Skip to main content

ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ออกประกาศฉบับพิเศษยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเกิดพายุว่า ไม่มีการก่อตัวของพายุในบริเวณอ่าวไทยและพื้นที่ใกล้เคียง หลังจากมีกระแสข่าวลือแพร่สะพัดว่าจะมีพายุเคลื่อนเข้าจังหวัดสงขลาในคืนนี้ จนสร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

เนื้อความในประกาศ ระบุว่า จาการเฝ้าระวังและการตรวจอากาศของศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ในวันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน 2554 ยังตรวจไม่พบการก่อตัวของพายุใดๆ ในพื้นที่อ่าวไทยและบริเวณใกล้เคียง หากตรวจพบการก่อตัวของพายุ จะประกาศให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วัน ประกาศวันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน 2554 เวลา 16.30น.

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดสงขลา มีน้ำท่วมแล้ว 3 อำเภอ คือ สะบ้าย้อย ควนเนียงและสิงหนคร โดยที่อำเภอสะบ้าย้อย สถานการณ์น้ำท่วมเข้าขั้นวิกฤต ชาวบ้านหมู่ 1 บ้านแลแบง ตำบลสะบ้าย้อย ทั้งหมู่บ้าน 99 ครัวเรือน 364 คน ได้พากันอพยพออกจากหมู่บ้านมาอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงภายในโรงเรียนสะบ้าย้อย เนื่องจากน้ำป่าที่ไหลเข้าท่วมหมู่บ้านอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงเย็นวานนี้ ส่วนในเขตเทศบาลตำบลสะบ้าย้อยน้ำเข้าท่วมบริเวณถนนเทศบาล 1 ระดับน้ำสูงประมาณ 50 เซนติเมตร ชาวบ้านกว่า 30 ครัวเรือนจำเป็นต้องอพยพออกจากพื้นที่

โดยในพื้นที่อำเภอสะบ้าย้อย ผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ ด.ช.ณัฐดนัย รัตนพงษ์ อายุ 3 ขวบ 7 เดือน จมน้ำขณะพ่อขับรถกระบะพาครอบครัวฝ่ากระแสน้ำ แต่รถดับจนถถูกน้ำซัด กระแสน้ำที่เชี่ยวจนด.ช.ณัฐดนัย หลุดจากมือแม่จมหายไป และพบศพเมื่อช่วงเช้าของวันนี้

ส่วนคลื่นลมทะเลอ่าวไทยมีกำลังแรง คลื่นสูง 2-3 เมตร ซัดพื้นที่บริเวณชายหาดชลาทัศน์ แหลมสมิหลา จนกัดเซาะชายหาดเป็นทางยาวกว่า 100 เมตร ใกล้ถึงแนวถนนชลาทัศน์และทำให้ต้นสนขนาดใหญ่ริมชายหาดล้มเพิ่มอีก 10 ต้น จากที่ถูกคลื่นซัดล้มไปก่อนหน้านี้แล้ว 10 ต้น แม้เทศบาลนครสงขลาได้นำกระสอบทรายไปวางป้องกันแล้ว แต่ไม่สามารถต้านทานความแรงของคลื่นได้

ที่จังหวัดปัตตานี บ้านหลายหลังที่อยู่ในระดับต่ำริมตลิ่งและที่ราบลุ่มต่างจมน้ำแล้ว โดยคืนนี้ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นและไหลกระจายสู่พื้นที่อื่นเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากน้ำเหนือจากจังหวัดยะลาไหลมาสมทบ คาดว่าคืนนี้ระดับน้ำอาจจะสูงขึ้นและทะลักเข้าท่วมในหลายตำบลในพื้นที่ตำบลบาราเฮาะ ปะกาฮารังและตะลุโบ๊ะ อำเภอเมืองปัตตานี และอีก 2 อำเภอที่อยู่ติดแม่น้ำปัตตานี ประกอบด้วย อำเภอยะรังและแม่ลาน

ที่จังหวัดพัทลุงฝนยังตกเป็นวันที่ 4 ทำให้ประชาชนทั้ง 11 อำเภอได้รับความเดือดร้อน พื้นที่การเกษตร สวนยางพารา และนาข้าว สวนไม้ผลกว่า 2 แสนไร่ยังจมอยู่ใต้น้ำ

ที่จังหวัดยะลา น้ำเข้าท่วมย่านชุมชนตลาดเก่าและภายในชุมชนมัรกัสยะลา (ศูนย์ดะวะห์) ตำบลสะเตงนอก อำเภอเมือง ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ทางจังหวัดและเทศบาลนครยะลาได้เร่งสูบน้ำออก โดยเมื่อค่ำวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 นักเรียนชายอายุประมาณ 16 ปี ลงเล่นน้ำกับเพื่อนข้างศูนย์ดะวะห์ ถูกกระแสน้ำพัดจมหายไป ยังหาไม่พบเพราะกระแสน้ำไหลเชี่ยวมาก

ส่วนบริเวณริมแม่น้ำสายบุรี น้ำเข้าท่วมบางหมู่บ้านของตำบลบาลอ กายูบอเกาะ อาซ่อง เกะรอ ตะโล๊ะหะหอและท่าธง ทางอำเภอรามัน ได้เร่งเข้าให้ความช่วยเหลือแล้ว  ส่วนอีก 6 อำเภอได้ประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มอย่างใกล้ชิด

ที่จังหวัดนราธิวาส นายประดิษฐ์ ปิ่นกระจาย ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดนราธิวาส ประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ราบลุ่ม 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ศรีสาคร ยี่งอ และตากใบ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันจากภาวะฝนตกหนัก ขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำ 3 สายหลัก คือแม่น้ำบางนรา แม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำสุไหงโก-ลก ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 8-10 เซนติเมตร ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวควรติดตามการรายงานเป็นระยะ เพื่อเตรียมอพยพได้ทันท่วงที

ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำสุไหงโก-ลก ได้เอ่อล้นจากตลิ่งกว่า 1.4 เมตร ทำให้น้ำเข้าท่วมชุมชนหัวสะพาน เจ้าหน้าที่ต้องอพยพประชาชน 21 ครอบครัว รวม 121 คน ไปยังศูนย์อพยพโรงเรียนเทศบาล 4 พื้นที่ตำบลปาเสมัส มูโน๊ะและปูโยะ น้ำเข้าท่วมพื้นที่และบ้านเรือนประชาชนอีก 6 ชุมชน

ส่วนแม่น้ำบางนรา น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมหลายหมู่บ้านของตำบลตันหยงมัส ตำบลบาโงสะโต อำเภอระแงะ และตำบลมะนังตายอ อำเภอเมืองนราธิวาส เช่นเดียวกับในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส น้ำเข้าท่วม 8 ชุมชน และมีบ้านเรือนราษฎรเสียหายจากลมกระโชกแรงรวม 100 หลังคาเรือน

ที่จังหวัดชุมพร เกิดลมกรรโชกพัดกระหน่ำต้นไม้ขนาดใหญ่หลายต้น ล้มขวางถนนสายเอเซีย 41 พื้นที่หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านควน อำเภอหลังสวน ขวางถนนทั้ง 4 ช่องจราจรขาขึ้นและขาล่อง ทำให้รถทุกชนิดไม่สามารถใช้เส้นทาง เจ้าหน้าที่ต้องใช้เลื่อยยนต์ตัดต้นไม้ออกเพื่อเปิดการจราจรด้วยความทุลักทุเล เนื่องจากยังมีลมกรรโชกแรงฝนตกลงมาอย่างหนักตลอดเวลา

ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี สถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันเกิดขึ้นในพื้นที่ 4 อำเภอ 5 ตำบล 26 หมู่บ้าน คือ อำเภอวิภาวดี คีรีรัฐนิคม ไชยาและท่าฉาง โดยเฉพาะอำเภอไชยา น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 5 หมู่บ้านในตำบลปากหมาก มีบ้านพังทั้งหลัง 1 หลัง พังเสียหายบางส่วน 3 หลัง ส่วนอำเภอท่าฉาง น้ำป่าไหลเข้าท่วมหมู่ที่ 4 ตำบลเสวียด อำเภอคีรีรัฐนิคม น้ำท่วมในตำบลน้ำหัก ในหมู่ที่ 6 หมู่ที่ 8 และหมู่ที่ 11 ส่วนอำเภอวิภาวดี น้ำท่วมในตำบลตะกุกเหนือ 6 หมู่บ้านและตำบลตะกุกใต้ 11 หมู่บ้าน ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เสี่ยงภัย จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่จังหวัดตรัง นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการได้แจ้งไปถึงนายอำเภอทั้ง 10 อำเภอ ให้เฝ้าระวังเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินโคลนถล่ม หลังจากมีฝนตกอย่างหนักต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 โดยเน้นย้ำในพื้นที่เสี่ยงรวม 170 หมู่บ้าน ใน 5 อำเภอ

ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ระดับน้ำได้เพิ่มขึ้นในลำคลองทุกสายและไหลเข้าท่วมในหลายอำเภอ เช่น ท่าศาลา พรหมคีรี เมือง พระพรหม ร่อนพิบูลย์ เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รับน้ำจากเทือกเขาหลวง ขณะที่พบรอยเลื่อน และแผ่นดินทรุดตัวเป็นบริเวณกว้างในอำเภอฉวาง

ส่วนที่แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง คลื่นทะเลสูงพัดกระหน่ำหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง จนถนนคอนกรีตรับความเสียหายจากคลื่นเพิ่มกว่า 200 เมตร ต้นมะพร้าวที่อยู่ริมบ้านเรือนของประชาชน และบ้านหลายหลังถูกทะเลกัดเซาะอย่างรุนแรง น้ำทะเลพัดเข้าท่วมบางจุดสูงกว่า 1 เมตร

ที่บ้านในถุ้ง อำเภอท่าศาลาชาวบ้านอพยพจ้าละหวั่น หลังเกิดเหตุการณ์คลื่นสูงประมาณ 3 เมตรซัดเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรบริเวณชายหาด 40 ครัวเรือน และร้านอาหารจำนวนนับสิบร้านต้องจมน้ำทะเล