Skip to main content

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

เฉลิมพล ตุลยนิษกะ

ตรัง เป็นอีกจังหวัดที่ประสบอุทกภัยทุกครั้ง ในทันทีที่มรสุมพัดผ่านภาคใต้  ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าเรื่องความตื้นเขินของลุ่มน้ำตรัง ลุ่มน้ำคลองปะเหลียนและสาขา การขยายตัวของชุมชน การก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขวางทางระบายน้ำ ไม่มีแก้มลิงสำหรับเก็บกักน้ำตามธรรมชาติ

ทั้งยังมีเทือกเขาบรรทัดรอยต่อจังหวัดตรัง จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสตูลอทำหน้าที่ป้อนน้ำลงคลองในอำเภอนาโยง อำเภอปะเหลียน และอำเภอย่านตาขาว

แนวเทือกเขาที่เป็นรอยต่อกับอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช หากฝนตกหนักน้ำจะไหลลงสู่แม่น้ำตรัง เพื่อออกสู่ทะเลอันดามัน บางครั้งมีน้ำทะเลหนุนทำให้ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น

จึงไม่แปลกที่จังหวัดตรัง จะมีแผนดำเนินงานโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะคือ ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว

สำหรับระยะเร่งด่วนนั้น โครงการชลประทานตรัง สำนักชลประทานที่ 16 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและหสกรณ์ ดำเนินงานจำนวน 41 โครงการ ใช้งบประมาณ 161.1 ล้านบาท

มีการขุดลอกคลอง 5 โครงการ ใช้งบประมาณ 16.5 ล้านบาท ประกอบด้วย ขุดลอกลองต่อยไห ตำบลนาท่ามใต้ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง 2.5 ล้านบาท ดำเนินการไปแล้ว 70% คลองหมัน ตำบลนาท่ามใต้ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง 4 ล้านบาท จะเริ่มดำเนินการในเดือนมกราคม 2555 คลองนางน้อย อำเภอนาโยง และอำเภอเมือง จังหวัดตรัง 4 ล้านบาท เสร็จเรียบร้อยแล้ว คลองแม่แตง ตำบลนาท่ามใต้ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง 2.5 ล้านบาท เสร็จไปแล้ว 90% และคลองน้ำเจ็ด อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง 3.5 ล้านบาท เสร็จเรียบร้อยแล้วเช่นกัน

นอกจากนี้ โครงการชลประทานตรังยังมีโครงการซ่อมแซมพนังกันน้ำแม่น้ำตรัง 3 โครงการ 106.77 ล้านบาท ประกอบด้วย พนังกั้นน้ำแม่น้ำตรังบริเวณตำบลนาตาล่วง อำเภอเมืองตรัง 20.8 ล้านบาท บริเวณตำบลบางรัก อำเภอเมือง จังหวัดตรัง 30.67 ล้านบาท ซ่อมแซมพนังกันน้ำแม่น้ำตรังและขยายผิวจราจรที่ตำบลหนองตรุด อำเภอเมืองตรัง 55.3 ล้านบาท โครงการซ่อมแซมฟื้นฟูอาคารชลประทาน 33 โครงการ 37.83 ล้านบาท ดำเนินการไปแล้ว 80%

พร้อมกันนี้ ยังมีโครงการ “ภูมิรักษ์พิทักษ์สายน้ำ ร่วมใจภักดิ์ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” โดยตัดแต่งกิ่งไม้ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ขุดลอกคลองไฟ คลองน้ำเจ็ด คลองนางน้อย ห้วยน้ำใสรวม 14 จุด ระยะทาง 9,000 เมตร

สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง มีโครงการซ่อมแซมพนังกั้นน้ำแม่น้ำตรัง 3 โครงการ 13.583 ล้านบาท ประกอบด้วย บริเวณตำบลบางรัก อำเภอเมืองตรัง 3.363 ล้านบาท ดำเนินการไปแล้ว 18% บริเวณตำบลนาตาล่วง อำเภอเมืองตรัง 5.949 ล้านบาท ดำเนินการไปแล้ว 45% และบริเวณตำบลหนองตรุด อำเภอเมืองตรัง 4.271 ล้านบาท ดำเนินการไปแล้ว 30%

สำหรับระยะกลาง มีโครงการชลประทานตรัง 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาพื้นที่กักเก็บน้ำ (แก้มลิง) หนองกก ตำบลนาท่ามใต้ อำเภอเมืองตรัง โดยใช้งบประมาณปี 2555 จำนวน 72 ล้านบาท และโครงการพัฒนาพื้นที่กักเก็บน้ำ (แก้มลิง) ทุ่งน้ำผุด ตำบลนาตาล่วง อำเภอเมืองตรัง ใช้งบประมาณ ปี 2556–2558 วงเงิน 120 ล้านบาท

สำหรับระยะยาวนั้น มีโครงการศึกษาออกแบบการป้องกันน้ำท่วมอย่างยั่งยืนในเขตเทศบาลนครตรัง เทศบาลเมืองกันตัง และเทศบาลตำบลย่านตาขาว ตามแผนงานของสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดตรัง มีโครงการฝึกอบรมให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยตามกระบวนการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน และการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ปลูกจิตสำนึกประชาชนด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผ่านสื่อต่างๆของจังหวัดตรังด้วย

ขณะเดียวกันก็มีการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในปี 2554 ของจังหวัดตรัง ซึ่งนายเฉลิมพล ตุลยนิษกะ รักษาการหัวหน้าป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรังบอกว่า จังหวัดตรังได้จัดทำแผนปฏิบัติการฉุกเฉินการแก้ไขปัญหาจากอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม จังหวัดตรัง ปี 2554 แล้ว และจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาจากอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม จังหวัดตรัง ปี 2554 โดยตั้งอยู่ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง

นายเฉลิมพล ตุลยนิษกะ บอกถึงการประสานงานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า ให้เตรียมความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติโดยแบ่งเป็น 3 ระยะคือ ก่อนเกิดภัย ให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการฉุกเฉินฯ ให้มีการเฝ้าติดตามสถานการณ์พยากรณ์อากาศเพื่อแจ้งเตือนชาวบ้าน ให้มีการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือ และอุปกรณ์ เช่น เรือท้องแบน เต็นท์ กระสอบทราย อาหารแห้ง ให้มีการจัดเตรียมสถานที่อพยพ และให้มีการขุดลอกคูคลอง กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ

ขณะเกิดภัยให้มีการจัดตั้งอำนวยการเฉพาะกิจฯ โดยเน้นการช่วยเหลือประชาชนในด้านชีวิตและทรัพย์สิน แจกจ่ายเครื่องอุปโภค บริโภคแก่ผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ให้มีการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ประสบภัย ให้เตรียมความพร้อมสมาชิกอาสาป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ทีมกู้ชีพกู้ภัย และประสานงานกับมูลนิธิในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันที รวมถึงรายางนเหตุด่วนสาธารณภัยให้อำเภอทราบทันที”

หลังเกิดภัยนั้น ให้มีการสำรวจความเสียหายและความต้องการของผู้ประสบภัย ให้บูรณะฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิม ให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ตามอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

นายเฉลิมพล ตุลยนิษกะ บอกเกี่ยวกับการเตรียมอุปกรณ์ และเครื่องมือในการกู้ภัยว่า ขณะนี้จังหวัดได้เตรียมเรือท้องแบน 13 ลำ ขณะนี้ได้ส่งไปยังอำเภอต่างๆ ในจังหวัดตรังแล้วอำเภอละ 1 ลำ ถ้ายังไม่เพียงพอสามารถขอสนับสนุนเพิ่มเติมไปยังศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 จังหวัดภูเก็ตเพิ่มเติมได้ด้วย ทั้งนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว (ERT) ของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง 5 คน พร้อมออกปฏิบัติการ

 “สำหรับการเฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศจากสถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดตรัง ข้อมูลระดับน้ำฝนและปริมาณน้ำท่า จากโครงการชลประทานตรัง ตลอด 24 ชั่วโมง แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบผ่านสื่อของรัฐ วิทยุชุมชน หอกระจายข่าวในหมู่บ้าน และวิทยุสมัครเล่นด้วย” นายเฉลิมพล ตุลยนิษกะ อธิบายการเฝ้าระวังสถานการณ์