Skip to main content

 

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

 

 

เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 24 พฤศจิกายน 2554 ที่หน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เครือข่ายผู้หญิงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ประมาณ 300 คน รวมตัวกันเพื่อเดินรณรงค์เนื่องในวันยุติความรุนแรงกับสตรีสากล

ก่อนเวลาประมาณ 10.00 น.ขบวนเดินทางเคลื่อนมาถึงห้องประชุมนานาชาติ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งมีการจัดเวทีสาธารณะ “รวมพลังผู้หญิง ยุติความรุนแรงและสร้างสันติภาพ” ปีที่ 2 โดยเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และองค์กรภาคี

เวลาประมาณ 12.25 น.มีการอภิปรายในหัวข้อ“พลังผู้หญิง พลังยุติความรุนแรงและสร้างสันติภาพ ชายแดนใต้” โดยพันเอกฐกร เนียมรินทร์ ผู้อำนวยการกองงานมวลชนและกิจการพิเศษ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ส่วนหน้า นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางรอซีดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นางสาวนิสา กอและ ประธานเด็กและเยาวชนผู้ได้รับผลกระทบ(กลุ่มเกี่ยวก้อย) และนางอ้อยใจ ศรีสุวรรณ ประธานผู้ได้รับผลกระทบจังหวัดนราธิวาส ดำเนินรายการโดย นางสาวธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง

 

j

 

พันเอกฐกร กล่าวในเวทีว่า เป็นปรากฏการณ์ที่ดีที่มีเครือข่ายผู้หญิงลุกขึ้นมาเรียกร้องให้มีการยุติความรุนแรง ต้องการสร้างสันติภาพร่วมกัน ถ้าอาศัยแต่ภาครัฐให้แก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  อีก 10 ชาติก็แก้ไขปัญหาไม่สำเร็จ

“ตนส่งเสริมให้มีการลุกขึ้นมาเรียกร้องเพื่อต่อสู้หาความเป็นธรรมของทุกภาคส่วนด้วยกระบวนการสันติวิธี แม้กระทั่งกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเองก็ตาม โดยอาจกลับมาต่อสู้ด้วยกระบวนการทางการเมือง หรือกระบวนการอื่นๆด้วยวิธีการสันติ” พันเอกฐกร กล่าว

นางรอซีดะห์ กล่าวในเวทีว่า ถึงเวลาแล้วที่คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องลุกขึ้นมาบอกแก่ทุกฝ่ายว่าไม่ต้องการความรุนแรง การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นจากการเริ่มต้นด้วยการเรียนรู้กระบวนการจัดการปัญหาด้วยคนในพื้นที่เอง จะอาศัยแต่จะให้ภาครัฐช่วยอย่างเดียวไม่ได้

ช่วงท้ายในเวลา 12.46 น.มีการร่วมกันประกาศเจตนารมย์เพื่อพิทักษ์และคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้หญิง เด็ก ครอบครัว และชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีใจความว่า เครือข่ายภาคประชาชนและหน่วยงานรัฐ จำนวน 25 องค์กร มีข้อเสนอเพื่อการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ และภาคประชาชน ให้รัฐบาลมีมาตรการดังนี้

1.รัฐบาลต้องส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน สตรี ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ในทุกระดับ โดยเฉพาะในโครงสร้างของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า

2.รัฐบาลต้องส่งเสริมการรวมกลุ่ม สนับสนุนกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการรวมพลังเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่าย เด็ก เยาวชน สตรี และกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบเพื่อให้มีอาชีพ มีรายได้ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความเข้มแข็งพึ่งตนเองและช่วยเหลือสังคมได้

3.รัฐบาลต้องให้การคุ้มครองและส่งเสริมสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน สตรี ครอบครัว และชุมชน โดยการส่งเสริมเรื่องการศึกษา การประกอบอาชีพ การแก้ไขปัญหาการว่างงาน ปัญหายาเสพติด โดยมีกิจกรรมที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน คือ การจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน สตรี ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทุกกรณี

4.ขอให้รัฐบาลมีมาตรการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็ก และสตรี เพื่อป้องกันการใช้ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กและสตรี โดยอาจลดหน่วยกองกำลังติดอาวธ หรือการพกพาอาวุธในสถานศึกษา

5.รัฐบาลต้องสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนเด็กและกองทุนผู้หญิง เพื่อให้ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจในครอบครัวและชุมชน โดยให้ภาครัฐ ภาคประชาชน มีส่วนร่วมในการวางแผน มีการติดตามประเมินผลร่วมกัน