Skip to main content

อารีด้า สาเม๊าะโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

 

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 ที่ห้องเชียงรุ้งโรงแรมเซ็นทารา ดวงตะวัน จังหวัดเชียงใหม่ มีการจัดเสวนาเรื่องการธำรงอัตลักษณ์ในสังคมพหุวัฒนธรรม จัดโดยมูลนิธิเอเชีย มีผู้เข้าร่วมจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 32 คน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนข้ามวัฒนธรรมระหว่างมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้กับมุสลิมจีนฮ่อในจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 20-24 พฤศจิกายน 2554               

เวลา 9.00 น. มีการเสวนาในประเด็น การธำรงอัตลักษณ์ในสังคมพหุวัฒนธรรม มีอาจารย์ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี สถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ และนางสาวลาเคละ จะทอ ผู้แทนจากเครือข่ายสตรีชนเผ่าแห่งประเทศไทย เป็นวิทยากร

อาจารย์ชัชวาลย์ เปิดเผยว่า ประเด็นชาติพันธุ์และวัฒนธรรมชนกลุ่มน้อยเป็นเรื่องใหญ่ แต่มีการพูดกันน้อยมากในสังคม ซึ่งสังคมไทยเองก็เผชิญปัญหาที่เกิดจากความไม่เข้าใจในวิถีของชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศ

อาจารย์ชัชวาลย์ กล่าวว่า ชาติพันธุ์ล้านนามาเป็นส่วนหนึ่งของสยามในช่วง 120 ปีที่ผ่านมา เดิมเคยมีวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง แต่เกิดการกลืนวัฒนธรรมให้กลายเป็นหนึ่งเดียวกับวัฒนธรรมของประเทศไทย นอกจากล้านนาจะเผชิญกับการสูญเสียตัวตนไปให้สยามแล้ว ยังถูกสยามใช้ประโยชน์ด้วย เนื่องจากความเป็นล้านนาสามารถสร้างความน่าสนใจแก่นักท่องเที่ยวได้ บางวัฒนธรรมที่เก่าแก่ของล้านนาจึงกลายเป็นผลประโยชน์ทางธุรกิจ เช่น งานวันลอยกระทงที่มีการปล่อยโคมไฟ ซึ่งไม่ใช่วัฒนธรรมเดิมของล้านนา แต่ถูกทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นวัฒนธรรมล้านนา

อาจารย์ชัชวาลย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสังคมให้คุณค่ากับดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจหรือ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวม) มากกว่าคุณค่าทางด้านการพัฒนาทางวัฒนธรรม การสูญเสียวัฒนธรรมส่งผลให้ความเคารพในธรรมชาติและความเป็นมนุษย์ลดลง ซึ่งตนได้ศึกษาดัชนีชี้วัดความสุขจากประเทศทิเบต เพื่อจะนำมาใช้ในเชียงใหม่ด้วย

                อาจารย์ชัชวาลย์ กล่าวว่า เยาวชนทุกชาติพันธุ์คือพลังในการดำรงภูมิปัญญา แต่ระบบการศึกษาของประเทศไทยยังไม่เอื้อต่อการเรียนรู้เรื่องวิถีของชาติพันธุ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น แม้จะมีความพยายามสอนเรื่องวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นในห้องเรียน แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้นักศึกษาเข้าใจอย่างลึกซึ้งได้ จึงต้องมีการเปิดเป็นโรงเรียนทางเลือก เช่น โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา เพราะหวังพึ่งโรงเรียนในระบบปกติได้ยาก

                นางลาเคละ จะทอ จากเครือข่ายสตรีชนเผ่าแห่งประเทศไทย ตัวแทนของชนเผ่าละหุ เปิดเผยว่า การเป็นชาวชนเผ่าทำให้การใช้ชีวิตบางอย่างลำบากมาก โดยเฉพาะการทำบัตรประชาชนที่มีขั้นตอนยุ่งยากมาก เพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่อำนวยความสะดวกให้ การเรียกร้องเอกสารเพื่อแสดงหลักฐานว่าเป็นคนไทย ทำให้ชาวชนเผ่ารู้สึกว่าเป็นพลเมืองชั้นสอง ทำให้รู้สึกว่ามีความยุ่งยากในการติดต่อราชการ

                นางลาเคละ เปิดเผยว่า ชาวเขาถูกมองว่าเป็นผู้ทำลายธรรมชาติ บุกรุกที่ดิน เปลี่ยนป่าเป็นไร่เลือนลอย ต้นไม้ถูกตัดไปหมด ส่งผลให้ปัจจุบันชาวเผ่ามีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก ต้องซื้อหาอาหารมากขึ้น ต่างจากแต่ก่อนที่สามารถหาได้จากในป่า ซึ่งเป็นเรื่องน่าอายมากสำหรับชนเผ่าละหุ