ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
mso-fareast-theme-font:minor-latin;mso-ansi-language:EN-US;mso-fareast-language:
EN-US;mso-bidi-language:TH"> เอกนัฐ บุญยัง
ภาพกรวด หิน ดิน ทราย คละเคล้าผสมปนเป บนพื้นที่ประมาณ 2 พันไร่ บริเวณตำบลหน้าเขา ตำบลเขาพนม อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ ขณะที่บ้านชาวบ้านอีกหลายสิบหลังยังสร้างไม่เสร็จ ทว่าในกลางเดือนพฤศจิกายน 2554 ฝนตกหนัก น้ำในลำคลองเอ่อล้น มีสีขุ่นเหมือนสีดินภูเขาอีกครั้ง
ครั้นเมื่อข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์เงียบหาย ชาวบ้านที่ประสบอุทกภัยและดินโคลนถล่มเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2554 ยังประสบชะตากรรมปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย อีกทั้งยังกังวลว่าจะประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน จากการที่ทางจังหวัดกระบี่ประกาศโครงการจัดทำแนวเขตเพื่อป้องกันการบุกรุกป่าราชินี
นายเอกนัฐ บุญยัง คณะทำงานเครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติจังหวัดกระบี่ บอกว่า ตนกำลังวิ่งหาแหล่งทุนเพื่อกู้เงิน 1 ล้านบาท เพื่อนำมาสร้างบ้านที่ยังค้างคาอีกหลายสิบหลัง ที่ยังสร้างไม่เสร็จ แม้ว่าองค์กร สื่อมวลชน และหน่วยงานต่างๆเข้ามาช่วยเหลือก็ตามที
“แทบทุกพื้นที่หลังจากเกิดภัยพิบัติจะตามมาด้วยปัญหาที่ดินทำกินเสมอ ชาวบ้านจึงได้มีกระบวนการทำแผนที่ทำมือโดยชุมชน มีการทำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (แผนที่GIS) เพื่อป้องกันปัญหาพิพาทกับรัฐเรื่องที่ดินทำกินในอนาคต หลังจากทางจังหวัดจะจัดทำแนวเขตสวนป่าราชินีขึ้น” นายเอกนัฐ เล่าถึงความกังวลและแนวทางของชาวบ้าน
นายเอกนัฐ บอกถึงกระบวนการตื่นตัวของชาวบ้านหลังจากเกิดเหตุการณ์ในพื้นที่ว่า ได้มีฝึกอบรมอาสาสมัครเฝ้าระวังภัยพิบัติด้วยอบรมการใช้วิทยุ อบรมการกู้ภัย มีการเก็บข้อมูลเบื้องต้นของชุมชน มีการสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่ปลอดภัยเพื่อใช้ในการอพยพหนีภัย
“ตอนนี้กำหนดให้บ้านชั่วคราวที่เพิ่งสร้างเสร็จเป็นศูนย์อพยพ มีการเตรียมอาหาร เครื่องดื่ม มีการจัดชาวบ้านเฝ้าระวังเป็นจุดๆ ใช้วิทยุสื่อสารเพื่อเฝ้าระวังการเกิดภัยพิบัติ โดยประสานงานกับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ที่ส่งข้อมูลการเตือนภัยมาให้หากมีแนวโน้มว่าจะเกิดภัย” นายเอกนัฐ บอกถึงการเฝ้าระวังภัยพิบัติของชาวบ้าน
นายเอกนัฐ บอกว่า แม้มีชาวบ้านผ่านการฝึกอบรม มีทีมที่คอยวิเคราะห์และประมวลสถานการณ์ว่าเห็นควรจะอพยพหรือไม่ อย่างไร ตอนไหน ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์และต้องอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นในการสังเกตุการเตือนภัยมีทีมเฝ้าระวัง
“เอาเข้าจริงไม่รู้ว่าเป็นการเฝ้าระวังหรือเปล่า เพราะแค่ฝนตกไม่หนักมาก ชาวบ้านก็อพยพออกจากพื้นที่แล้ว เนื่องจากความหวาดระแวงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” นายเอกนัฐ เล่าถึงปฏิกิริยาของชาวบ้าน
นายเอกนัฐ บอกถึงกระบวนการเชื่อมต่อกับชุมชนอื่นว่า ชุมชนในตำบลหน้าเขา และตำบลเขาพนม มีการเชื่อมต่อความสัมพันธ์ของชุมชนต่างๆตามระบบลุ่มน้ำ สร้างเครือข่ายต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ อาทิ ตำบลคลองประสงค์ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ที่เคยประสบภัยพิบัติสึนามิ
นายเอกนัฐ บอกว่า คลองประสงค์เป็นพื้นที่ที่มูลนิธิรักษ์ไทยเข้าไปให้การสนับสนุนชุมชน มีแผนเตรียมความพร้อม มีกระบวนการตื่นตัวและการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในชุมชน มีการจัดทำข้อมูล ทำแผนเตรียมพร้อมสำหรับภัยพิบัติ มีการใช้กำแพงไม้ไผ่กันไว้ริมชายหาดที่ชาวบ้านอาศัย มีแผนในการปลูกป่าชายเลนกันคลื่นสึนามิ มีการสร้างคันเขื่อนกัดเซาะ ฯลฯ
“แม้ว่าในระดับจังหวัดกระบี่ เราไม่สามารถเชื่อมต่อได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว เรามีการคุยกับมูลนิธิรักษ์ไทยว่าจะมีการเชื่อมต่อให้เกิดรูปธรรมได้อย่างไร โดยจะตั้งเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติ มีการคุยกับสภาองค์กรชุมชน ทีมกองทุนสวัสดิการ ทีมแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ มานั่งคุยกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง
“มีการวางระบบ เชื่อมพื้นที่เกาะลันตา คลองประสงค์ เขาพนม เขาดิน หน้าเขา มีการเชื่อมเครือข่ายผู้ประสบภัย มีตัวแทนของแต่ละพื้นที่มาร่วมประสานงานกันในระดับจังหวัดกระบี่มีกระบวนการพัฒนาด้านระบบการเตือนภัยของอาจารย์สมพร ช่วยอารีย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี” นายเอกนัฐ บอกถึงการพยายามเชื่อมต่อเครือข่าย
นายเอกนัฐ ยังบอกถึงความพยายามในการร่วมมือกับส่วนราชการว่า เคยมีชาวบ้านไปที่ที่ว่าการอำเภอเขาพนม เพื่อจะคุยกับทางอำเภอเกี่ยวกับการเตรียมรับมือภัยพิบัติร่วมกัน แต่ทางอำเภอไล่ชาวบ้านกลับบ้าน อำเภอไม่ได้มองว่าชุมชนเป็นจุดเริ่มต้น
“ชาวบ้านกับหน่วยงานราชการ ยังคุยกันไม่เข้าใจในเรื่องของความร่วมมือ เนื่องจากมีวิธีคิดที่ต่างกัน ส่วนราชการบอกว่าการช่วยเหลือหรือดำเนินการใดๆเป็นหน้าที่ของทางราชการเท่านั้น ให้ชาวบ้านอยู่เฉยๆถ้าเกิดเหตุการณ์จะเป็นคนช่วยไม่ต้องให้ชาวบ้านมาทำ”
“ชาวบ้านจึงตกลงกันว่าจะทำฐานข้อมูล ฐานชุมชนให้ชัดเจนกว่านี้ ชาวบ้านต้องแสดงศักยภาพ ให้ส่วนราชการเห็นว่าเราทำอะไรได้บ้าง ตั้งใจจะเชิญส่วนราชการมานั่งคุยร่วมกัน หลังจากมีกระบวนการพูดคุยในส่วนของภาคประชาชนเรียบร้อยแล้ว”
“นำตัวแทนชาวบ้านมาทำความเข้าใจร่วมกับส่วนราชการ และจัดตั้งเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติของจังหวัดกระบี่ที่มีส่วนร่วมระหว่างชาวบ้านและหน่วยงานรัฐ” นายเอกนัฐ บอกถึงความพยายามในการร่วมมือกับส่วนราชการ