Skip to main content

มูฮำหมัด ดือราแม

 

เขื่อน

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เป็นอีกหนึ่งประเภทโครงการที่จะทยอยผุดขึ้นทั่วทั้งภาคใต้ ควบคู่กันไปกับโครงการอื่นๆ เนื่องจากถูกกำหนดให้เป็นแหล่งน้ำป้อนอุตสาหกรรมหนัก

สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard) ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (สพต.) ได้ตั้งคณะอนุกรรมการจัดหาแหล่งน้ำดิบรองรับโครงการตามแผนงานพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ เมื่อเดือนเมษายน 2538

คณะอนุกรรมการชุดนี้ มอบหมายให้กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำ กรมชลประทานได้ว่าจ้าง บริษัท รีซอสส์ เอ็นจีเนียริ่ง คอนซันแตนท์ จำกัด บริษัท เทสโก้ จำกัด และบริษัท ซันยู คอนซันแตนท์ (ประเทศไทย) จำกัด ศึกษาความเหมาะสม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นของโครงการจัดหาแหล่งน้ำดิบสำหรับโครงการตามแผนงานพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2539

ผลการศึกษา ปรากฏว่า ทั้ง 3 บริษัท ได้พิจารณาคัดเลือก โครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่มีศักยภาพสูงได้ 5 โครงการ ได้แก่

1.         โครงการอ่างเก็บน้ำคลองลำรูใหญ่ จังหวัดพังงา จัดหาแหล่งน้ำให้กับท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมฝั่งตะวันตก บ้านทับละมุ ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา และพื้นที่ชลประทาน 1,200 ไร่

              2.   โครงการอ่างเก็บน้ำคลองแห้ง จังหวัดกระบี่ จัดหาแหล่งน้ำให้กับพื้นที่อุตสาหกรรม และการอุปโภค–บริโภค อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ และพื้นที่ชลประทาน 4,300 ไร่

           3.  โครงการอ่างเก็บน้ำท่าทน จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดหาแหล่งน้ำให้กับท่าเรือน้ำลึกฝั่งตะวันออก บ้านบางปอ ตำบลสระแก้ว อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช และพื้นที่ชลประทาน 16,000 ไร่

              4.   โครงการอ่างเก็บน้ำคลองกลาย จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดหาแหล่งน้ำให้กับท่าเรือน้ำลึกฝั่งตะวันออก บ้านบางปอ ตำบลสระแก้ว อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช และพื้นที่ชลประทาน 24,500 ไร่

              5.   โครงการสูบน้ำแม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดหาแหล่งน้ำให้กับโรงกลั่นน้ำมันอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช และการอุปโภค–บริโภคในชุมชนเมือง และอำเภอต่างๆ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

 

                เมื่อไล่เรียงไปตามแต่ละจังหวัดจะพบว่า โครงการพัฒนาแหล่งน้ำใหญ่ที่สุดอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีคือ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง กรมชลประทานระบุว่า มีพื้นที่โครงการ 73,980 ไร่ ป็นโครงการผันน้ำจากแม่น้ำตาปีขึ้นมาใช้

ขณะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำมารองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมมากที่สุด เช่น โครงการสร้างเขื่อนคลองกลาย หมู่ที่ 6 บ้านปากลง ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองท่าทน หมู่ที่ 5 ตำบลสี่ขีด อำเภอสิชล เพื่อกักเก็บน้ำใช้ในท่าเรือและอุตสาหกรรม และโครงการเขื่อนลาไม ตำบลวังอ่าง อำเภอชะอวด ทั้ง 3 โครงการล้วนถูกต่อต้านจากชาวบ้าน

โครงการก่อสร้างเขื่อนคลองกลาย เป็นเขื่อนดินถม ตัวเขื่อนหลักมีสันเขื่อนสูง 50 เมตร ยาว 300 เมตร และเขื่อนช่องเขาต่ำ สันเขื่อนสูง 43 เมตร ยาว 50 เมตร ระดับกักเก็บน้ำสูงสุด 168.50 ไร่ พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 1,875 ไร่ ความจุอ่างเก็บน้ำ 62.40 ล้านลูกบาศก์เมตร

มีฝายทดน้ำคลองกลาย บ้านนาเหรง ตำบลบาเหรง อำเภอนบพิตำ เป็นฝายคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 25 เมตร ยาว 60 เมตร มีแนววางท่อในเขตทางคลองชลประทานสายใหญ่และสายย่อย

โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองท่าทน มีความยาว 33.1 กิโลเมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 855 ไร่ พื้นที่ก่อสร้างหัวงานเขื่อน 360 ไร่ ยาว 1,060 เมตร สูง 39.50 เมตร สำนักงานโครงการก่อสร้าง 2 ชลประทานที่ 15 กรมชลประทาน ได้ตั้งงบประมาณโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองท่าทน ปี 2554 จำนวน 300 ล้านบาท ปี 2555 จำนวน 538 ล้านบาท ปี 2556 จำนวน 538 ล้านบาท

โครงการเขื่อนลาไม เป็นเขื่อนที่ไม่มีภูเขากั้น ต้องสร้างแนวสันเขื่อนยาว 6 กิโลเมตร นับว่ายาวที่สุดในประเทศไทย พื้นที่อ่างเก็บน้ำเป็นที่ราบ 7,850 ไร่ โครงการนี้กรมชลประทานได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2543 แต่ปัจจุบันมีการชะลอโครงการ เนื่องจากถูกต่อต้านจากชาวบ้าน

ฝั่งจังหวัดพังงา มีโครงการอ่างเก็บน้ำคลองลำรูใหญ่ ที่บ้านลำรู ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เป็นหนึ่งในโครงการที่จะสนับสนุนโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ แต่ต่อมาเมื่อแหล่งท่องเที่ยวบริเวณเขาหลักมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จังหวัดพังงาจึงได้ร้องขอต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2547 ให้รองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วย

โครงการอ่างเก็บน้ำคลองลำรูใหญ่ มีการออกแบบก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2546 แต่เพิ่งมีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2550

ปัจจุบันอยู่ระหว่างขออนุมัติใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขาหลัก-ลำแก่น จังหวัดพังงา มีระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี งบประมาณ 1,000 ล้านบาท พื้นที่เก็บกักน้ำสูงสุด 645  ไร่ สันเขื่อนยาว 350 เมตร สูง 40 เมตร

ที่จังหวัดชุมพร มี 2 โครงการใหญ่คือ โครงการสร้างเขื่อนรับร่อและเขื่อนท่าแซะ ตำบลรับร่อ อำเภอท่าแซะ อยู่ใกล้พื้นที่เป้าหมายตั้งนิคมอุตสาหกรรมเหล็ก ที่อ่าวช่องพระ ตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องการน้ำใช้ถึง 30–50 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

รวมทั้งอยู่ใกล้พื้นที่เป้าหมายก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ บ้านปากน้ำละแม ตำบลปากน้ำ อำเภอละแม และโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่บ้านบางจาก ตำบลชุมโค อำเภอปะทิว ที่ต้องการน้ำใช้มากมายมหาศาลเช่นกัน

ลงไปที่ภาคใต้ตอนล่าง ตามแนวพื้นที่โครงการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน หรือแลนด์บริดจ์สงขลา–สตูล มีแผนสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างน้อย 8 แห่ง

โดยเป็นไปตามแผนงานจัดหาน้ำเพื่ออุปโภค–บริโภค ของแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรองรับแผนงานพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย–มาเลเซีย–ไทย (Indonesia-Malaysia-Thai Growth Triangle : IMT - GT) 3 โครงการคือ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองลำแชง อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา โครงการอ่างเก็บน้ำคลองขัน อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา, โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านนาปรัง อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา

ขณะที่โครงการวางผังพัฒนาเชิงพื้นที่จังหวัดสงขลา–สตูล ระบุถึงการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการชลประทานและเพิ่มศักยภาพแหล่งกับเก็บน้ำในจังหวัดสตูล 4 แห่ง คือ โครงการอ่างเก็บน้ำลำโลน คลองย่าบน เขาใคร และคลองช้าง จังหวัดสงขลาอีก 3 แห่งคือ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองลำขัน อำเภอรัตภูมิ โครงการอ่างเก็บน้ำตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา และโครงการอ่างเก็บน้ำนาปรัง อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา

ใน 8 โครงการ มี 3 โครงการที่กรมชลประทานพยายามเข้าไปเก็บข้อมูลเพื่อดำเนินโครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำนาปรัง โครงการอ่างเก็บน้ำคลองลำแชง อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา โครงการอ่างเก็บน้ำคลองขัน และโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองช้าง แต่ถูกต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่

สำหรับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองช้าง (เขื่อนทุ่งนุ้ย) ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ยังคงถูกชาวบ้านในพื้นที่ต่อต้าน ถึงแม้กรมชลประทานยืนยันว่า เป็นโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในที่สุดสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง ส่งหนังสือชี้แจงว่า ไม่ใช่โครงการในพระราชดำริ

ลงไปในชายแดนภาคใต้ มีโครงการก่อสร้างเขื่อนสายบุรี กั้นแม่น้ำสายบุรี ที่บ้านกะดูดง ตำบลอาซ่อง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา มีชื่อเต็มว่า โครงการพัฒนาลุ่มน้ำสายบุรีตอนล่างและพรุบาเจาะ– ไม้แก่น มีพื้นที่รองรับน้ำประมาณ 2,237 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมอำเภอสุคิริน อำเภอจะแนะ อำเภอศรีสาคร อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส อำเภอรามัน จังหวัดยะลา อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอกะพ้อ อำเภอไม้แก่น และอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี

เป็นเขื่อนที่ต้องการผันน้ำมาใช้ในนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ในอำเภอสายบุรีและอำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำในจังหวัดปัตตานี ที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต