ฮัสซัน โตะดง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
มูฮำหมัด ดือราแม สำนักข่าวประชาไท
เริ่มเปิดตัว – กลุ่มผู้นำศาสนาอิสลามในจังหวัดยะลาในนามกลุ่มอามานะห์เปิดตัวลงสมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลาหลังเก่า เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2554
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 20 พฤศจิกายน 2554 ที่ห้องประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีการเสวนาเรื่อง บทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดต่อการพัฒนาสังคม มีนักเรียนจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และนักวิชารเข้าร่วมประมาณ 100 คน
ทั้งนี้ ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2554 จะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ โดยผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้แก่ โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดในแต่ละจังหวัด
นายอับดุลการิม รามันห์สิริวงศ์ เลขาธิการสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศ ในฐานะผู้จัด กล่าวว่า การจัดเสวนาครั้งนี้เพื่อให้เยาวชนมุสลิมในพื้นที่ได้รับรู้บทบาทของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และให้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลามาแถลงนโยบายและแสดงวิสัยทัศน์ แต่ปรากฏมีว่าที่ผู้สมัครจากกลุ่มอามานะเพียงกลุ่มเดียวที่เข้าร่วม
นายแพทย์อนันต์ชัย ไทยประทาน ที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ในฐานผู้ร่วมจัด กล่าวว่า คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีความสำคัญมาก เพราะถือเป็นหัวใจของสังคมมุสลิม เพราะเป็นผู้นำที่ดูแลด้านคุณธรรมและจริยธรรมของสังคม จึงอยากให้เลือกผู้ที่มีความรู้ความสามารถในทุกๆด้านมากกว่าเรื่องศาสนาอิสลามอย่างเดียว เพราะปัจจุบันสังคมมีปัญหามากมายที่ต้องได้รับการแก้ไข เช่น ปัญหายาเสพติด เด็กกำพร้าและผู้หญิงหม้าย
นายแพทย์อนันต์ชัย กล่าวว่า ต้องการให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดช่วยผลักดันร่างกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการศาสนาอิสลามยังค้างอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรด้วย เช่น ร่างพระราชบัญญัติกองทุนซะกาต ร่างพระราชบัญญัติอาหารฮาลาล เนื่องจากขณะนี้ยังไม่สามารถจัดการเรื่องการรับรองฮาลาลให้เป็นระบบที่ดีต่อคนมุสลิมได้ รวมทั้งพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจญ์ที่ยังไม่สามารถบังคับเรื่องการบริการผู้ประกอบพิธีได้อย่างมีมาตรฐานเพียงพอ สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่รอการแก้ไข
นายวุสนุง มัดดา ประธานชมรมผู้พิการทุกประเภทในจังหวัดยะลา กล่าวต่อผู้เข้าร่วมเสวนาว่า ต้องการให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดดูแลผู้พิการด้วย เนื่องจากปัจจุบันในจังหวัดยะลา มีผู้พิการทุกประเภทรวมกันประมาณ 4,000 คน ยังไม่ได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะผู้พิการที่เป็นชาวมุสลิม ซึ่งบางครั้งระบบการดูแลผู้พิการโดยทั่วไปไม่สอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลาม ทำให้ผู้พิการชาวมุสลิมไม่อยากรับการช่วยเหลือมากนัก จึงต้องอยู่ตามยะถากรรมในหมู่บ้าน และมีหลายรายที่เป็นผู้พิการจากเหตุไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ยะลาประเดิมเปิดตัวผู้สมัครกรรมการอิสลาม
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 20 พฤศจิกายน 2554 ที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลาหลังเก่า นายวันอับดุลกอเดร์ แวมุสตอฟา หัวหน้ากลุ่มผู้นำศาสนาอิสลามในจังหวัดยะลาในนามกลุ่มอามานะห์ ได้จัดประชุมโต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดทั่วจังหวัดยะลาเพื่อแนะนำตัวว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา จำนวน 30 คน พร้อมแสดงวิสัยทัศน์ โดยมีโต๊ะอิหม่ามเข้าร่วมประมาณ 200 คน
นายวันอับดุลกอเดร์ ในฐานะว่าที่ผู้สมัครในตำแหน่งประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า กลุ่มอามานะห์มีนโยบายในการให้ความสำคัญกับการดูแลและแก้ปัญหาเด็กกำพร้า คนจน ผู้เข้ารับอิสลาม ผู้ติดยาเสพติด หญิงหม้ายและคนว่างงาน เนื่องจากเป็นปัญหาสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไข นอกจากนี้มีนโยบายที่จะให้สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยืนอยู่ได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง โดยจะสร้างโรงแรมเพื่อหารายได้เข้าสำนักงาน ซึ่งรายได้จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ใช้บริหารสำนักงาน ใช้ในกิจการศาสนาอิสลามและช่วยเหลือคนจน
นายวันอับดุลกอเดร์ กล่าวว่า ว่าที่ผู้สมัครคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดของกลุ่มอามานะห์ เป็นคนที่มีผลงานทีดีเป็นที่ยอมรับในสังคม และเป็นบุคคลที่ยอมเสียสละทำงานเพื่อสังคม ซึ่งการทำงานของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดต้องไม่มีแค่ 4 อย่าง คือ ทำพิธีแต่งงานให้คู่แต่งงานตามหลักศาสนาอิสลาม การเป็นพยานในการหย่าร้าง การแบ่งมรดกและการแจกปฏิทินเดือนรอมาฏอนเท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันมีทั้งปัญหาสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ จึงต้องสร้างองค์กรทางศาสนาอิสลามนี้ให้เข้มแข็ง
สำหรับรายชื่อว่าที่ผู้สมัครทั้ง 30 คน ของกลุ่มอามานะห์ ประกอบด้วยตัวแทนจากเขตอำเภอเมือง ได้แก่ นายวันอับดุลกอเดร์ แวมุสตอฟา นายอิรอเฮม ยานยา นายนิมุ มะกาเจ นายมะ กาแม นายมะแอ ตาเฮ นายอาหามะ ยานยา นายอาซิ สุหลง นายหะยีอับดุลอาซิ บินฮาหวัง นายอับดุลเลาะ แวดอเลาะ
ตัวแทนจากอำเภอรามัน ได้แก่ นายรัมซี วันอุสมาน นายอาซิ และนิตันหยง นายดอรอแม ยีปาโล๊ะ นายฮาสัน สามะ นายมูหัมมะริดวาน เล๊ะนุ นายมะดาโอะ ซิกะ นายคอซี ยาหะแม
ตัวแทนจากอำเภอยะหา ได้แก่ นายดือเร๊ะ บาราเฮง นายเจ๊ะลอเซ็ง อาแด นายเกษม วาตู นายกอเซ็น ดีแม
ตัวแทนจากอำเภอเบตง ได้แก่ นายหะยีดอเลาะ ลูดิง นายต่วนอิสมาแอ กาโฮง
ตัวแทนจากอำเภอบันนังสตา ได้แก่ นายอับดุล อาแย นายมูหัมมัดกอซี แนปิแซ
ตัวแทนจากอำเภอกรงปินัง ได้แก่ นายอับดุลรอซัก ลาแซ นายวอแด มาฮะ
ตัวแทนจากอำเภอธารโต ได้แก่ นายซาการียา สาและ
ตัวแทนจากอำเภอกาบัง ได้แก่ นายสกรี ดาตู
สำหรับนโยบายหลักๆ ของกลุ่มอามานะห์ เช่น ด้านสาธารณสมบัติ เช่น การจัดระเบียบของทรัพย์สินสาธารณะที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลาดูแลให้เป็นระบบ บริหารการจัดการทรัพย์สินซากาต(ทรัพย์จาการบริจาคภาคบังคับของมุสลิม)ให้เป็นระบบและมีระเบียบแบบแผน แปรเงินที่ทุกมัสยิดมอบให้สำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดแห่งละ 1,000 บาทเป็นกองทุนออมทรัพย์
ด้านสังคมและการเผยแพร่ศาสนา เช่น จัดตั้งคณะกรรมการดูแลและช่วยเหลือมุอัลลัฟ(มุสลิมใหม่) จัดระเบียบเยาวชนให้ตระหนักถึงความเป็นมุสลิม จัดตั้งคณะกรรมการห้ามและตักเตือนเยาวชนกลุ่มเสี่ยงโดยกระบวนการฮูกมปากัต(กฎแห่งความร่วมไม้ร่วมมือ) ให้อยู่ในกรอบศาสนาและจัดกิจกรรมการการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการใช้ชีวิตที่เหมาะสมกับยุคโลกาภิวัฒน์
ด้านสวัสดิการสังคม เช่น จัดสร้างที่พักแรมและที่พักอาศัยผู้สูงอายุ คนยากจนอนาถา และให้เงินช่วยเหลือโต๊ะอิหม่ามที่เสียชีวิตในจำนวนที่เหมาะสม เช่น 10,000 บาท
ด้านการศึกษาและเศรษฐกิจ เช่น จัดตั้งองค์กร/คณะทำงานเพื่อประสานกับสถานศึกษาในจังหวัดยะลา เช่น ปอเนาะ ตาดีกา มัสยิด จัดการศึกษาคู่ขนาน และ บูรณาการตามหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาการกำหนด จัดหาทุนการศึกษาจากแหล่งต่างๆทั้งในและต่างประเทศ