ฮัสซัน โตะดง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
มูฮำหมัด ดือราแม สำนักข่าวประชาไท
ณ ปลายด้านขวานนาม “เมืองปัตตานี” ที่มีผู้คนหลากหลาย เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม แต่ความสัมพันธ์ของคนต่างศาสนาและวัฒนธรรมสั่นคลอนมาตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ด้วยความหวาดระแวงต่อกันระหว่างชาวมุสลิมกับคนไทยพุทธและชนเชื้อสายจีน อันเนื่องมาจากปัญหาความความไม่สงบ
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้มีคนกลุ่มหนึ่งฉุกคิดขึ้นมาได้ จำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างกันให้กลับคืนมาอีกครั้ง จึงกลายเป็นที่มาของการก่อตั้งสมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีนจังหวัดปัตตานีขึ้น
เจ้าของต้นความคิดที่เสมือนการจุดประกายความต้องการที่มีอยู่แล้วของใครหลายๆ ก็คือชายชรานามว่า “เคลื่อน พุ่มพ่วง” เจ้าของโรงเรียนจิพิภพพิทยา อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี มาจากการพูดคุยกับบาบอเซ็ง หรือ นายเซ็ง ใบหมัด โต๊ะครูปอเนาะสอนวิชาศาสนาอิสลามในอำเภอโคกโพธิ์
ทั้งคู่เห็นว่าพี่น้องชาวไทยพุทธ มุสลิมและจีน น่าจะตั้งองค์กรขึ้นมาทำกิจกรรมร่วมกันได้ เพื่อให้เกิดความสงบสุข
จากนั้นแนวความคิดนี้จึงถูกแพร่กระจายออกไปพร้อมๆกับการเชิญชวนบุคคลหลายกลุ่มมาพูดคุยกันว่า จนกระทั่งเกิดแนวความคิดที่ตรงกันว่า น่าจะตั้งสมาคมที่มีคนทั้ง 3 ฝ่าย คือ พุทธ มุสลิมและจีนทำกิจกรรมร่วมกัน
วันที่ 30 กรกฎาคม 2554 การประชุมปรึกษาหารือเรื่องการก่อตั้งสมาคมไทยพุทธ มุสลิม จีน จังหวัดปัตตานี จึงเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ที่ห้องประชุมรูละมิแล โรงแรม ซี.เอ็ส.ปัตตานี โดยมีกลุ่มบุคคลชั้นนำในจังหวัดปัตตานีของทั้ง 3 ฝ่ายมานั่งหารือกันรวม 19 คน
ที่ประชุมมีการทำความเข้าใจถึงแนวคิดและวัตถุประสงค์ของการก่อสร้างสมาคมนี้ขึ้นมา พร้อมกับเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงาน ฝ่ายละ 7 คน รวม 21 คน โดยให้นายพิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ เป็นประธานคณะทำงาน และนายกิตติ สมบัติ เป็นเลขานุการ โดยให้คณะทำงานแต่ละฝ่ายกลับไปหาสมาชิก
การประชุมครั้งที่ 2 มีขึ้นในวันที่ 20 สิงหาคม 2554 ที่ห้องประชุมโรงเรียนเทศบาล 2 อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ที่ประชุมมติแต่งตั้งนายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี เป็นนายกสมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีนจังหวัดปัตตานี เป็นคนแรก
ขณะที่มีตำแหน่งอุปนายกอีก 2 คน จากฝ่ายพุทธและจีน ซึ่งจะสลับกันดำรงตำแหน่งในวาระต่อไป ส่วนคณะกรรมการสมาคมประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายละ 7 คน รวม 21 คน
นายประยูรเดช คณานุรักษ์ ผู้จัดการปกครองศาลเจ้าเล่งจูเกียงและรองประธานกรรมการมูลนิธิเทพปูชนียสถาน (เจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยว) จังหวัดปัตตานี ระบุว่า การสลับผู้ที่จะเป็นนายกสมาคม เป็นไปเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างกัน ซึ่งผู้ที่พ้นตำแหน่งแล้ว จะไปเป็นนายกสมาคมอาวุโส คล้ายกับโครงสร้างของหอการค้าไทย
นอกจากนี้ ที่ประชุมครั้งนี้ ยังได้เปลี่ยนชื่อจากสมาคมไทยพุทธ มุสลิม จีน เป็น สมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีน จังหวัดปัตตานี โดยเห็นว่า การให้มุสลิมนำหน้าในชื่อสมาคม เพื่อเป็นการให้เกียรติชาวไทยมุสลิม เนื่องจากมองชาวมุสลิมมีจำนวนที่สุดในพื้นที่รองลงมาคือไทยพุทธและคนจีน
การประชุมครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2554 ที่ห้องประชุมสภาองค์การบริหารจังหวัดปัตตานี มีมติให้เพิ่มชื่อสมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีน จังหวัดปัตตานี ทั้งภาษาไทย ภาษามลายูอักษรยาวีและภาษาจีนในตราสัญลักษณ์ของสมาคม
สำหรับชื่อภาษาอังกฤษ คือ Thai Muslim, Bhuddhist and Chinese Association of Pattani ภาษาจีน อ่านว่า เป่ย ต้า เหนี่ยน ไท เว้ย ฟู้ จง เจียง เสี่ย/ฮุ้ย
ส่วนคำขวัญเปลี่ยนจากคำว่า สามัคคีคือพลัง เป็น สามัคคีคือสันติสุข โดยให้เขียนทั้ง 3 ภาษาไว้ในตราสัญลักษณ์ด้วยเช่นกัน โดยภาษามลายูอักษรยาวี อ่านว่า เบอร์ซาตู เกออามานัน
นอกจากนี้ยังให้สำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานีเป็นที่ตั้งของสมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีน เป็นการชั่วคราวไปก่อน
การประชุมครั้งต่อมาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2554 ที่ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี มีการหารือถึงการจัดทำแผนปฏิบัติงานของสมาคม และได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการ 9 คน ประกอบฝ่ายละ 3 คน เพื่อไปกำหนดแผนการปฏิบัติงานของแต่ละฝ่าย จากนั้นนำมาหารือร่วมกันเพื่อร่างเป็นแผนงานของสมาคม
คณะอนุกรรมการทั้ง 9 คน ประกอบด้วย
ฝ่ายมุสลิม ได้แก่ นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี นายมูฮำหมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นายอนุกูล อาแวปูเตะ หัวหน้าสำนักงานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี
ฝ่ายพุทธ ได้แก่ นายจิตติ วัฒโย ข้าราชการบำนาญ นายสังวร คล้ายดวง รองประธานชมรมร้านทองจังหวัดปัตตานี นายมานพ เศียรอินทร์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรโคกโพธิ์
ฝ่ายจีน ได้แก่ นายประเสริฐ วงษ์รัตนพิพัฒน์ ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดปัตตานี นางอรุณี วสุศุภชัย นายกสมาคมไหหลำจังหวัดปัตตานี นายสมศักดิ์ โรจนวงศ์วาณิชย์ ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี
นอกจากนี้ยังมอบหมายให้กรรมการแต่ละฝ่ายไปขยายเครือข่ายในกลุ่มของตัวเองเพื่อนำเชื่อมต่อกับสมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีนจังหวัดปัตตานีต่อไป
ส่วนแนวทางการดำเนินงานของสมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีนจังหวัดปัตตานี ประกอบด้วย 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านการศึกษาและด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยกำหนดกรอบการดำเนินงานว่า หากเป็นกิจกรรมที่ต้องลงพื้นที่ ก็จะต้องลงพื้นที่พร้อมกันทั้ง 3 ฝ่าย
การประชุมครั้งล่าสุด มีขึ้นเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2554 ที่ห้องสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี เป็นการหารือถึงกิจกรรมของสมาคม แม้ว่าการดำเนินการขอจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมยังไม่แล้วเสร็จ โดยผู้เข้าร่วมประชุมมีข้อเสนอที่หลากหลาย
อย่างเช่น ข้อเสนอของ นายกล่อม ยังอภัย อดีตนายอำเภอโคกโพธิ์ กรรมการสมาคมฯ เสนอต่อที่ประชุมว่า ให้บรรจุเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของสมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีน จังหวัดปัตตานี
แม้แผนงานสมาคมยังไม่ลงตัว แต่สิ่งถูกตั้งคำถามและน่าจะเป็นความท้าทายมากที่สุด คือ มีกิจกรรมอะไรที่คนทั้ง 3 ฝ่าย ที่มีความแตกต่างทั้งวิถีชีวิต ศาสนาและวัฒนธรรมจะทำร่วมกันได้
เศรษฐ์ อัลยุฟรี
ว่าที่นายกสมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีน จังหวัดปัตตานี
“วัตถุประสงค์หลักของสมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีน จังหวัดปัตตานี คือ ต้องการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นให้ได้โดยให้คนทุกเชื้อชาติศาสนาและวัฒนธรรมที่อยู่ในจังหวัดปัตตานีสามารถอยู่ร่วมกันได้
ความท้าทาย คือ ความรู้สึกที่อยากเห็นสันติภาพอยู่ในใจของทุกคนแต่ไม่กล้าแสดงออกคนเดียว เมื่อมีคนจุดประกายออกมา ทุกคนก็เห็นพ้องต้องกัน ทุกฝ่ายอยากเห็นการรวมกันเป็นกลุ่มก้อน เพื่อให้เกิดความปลอดภัย เมื่อมีการพูดคุยหารือกัน ทุกคนจึงตอบรับ
ปลอดภัยที่ว่า ก็คือความเข้าใจ หมายความว่าทั้ง 3 ฝ่าย ต้องมาทำความเข้าใจร่วมกันก่อนทำกิจกรรม โดยดึงเครือข่ายระดับล่าง คือ พี่น้องประชาชนให้คล้อยตาม เพราะฉะนั้นคณะกรรมการของสมาคมจึงที่เป็นคนระดับแกนนำหรือผู้นำในสังคม เช่น ประธานคณะกรรมการอิสลาม ประธานหอการค้า สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสามารถชี้นำสังคมได้
มีหลายกิจกรรมที่รัฐจัดขึ้นมา แล้วเชิญตัวแทนทุกศาสนาเข้าร่วม แต่ตัวแทนบางศาสนาไม่สามารถเข้าร่วมได้ เพราะขัดกับวิถีชีวิตและหลักศาสนา ทำให้เจ้าภาพรู้สึกว่า เป็นการไม่ให้เกียรติ ดังนั้นเราต้องกลั่นกรองว่ากิจกรรมอะไรที่เราสามารถทำร่วมกันได้ ด้วยความสุข ไม่เสแสร้งหรือสร้างภาพ เราต้องสร้างความชัดเจน ทุกฝ่ายยอมรับและพอใจ
กิจกรรมที่ทำต้องไม่สร้างเงื่อนไขให้กับอีกศาสนาหนึ่ง คนจีนต้องเข้าใจมุสลิมและพุทธ มุสลิมต้องเข้าใจคนพุทธและคนจีน คนพุทธต้องเข้าใจคนจีนและมุสลิม โดยเฉพาะในวิถีชีวิตและบริบททางศาสนา เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากไม่เข้าใจกันแล้ว อาจทำให้เกิดการยุแหย่ ยุยง ซึ่งนำไปสู่ปัญหา
เราต้องขจัดความรู้สึกไม่ดีต่อกัน เพราะเป็นหัวใจสำคัญที่นำไปสู่การสร้างปัญหาต่างๆ จึงเป็นหน้าที่ของแกนนำที่ต้องเข้าใจวิถีชีวิตวัฒนธรรมของแต่ละฝ่าย แล้วมากำหนดกรอบทำงานร่วมกัน บทฐานการให้เกียรติต่อกัน เมื่อแกนนำเข้าใจกันแล้ว ก็จะยิ่งสร้างความมั่นใจว่า จะสามารถถ่ายทอดให้ประชาชนเข้าใจได้ด้วย บนฐานของหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคมพหุวัฒนธรรมได้”
เคลื่อน พุ่มพวง
ลุงอยู่ที่ปัตตานีมานาน เคยเป็นสมาชิกสภาจังหวัดถึง 15 ปี เคยลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ยินคนมุสลิมพูดว่า คนต่างศาสนา เลือกไปทำไม ทำให้รู้สึกว่า ถ้าเลือกคนอย่างลุงไปสิ่งดีงามจะเกิดขึ้นในจังหวัดปัตตานีเยอะ เพราะลุงมีพรรคพวกเพื่อนฝูงในวงการเมืองและเป็นคนแรกที่นำพรรคประชาธิปัตย์มาสู่เมืองปัตตานี
ลุงตั้งสมาคมพุทธสมาคม ชมรมผู้สูงอายุ ตั้งชมรมคนเมืองคอนในปัตตานี เพราะลุงเป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราช
เมื่อไม่นานมานี้ มีความคิดว่า เอะ ! บ้านเมืองเป็นเช่นนี้ เราน่าจะทำอะไรซักอย่าง ที่สามารถสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นได้ คือการเอาคนไทย คนมุสลิมและคนจีนมารวมกันให้ได้ เพื่อเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างความไม่เข้าใจของหน่วยราชการกับประชาชนโดยทั่วไป
ที่ผ่านมามีความไม่เข้าใจอยู่เยอะ ความไม่เข้าใจนี้ ช่วงหนึ่งที่ผู้คิดร้ายใช้เป็นเครื่องมือในการหากิน ขณะนี้พวกนี้ใช้เงินจากยาเสพติด ส่วนอาวุธเจ้าหน้าที่ก็เอามาให้ โดยการปล้นหรือฆ่าแล้วชิงปืนไป เพราะฉะนั้นเมื่อองค์กรเราเข้มแข็ง จะสามารถทำให้พวกเยาวชนกลับมาคิดเหมือนที่เราคิดได้ คือการสร้างสันติสุขด้วยการสร้างความเข้าใจระหว่างกันและกัน ปัญหาที่เป็นอยู่วันนี้ เพราะความไม่เข้าใจ
สมาคมพยายามจะใช้ตัวบุคคลเป็นผู้ประสาน เอานักวิชาการ เอาผู้รู้ก็ดี มาเป็นตัวประสานเพื่อทำความเข้าใจ กับคนที่เข้าใจผิด ส่วนจะเป็นการพูดคุย หาโอกาสคุยกับเขา ตามโอกาสอันสมควร ประการที่สุดคนที่เห็นแก่ตัวโดยเอายาเสพติดมาค้าและส่งไปมาเลเซียก็จะเป็นต้องขอความร่วมมือจากมาเลเซียให้ช่วยปราบปรามให้หมดด้วย
ความท้าทายของงานนี้ คือ การใช้จิตวิทยาและงานทางวิชาการในการทำความเข้าใจกับคนที่เข้าใจไม่ถูกต้องมาร่วมกันสร้างสันติสุข ย่อมเป็นสุขของคนทุกคน คุณมาทำอย่างนี้พ่อแม่คุณก็ไม่เป็นสุข ญาติพี่น้องก็ไม่เป็นสุข แต่ถ้าคุณเป็นคนดีอยู่ดีทุกคนก็มีความสุข
ประยุรเดช คณานุรักษ์
เป็นสมาคมที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่อาจสนับสนุนภาครัฐบ้าง จากนั้นจึงมีการดึงบุคคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาร่วมงานด้วย เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจระหว่างคนกลุ่มต่างๆ และเพื่อดึงงบประมาณมาสนับสนุนบ้าง
มีสมาชิกที่เป็นเครือข่าย มีการหาสมาชิกเพิ่มในแต่ละอำเภอ มีภาคประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสมาคม
กิจกรรมมี 2 ส่วน คือกิจกรรมที่เปิดกว้างและกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ เช่น ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ การช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ ช่วยเหลือคนยากจน หรือการให้ความรู้ เป็นต้น
ในด้านการช่วยเหลือคนอยากจนนั้น คนจีนจะมีความเชี่ยวชาญมากกว่า เนื่องจากคนจีนมีสภาพเศรษฐกิจที่ดีกว่าและมีสมาคมของคนจีนเยอะ แต่การลงไปช่วยเหลือคนเดือดร้อน ก็ต้องมาคิดร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย เช่นเดียวกับกิจกรรมอื่นๆ
แวดือราแม มะมิงจิ
ไม่ว่ามลายู พุทธ จีน ทั้ง 3 ฝ่ายเป็นคนไทยทั้งหมด ต้องศึกษาและเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเชื้อสายต่างๆ เรียนรู้จุดแตกต่างและจุดเหมือนกัน ทั้ง 3ต้องมาพิจารณาว่ามีกิจกรรมอะไรที่สามารถทำร่วมกันได้บ้าง เพื่อสร้างความสามัคคีและความรักระหว่างกัน เพื่อกลับไปสู่อดีตที่มีความสัมพันธ์ที่ดีงาม
เราคาดหวังว่า การตั้งสมาคมนี้ จะช่วยลดความหวาดระแวงระหว่างกันได้ เพราะวันนี้คนที่ไม่เข้าใจมองว่ามุสลิมชอบสร้างความรุนแรงและสร้างปัญหาต่างๆในพื้นที่ หวังว่าสมาคมจะช่วยให้ปัญหาต่างๆ เหล่านั้นจะค่อยๆลดลงไป เพราะเราต้องรับผิดชอบร่วมกันและทุกคนมีส่วนร่วม”
ลักษณะงานของสมาคมที่จะช่วยลดปัญหาเหล่านั้นได้ เช่น งานช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ ทั้ง 3 ฝ่าย อาจจะต้องลงพื้นที่พร้อมกันทั้งหมด เป็นต้น