ การสอน การทำวิจัย และเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ จึงไม่สะดวกที่จะผลิตเชิงพาณิชย์ แต้ขณะนี้มีบริษัทผลิตอาหารกระป๋องย่านภาคกลางติดต่อขอความรู้ ขั้นตอน และกระบวนการมาบ้างแล้ว ตนยินดีที่จะให้ความรู้ ขั้นตอน และกระบวนการ รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการซึ่งกันและกัน จึงได้แจ้งให้บริษัทฯ ส่งแรงงานหรือพนักงานมารับความรู้ และขั้นตอนการผลิตได้
นางพัชรินทร์ กล่าวต่อไปว่า จากการศึกษาของภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพบว่า หากเก็บอาหารกระป๋องไว้ในห้องปฎิบัติการจะเก็บได้นานประมาณกว่า 2 ปี แต่หากเก็บในไว้ในพื้นที่นอกห้องปฎิบัติการจะเก็บได้ระยะเวลาน้อยกว่า จึงระบุข้อความข้างฉลากบรรจุภัณฑ์มัสมั่นไก่กระป๋องของคณะไว้ว่า สามารถเก็บไว้ได้นาน 1 ปี
สำหรับกระบวนการผลิต คือ เมื่อปรุงส่วนผสมเสร็จแล้ว จะบรรจุลงกระป๋อง และผ่านการไล่อากาศที่อุณหภูมิ 95 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นปิดฝา นำเข้าเครื่องฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสตามระยะเวลาที่คำนวณไว้ จากนั้นนำมาเช็ด เป่าไล่ความชื้นด้วยพัดลม และเก็บรอตรวจสอบคุณภาพทางจุลินทรีย์อีก 14 วัน จึงจะสามารถปล่อยสินค้าแต่ละล็อตออกไปได้ ซึ่งทางภาควิชาสามารถผลิตได้เพียงวันละประมาณ 500 กระป๋อง ทั้งเงื่อนไขของระยะเวลาการผลิตสั้นมาก ทำให้ผลิตได้ในจำนวนจำกัด
ทั้งนี้แรงงานที่ใช้ในการผลิต การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ฉลากบรรจุภัณฑ์ ข้อความ หรือเนื้อหาบนฉลาก เช่น ชื่ออาหาร ส่วนประกอบอาหาร ผู้ผลิต วันที่ผลิต วันหมดอายุ ถูกต้องตามพระราชบัญญัติอาหารและยา พ.ศ. 2552 รวมถึงข้อความที่ระบุว่าผลิตเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 2554 และข้อความห้ามจำหน่าย ก็เป็นข้อความมาตรฐานที่ต้องมีบนฉลาก ทั้งหมดเป็นแรงงานและแนวคิดของอาสาสมัครนักศึกษา จากภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท โดยแต่ละครั้งที่ผลิต ใช้อาสาสมัครจำนวน 20 คน
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5–6 พฤศจิกายน 2554 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ผลิตแกงมัสมั่นไก่กระป๋องบรรจุถุงยังชีพไปช่วยผู้ประสบอุทกภัยรอบแรก 1 พันกระป๋อง และรอบที่ 2 เมื่อวันที่ 12–13 พฤศจิกายน 2554 อีก 750 กระป๋อง