Skip to main content

นูรยา เก็บบุญเกิด

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

 

 

        เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2554 ที่ห้องมะกอก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คณะทำงานการพัฒนาศักยภาพกลไกชุมชนและเครือข่ายทางสังคมเพื่อการจัดการสาธารณภัย: กรณีศึกษาอ่าวปัตตานี (PB Watch) ประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อเสนอผลการประชุมต่อหน่วยงานราชการพื้นที่จังหวัดปัตตานี ในการประชุมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่มจังหวัดปัตตานี ที่ศาลากลางจังหวัดปัตตานี วันที่ 6 ธันวาคม 2554 โดยมีผู้เข้าประชุมประมาณ 12 คน 

       นายภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา คณะทำงาการพัฒนาศักยภาพกลไกชุมชนและเครือข่ายทางสังคมเพื่อการจัดการสาธารณภัย: กรณีศึกษาอ่าวปัตตานี (PB Watch) กล่าวในที่ประชุมว่า คณะทำงานการพัฒนาศักยภาพกลไกชุมชนและเครือข่ายทางสังคมเพื่อการจัดการสาธารณภัย: กรณีศึกษาอ่าวปัตตานี ควรมีการประเมินสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร อยู่ในขั้นไหนแล้ว อีกทั้งไม่มีข้อมูล ควรมีการสำรวจข้อมูล เตือนภัย หรือให้ความรู้สถานการณ์ โดยให้ข้อมูลเป็นปัจจุบันมากกว่านี้ และควรเพิ่มช่องทางในการสื่อสารให้มากขึ้นด้วย

        “เรื่องการบริหารการจัดการที่พักพิง ต้องเพียงพอกับจำนวนผู้ประสบภัย ต้องปลอดภัย มีระบบบริการครบครัน และสะดวกในการขนย้าย ส่วนการบริหารจัดการอาหาร น้ำดื่ม และเครื่องนุ่งห่ม ต้องมีเพียงพอ แจกจ่ายอย่างทั่วถึง ตลอดระยะเวลาประสบภัย” นายภีรกาญจน์ กล่าว

        นายสมพร ช่วยอารีย์ คณะทำงานการพัฒนาศักยภาพกลไกชุมชนและเครือข่ายทางสังคมเพื่อการจัดการสาธารณภัย: กรณีศึกษาอ่าวปัตตานี (PB Watch) กล่าวในที่ประชุมว่า ความรู้ของเราเชิงพื้นที่ไม่เพียงพอ จะต้องนำข้อมูลในอดีตมาประมวลเพื่อวางแผนการแก้ปัญหาในระยะยาว และเพื่อให้ง่ายต่อการติดตามสถานการณ์การรับมือและการจัดการภัยพิบัติมากขึ้น

        “นอกจากนี้ยังสามารถใช้ฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือ สังเกตความผิดปกติของสัตว์ ก่อนเกิดภัยพิบัติได้ เช่น ก่อนเกิดภัยพิบัติที่ปัตตานี เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2553มีผู้พบเห็นงูกะปะหลายตัว เลื้อยพันรอบโดนต้นไม้ หรือ การใช้ก้านจาก เพื่อป้องกันจระเข้”นายสมพร กล่าว

        นายนุกูล รัตนดากุล คณะทำงานการพัฒนาศักยภาพกลไกชุมชนและเครือข่ายทางสังคมเพื่อการจัดการสาธารณภัย: กรณีศึกษาอ่าวปัตตานี (PB Watch) กล่าวในที่ประชุมว่า เรื่องที่พักพิง ให้แต่ละชุมชนจัดทำแผนที่เดินอินเพื่อสำรวจ บ้านที่ต้องย้ายจริงๆ บ้านไม่ต้องย้าย หรือบ้านใดที่มีความต้องการใช้เรือ เนื่องจากที่ผ่านมาในบางพื้นที่ชาวบ้านสามารถหาเงินโดยการจับปลาในช่วงน้ำท่วม โดยมีรายได้ถึงวันละ 8,000 บาท

        "การกระจายข่าวและการแจ้งเตือน ที่ประชุมมอบหมายให้ มูลนิธิกู้ชีพสันติปัตตานี และสถานีวิทยุมอ.ปัตตานี 107.25 MHz วิทยุสมัครเล่น และมีเครือข่ายวิทยุสมัครเล่น อำเภอสายบุรี เป็นกลุ่มที่คอยกระจายข่าวและสื่อสารเพื่อตือนภัยอีกกลุ่มหนึ่ง" นายนุกูล กล่าว

        ในที่ประชุม เสนอว่า สำหรับแผนระยะสั้นในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ถึงการป้องกันไม่ให้ประชาชนเสียชีวิต โดยการสั่งห้ามไม่ให้ประชาชน หรือเด็กเล็กลงเล่นน้ำ ด้วยการประชาสัมพันธ์ผ่านวิทยุชุมชน ซึ่งประชาชนสามารถรับฟังข่าวสารเกี่ยวกับภัยพิบัติ พื้นที่ที่คาดว่าจะประสบภัยพิบัติ การแจ้งเตือน และความเคลื่อนไหวต่างๆ ได้ที่สถานีวิทยุมอ.ปัตตานี 107.25 MHz และประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลภัยพิบัติ หรือแจ้งข่าวสารพื้นที่ประสบภัยพิบัติได้ที่ 073-350288

        ส่วนแผนระยะกลางและระยะยาว ทำได้โดยการจัดวางผังเมือง คลอง การไหลของน้ำ สำรวจสิ่งกีดขวางน้ำ โดยประสานงานกับชาวบ้านให้ช่วยกันขุดคลองในแต่ละชุมชน เพื่อนำสิ่งอุดตันหรือสิ่งกีดขวางทางน้ำออก โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นทางระบายน้ำ ให้รีบขุดลอก เพื่อเปิดช่องทางระบายน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลมากขึ้น ซึ่งอาจประชาสัมพันธ์ผ่านมัสยิด วัด หรือชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านช่วยกันรับผิดชอบ